แนะศาลเบิกความ20กรธ.ปม8ปี

"วิษณุ" ยันตั้งกฤษฎีกาคณะพิเศษศึกษาปม 8 ปีนายกฯ ทำได้ไม่ใช่เรื่องส่วนตัว ระบุ “บิ๊กตู่” ไม่ควรรักษาการหากไม่รอด ย้ำ “บิ๊กป้อม” มีอำนาจยุบสภาทางทฤษฎีแต่ปฏิบัติไม่ง่าย "สดศรี" ชี้ช่องศาล รธน.เบิกความ กรธ.ทั้ง 20 คนให้ความเห็นเจตนารมณ์ ม.158-264  เปรียบบ้านมีปัญหาต้องถามคนก่อสร้าง "ประยุทธ์" เก็บตัวที่ กห. ขณะที่ "ประวิตร” ลุยลงพื้นที่ จ.ตาก ติดตามการพัฒนาแนวชายแดน อ่างเก็บน้ำ มอบกรรมสิทธิ์ที่ดินทำกิน

ที่ทำเนียบรัฐบาล วันที่ 12 กันยายน นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงเสียงวิพากษ์วิจารณ์คำชี้แจงต่อศาลรัฐธรรมนูญของ พล.อ.ประยุทธ์  จันทร์โอชา นายกฯ และ รมว.กลาโหม ที่ระบุมีการตั้งคณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาประเด็นการดำรงตำแหน่ง 8  ปี เป็นสิ่งที่ทำได้หรือไม่เพราะทำเพื่อคนคนเดียวว่า ไม่ขัดหลักการ เพราะเรื่องดังกล่าวไม่ใช่เรื่องส่วนตัว เป็นตำแหน่งทางราชการ และตำแหน่งนายกฯ เป็นปัญหาของประเทศ มีการตั้งคณะกรรมการชุดดังกล่าวตั้งแต่วันที่ 17  ม.ค.65

เมื่อถามว่า มีการวิพากษ์วิจารณ์คำชี้แจงประเด็นที่ระบุว่าการเป็นนายกฯ ขาดตอนนั้นหมายความว่าอย่างไร  นายวิษณุกล่าวว่า ไม่ทราบ ขอให้รอคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ตนไม่อยากวิพากษ์วิจารณ์ แต่ในส่วนของนายกฯ ตามบทเฉพาะกาล เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา  264 สิ่งที่สื่อถามถือเป็นคำให้การของ พล.อ.ประยุทธ์  ถูกบ้าง ผิดบ้าง จริงบ้างไม่รู้ เขาก็ให้การไปแล้วตอบไปตามประเด็นที่ผู้ร้องตั้งประเด็นไว้ สุดท้ายจะฟังขึ้นหรือไม่อยู่ที่ศาล อย่างคำชี้แจงบางประเด็นของ พล.อ.ประยุทธ์  ตนก็ไม่เห็นด้วยเพราะไม่จำเป็นต้องไปตอบ แต่ทีมกฎหมายเห็นว่าควรตอบทุกข้อ อย่างเช่นการอ้างคำวินิจฉัยต่างๆ ก่อนหน้านี้ซึ่งก็ไม่ตรงกับประเด็นที่ถูกร้อง แล้วจะไปชี้แจงทำไม แต่ไม่เป็นไร อย่างมากก็เสมอตัวไม่ขาดทุนอะไร ดังนั้นขอให้รอฟังคำพิพากษา ไม่มีประโยชน์ที่ตนจะไปวิพากษ์วิจารณ์ ขอให้รอฟังคำวิจฉัยของศาลซึ่งจะตัดสินในเร็วๆ นี้

เมื่อถามว่า ศาลนัดประชุมวันที่ 14 ก.ย. ในส่วนของรัฐบาลต้องเตรียมแนวทางรับมือไว้อย่างไรบ้าง นายวิษณุกล่าวว่า ไม่รู้ว่าวันที่ 14 จะมีคำวินิจฉัยหรือไม่ ยืนยันว่ารัฐบาลไม่ได้เตรียมแนวทางรองรับไว้ ถ้าศาลตัดสินว่ายังไม่ครบ 8 ปี วันรุ่งขึ้น พล.อ.ประยุทธ์ก็กลับมาทำงาน ถ้าศาลบอกว่านับตั้งแต่ปี 2557 พล.อ.ประยุทธ์ ก็ไม่ต้องกลับมา พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ ในฐานะรักษาราชการแทนนายกฯ ก็รักษาการไป ไม่รู้กี่วันขึ้นอยู่กับประธานรัฐสภา จะเรียกประชุมเพื่อเลือกนายกฯ และจนกว่านายกฯ และคณะรัฐมนตรีชุดใหม่เข้าถวายสัตย์ฯ  ถึงจะพ้นไป การกระทำอะไรที่ผ่านมาจะไม่ถือว่าเป็นโมฆะ

 “สมมุติศาลตัดสินว่านับตั้งแต่ปี 57 เมื่อ พล.อ.ประยุทธ์พ้นไปก็สามารถรักษาการเองได้ แต่ควรหรือไม่นั้น-ไม่ควร พล.อ.ประวิตรก็รักษาการไปจนกว่ารัฐสภาจะเลือกนายกฯ คนใหม่ ส่วนอำนาจยุบสภาสามารถทำได้หรือไม่นั้น ผมพูดมา 9 ครั้งแล้วว่าทางทฤษฎีทำได้ แต่ทางปฏิบัติไม่ใช่เรื่องง่าย อย่างสมัยพฤษภาทมิฬ พล.อ.สุจินดา คราประยูร ลาออก นายมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นรองนายกฯ รักษาราชการแทนนายกฯ ในขณะนั้นเตรียมคิดว่าจะยุบสภาซึ่งมีอำนาจ แต่คิดไปคิดมาให้เขาไปหานายกฯ ใหม่มายุบสภาดีกว่า จนได้นายอานันท์ ปันยารชุน มาเป็นนายกฯ แล้วเข้ามายุบสภาในที่สุด ดังนั้นมันต้องคำนึงถึงความเหมาะสมอะไรหลายๆ อย่าง” นายวิษณุกล่าว

แนะศาลเบิกความ 20 กรธ.

ด้านนางสดศรี สัตยธรรม อดีตกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และอดีตกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ในสภาร่างรัฐธรรมนูญ 2550 กล่าวถึงกรณีพิจารณาวาระการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ว่า เราจะเห็นได้ว่า กรธ.ทั้ง 20 คน ยังลงความเห็นในเรื่องการนับวาระการดำรงตำแหน่งนายกฯ ไม่เหมือนกัน ทั้งจากการให้สัมภาษณ์และการชี้แจงต่อศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญ เป็นการชี้ในเรื่องที่ถือว่าเป็นข้อสำคัญในคดีดังกล่าว และข้อขัดแย้งดังกล่าวยังเป็นเรื่องที่พยานบุคคลยังมีความสับสนกันอยู่ เหมือนกรณีการสร้างบ้านเมื่อบ้านเกิดปัญหา คนที่จะให้คำตอบได้อย่างดีที่สุดคือช่างที่ก่อสร้างบ้าน ซึ่งในกรณีนี้ก็คือคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ปี 2560 ดังนั้นเพื่อให้เกิดความชัดเจนน่าจะให้ กรธ.ทั้ง 20 ท่านเป็นพยานศาล ในการให้การเพื่อให้เกิดความชัดเจนยิ่งขึ้น ว่ามีเหตุผลอะไรถึงมีการบัญญัติมาตรา  158 เรื่องวาระดำรงตำแหน่งนายกฯ และมาตรา 264 ด้วย

"การที่ กรธ.ไปให้การต่อศาลน่าจะเกิดประโยชน์แก่ทุกฝ่าย ทั้งศาลรัฐธรรมนูญจะได้รับฟังเจตนารมณ์จากผู้ร่างรัฐธรรมนูญ น่าจะเกิดผลดีกว่าที่จะต้องไปตีความโดยศาล เพราะหากมีชี้แจงจากตัว กรธ.เองต่อศาลน่าจะเป็นเรื่องดีที่สุด ซึ่งจะทำให้เกิดความเข้าใจว่าทำไมศาลรัฐธรรมนูญถึงมีคำวินิจฉัยในทางใดทางหนึ่ง และจะต้องเป็นการพิจารณาโดยเปิดเผย ซึ่งคงจะใช้เวลาเพียงเล็กน้อยในการเบิกความแต่ละท่าน นอกจากนั้นยังเชื่อว่าในการประชุม กรธ.น่าจะมีการบันทึกเทปไว้ ดังนั้นการถอดเทปการประชุมประกอบกับการเบิกความ กรธ.น่าจะยิ่งเกิดความชัดเจนมากยิ่งขึ้น เพราะรายงานการประชุมเป็นเพียงบทสรุป ซึ่งจะสู้รายงานจากปากของผู้ร่างรัฐธรรมนูญไม่ได้” นางสดศรี​กล่าว

นางสดศรีกล่าวอีกว่า ทั้งนี้ไม่ใช่การชี้นำศาลแต่เป็นเรื่องที่เคยเป็น กรธ.แล้ว วิธีการปฏิบัติใน กรธ.ก็ทำมาอย่างนี้ คือแต่ละมาตราก็จะมีการพูดกัน หากเห็นไม่ตรงกันก็จะมีการลงมติ เสียงข้างมากว่าอย่างไรก็จะเป็นไปอย่างนั้น แต่พอเกิดปัญหาแล้วกลายเป็นว่ามีคนไปพูดอีกอย่างหนึ่ง ทำให้ประชาชนเกิดความสับสน และเกิดความไม่แน่ใจในผลคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญ

'บิ๊กตู่' เก็บตัวที่ กห.

ผู้สื่อข่าวรายงานความเคลื่อนไหวของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา รมว.กลาโหม มีกำหนดการเป็นประธานการประชุมสภาทหารผ่านศึก ที่องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก ถ.ราชวิถี โดยหน่วยงานแจ้งงดสื่อมวลชนเข้าทำข่าว แต่ล่าสุด พล.อ.ประยุทธ์ไม่ได้มาเข้าร่วมประชุม โดยเข้าปฏิบัติงานที่กระทรวงกลาโหมตามปกติแทน โดยมอบหมายให้ พล.อ.ชัยชาญ ช้างมงคล รมช.กลาโหม ในฐานะอุปนายกสภาทหารผ่านศึก คนที่ 1 เป็นประธานการประชุมแทน

ช่วงเช้าเวลา 08.40 น. พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี รักษาราชการแทนนายกรัฐมนตรี ออกเดินทางจากท่าอากาศยานทหาร 2 กองบิน 6 ดอนเมือง ไปยังท่าอากาศยานนานาชาติแม่สอด  จังหวัดตาก พร้อมด้วยนายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม นายสันติ พร้อมพัฒน์ รมช.คลัง และคณะ เพื่อลงพื้นที่ตรวจราชการจังหวัดตาก โดยเมื่อมาถึงสนามบินแม่สอด มี ส.ส.พรรคเศรษฐกิจไทยมาให้การต้อนรับ เช่น นายธนัสถ์ ทวีเกื้อกูลกิจ​ ส.ส.เขต​ 1  และนายภาคภูมิ บูลย์ประมุข​ ส.ส.เขต​ 3 จังหวัดตาก   นายจีรเดช ศรีวิราช ส.ส.เขต 3 พะเยา นายไผ่ ลิกค์ ส.ส.เขต 1 กำแพงเพชร นางทัศนาพร เกษเมธีการุณ ส.ส. เขต 8 นครราชสีมา เป็นต้น

จากนั้นเวลา 10.15 น. พล.อ.ประวิตรเดินทางด้วยรถยนต์โตโยต้าอัลพาร์ด ทะเบียน​ ฮ​ 7654 กรุงเทพมหานคร​ ไปยังวิสาหกิจชุมชนศาสตร์พระราชาบ้านมั่นคงเมืองแม่สอด ต.แม่ปะ อ.แม่สอด เพื่อเป็นประธานมอบสิทธิมอบสุขในที่ดินทำกิน​ หนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ หรืออยู่อาศัยภายในเขตป่าสงวนแห่งชาติ  จำนวน 5 ป่า ประกอบด้วย ป่าช่องแคบและป่าแม่โกนเกน, ป่าแม่ละเมา, ป่าแม่สอด, ป่าท่าสองยาง และป่าแม่ระกา พร้อมทั้งมอบสมุดประจำตัวผู้ได้รับการคัดเลือกให้ทำกินในชุมชนตามนโยบายรัฐบาลในพื้นที่จังหวัดตาก แก่ประชาชนในพื้นที่ป่าช่องแคบและป่าแม่โกนเกนจำนวน  1,231 เล่ม

ทันทีที่ พล.อ.ประวิตร​เดินทางมาถึง ได้มีนักเรียนโรงเรียน​สรรพวิทยาคม​ รวมไปถึงเด็กๆ ในพื้นที่มาต้อนรับพร้อมชูป้ายให้กำลังใจ​ "เรารักปู่ป้อม", “เรารักลุงป้อม”  รวมไปถึงมีชาวบ้านมาต้อนรับประมาณ 100 คน พร้อมกับร้องเพลงสัญญาใจธนาคารที่ดิน​ และมอบดอกไม้ให้กำลังใจ ซึ่ง พล.อ.ประวิตรได้ร่วมปรบมือเข้าจังหวะเพลง​ และกล่าวทักทายเด็กๆ​ ขอบคุณที่มารอต้อนรับ

จากนั้น พล.อ.ประวิตร​กล่าวกับประชาชนว่า วันนี้ตนและคณะลงมาเพื่อมอบกรรมสิทธิ์ที่ดินให้แก่ประชาชนที่ได้รับผลกระทบ เพื่อให้มีที่ดินทำกินเป็นของตัวเอง รัฐบาลเล็งเห็นความสำคัญในการช่วยเหลือเกษตรกรและผู้ยากจนในเรื่องที่ดินทำกินมาโดยตลอด รวมถึงได้ทำงานดำเนินการผ่านโครงการหน่วยงานของรัฐต่างๆ รัฐบาลดูแลมาโดยตลอด โดยการนำของ พล.อ.ประยุทธ์​ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ได้ทำงานให้ประชาชน ได้มีที่ดินทำกินมาโดยตลอดระยะเวลา 7-8 ปีที่ พล.อ.ประยุทธ์ได้ดำรงตำแหน่งมา และได้ทำงานให้ทุกท่านมาโดยตลอด อยากฝากข้าราชการว่า ข้าราชการไม่ใช่นายของประชาชน แต่เป็นผู้ใต้บังคับบัญชาของประชาชน และเป็นหน้าที่ของข้าราชการทุกคนที่จะทำให้ประชาชนมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

'ป้อม' ย้ำ รบ.แก้ปัญหา ปชช.

พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า ประชาชนทุกคนเมื่อได้รับสิทธิในการถือครองที่ดินแล้ว จงมีความสุขกายสบายใจ ดำเนินชีวิตอย่างมีความสุข ให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น เพื่อเป็นแรงสนับสนุนให้รัฐบาลได้พัฒนาประเทศให้เกิดความมั่นคงมั่งคั่ง ฝากรัฐบาลด้วย​ ประชาชนทุกคนจะอยู่ได้ก็ด้วยรัฐบาล​ รัฐบาลจะอยู่ได้ก็ด้วยประชาชน​ทุกคนที่ให้การสนับสนุนรัฐบาลอย่างมั่นคงและยั่งยืนตลอดไป

ขณะที่การรักษาความปลอดภัยยังคงยกระดับเทียบเท่านายกรัฐมนตรี​ มีการตรึงกำลังเจ้าหน้าที่ทั้งทหารและตำรวจตลอดเส้นทาง ส่วนบรรยากาศพื้นที่การจัดงานเป็นไปอย่างทุลักทุเลเนื่องจากมีฝนตกอยู่ตลอดเวลา ทำให้การเข้าพื้นที่มีความยากลำบาก

ต่อมาเวลา 13.00 น. ที่หน่วยเฉพาะกิจกรมทหารราบที่ 14 ต.แม่ปะ อ.แม่สอด พล.อ.ประวิตรสักการะหลวงพ่ออู่ทองและถวายความเคารพพระบรมมรูปสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ก่อนรับฟังรายงานสถานการณ์แนวชายแดนจังหวัดตากจาก พล.ท.อภิเชษฐ์ ซื่อสัตย์ แม่ทัพภาคที่ 3 โดย พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า ฝากหน่วยงานความมั่นคงดูแลสถานการณ์การสู้รบชายแดนที่ส่งผลกระทบต่อประชาชนในพื้นที่ โดยรัฐบาลมีความห่วงใยประชาชนในพื้นที่ได้รับผลกระทบ จึงสั่งการขอให้กองกำลังป้องกันชายแดนยึดมั่นการปกป้องอธิปไตย ป้องกันการรุกล้ำทั้งทางบก ทางน้ำ และทางอากาศ ขณะเดียวกันให้รักษาความสัมพันธ์อันดี และยังกำชับให้คุมเข้มสกัดกั้นและปราบปรามยาเสพติด การลักลอบตัดไม้ทำลายป่า  สินค้าผิดกฎหมาย รวมทั้งให้เตรียมความพร้อมช่วยเหลือผู้ประสบภัยในพื้นที่เสี่ยง

จากนั้นเวลา 14.30 น. ที่อ่างเก็บน้ำห้วยแม่สอดตอนล่าง ต.พระธาตุผาแดง อ.แม่สอด พล.อ.ประวิตรตรวจเยี่ยมการบริหารจัดการน้ำอ่างเก็บน้ำแม่สอด​ตอนล่าง​  โดยได้เดินชมอ่างเก็บน้ำ​พร้อมสอบถามรายละเอียด โดยกล่าวว่าเห็นน้ำแบบนี้ไม่มีวันหมด จากนั้น พล.อ.ประวิตร​กล่าวว่า ขอบคุณประชาชนที่มาต้อนรับตนและคณะในวันนี้ พร้อมปล่อยมุก​ "บ่ายแล้วก็ง่วงนอนหน่อยนะ"

พล.อ.ประวิตรกล่าวด้วยว่า ตนได้พยายามทำทุกอย่างเพื่อให้ประชาชนทุกภาคส่วนได้มีการจัดสรรน้ำใช้สำหรับอุปโภคบริโภค และการเกษตรตลอดฤดูกาลให้ได้  จะต้องไม่แล้ง​ รัฐบาลจะเร่งแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน

จากนั้น พล.อ.ประวิตรถามประชาชนว่า ใคร​มีอะไรจะพูดจะคุยกับตนหรือไม่ โดยมีประชาชนถามเรื่องที่อยู่อาศัย พล.อ.ประวิตรตอบว่า​ ขณะนี้พยายามทำอยู่แล้ว  พร้อมที่จะแก้ไขปัญหาเรื่องเขตป่าไม้ การเข้าทำเกษตรกรรมในพื้นที่ป่าเสื่อมโทรม​ ซึ่งเป็นปัญหาเรื้อรังมากว่า 60 ปี พร้อมขอให้ส่งรายละเอียดมายังกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

หลังจากนั้น พล.อ.ประวิตรได้เดินพบปะกับประชาชน พร้อมกับถ่ายรูปร่วมกันอย่างเป็นกันเอง ก่อนเดินทางกลับ กทม.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง