แก้รธน.เดือด!บี้ตัดอำนาจส.ว.

ประชุมรัฐสภาเดือด! ถกแก้รธน. 4 ฉบับ นายกฯ ต้องเป็น ส.ส.-ตัดอำนาจ ส.ว.เลือกนายกฯ "กิตติศักดิ์" จวก "โรม" แบ่ง ส.ว.เป็น "แก๊งลุงป้อม-ลุงตู่" โต้กลับย้อนดูตัวเองไม่ยอมใช้หนี้ กยศ. "รังสิมันต์" ประกาศเป็นไทปลดหนี้ กยศ.เรียบร้อยแล้ว ขู่ถ้ายังพูดอีกเจอฟ้องแน่ ฝ่ายค้านโวย ส.ส.รัฐบาล-ส.ว.เล่นเกมตุกติกไม่ใช้สิทธิ์อภิปราย  "ส.ว.เฉลา" ไม่ทน! ลุกป้องสภาสูง 250 คน ขยันทำงานแต่โดนก้าวร้าวเสียดสี ชม "บิ๊กตู่" นายกฯ ดีที่สุด ก่อน "พรเพชร" สั่งพักการประชุม นัดลุยต่อพุธนี้

ที่รัฐสภา วันที่ 6 กันยายน ในการประชุมร่วมกันของรัฐสภา ที่มีนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ทำหน้าที่ประธานการประชุม มีการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม 4 ฉบับในคราวเดียวกัน โดย 3 ร่างแรกที่เสนอแก้ไข มีนพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน และหัวหน้าพรรคเพื่อไทย พร้อมคณะเป็นผู้เสนอ ประกอบด้วย 1.ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม มาตรา43 เกี่ยวกับสิทธิบุคคลและชุมชน 2.ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม หมวด 3 สิทธิเสรีภาพปวงชนชาวไทย กรณีคุ้มครองสิทธิประกันตัวคดีอาญา (เพิ่มมาตรา 25 วรรคห้า แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 29 เพิ่มมาตรา 29/1 แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 34 มาตรา 44 มาตรา 45 มาตรา 47 และมาตรา 48) และ 3.ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 159 วรรคหนึ่ง และมาตรา 170 วรรคสอง นายกรัฐมนตรีต้องมาจาก ส.ส. และความเป็นนายกฯ สิ้นสุดเมื่อสมาชิกภาพ ส.ส.สิ้นสุดลง

สำหรับร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม ฉบับที่ 4 เป็นร่างกฎหมายของภาคประชาชนเข้าชื่อกัน โดยมีนายสมชัย ศรีสุทธิยากร กับประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง จำนวน 64,151 คน เป็นผู้เสนอ ขอแก้ไขมาตรา 272 ตัดอำนาจ ส.ว.ในการเลือกนายกรัฐมนตรี

จากนั้นที่ประชุมเปิดให้สมาชิกรัฐสภาอภิปราย อย่างไรก็ตาม เกิดเหตุประท้วงวุ่นวายระหว่างที่นายรังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายถึงส.ว. 250 คน ว่าไม่ได้ยึดโยงกับประชาชน มาโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นผู้คัดเลือก 80 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งส่วนใหญ่มาจากแก๊งเตรียมทหารรุ่น 12 เพื่อนร่วมรุ่นของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จำนวน 21 คน มาจากแก๊งเตรียมทหารรุ่น 6 เพื่อนร่วมรุ่นของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ 5 คน และยังมาจากแก๊งพวกพ้องน้องพี่ ศิษย์เก่า สนช. สปช. สปท. รวมถึงอีกหลายแก๊งที่เคยร่วมงานกับคสช.

ทำให้นายกิตติศักดิ์ รัตนวราหะ ส.ว. ประท้วงนายรังสิมันต์ ขอให้ถอนคำว่า “แก๊ง” ขอให้ดูตัวเองบ้างติดหนี้ กยศ.ยังไม่ใช้ สำเหนียกตัวเองบ้าง ซึ่งนายพรเพชร วิชิตชลชัย รองประธานรัฐสภา ทำหน้าที่ประธานขณะนั้น พยายามไกล่เกลี่ยขอให้ทั้งสองคนถอนคำพูด เพราะเป็นการพูดส่อเสียด แต่ไม่เป็นผล ทั้งสองฝ่ายยังยืนยันไม่ถอน กระทั่งนายพรเพชร วินิจฉัยห้ามไม่ให้นายกิตติศักดิ์พูดในห้องประชุมอีก เพื่อเป็นการลงโทษ

จากนั้นก็ได้ให้นายรังสิมันต์อภิปรายต่อ โดยเจ้าตัวชี้แจงเกี่ยวกับการกู้ยืมหนี้กยศ.ว่า ที่ผ่านมาตนยากจน เลยต้องกู้เรียน แต่ไม่เคยผิดนัดชำระหนี้แม้แต่ครั้งเดียว ภายหลังจากได้เป็น ส.ส. ได้ชำระหนี้เพิ่มขึ้น ดังนั้นวันนี้ตนจึงไม่เหลือหนี้กยศ.แล้ว ถ้ายังหยิบเรื่องนี้มาพูดอีก ก็สงสารประเทศไทยที่มีการผลิตซ้ำข่าวปลอม รู้สึกเสียดายถ้าเกิดพูดนอกสภาจะได้ฟ้องดำเนินคดีหาเงินเข้าพรรคก้าวไกล

 ต่อมาเวลา 13.40 น. นางอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายว่า ถ้าแก้ไขมาตรา 272 ไม่ได้ การเลือกตั้งครั้งต่อไปก็หมดความหมาย การแก้รัฐธรรมนูญของฝ่ายค้านที่ผ่านมา มี ส.ว.ร่วมสนับสนุน 56 คน ขาดเสียง ส.ว.อีกเพียง 28 เสียงเท่านั้นมาเติมเต็ม สถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปขณะนี้ คงได้ไตร่ตรองกันใหม่ หันมาโหวตเห็นด้วย ผู้นำที่ปล้นอำนาจ ไร้ความสามารถ อย่างพล.อ.ประยุทธ์ หากสิ่งศักดิ์สิทธิ์และความยุติธรรมในประเทศมีจริง ศาลสถิตยุติธรรมควรเปิดเครื่องประหารหัวสุนัขเตรียมรอได้แล้ว ขอเรียกร้องให้ ส.ว.กลับมายืนข้างประชาชน มีเกียรติยศศักดิ์ศรีมากกว่าเป็นนั่งร้านให้ทรราชสืบทอดอำนาจต่อ สิ่งที่ ส.ว.บางคนบอกว่านายรังสิมันต์ โรม ใช้หนี้ กยศ.ยังไม่หมด ขอถามว่า ส.ว.ใช้หนี้บุญคุณ คสช.ครบหรือยัง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการอภิปราย 2 ชั่วโมงแรก มีแต่ ส.ส.ฝ่ายค้านขึ้นมาอภิปรายฝ่ายเดียว ไม่มี ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลและ ส.ว.ส่งชื่อมาอภิปรายสลับแม้แต่คนเดียว จนเป็นที่ผิดสังเกต ทำให้นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย ท้วงติงว่า ฝ่ายค้านขอใช้เวลาอภิปรายวันที่ 6 ก.ย. 3 ชั่วโมง หากครบ 3ชั่วโมง ถ้า ส.ส.รัฐบาลและ ส.ว.ไม่ใช้สิทธิ์อภิปรายในวันที่ 6 ก.ย. ขอให้พักประชุม เพื่ออภิปรายต่อวันที่ 7 ก.ย.

ขณะที่นายธีรัจชัย พันธุมาศ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กล่าวเสริมว่า มีเรื่องไม่ปกติ เพราะ ส.ว.ไม่ยอมเสนอชื่อ ไม่รู้เป็นเกมการเมืองหรือไม่ที่ไม่ยอมอภิปราย เพื่อจะอภิปรายตลบหลังวันที่ 7 ก.ย.เพียงฝ่ายเดียว ถ้าเป็นเช่นนี้ถือว่า เล่นเกมเกินเหตุ ให้ปิดประชุมไปเลย ทำให้บรรยากาศเริ่มตึงเครียด จนนายพิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล เสนอพักประชุม ให้วิป 3ฝ่ายไปหาทางออก

ส่วน น.ส.ภาดาท์ วรกานนท์ ส.ส.กทม. พรรคพลังประชารัฐ ชี้แจงว่า หากไม่มี ส.ส.รัฐบาลและ ส.ว.อภิปราย ขอให้พักประชุม เพื่ออภิปรายต่อในวันที่ 7 ก.ย. แม้นายพรเพชร วิชิตชลชัย รองประธานรัฐสภา ที่ทำหน้าที่ประธานการประชุม พยายามควบคุมการประชุมโดยขอให้วิป 3 ฝ่ายไปหารือกันเพื่อหาทางออก แต่ก็ยังไม่มีความชัดเจนว่าจะมี ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลหรือ ส.ว.อภิปรายหรือไม่ ในที่สุดนายพรเพชรขอให้ฝ่ายค้านอภิปรายไปก่อน หากไม่มีผู้อภิปรายแล้วจะสั่งพักประชุม ไปอภิปรายต่อในวันที่ 7 ก.ย.

จากนั้นเวลา 17.30 น. นายเฉลา พวงมาลัย ส.ว. อภิปรายว่า ขออภิปรายในฐานะเป็นตัวแทนประชาชน เนื่องจากตนมาจากตัวแทนชาว จ.ราชบุรี ดังนั้น มาตรา 272 ที่เสนอแก้มานั้น เห็นว่าไม่ได้เสียหายอะไร ดังนั้นในฐานะที่ตนมาจากประชาชนทั้งประเทศ การที่นำเสนอให้ร้าย ส.ว.ทั้ง 250 คน คิดว่าเราควรมาร่วมมือทำงานเพื่อให้ประเทศชาติเดินไปข้างหน้าจะดีหรือไม่ ตนประทับใจและดีใจที่รัฐสภาแห่งนี้เลือก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี เพราะมีผู้เสนอเป็นนายกฯ 2 คน แต่ดูแล้ว พล.อ.ประยุทธ์ถือว่าดีที่สุด เพราะก่อนที่ พล.อ.ประยุทธ์จะเข้ามา ประชาชนพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าเล่นกีฬาสี มีทั้งสีแดง เกิดปัญหาในการทะเลาะเบาะแว้งกัน

 “ผมเห็นในรัฐสภาแห่งนี้ให้ร้ายและป้ายสีวุฒิสภา ผมทนไม่ได้ จึงต้องลุกขึ้นมาพูดในวันนี้ และประทับไว้ว่า ส.ว. 250 คนไม่ใช่เลวร้าย ทุกคนมีความสามารถ และ ส.ว.ลงพื้นที่ การทำงานของเราเป็นระบบและเป็นทีม เอาข้อมูลไปนำเสนอประชาชน และนำมาเสนอแนะรัฐบาลให้ประเทศชาติเจริญก้าวหน้า แต่สมาชิกรัฐสภาบางคนพูดจาก้าวร้าว เสียดสี ส.ว. 250 คน ผมคงทนไม่ได้” นายเฉลากล่าว

นายเฉลากล่าวต่อว่า เมื่อเราเลือกนายกฯ มาเป็น พล.อ.ประยุทธ์ ท่านก็ทำงานอย่างแข็งขัน ถนนหนทางรถไฟรางคู่เกิดขึ้นได้เพราะใคร กองทุน กยศ. ลดความเหลื่อมล้ำเกิดได้เพื่อใคร ก็เพื่อพี่น้องประชาชน  เพราะ พล.อ.ประยุทธ์ทำงานด้วยความบริสุทธิ์ใจ และตั้งใจทำงานให้พี่น้องประชาชนอย่างแข็งแรง ดังนั้น ขอฝากสมาชิกว่าในวันพรุ่งนี้สมาชิกในกลุ่มของตน 50 คน เรามีเอกสิทธิ์และวิจารณญาณ มีความรู้สึก รวมทั้ง ส.ว.ทั้ง 250 คนไม่สามารถบังคับได้ทั้งสิ้น ดังนั้น สมาชิกโปรดให้เกียรติและให้ความสำคัญกับ ส.ว.ด้วย

จากนั้นนายพรเพชรได้แจ้งต่อที่ประชุมว่า ตามที่วิปทั้ง 3 ฝ่ายได้มีข้อหารือร่วมกัน โดยให้มีการประชุมพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญต่อเนื่องไปจนถึงวันที่ 7 ก.ย. และขอให้ประธานสั่งพักการประชุมนั้น ตนจึงขอยกเลิกหนังสือนัดประชุมวันที่ 7 ก.ย.ออกไป และขอสั่งพักการประชุมเพื่อไปพิจารณาต่อในวันที่ 7 ก.ย. จากนั้นสั่งพักการประชุมในเวลา 17.40 น. และประชุมต่อในเวลา 09.00 น. วันที่ 7 ก.ย.

ขณะเดียวกัน คณะรณรงค์แก้รัฐธรรมนูญ มาตรา 272 ยกเลิกอำนาจ ส.ว.เลือกนายกรัฐมนตรี นำโดยนายสมชัย ศรีสุทธิยากร อดีตกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) แถลงว่า ที่ประชุมร่วมรัฐสภาได้พิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฯ ทางคณะรณรงค์ฯ จึงมาชี้แจงรายละเอียดของร่างที่ได้นำเสนอ ทั้งนี้ เชื่อว่าทั้ง ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านจะเห็นชอบ เนื่องจากเป็นการคืนประชาธิปไตยประชาชน เราขอเรียกร้องสมาชิกรัฐสภาได้ร่วมประชุมพร้อมเพรียง ส่วนการลงมติ คิดว่าทุกท่านมีความเห็นส่วนตัวว่าจะรับหลักการหรือไม่รับหลักการ แต่เราจะเสียใจมากหากส.ว.ไม่เข้าร่วมประชุม จนอาจทำให้เสียงไม่เพียงพอต่อการลงมติ หรือหากลงมติงดออกเสียง โดยให้เหตุผลว่าไม่อยากลงมติเรื่องที่เกี่ยวกับผลประโยชน์ส่วนตัวของท่าน เห็นว่าไม่ถูกต้อง เพราะงดออกเสียงไม่ได้แปลว่าเป็นกลาง หรือไม่อยากมีผลประโยชน์ร่วม คณะผู้รณรงค์ฯ ยังมีความหวังว่าสมาชิกจะเห็นด้วยกับร่างแก้ไข

นอกจากนี้ คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) และเครือข่ายภาคประชาชนคัดค้าน ม.272 นำโดย น.ส.ธนพร วิจันทร์ เครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชน และนายสมยศ พฤกษาเกษมสุข แกนนำกลุ่ม 24 มิถุนาฯ ได้ยื่นหนังสือถึงนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา เพื่อขอให้พิจารณายกเลิกรัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 272 โดยเร็วแบบสามวาระรวด.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง