ป่วยโควิดเริ่มลด สู่‘โรคประจำถิ่น’ แจงภูมิฝีดาษลิง

ไทยพบผู้ติดเชื้อใหม่ 1,631 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 25 ราย “หมอยง” ชี้โควิดไทยอยู่ช่วงขาลงเข้าสู่โรคประจำถิ่น จะเห็นชัดช่วงปลายเดือนนี้ กรมวิทย์เตรียมแถลงผลทดสอบภูมิคุ้มกันฝีดาษวานร

เมื่อวันอาทิตย์ที่ 4 กันยายน 2565 ศูนย์ข้อมูล  COVID-19 รายงานยอดผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19  ประจำวันว่า พบผู้ป่วยรายใหม่รักษาตัวในโรงพยาบาลจำนวน 1,631 ราย เป็นผู้ป่วยในประเทศทั้งหมด ทำให้มีผู้ป่วยสะสม 2,435,107 ราย (ตั้งแต่ 1 มกราคม  2565) หายป่วยกลับบ้าน 2,143 ราย หายป่วยสะสม 2,441,462 ราย (ตั้งแต่ 1 มกราคม 2565)  ผู้ป่วยกำลังรักษา 16,186 ราย โดยมีจำนวนผู้ป่วยปอดอักเสบรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล 709 ราย และเสียชีวิต  25 ราย เสียชีวิตสะสม 10,702 ราย (ตั้งแต่ 1  มกราคม 2565)

ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊กระบุว่า การระบาดของโรคโควิด-19 กำลังเข้าสู่แบบเดียวกับโรคทางเดินหายใจประจำฤดูกาลประจำปี เช่น ไข้หวัดใหญ่  โดยโรคจะระบาดมากตั้งแต่เดือน มิ.ย.ถึงเดือน ก.ย.ในฤดูฝน และนักเรียนเปิดเทอม และจะเริ่มลดลงในปลายเดือน  ก.ย. ขณะที่นักเรียนสอบและปิดเทอม การระบาดจะน้อยลงจนถึงกลางเดือน ธ.ค. และจะมีการระบาดขึ้นอีกพีกหนึ่งในฤดูหนาว ตั้งแต่ช่วงปลาย ธ.ค.จนถึงต้นเดือน มี.ค. แต่การระบาดในช่วงนี้จะไม่รุนแรง และจะเข้าวงจรใหม่ในเดือน มิ.ย.ปีหน้าเช่นเดียวกันกับไข้หวัดใหญ่และโรคทางเดินหายใจอื่นๆ ที่มีวงจรเป็นแบบนี้ ดังนั้นโรคโควิด-19  ของเราอยู่ในขาลง และจะลดลงตั้งแต่ปลายเดือนนี้เป็นต้นไปอย่างเห็นได้ชัด

ศ.นพ.ยงกล่าวอีกว่า โรคไข้หวัดใหญ่ส่วนใหญ่จะระบาดในฤดูหนาว โดยประเทศที่มีฤดูหนาวเช่นประเทศซีกโลกเหนืออย่างยุโรปและอเมริกา การระบาดจะเกิดขึ้นในช่วงฤดูหนาวตั้งแต่เดือน ธ.ค.จนถึง มี.ค. ประเทศซีกโลกใต้เช่นออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ การระบาดของไข้หวัดใหญ่ โรคทางเดินหายใจก็จะเกิดขึ้นในฤดูหนาวของซีกโลกใต้ ตั้งแต่เดือน มิ.ย.ถึงเดือน ก.ย. ส่วนประเทศไทยอยู่ในเขตร้อน ถึงแม้ว่าทางภูมิศาสตร์จะอยู่ซีกโลกเหนือหรือเหนือเส้นศูนย์สูตร แต่เนื่องจากไทยไม่มีฤดูหนาว มีแต่ร้อนมาก ร้อนน้อย การระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่และโรคทางเดินหายใจจึงพบได้เกือบตลอดทั้งปี แต่จะมีการพบสูงสุดในฤดูฝน ซึ่งเป็นเดือนเดียวกับประเทศในซีกโลกใต้ จึงเป็นเหตุผลในการวางมาตรการป้องกันโรคทางเดินหายใจด้วยวัคซีน โดยเฉพาะไข้หวัดใหญ่ ถ้าจะมีการฉีดก็ควรฉีดก่อนที่จะมีการระบาด หรือก่อนฤดูฝน ในทำนองเดียวกันในอนาคตโรคโควิด-19 ถ้าจำเป็นต้องมีการให้วัคซีนประจำปี ฤดูกาลการให้วัคซีนโควิดก็คงจะเป็นเช่นเดียวกับไข้หวัดใหญ่ คือการให้ก่อนฤดูฝนของทุกปี

วันเดียวกัน นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวถึงความคืบหน้าการตรวจวัดภูมิมคุ้มกันผู้เคยปลูกฝีดาษต่อเชื้อฝีดาษวานรหรือฝีดาษลิง ว่า หลังกรมวิทย์เพาะเชื้อฝีดาษวานรจากตัวอย่างเชื้อผู้ป่วยของไทย และนำเชื้อไวรัสตัวเป็นๆ มาทดสอบกับน้ำเลือดของผู้ที่ยืนยันว่าเคยปลูกฝีดาษในไทย เพื่อตรวจวัดระดับภูมิคุ้มกันต่อเชื้อฝีดาษวานร โดยตรวจด้วยวิธี Plaque Reduction Neutralization  Test (PRNT) โดยจะเจือจางลงเท่าตัวจนถึง 50% ที่สามารถป้องกันได้ ถ้าผลออกมาว่าค่าไตเตอร์อยู่ที่ระดับ 100-200 แสดงว่าใช้ได้อยู่ แต่ถ้าไตเตอร์อยู่ที่  10 กว่าๆ อาจจะใช้ไม่ได้แล้ว

“การตรวจจะดำเนินการใน 3 ช่วงอายุ ช่วงอายุละ  10 คน คือผู้ที่มีอายุระหว่าง 45-55 ปี, อายุ 55- 65 ปี และอายุ 65 ปีขึ้นไป เป็นการตรวจวัดระดับภูมิคุ้มกันต่อเชื้อไวรัสฝีดาษวานร 2 สายพันธุ์ที่พบในประเทศไทย คือ B.1 และ A.2 อย่างไรก็ตาม กรมฯ จะแถลงข่าวข้อมูลทั้งหมดในวันที่ 5 ก.ย. ส่วนผู้ติดเชื้อในไทยขณะนี้ยังมีเพียง 7 ราย ยังไม่พบรายที่ 8 เพิ่มเติม”

ด้าน นพ.จักรรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์ ผู้อำนวยการกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กล่าวถึงกรณีชายชาวกินี  อายุ 26 ปี ที่สงสัยติดเชื้อฝีดาษวานร โดยอ้างว่าซื้อบริการทางเพศหญิงบริการที่ถนนข้าวสาร ว่าจากการสอบสวนโรคผลปรากฏไม่ใช่ฝีดาษวานร คาดว่าชายดังกล่าวอาจติดเชื้ออื่น ดังนั้นขณะนี้ไทยจึงยังคงพบผู้ติดเชื้อฝีดาษวานรเพียง 7 คนเท่านั้น.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง