อุตุฯเตือน43จว. รับฝนถล่มหนัก! ชัชชาติห่วง3เขต

กรมอุตุฯ ประกาศเตือน 43  จังหวัดทั่วประเทศ ฝนตกหนักถึงหนักมาก  “บิ๊กป้อม” ถก คกก.สิ่งแวดล้อม ไฟเขียว 2 โครงการอ่างเก็บน้ำ แก้ปัญหาน้ำท่วม-น้ำแล้ง “มท.1” ตรวจน้ำท่วมรังสิต สั่งเพิ่มเครื่องสูบน้ำผลักดันน้ำเก่าลงเจ้าพระยา มั่นใจถ้าฝนไม่หนักมากน่าจะคุมสถานการณ์ได้ “ชัชชาติ” ห่วง 3 เขต กทม. “ดอนเมือง-บางเขน-ลาดกระบัง” ท่วมสูง หลังคลองเปรมฯ น้ำล้นระบายไม่ทัน “ทบ.-ทร.” ส่งทหารช่วยเต็มที่ “สธ.” กำชับสถานพยาบาลทุกแห่งสำรองยา-เวชภัณฑ์ ดูแล ปชช.

เมื่อวันที่ 9 ก.ย. กรมอุตุนิยมวิทยา ออกประกาศฉบับที่ 13 เรื่อง "ฝนตกหนักถึงหนักมากบริเวณประเทศไทย และคลื่นลมแรงบริเวณทะเลอันดามันตอนบนและอ่าวไทยตอนบน" ระบุว่า ร่องมรสุมกำลังแรงพาดผ่านภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลางตอนบน เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังปานกลางพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทย ลักษณะเช่นนี้ทำให้ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล และภาคตะวันออก มีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง ขอให้ประชาชนในบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจากฝนตกหนักถึงหนักมาก และฝนที่ตกสะสมซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่ม

จังหวัดที่คาดว่าจะมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง ภาคเหนือ จังหวัดแม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน ลำปาง พะเยา แพร่ น่าน สุโขทัย อุตรดิตถ์ ตาก กำแพงเพชร พิจิตร พิษณุโลก และเพชรบูรณ์ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จังหวัดเลย หนองบัวลำภู หนองคาย บึงกาฬ อุดรธานี สกลนคร นครพนม ชัยภูมิ ขอนแก่น กาฬสินธุ์ ร้อยเอ็ด มหาสารคาม และนครราชสีมา ภาคกลาง จังหวัดนครสวรรค์ อุทัยธานี กาญจนบุรี ลพบุรี สระบุรี รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ภาคตะวันออก จังหวัดนครนายก ปราจีนบุรี ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด ภาคใต้ จังหวัดระนอง และพังงา

สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันตอนบนมีกำลังปานกลาง โดยมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง คลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ขอให้ชาวเรือในบริเวณดังกล่าวเดินเรือด้วยความระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการเดินเรือบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง จึงขอให้ประชาชนติดตามประกาศจากกรมอุตุนิยมวิทยาตลอด 24 ชั่วโมง

ที่มูลนิธิอนุรักษ์ป่ารอยต่อ 5 จังหวัด พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี รักษาการแทนนายกรัฐมนตรี  เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ครั้งที่ 4/2565 โดยคณะกรรมการฯ ได้เห็นชอบรายงาน EIA เพื่อการบริหารจัดการน้ำของกรมชลประทาน 2 โครงการ ได้แก่ โครงการอ่างเก็บน้ำน้ำกอน อ.เชียงกลาง จ.น่าน และโครงการอ่างเก็บน้ำน้ำรี อันเนื่องมาจากพระราชดำริ อ.เฉลิมพระเกียรติ จ.น่าน เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำให้มีน้ำใช้เพียงพอตลอดทั้งปี และแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่ให้แก่ประชาชน

ขณะที่ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย พร้อมคณะ และอธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ลงพื้นที่เทศบาลนครรังสิต เพื่อติดตามสถานการณ์น้ำ โดยมี พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดปทุมธานี ต้อนรับพร้อมรายงานสถานการณ์น้ำในพื้นที่ และการนำเครื่องสูบน้ำโมบายเพื่อเสริมการระบายน้ำในคลองรังสิตประยูรศักดิ์ จากเดิมของกรมชลประทาน 9 เครื่อง รวมเป็น 20 เครื่อง

พล.อ.อนุพงษ์กล่าวว่า ปัญหาที่เกิดขึ้น เพราะมีการระบายน้ำเข้ามาจากพื้นที่ด้านนอก ซึ่งนายก อบจ.ได้ประสานขอให้งดการระบายน้ำจากภายนอกเข้ามาแล้ว ขณะเดียวกันได้เร่งผลักดันน้ำที่มีอยู่ในพื้นที่ให้ออกสู่แม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อให้สามารถรองรับสถานการณ์น้ำได้แม้จะมีฝนตกลงมาบ้าง ส่วนน้ำที่ท่วมขังในพื้นที่อาศัยบ้านเรือนประชาชน จะมีเครื่องสูบขนาดเล็กไปทยอยสูบออกมา เพื่อให้กลับสู่สภาวะปกติโดยเร็ว

 “หากฝนตกไม่หนักมาก เราก็คงรักษาสถานการณ์ได้ แต่ถ้าตกแบบทั้งวันทั้งคืนก็คงจะมีปัญหาบ้าง เรามีเครื่องสูบน้ำมาดันน้ำเพื่อที่จะพร่องน้ำไปยังแม่น้ำเจ้าพระยาได้เร็วขึ้น ส่วนเครื่องสูบน้ำที่เคยเสีย นายก อบจ.ปทุมธานีได้ประสานกรมชลประทานแล้ว และได้แก้ไขปัญหาจนสามารถเดินเครื่องได้อย่างเต็มกำลัง และมีเพิ่มเครื่องผลักดันน้ำด้วย ส่วนในพื้นที่ย่อย ผมได้เรียนท่านนายก อบจ.ปทุมธานี และท่านนายกเทศมนตรีนครรังสิตว่า ถ้าต้องการเครื่องเพิ่มเติม ทางกรมชลประทานก็สามารถร้องขอได้ ทาง ปภ.ก็ร้องขอได้เช่นกัน มีทั้งเครื่องสูบระยะไกลระยะสั่น เรามีทั้งหมด รวมถึงขอมาสแตนด์บายหากคิดว่าพื้นที่ไหนจะต้องเตรียมรับสถานการณ์จะต้องเพิ่มเครื่อง ก็เตรียมความพร้อมไว้” รมว.มหาดไทยกล่าว

ส่วนนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. ได้ไลฟ์สดผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ขณะลงพื้นที่ซอยช่างอากาศอุทิศ เขตดอนเมือง โดยเข้าสำรวจระดับน้ำที่คลองเปรมประชากร

นายชัชชาติกล่าวว่า ขณะนี้คลองเปรมประชากรมีระดับสูงอยู่ราว 1.40-1.50 เมตร ซึ่งถือว่าเป็นปัญหาแม้ฝนหยุดแล้ว แต่น้ำในคลองยังสูงอยู่ เขตดอนเมือง แถววิภาวดีฯ ขาเข้า-ขาออก หน้าสนามบินดอนเมืองน้ำเยอะส่วนหนึ่งสูบมาจากสนามบินด้วย ชาวบ้านริมคลองลำบากนิดหนึ่ง

จากนั้นนายชัชชาติได้เดินเท้าไปยังสำนักงานเขตดอนเมือง พร้อมกล่าวว่า ครั้งนี้พยายามติดตั้งเครื่องสูบน้ำในซอยช่างอากาศอุทิศทั้งซอย ซึ่งในขณะนี้คลองเปรมประชากร คลองลาดพร้าว และคลองประเวศยังหนัก รวมทั้งได้ย้ำเรื่องห้องน้ำเคลื่อนที่และการขนส่งประชาชนกับเจ้าหน้าที่พร้อมให้กำลังใจ

กทม.ห่วง 3 เขตท่วมหนัก

นายชัชชาติให้สัมภาษณ์อีกครั้งว่า จุดน้ำท่วมหนักของกรุงเทพมหานคร มี 3 จุด คือ เขตดอนเมือง เขตบางเขน และเขตลาดกระบัง ขณะนี้น้ำในคลองเปรมฯเต็มเนื่องจากฝนตกปริมาณมากแล้วระบายไม่ทัน ซึ่งคลองเปรมฯ ระบายน้ำเป็นสองส่วน คือระบายลงคลองบางซื่อทางด้านล่าง และลงคลองรังสิตทางด้านบน ซึ่งด้านบนระบายได้ไม่มาก ประมาณ 10 ลบ.ม./วินาที ส่วนด้านล่างได้ติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำเพื่อเร่งระบายน้ำ จะเห็นได้ว่าคลองเปรมฯ มีข้อจำกัดเยอะ ส่วนใหญ่ยังไม่มีเขื่อน ทำให้ไม่สามารถขุดลอกได้ ระดับความลึกของคลองอยู่ที่ประมาณ 2 เมตร ทำให้รับน้ำได้ไม่มาก และยังมีบ้านรุกล้ำริมคลองประมาณ 2,000 ครัวเรือน ที่ยังไม่ได้รับการแก้ไข ซึ่งคงเป็นเรื่องที่ต้องดูแลในระยะยาวต่อไป

 “เบื้องต้นมี 2 ส่วนที่ต้องดูแล 1.เร่งระบายน้ำให้เร็วที่สุด ทั้งสองฝั่งทั้งฝั่งเหนือและฝั่งใต้ และ 2.ต้องเข้าสู่หมวดการช่วยเหลือและการบรรเทาสาธารณภัย คือ สำนักงานเขตและส่วนกลางต้องเข้ามาช่วยเหลือและดูแลประชาชนที่ได้รับผลกระทบ เรื่องอาหาร น้ำดื่ม เครื่องใช้จำเป็น ห้องน้ำ รวมทั้งผู้ป่วยติดเตียง ซึ่งสถานการณ์ทั่วไปหากไม่มีฝนตกเพิ่มลงมา คงจะค่อยๆ บรรเทาได้” ผู้ว่าฯ กทม.ระบุ

 ส่วนที่ท่าเรือวัดราชาธิวาสราชวรวิหาร นายขจิต ชัชวานิชย์ ปลัด กทม. พร้อมด้วย พล.ท.สุขสรรค์ หนองบัวล่าง แม่ทัพภาคที่ 1 เป็นประธานในกิจกรรมจัดเก็บผักตบชวาและวัชพืชในแม่น้ำเจ้าพระยา ตั้งแต่สะพานพระราม 7 ถึงบริเวณสะพานพุทธ เพื่อเปิดทางไหลของน้ำ เพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาในช่วงน้ำหลาก และเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการสัญจรทางน้ำ

พ.อ.หญิงศิริจันทร์ งาทอง รองโฆษกกองทัพบก กล่าวว่า กองทัพบกยังคงร่วมมือกับทุกภาคส่วนคลี่คลายสถานการณ์และดูแลประชาชน โดยเฉพาะในพื้นที่ กทม. ปริมณฑล ซึ่งจากการหารือร่วมกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง คำนึงถึงการแก้ไขสถานการณ์น้ำท่วมในภาพรวมของ กทม. และปริมณฑล ทั้งการขุดลอกคูคลองใน กทม., การเฝ้าระวังปริมาณน้ำเหนือที่ลงมาสู่พื้นที่ภาคกลาง การเร่งกำจัดผักตบชวาและวัชพืชบริเวณประตูระบายน้ำต่างๆ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการไหลของน้ำ ตลอดจนจัดรถยนต์บรรทุกขนาดใหญ่ให้บริการในพื้นที่เสี่ยงต่อการเกิดน้ำท่วม

กองทัพเรือ พล.ร.ท.ปกครอง มนธาตุผลิน เจ้ากรมกิจการพลเรือนทหารเรือ ในฐานะหัวหน้าฝ่ายกิจการพลเรือนศูนย์บรรเทาสาธารณภัยกองทัพเรือ และโฆษกกองทัพเรือ กล่าวว่า ผบ.ทร.ได้สั่งการให้ศูนย์บรรเทาสาธารณภัยพื้นที่ต่างๆ ของกองทัพเรือ รวมทั้งหน่วยต่างๆ ของกองทัพเรือ เตรียมความพร้อมในการปฏิบัติเชิงรุกทั้งด้านองค์บุคคล องค์วัตถุ และองค์ยุทธวิธี ให้มีความพร้อมในการช่วยเหลือประชาชนได้ทันที โดยบูรณาการและประสานงานกับหน่วยงานต่างๆ ในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งให้มีการสำรวจความเดือดร้อนและความต้องการของประชาชน พร้อมทั้งติดตามการแจ้งเตือนภัยจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิด เพื่อให้สามารถช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนให้กับประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งยังเตรียมความพร้อมทั้งกำลังพลและยุทโธปกรณ์ ที่จะให้การสนับสนุนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยอย่างต่อเนื่อง และได้เตรียมพร้อม เรือผลักดันน้ำไว้ 80 ลำ เพื่อใช้ในภารกิจ ระบายน้ำ จากปากแม่น้ำลงสู่ทะเล หากมีปริมาณน้ำเหนือหนุนสูงและจังหวัดต้องการความช่วยเหลือ

ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัด สธ. กล่าวว่า ขณะนี้มีสถานบริการสาธารณสุขที่ได้รับผลกระทบ 16 แห่ง ประกอบด้วย สำนักงานสาธารณสุขอำเภอ 1 แห่ง โรงพยาบาล  2 แห่ง และ รพ.สต. 13 แห่ง โดยหน่วยบริการเปิดให้บริการได้ตามปกติ 11 แห่ง เปิดให้บริการบางส่วน 1 แห่ง และต้องปิดให้บริการ 3 แห่ง ซึ่งได้ย้ายจุดบริการไปยังพื้นที่ปลอดภัยเรียบร้อยแล้ว รวมทั้งได้จัดทีมแพทย์ออกปฏิบัติการเชิงรุกประกอบด้วย หน่วยแพทย์เคลื่อนที่ 41 ทีม MERT 2 ทีม miniMERT 24 ทีม CDCU 2 ทีม MCATT 3 ทีม และอื่นๆ 3 ทีม มีผู้เข้ารับบริการรวม 3,849 ราย โดยกองสาธารณสุขฉุกเฉิน สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ได้ส่งยาช่วยเหลือผู้ประสบภัยลงไปสนับสนุนในพื้นที่ 19 จังหวัด จำนวน 19,100 ชุด รวมทั้งสำรองยา เวชภัณฑ์ อุปกรณ์ทางการแพทย์ให้เพียงพอสำหรับให้บริการ พร้อมเฝ้าระวังผลกระทบด้านโรคและภัยสุขภาพที่อาจจะเกิดขึ้น.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

กรมอุตุฯ เผยสาเหตุเกิด 'พายุฤดูร้อน' ถล่มอีสาน เตือน 42 จังหวัดระวังฝนตกใน 24 ชม.ข้างหน้า

กรมอุตุนิยมวิทยา วิเคราะห์สาเหตุการเกิดพายุฤดูร้อน (ฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง ลูกเห็บ) บริเวณภาคอีสาน (จ.เลย อุดรธานี บึงกาฬ หนองคาย ร้อยเอ็ด นครราชสีมา) เมื่อวานที่ผ่านมา (28/3/67)

อุตุฯ พยากรณ์ 10 วันล่วงหน้า อากาศร้อนจัดพุ่ง 43 องศา

กรมอุตุนิยมวิทยา อัปเดตผลการพยากรณ์ฝนสะสมรายวัน (ทุกๆ 24 ชม.:(นับตั้งแต่ 07.00 น. ถึง 07.00น.วันรุ่งขึ้น) และลมที่ระดับ 925hPa (750 ม.)10 วันล่วงหน้า ระหว่าง 29 มี.ค. - 7 เม.ย. 67

อุตุฯ เตือนร้อนถึงร้อนจัด ทะลุ 41 องศา ฝนฟ้าคะนอง 38 จังหวัด

กรมอุตุนิยมวิทยา พยากรณ์อากาศ 24 ชั่วโมงข้างหน้าว่า ความกดอากาศต่ำเนื่องจากความร้อนปกคลุมประเทศไทยตอนบน ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยมีอากาศร้อนกับมีฟ้าหลัวในตอนกลางวัน