เลือกตั้ง7พ.ค.66 กกต.เคาะไทม์ไลน์ครบเทอม ศาลรับตีความกฎหมายลูก

“กกต.” วางไทม์ไลน์เลือกตั้งใหญ่หากสภาอยู่ครบวาระ จ่อกำหนดหย่อนบัตร 7 พ.ค.66 เปิดรับสมัคร 3-7 เม.ย. ถ้ายุบสภาก่อนกำหนดวันเลือกตั้งภายใน 5 วันนับแต่ พ.ร.ฎ.ยุบสภาใช้บังคับ “บิ๊กป้อม” รอ 2 วันได้ความชัดเจนระเบียบปฏิบัติ ส.ส.-ผู้สมัคร “ผบ.ทบ.” ลั่นกองทัพไม่มีประเมินสถานการณ์หลังชี้ชะตาบิ๊กตู่ 30 ก.ย. “พท.” มาแต่ไก่โห่ ส่ง “ชัยเกษม” ชิงนายกฯ หาก “ประยุทธ์” พ้นตำแหน่ง เชื่อ “ประวิตร” ฝ่าหลายด่านนายกฯ คนนอก “ศาล รธน.” รับตีความกม.ลูกเลือกตั้ง ส.ส.-พรรคการเมือง “ที่ปรึกษาชวน” โชว์ผลงานสภาผ่าน กม. 13 ฉบับแม้ล่มบ่อย “ปชป.” เปิดตัว “มาดามเดียร์” 22 ก.ย.

เมื่อวันที่ 21 ก.ย.65 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้เตรียมแผนการเลือกตั้งกรณีสภาผู้แทนราษฎรครบวาระในวันที่ 23 มี.ค.2566 แล้ว ซึ่งตามรัฐธรรมนูญมาตรา 102 กำหนดให้มีการเลือกตั้งภายใน 45วัน นับแต่วันที่สภาผู้แทนราษฎรสิ้นอายุ  โดยเบื้องต้น กกต.กำหนดให้วันที่ 7 พ.ค.66 เป็นวันเลือกตั้งทั่วไป และเปิดรับสมัครในวันที่ 3-7 เม.ย.66

ส่วนรายละเอียดของแผนจัดการเลือกตั้งเบื้องต้นที่ กกต.กำหนดนั้น นับจากวันที่ 23 มี.ค.66 ที่อายุสภาผู้แทนราษฎรสิ้นสุดลง วันที่ 30 มี.ค.66 จะเป็นวันสุดท้ายที่คาดว่าพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้ง ส.ส.มีผลบังคับใช้ วันที่ 31 มี.ค.66 กกต.ประกาศกำหนดวันเลือกตั้ง และประกาศกำหนดวันรับสมัครวันที่ 3-7 เม.ย.66 เป็นวันรับสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. วันที่ 11 เม.ย.66 วันสุดท้ายของการประกาศกำหนดหน่วยเลือกตั้งและที่เลือกตั้ง และเป็นวันสุดท้ายประกาศบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้ง

วันที่ 14 เม.ย.66 ประกาศบัญชีรายชื่อผู้สมัคร ส.ส. วันที่ 16 เม.ย.66 เป็นวันสุดท้ายส่งหนังสือแจ้งเจ้าบ้าน และสรรหาแต่งตั้งคณะกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้ง วันที่ 26 เม.ย.66 เป็นวันสุดท้ายของการเปลี่ยนแปลงหน่วยเลือกตั้งและสถานที่เลือกตั้ง รวมถึงวันสุดท้ายของการเพิ่มชื่อ-ถอนชื่อ

วันที่ 30 เม.ย.66 เป็นวันลงคะแนนเลือกตั้งล่วงหน้าในเขตเลือกตั้งและนอกเขตเลือกตั้ง รวมทั้งแจ้งเหตุที่ไม่อาจไปใช้สิทธิเลือกตั้ง ส่วนวันที่ 1-6 พ.ค.66 เป็นระยะเวลาแจ้งเหตุไม่อาจไปใช้สิทธิเลือกตั้ง โดยวันที่ 1 พ.ค.66 ยังจะเป็นวันสุดท้ายยื่นคำร้องเกี่ยวกับสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง วันที่ 3 พ.ค.66 เป็นวันสุดท้ายศาลฎีกาพิจารณาสิทธิสมัครกรณีผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้งไม่รับสมัคร วันที่ 6 พ.ค.66 เป็นวันสุดท้ายที่ผอ.เลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้งยื่นคำร้องศาลฎีกา กรณีผู้สมัครขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้าม และวันที่ 7 พ.ค.66  เป็นวันเลือกตั้ง ส.ส.เป็นการเลือกตั้งทั่วไป วันที่ 8-14 พ.ค.66 เป็นวันแจ้งเหตุไม่อาจไปใช้สิทธิเลือกตั้ง

นอกจากนี้ ยังกำหนดแผนการเลือกตั้งกรณีเกิดการยุบสภา ซึ่ง กกต.จะต้องกำหนดวันเลือกตั้งไม่น้อยกว่า 45 วัน แต่ไม่เกิน 60 วัน ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 103 กำหนด ซึ่งภายใน 5 วันนับแต่วันมีพระราชกฤษฎีกายุบสภา กกต.จะต้องประกาศกำหนดวันเลือกตั้งทั่วไป และวันสมัครรับเลือกตั้งในราชกิจจานุเบกษา

อีกทั้งยังกำหนดช่วงวันสุดท้ายของการประกาศกำหนดหน่วยเลือกตั้ง สถานที่เลือกตั้ง วันสุดท้ายประกาศบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งว่าจะเกิดขึ้นก่อนวันเลือกตั้งไม่น้อยกว่า 25 วัน

การประกาศบัญชีรายชื่อผู้สมัคร ส.ส.  ภายใน 7 วัน นับแต่วันปิดรับสมัครวันสุดท้ายส่งหนังสือแจ้งเจ้าบ้าน และสรรหา แต่งตั้งคณะกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้ง ก่อนวันเลือกตั้งไม่น้อยกว่า 20 วัน วันสุดท้ายเปลี่ยนแปลงหน่วยเลือกตั้ง ที่เลือกตั้ง และวันสุดท้ายเพิ่มชื่อ-ถอนชื่อ ก่อนวันเลือกตั้งไม่น้อยกว่า 10 วัน, แจ้งเหตุที่ไม่อาจไปใช้สิทธิเลือกตั้ง 7 วันก่อนวันเลือกตั้ง

กกต.วางไทม์ไลน์เลือกตั้ง

วันสุดท้ายยื่นคำร้องเกี่ยวกับสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง ภายใน 7 วันนับแต่วันประกาศรายชื่อ วันสุดท้ายศาลฎีกาพิจารณาสิทธิสมัคร กรณี ผอ.การเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้งไม่รับสมัคร ก่อนวันเลือกตั้งไม่น้อยกว่า 3 วัน และวันสุดท้าย ผอ.ประจำเขตเลือกตั้งยื่นคำร้องศาลฎีกากรณีผู้สมัครขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้าม ก่อนวันเลือกตั้ง รวมทั้งวันที่คาดว่าเป็นวันเลือกตั้ง ส.ส.เป็นการเลือกตั้งทั่วไป ไม่เกิน 60 วันนับแต่วันยุบสภา, แจ้งเหตุที่ไม่อาจไปใช้สิทธิเลือกตั้ง 7 วันนับแต่วันเลือกตั้ง

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ กกต.ได้แจ้งเตือนเกี่ยวกับระยะเวลาในการหาเสียงเลือกตั้ง ที่ขณะนี้ใกล้ถึงระยะเวลา 180 วัน ก่อนวันครบอายุของสภาผู้แทนราษฎร ในวันที่ 23 มี.ค.66 ซึ่งผู้สมัครและพรรคการเมืองต้องปฏิบัติเกี่ยวกับการหาเสียงให้เป็นไปตามมาตรา 68 พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.2561 และต้องมิให้ผู้สมัครหรือผู้ใดกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใด เพื่อจูงใจให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งลงคะแนนให้แก่ตนเองหรือผู้สมัครอื่น ให้งดเว้นการลงคะแนนให้แก่ผู้สมัคร หรือการชักชวนให้ไปลงคะแนนไม่เลือกผู้ใดเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร  ตามมาตรา 73 กฎหมายเดียวกัน มีช่วงระยะเวลาหาเสียงเลือกตั้งเริ่มตั้งแต่วันที่ 24 ก.ย.2565 จนถึงวันก่อนวันเลือกตั้ง และเตรียมจะออกประกาศหลักเกณฑ์เพื่อเป็นแนวทางให้ผู้สมัครและพรรคการเมืองปฏิบัติ ตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ภายในกรอบเวลา 180 วัน ว่าสิ่งใดทำได้หรือไม่ได้บ้างในช่วงเวลาดังกล่าว เพื่อเป็นแนวทางให้พรรคการเมืองและผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.ได้ปฏิบัติตาม

พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี รักษาราชการแทนนายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) กล่าวถึงการลงพื้นที่จังหวัดเพชรบูรณ์ วันที่ 25 ก.ย.นี้ จะต้องรอฟัง กกต.ในเรื่องระเบียบต่างๆ ในการปฏิบัติตัวของ ส.ส.และว่าที่ผู้สมัครก่อนหรือไม่ว่า อีก 2 วัน กกต.จะชี้แจงมา

ขณะที่ พล.อ.ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) กล่าวถึงกรณีกองทัพจะมีการประเมินสถานการณ์หลังวันที่ 30 ก.ย.นี้ ที่ศาลรัฐธรรมนูญ (รธน.) จะลงมติวินิจฉัยการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่อาจมีความวุ่นวายหรือไม่ว่า “ไม่มีครับ”

ด้าน นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน หัวหน้าพรรคเพื่อไทย (พท.) และผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า หากในวันที่ 30 ก.ย. ศาล รธน.ชี้ว่า พล.อ.ประยุทธ์พ้นจากตำแหน่งนายกฯ จะต้องดูสถานการณ์ทางการเมืองในขณะนั้นก่อนที่จะมองว่าพรรค พท.จะขับเคลื่อนอย่างไรต่อไป แต่สิ่งที่จะเกิดขึ้นคือ เข้าสู่กระบวนการเลือกนายกฯ โดยพรรคจะส่งรายชื่อแคนดิเดตนายกฯ ของพรรค คือนายชัยเกษม นิติสิริ ซึ่งยังคงเป็นผู้ที่ทำงานการเมืองกับพรรคในปัจจุบัน แม้ตามบัญชีจะมีอยู่ 3 รายชื่อ แต่บางคนได้แยกออกไปทำงานการเมืองนอกพรรคแล้ว ดังนั้นบัญชีนายกฯ ของพรรคการเมืองฝ่ายค้านก็เหลืออยู่เพียงคนเดียว 

“สถานะของรัฐบาลก็เป็นคณะรัฐมนตรี (ครม.) รักษาการ พล.อ.ประยุทธ์จะอยู่ในฐานะนายกฯ รักษาการ แต่พรรคต้องประเมินสถานการณ์ทางการเมืองด้วย พล.อ.ประยุทธ์มีอำนาจตามรัฐธรรมนูญที่จะยุบสภาได้ และพรรคต้องเตรียมพร้อมสำหรับการเลือกตั้ง” นพ.ชลน่านกล่าว

ถามว่า มีการตั้งข้อสังเกตทางการเมืองว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ อาจจะเป็นนายกฯ คนนอกนั้น ขั้นตอนของสภาจะสามารถเลือกได้หรือไม่ หัวหน้าพรรค พท.กล่าวว่า จะมีปัญหาในการเลือกไม่ได้ เพราะต้องเลือกนายกฯในบัญชีก่อน และพรรคภูมิใจไทย (ภท.) ยังมีชื่อของนายอนุทิน ชาญวีรกูล หากพรรคร่วมรัฐบาลร่วมมือกัน นายอนุทินมีโอกาสที่จะเป็นนายกฯ ด้วยเสียงที่ไม่น้อยกว่า 365 คน

พท.เมินจับมือ พปชร.ตั้งรบ.

“ก็คาดการณ์ว่าชื่อนายกฯ ในบัญชีที่มีอยู่จะไม่ผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภา อาจจะต้องเลือกนายกฯ นอกบัญชีพรรคการเมือง เพื่อแก้ปัญหาไม่เกิดเดดล็อกทางการเมืองในการบริหารประเทศ ซึ่งพรรคเพื่อไทยไม่เห็นด้วยกับนายกฯ คนนอก ซึ่งท้ายที่สุดไม่ว่านายกฯ จะเป็นใคร แม้นายกฯ จะเป็น พล.อ.ประวิตร ขั้วการเมืองจะไม่มีเปลี่ยนแปลง และไม่มีโอกาสที่พรรคเพื่อไทยจะจับมือตั้งรัฐบาลกับพรรคพลังประชารัฐ เพราะพรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตยจะยึดมั่นในอุดมการณ์ที่ให้ไว้กับประชาชนและความรู้สึกกับประชาชน สิ่งที่ฝ่ายค้านเป็นห่วงมาตลอด หากผลวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ พล.อ.ประยุทธ์ยังไม่พ้นจากตำแหน่ง และยังสามารถเป็นนายกฯ ได้อีก ไม่ว่าจะ 2 ปี หรือ 4 ปี คือสถานการณ์ทางการเมืองที่สิ่งที่ทุกฝ่ายเห็นพ้องต้องกันว่า การอยู่ยาวคือการผูกขาดอำนาจ พฤติกรรม 8 ปีที่ผ่านมาของ พล.อ.ประยุทธ์เป็นเช่นนั้น ยิ่งมีอำนาจมาก ก็ยิ่งเกิดปัญหาคอร์รัปชันมาก หาก พล.อ.ประยุทธ์อยู่ต่อโดยไม่มีคำอธิบายชัดเจน กังวลว่าจะเกิดวิกฤตความขัดแย้งทางการเมือง” หัวหน้าพรรค พท.กล่าว 

อย่างไรก็ดี นพ.ชลน่านกล่าวว่า หากพล.อ.ประยุทธ์ได้อยู่ต่อแล้วประกาศว่าจะเป็นนายกฯ ต่ออีก 3 เดือน แล้วยุบสภา จะลดแรงต้านหรือการเกิดวิกฤตทางการเมืองได้ แต่หากอยู่ต่ออีก 2 ปี หรืออีก 4 ปี กระแสต่อต้านจะลุกลามมาก ซึ่งกระแสต่อต้านมีการแสดงออกหลายรูปแบบ ไม่เพียงแค่การชุมนุมลงถนนเท่านั้น

วันเดียวกัน สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญออกเอกสารข่าวเผยแพร่ผลการประชุมกรณีที่ประธานรัฐสภา ส่งความเห็นของสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) จำนวน 77 คน ที่เข้าชื่อเสนอความเห็นต่อประธานรัฐสภา เพื่อขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 148 วรรคหนึ่ง (1) ประกอบมาตรา 132 ว่าร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง (ฉบับที่..) พ.ศ. .... มาตรา 3 มาตรา 4 มาตรา 5 มาตรา 6 มาตรา 7 มาตรา 9 และมาตรา 10 มีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 45 มาตรา 83 มาตรา 86 มาตรา 90 มาตรา 91 และมาตรา 258 ก.ด้านการเมือง (2) หรือไม่ หรือตราขึ้นโดยไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือไม่

ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาแล้วเห็นว่ากรณีเป็นไปตามรัฐธรรมนูญมาตรา 148 วรรคหนึ่ง (1) ประกอบมาตรา 132 ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2561 มาตรา 7 (1) จึงมีมติเอกฉันท์รับไว้พิจารณาวินิจฉัยและแจ้งผู้ร้องทราบ พร้อมทั้งอาศัยอำนาจตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ มาตรา 27 วรรคสาม ให้ผู้ที่เกี่ยวข้องจัดทำความเห็นเป็นหนังสือ พร้อมส่งเอกสารที่เกี่ยวข้องยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญ ภายใน 15 วันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือ 

ขณะเดียวกัน ยังมีมติเอกฉันท์รับคำร้องกรณีที่ประธานรัฐสภาส่งความเห็นของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา รวม 105 คน ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 148 วรรคหนึ่ง (1) ประกอบมาตรา 132 ว่า ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. (ฉบับที่..) พ.ศ..... มาตรา 25 และมาตรา 26 มีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 93 และมาตรา 94 หรือไม่ และตราขึ้นโดยไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือไม่ โดยอาศัยอำนาจตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ มาตรา 27 วรรคสาม ให้ผู้ร้องและประธานกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ชี้แจงตามประเด็นที่ศาลกำหนดและจัดส่งเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้องยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญ ภายใน 15 วันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือ

สภาโชว์ผลงานแม้ล่มบ่อย

มีรายงานด้วยว่า ศาลรัฐธรรมนูญได้นัดประชุมปรึกษาคดี กรณีที่ กกต.ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยเพื่อมีคำสั่งยุบพรรคไทรักธรรม ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง 2560 มาตรา 92 วรรคหนึ่ง (3) ประกอบมาตรา 30 เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของบุคคลผู้เป็นคณะกรรมการบริหารพรรคตามมาตรา 92 วรรคสอง และห้ามมิให้ผู้ดำรงตำแหน่งคณะกรรมการบริหารพรรคของผู้ถูกร้องและถูกเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง ไปจดทะเบียนพรรคการเมืองขึ้นใหม่ หรือเป็นกรรมการบริหารพรรคการเมือง หรือมีส่วนร่วมในการจัดตั้งพรรคการเมืองขึ้นใหม่ ภายในกำหนด 10 ปีนับแต่วันที่ 3 รัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรคผู้ถูกร้องตามมาตรา 94 วรรคสอง

โดยศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่า คดีเป็นปัญหาข้อกฎหมายและมีพยานหลักฐานเพียงพอที่จะพิจารณาวินิจฉัยได้ จึงยุติการไต่สวนตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ 2561 มาตรา 58 วรรคหนึ่ง จึงกำหนดนัดแถลงด้วยวาจา ปรึกษาหารือ ลงมติ และอ่านคำวินิจฉัยให้คู่กรณีฟังในวันพุธที่ 19 ต.ค. เวลา 15.00 น.

ที่รัฐสภา นพ.สุกิจ อัถโถปกรณ์ ที่ปรึกษาประธานสภาผู้แทนราษฎร แถลงผลการประชุมสภาผู้แทนราษฎร และการประชุมร่วมกันรัฐสภา ในสมัยประชุมสามัญประจำปีที่ผ่านมา วันที่ 22 พ.ค.- 18 ก.ย.ว่า มีการประชุมสภาฯ รวม 28 ครั้ง และประชุมร่วมรัฐสภา 15 ครั้ง โดยเป็นการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ที่ได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา 13 ฉบับ ร่าง พ.ร.บ.ที่วุฒิสภาแก้ไข รอการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร จำนวน 1 ฉบับ ร่าง พ.ร.บ.ที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของวุฒิสภา 6 ฉบับ ส่วนญัตติด่วนไม่มี เนื่องจากเวลาไม่เพียงพอ   แต่มีญัตติที่สภาพิจารณาและส่งให้รัฐบาลดำเนินการ 3 เรื่อง รวม 12 ญัตติ มีกระทู้ถามสดด้วยวาจาจำนวน 21 กระทู้ กระทู้ทั่วไปที่ขอให้ตอบในที่ประชุมสภาฯ  23 กระทู้ ส่วนกระทู้ที่ขอให้ตอบในราชกิจจานุเบกษา 77 กระทู้ กระทู้แยกเฉพาะ 29 กระทู้ และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรขอปรึกษาหารือในที่ประชุมจำนวน 1,399 ข้อหารือ

นพ.สุกิจกล่าวต่อว่า ส่วนการพิจารณาการประชุมร่วมกันของรัฐสภา มีการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ตามหมวด 16 การปฏิรูปประเทศ คือ ร่าง พ.ร.บ.ที่ได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา 4 ฉบับ ร่างพ.ร.บ.ที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมาธิการ (กมธ.) 2 ฉบับ และร่างพ.ร.บ.ที่บรรจุระเบียบวาระเพื่อรอการพิจารณาในวาระที่ 1 จำนวน 1 ฉบับ การพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม ที่รัฐสภาไม่ให้ความเห็นชอบ 3 ฉบับ ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมที่ผู้เสนอขอถอน 1 ฉบับ ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนุญที่ได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา 2 ฉบับ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาความชอบของรัฐธรรมนูญ

นอกจากนั้น มีการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.การเข้าชื่อเสนอกฎหมายของประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม ที่รัฐสภามีมติไม่รับหลักการ 1 ฉบับ อยู่ระหว่างการดำเนินการของเจ้าหน้าที่ 1 ฉบับ และมีร่าง พ.ร.บ.ที่เสนอตามหมวด 3 หรือหมวด 5 ของรัฐธรรมนูญ ที่ได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา 1 ฉบับ

 “ขอให้ประชาชนที่มีความเป็นห่วงการทำงานของสภาที่มีการถกเถียงกัน จะเกิดสภาล่มบ่อย ได้เห็นว่าแม้สภาจะล่มก็มีผลงานอออกมามากพอสมควร” นพ.สุกิจกล่าว

มีรายงานว่า ภายหลัง น.ส.วทันยา วงษ์โอภาสี หรือมาดามเดียร์ ได้ลาออกจาก ส.ส.บัญชีรายชื่อ และสมาชิกพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ได้ 1 เดือน ปรากฏว่า ในวันที่ 22 ก.ย. เวลา 09.00 น. มาดามเดียร์จะมาสมัครเป็นสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) โดยจะมีนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรค และนายนิพนธ์ บุญญามณี รองหัวหน้าพรรค รวมถึงผู้บริหารพรรคร่วมต้อนรับ และเปิดตัวที่ทำการพรรคประชาธิปัตย์

ด้าน น.ส.เกณิกา อุ่นจิตร์ อดีตรองโฆษกพรรคไทยสร้างไทย โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัวระบุว่า ผึ้งขอลาออกจากพรรคไทยสร้างไทยแล้วนะคะ เดี๋ยวจะไปยื่นที่ กกต.ค่ะ ที่ผ่านมาผึ้งทำเต็มที่แล้ว ทำด้วยหัวใจมาตลอด นี่ก็เพิ่งกลับมาจากลงพื้นที่ กราบขอบพระคุณพรรคไทยสร้างไทย ที่ให้โอกาสผึ้ง ให้ผึ้งได้เรียนรู้การเมืองเป็นยังไง.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ชงไทยบี้เมียนมา งดขายน้ำมันให้ เจรจาสันติภาพ

"โรม" เสนอให้ไทยงดขายน้ำมันให้ "เมียนมา" ปูดใช้ไทยฟอกเงินเครือข่ายซื้ออาวุธที่ใช้ปฏิบัติการ เตือนถูกดึงไปเอี่ยวร่วมฆ่าล้างเผ่าพันธุ์