สภาโหวตควํ่าแก้รธน.ทั้ง4ฉบับ

“รัฐสภา” ลงมติคว่ำ 4 ร่าง รธน.รวด เหตุเสียง ส.ว.ไม่ถึงเกณฑ์ หลังถกวันที่สองเลือดท่วมสภา  ส.ว.สุดทนเขย่าสติฝ่ายค้านหลอนผี 272 "ถวิล" เตือน ระวังเผด็จการจากพ่อสู่ลูก "นิกร" โยนหินถามทางผุดส.ส.ร. ขณะที่ "เสรี" เปิดศึกก้าวไกลจนดิ้นพล่าน ประท้วงกันระงม "สมชาย" ตะเพิด ส.ส.ไม่พอใจ รธน. ไม่ต้องลงเลือกตั้งสมัยหน้า "เพื่อไทย" รู้ชะตากรรมโดนเทกระจาด "สร้างอนาคตไทย" ตั้ง "สมคิด" ประธานพรรค

ที่รัฐสภา เมื่อวันที่ 7 กันยายน เวลา 09.30 น. ในการประชุมร่วมกันของรัฐสภา ที่มีนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา เป็นประธานการประชุม ได้พิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม จำนวน 4 ฉบับ ต่อเนื่องเป็นวันที่สอง โดยนายวันชัย สอนศิริ สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) อภิปรายว่า ขอพูดถึงมาตรา 272 ตัดอำนาจ ส.ว.โหวตนายกรัฐมนตรี เพราะจากที่นั่งฟัง สมาชิกได้กล่าวหา เสียดสี ประชดประชัน ส.ว. ซึ่งที่ผ่านมาตนได้แสดงจุดยืนหลายครั้ง และครั้งนี้ขอสนับสนุนการแก้ไขมาตรานี้อย่างเต็มปากเต็มคำ

นายวันชัยกล่าวว่า รัฐบาลชุดปัจจุบันดำรงอยู่ได้จนทุกวันนี้ เพราะ ส.ส.ในสภานี้ไม่ได้อยู่ได้โดย ส.ว.เลยแม้แต่น้อย ถ้าส.ส.ที่มาจากการเลือกตั้งไม่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ ก็ไม่มีทางจะอยู่ได้มาถึงเกือบ 4 ปี จึงยืนยันได้ว่ามาตรา 272 แม้จะให้ ส.ว.โหวตนายกฯ ได้ ก็ไม่มีราคาเลย การจะมีหรือไม่มีจึงไม่มีความหมายอะไรเลย พวกท่านกำลังถูก 272 บังตา และถูกผี 272 หลอก หาก ส.ส.รวมกันได้ 251 เสียงขึ้นไป ส.ว.จะมีน้ำยาอะไร จะทำอะไรได้ จะตั้งใครเป็นนายกฯ ได้ เพียงแต่เรื่องนี้ ส.ส.ที่มาจากประชาชนไม่สามารถรวมกันเองได้

จากนั้นเวลา 12.05 น. นายถวิล เปลี่ยนศรี สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) อภิปรายว่า เรื่องการปิดสวิตช์ ส.ว.มีพูดกันมาตลอด สิ่งที่เกิดขึ้นตลอดเมื่อวานจนวันนี้ก็คือท่วงท่าการให้ความเห็นเรื่องการตัดอำนาจ ส.ว. คำหนึ่งก็เผด็จการ สองคำก็บ้าอำนาจ หวงอำนาจ สืบทอดอำนาจ โจมตีด้วยถ้อยคำคลุมเครือ มีการยกความประพฤติ จริยธรรม คุณธรรมของส.ว.บางคนมากล่าวอ้าง ซึ่งจริงหรือเท็จอย่างไรก็ยังไม่ชัดเจน เพราะยังมีการสอบข้ามสภากันอยู่

"ส่วนคำว่าเผด็จการและสืบทอดอำนาจ ในชีวิตเห็นมาหลายรูปแบบ รวมถึงแบบซ่อนเร้น แอบแฝง ตีเนียนห่มผ้าประชาธิปไตย ท่องคำว่ามาจากประชาชนวันละ 3 เวลา แต่พฤติกรรมพฤติการณ์เป็นเผด็จการรวบอำนาจ ยิ่งกว่าเผด็จการตามรูปแบบเสียด้วยซ้ำไป ไม่ฟังเสียงใคร พวกเราก็เคยเห็นมาแล้วในสภาแห่งนี้เมื่อตอนตีสามตีสี่หลายปีที่ผ่านมา เผด็จการสืบทอดอำนาจจากพี่มาน้อง จากพี่ไปน้องเขย ต่อไปผมก็ไม่แน่ใจว่าจะเห็นจากพ่อไปลูกหรือไม่ ก็ต้องติดตามกันดู ขออย่าว่ากล่าวรังเกียจเดียดฉันท์กันเลย เพราะเดี๋ยวจะเข้าตำราว่า ว่าแต่เขา" นายถวิลระบุ

 ต่อมาเวลา 12.25 น. นายนิกร จำนง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคชาติไทยพัฒนา อภิปรายว่า ตนเห็นชอบกับร่างแก้ไขทุกฉบับ แต่ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 (3) อาจจะทำให้ยากต่อการผ่านวาระแรก และหากร่างหนึ่งร่างใดผ่านความเห็นชอบ เวลาของสภาที่เหลืออยู่ยากที่จะพิจารณาได้แล้วเสร็จ ดังนั้น ตนเสนอว่าพรรคการเมืองทั้งที่อยู่ และไม่อยู่ในสภา ให้เสนอนโยบายในการเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึงในการแก้ไขมาตรา 256 จัดตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) เพื่อแก้รัฐธรรมนูญบางฉบับด้วยเสียงข้างมากตามสมควร ไม่ใช่ใช้เสียง 1 ใน 3 ของ ส.ว.มากำหนด ซึ่งมากกว่าเสียงข้างมากของสภาที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน ถือว่าไม่เหมาะสมเป็นอย่างมาก ส่วนร่างแก้ไขที่เสนอให้ยกเลิกมาตรา 272 ตัดอำนาจ ส.ว.เลือกนายกฯ ตนเองเห็นด้วย เพราะเหมาะสมแก่กาลเวลาแล้ว เป็นอำนาจที่ไม่จำเป็นอีก

จากนั้น นายเสรี สุวรรณภานนท์ ส.ว. อภิปรายว่า ตนไม่เห็นด้วยทั้ง 4 ร่าง ส่วนเพื่อน ส.ว.หลายท่านก็มีความเห็นที่แตกต่างหลากหลาย แสดงให้เห็นว่า ส.ว.มีความเป็นอิสระ ส.ว.ชุดปัจจุบันถูกกล่าวหาตลอด 3 ปีที่ผ่านมา ว่าไม่ได้มาจากประชาชน ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ถูกกล่าวหาตั้งแต่วันแรกจนวันนี้ แต่ ส.ส.ที่อภิปรายแบบนี้ ซึ่งอยู่พรรคเพื่อไทย และพรรคก้าวไกล ทั้งสองพรรคนี้มีคนที่มีคุณสมบัติที่เป็น ส.ส.ที่ดีจำนวนมาก แต่คงมีบางคนที่บอกว่าเป็นตัวแทนพรรคมาอภิปรายกล่าวหา ส.ว. ว่าไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ส่วนใหญ่ที่พูดก็มาจากพรรคก้าวไกล

ส.ว.ปะทะเดือดก้าวไกล

  ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ระหว่างการอภิปรายของนายเสรี ส.ส.พรรคก้าวไกล อาทิ นางอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ และนายณัฐวุฒิ บัวประทุม ส.ส.บัญชีรายชื่อ ใช้สิทธิพาดพิงว่านายเสรี กำลังพูดพาดพิงพรรคก้าวไกลว่าอภิปรายใส่ร้าย ส.ว. จึงขออย่ามาก้าวล่วงพรรค และขอให้ถอนคำพูด เพราะการเอ่ยชื่อพรรคแบบนี้ทำให้พรรคเสียหาย ซึ่งนายพรเพชร วิชิตชลชัย รองประธานรัฐสภา ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม ระบุว่า นายเสรีไม่ได้พูดจาหยาบคาย ก้าวร้าว แต่ขอให้พูดอยู่ในประเด็น

จากนั้นนายเสรีกล่าวตอบโต้ ส.ส.พรรคก้าวไกลว่า ตนไม่ได้ใส่ร้ายพรรคก้าวไกล ไม่ได้ทำให้ท่านเสียหายอะไรเลย เมื่อวาน (6 ก.ย.) ท่านเอ่ยถึง ส.ว.ทั้งวัน พอเราพูดถึงพรรคก้าวไกลบ้าง ท่านกลับประท้วง ท่านเสนอแก้มาตรา 272 โดยให้เหตุผลว่า ส.ว.ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ทั้งที่ในอดีตท่านมาจากพรรคอนาคตใหม่ ซึ่งโดนอุบัติเหตุทางการเมืองกระทั่งถูกยุบพรรค จริงๆ เมื่อถูกยุบไป สมาชิกในพรรคนั้นต้องพ้นจากความเป็น ส.ส. แต่ด้วยอานุภาพของรัฐธรรมนูญ 60 บัญญัติว่าให้พรรคการเมืองที่ถูกยุบสามารถหาพรรคอื่นได้ภายใน 60 วัน พวกท่านจึงมาอยู่พรรคปัจจุบัน อยากถามว่าพรรคก้าวไกลเคยได้มาสักคะแนนเสียงจากประชาชนหรือไม่ ซึ่งก็ไม่เคย เพราะท่านก็มาจากรัฐธรรมนูญ 60 เหมือนกัน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บรรยากาศในห้องประชุมได้วุ่นวายขึ้น และเกิดการปะทะคารมกันอีกครั้ง โดยนายณัฐวุฒิท้านายเสรีว่า “หมดหนี้ คสช. ให้ลาออกมาลงเลือกตั้งแข่งกันดีกว่า” ขณะที่นางอมรัตน์ ลุกขึ้นประท้วงว่า แบบนี้หรือที่เรียกว่าตัวเองมีวุฒิภาวะ ก็สมควรแล้วที่ประชาชนจะรังเกียจ ประธานไม่ให้พูดก็ยังจะพูด แบบนี้ถือว่าเป็นตัวอย่างที่เลว

จากนั้นนายเสรีได้ประท้วงว่านางอมรัตน์ใช้คำพูดไม่เหมาะสม ขอให้ประธาน วินิจฉัยให้มีการถอนคำพูดดังกล่าว แต่นายพรเพชรระบุว่า ไม่ได้ยิน และนางอมรัตน์ได้เดินออกจากห้องไปแล้ว ขอให้นายเสรีดำเนินการอภิปรายต่อ

จากนั้นเวลา 16.40 น. นายสมชาย แสวงการ ส.ว. อภิปรายว่า ยืนยันร่างรัฐธรรมนูญทั้ง 4 ร่างยังไม่ควรผ่าน ทั้งนี้ การอภิปรายตลอดสองวัน โดน ส.ส.กระแนะกระแหน และใช้ถ้อยคำเสียดสี ดังนั้นจึงขอเรียนว่า อดทน อดกลั้นมาถึงสองวัน เดิมอยากเห็นสภาแห่งนี้เป็นที่พูดคุยกัน แต่ ส.ว.กลับโดนตบกะโหลก การจะขอให้ ส.ว.ช่วยลงมติให้ในครั้งนี้จำนวน 1 ใน 3 ของสมาชิกทั้งสองสภาตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดก็สามารถทำได้ เพราะเคยลงมติเรื่องแก้ระบบบัตรเลือกตั้งสองใบให้ไปแล้ว และเมื่อครั้งที่แล้วเสนอขอแก้ไขมาตรา 272 ก็มี ส.ว. 56 คนลงมติให้ แต่ครั้งนี้กลับมีสมาชิกใช้วาจาส่อเสียด ส.ว.มากเกินไป ตนจึงไม่แน่ใจว่า ส.ว.ที่เคยลงมติให้ไปครั้งที่แล้วจะลงมติครั้งนี้อย่างไร แต่สำหรับตน ลงมติให้ไม่ได้ เพราะจะเท่ากับว่าโดนตบหัวแล้วลูบหลัง

 “วันหน้าถ้าท่านจะเข้าสู่การเลือกตั้ง และมีสมาชิกหลายพรรคบอกว่าจะไปรณรงค์แก้รัฐธรรมนูญใหม่ ผมก็เห็นด้วยหรือขอแนะนำอีกประการ ถ้าท่านไม่เห็นด้วยกับรัฐธรรมนูญนี้ เพราะเห็นว่าเป็นมรดกทรราช หรือเป็นของ คสช. หรือของเผด็จการ และไม่อยากทำงานร่วมกับ ส.ว. ผมแนะนำท่านไม่ต้องกลับมาลงเลือกตั้ง จะได้ไม่ต้องมาเจอกันอีก และเมื่อพวกผมพ้นไปแล้ว พวกท่านค่อยกลับเข้ามาสมัครใหม่ ขอเรียนพวกท่านว่าไม่ใช่เกลียดปลาไหลกินน้ำแกง ท่านเข้ามาอยู่ในสภาแห่งนี้ก็ด้วยรัฐธรรมนูญฉบับนี้” นายสมชายกล่าว

พท.ปลงโดนเทกระจาด

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากสมาชิกรัฐสภาอภิปรายร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเพิ่มเติมทั้ง 4 ร่างครบถ้วนเรียบร้อยแล้ว โดยเวลา 17.00 น. นายพรเพชร วิชิตชลชัย รองประธานรัฐสภา ที่ทำหน้าที่ประธานการประชุม จึงให้เจ้าของร่างแก้ไขแต่ละฉบับสรุปการอภิปราย โดยนายสุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย สรุปว่า เท่าที่ฟังการอภิปราย มั่นใจว่าทั้ง 4 ร่างจะตก เพราะเสียง ส.ว.ส่วนใหญ่ประกาศไม่รับทั้ง 4 ร่าง แต่เหตุผลที่บอกไม่รับเพราะถูกเหน็บแนม ตบกะโหลกนั้น ถ้าจะตกด้วยอารมณ์น้อยเนื้อต่ำใจ โกรธแค้น ถือว่าน่าผิดหวังสำหรับประชาชน ยิ่งการไม่ยอมรับกติกาฉบับนี้แล้วบอกว่า ก็ต้องไม่เข้ามาอีกในสมัยหน้า แต่เรายืนยันจะดั้นด้นเข้ามาเพื่อแก้ไขกติกาให้ได้

จากนั้นเวลา 18.10 น. หลังจากเจ้าของร่างทั้ง 4 ฉบับอภิปรายครบถ้วนแล้ว นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ที่ทำหน้าที่ประธานการประชุม จึงให้สมาชิกรัฐสภาลงมติวาระรับหลักการ โดยใช้วิธีขานชื่อเรียงตามลำดับอักษรว่าจะรับหลักการร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้ง 4 ร่างหรือไม่

กระทั่งเวลา 20.57 น. หลังสมาชิกรัฐสภาขานชื่อลงมติครบทุกคนแล้ว ปรากฏว่าร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเพิ่มเติมทั้ง 4 ร่าง ไม่มีร่างได้คะแนนเห็นชอบเกินกึ่งหนึ่ง หรือ 364 คน จากจำนวนสมาชิกรัฐสภาที่ปฏิบัติหน้าที่ได้ทั้งหมด 727 คน โดยร่างที่ 1 ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเพิ่มเติม มาตรา 43 เกี่ยวกับสิทธิบุคคลและชุมชน ที่ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน พรรคเพื่อไทย และคณะเป็นผู้เสนอ ผลการลงคะแนน ดังนี้ เห็นชอบ ส.ส. 342 คะแนน ส.ว. 40 คะแนน ไม่เห็นชอบ ส.ส. 99 คะแนน ส.ว. 153 คะแนน งดออกเสียง ส.ส. 2 คะแนน ส.ว. 26 คะแนน

ร่างที่ 2 ร่างแก้ไขมาตรา 25 มาตรา 29 มาตรา 34 เกี่ยวกับสิทธิและเสรีภาพประชาชน ที่ นพ.ชลน่านและคณะเป็นผู้เสนอ ผลการลงคะแนน ดังนี้ เห็นชอบ ส.ส. 338 คะแนน ส.ว. 8 คะแนน ไม่เห็นชอบ ส.ส. 103  ส.ว. 196 คะแนน งดออกเสียง ส.ส. 2 คะแนน ส.ว. 15 คะแนน

ร่างที่ 3 ร่างแก้ไขมาตรา 159 และ 170 เกี่ยวกับคุณสมบัติและที่มาของนายกฯ ที่ นพ.ชลน่านและคณะเป็นผู้เสนอ ผลการลงคะแนน ดังนี้ เห็นชอบ ส.ส. 337 คะแนน ส.ว. 9 คะแนน ไม่เห็นชอบ ส.ส. 100 คะแนน ส.ว. 192 คะแนน งดออกเสียง ส.ส. 6 คะแนน ส.ว. 18  คะแนน

ร่างที่ 4 ร่างแก้ไขมาตรา 272 เกี่ยวกับการตัดอำนาจ ส.ว.ในการเลือกนายกรัฐมนตรี ที่นายสมชัย ศรีสุทธิยากร และประชาชนเข้าเชื่อเสนอ ผลการลงคะแนน ดังนี้ เห็นชอบ ส.ส. 333 คะแนน ส.ว. 23คะแนน ไม่เห็นชอบ ส.ส. 102 คะแนน  ส.ว. 151 คะแนน งดออกเสียง ส.ส. 8 คะแนน ส.ว. 45 คะแนน

ทั้งนี้ ผลการคะแนน ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ พรรครวมพลัง และ ส.ส.พรรคเล็ก ลงมติไม่รับหลักการทั้ง 4 ร่าง ขณะที่พรรคร่วมรัฐบาลอื่นอย่างพรรคภูมิใจไทย พรรคประชาธิปัตย์ และพรรคฝ่ายค้านทุกพรรค ลงมติรับหลักการทั้ง 4 ร่าง ขณะที่ ส.ว.ส่วนใหญ่ โดยเฉพาะ ส.ว.ที่เป็นตำรวจ ทหารลงมติไม่รับหลักการทั้ง 4 ร่าง มีเพียง ส.ว.บางส่วนเท่านั้นที่ลงมติรับหลักการในร่างที่ 4 เรื่องการตัดอำนาจ ส.ว.โหวตเลือกนายกรัฐมนตรี อาทิ นางกาญจนารัตน์ ลีวิโรจน์, นายคำนูณ สิทธิสมาน, นายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ, พญ.คุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์, นายเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์,  นายพิศาล มาณวพัฒน์, นายวันชัย สอนศิริ, นายมณเฑียร บุญตัน, พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช และนายวัลลภ ตังคณานุรักษ์

ที่โรงแรมรามา การ์เด้นส์ ถนนวิภาวดีรังสิต พรรคสร้างอนาคตไทย จัดประชุมใหญ่เตรียมพร้อมสู่การเลือกตั้ง โดยนายอุตตม สาวนายน หัวหน้าพรรค ระบุว่า ที่ ประชุม กก.บห.มีมติเอกฉันท์แต่งตั้งนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ให้ดำรงตำแหน่งเป็นประธานพรรคสร้างอนาคตไทย ซึ่งในวันที่ 8 ก.ย.65 ทางนายสมคิดจะเดินทางเข้ามาร่วมประชุมกับผู้บริหารพรรค อย่างไรก็ตาม ในวันเดียวกันนั้น นายปองพล อดิเรกสาร อดีตรองนายกฯ พร้อมบุตรชาย นายปรพล อดิเรกสาร อดีต ส.ส.สระบุรี และนายนวกิจ พลวิเศษ บุตรชายนายภิรมย์ พลวิเศษ อดีต ส.ส.นครราชสีมา และอดีตแกนนำกลุ่มสามมิตร จะไปเปิดตัวด้วย หลังได้ยื่นใบลาออกจากสมาชิกพรรครวมไทยสร้างชาติ เมื่อวันที่ 6 ก.ย.ที่ผ่านมา

ที่ จ.สุรินทร์ ดร.คมสัน พันธุ์วิชาติกุล โฆษกพรรครวมแผ่นดิน เปิดตัวผู้สมัคร ซึ่งประกอบด้วย 1.นางชนมณี บุตรวงษ์ ภริยา พล.อ.สุรวัช บุตรวงษ์ รองหัวหน้าพรรค 2.นายสง่า ดอกจันทน์ 3.นายชยพล ล้ำเลิศ

สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต สำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วประเทศ จำนวนทั้งสิ้น 1,128 คน (สำรวจทางออนไลน์) ระหว่างวันที่ 3-6 ก.ย. ระบุ คิดว่าการเลือกตั้งครั้งต่อไปผู้สมัครในพรรคฝ่ายค้านน่าจะได้เปรียบ 52.75% ส่วนการซื้อสิทธิขายเสียงก็น่าจะมากขึ้น  56.56% สิ่งที่มีผลต่อการตัดสินใจของ ประชาชนในการเลือก ส.ส.ครั้งต่อไป คือ พรรคที่สังกัด 70.10% และสถานการณ์ การเมืองไทยหลังจากนี้จะร้อนแรงมากขึ้น  68.29%.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง