ห่วง‘ลอยกระทง’ ศบค.สั่งเข้มโควิด จ่อประเมินเปิดปท.

"บิ๊กตู่" ยันจัดงานลอยกระทงได้ แต่ขอระมัดระวังยึดมาตรการป้องกันโควิด-19 "ศบค." ยังห่วงการรวมกลุ่ม ย้ำงานใหญ่ต้องขอ กก.โรคติดต่อจังหวัดก่อน เผยยอดติดเชื้อเพิ่ม 6,978 ราย เสียชีวิต 62 ราย คลัสเตอร์ใหม่โผล่หลายจังหวัด "นายกฯ" นั่งหัวโต๊ะประชุม ศบค.ชุดใหญ่ 12 พ.ย. ประเมินผลเปิดประเทศครบ 2 สัปดาห์ "อนุทิน" พอใจสถานการณ์โควิด คาดสิ้นปีนี้ฉีดวัคซีนได้ 80%

เมื่อวันที่ 10 พ.ย. พล.อ.ประยุทธ์​ จันทร์โอชา​ นายก​รัฐมนตรี​และ ​รมว.กลาโหม​ กล่าวถึงการจัดงานประเพณีลอยกระทงว่า เรื่องนี้ได้ให้ทีมโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีชี้แจงไปแล้ว ซึ่งตอนแรกคงมีการเข้าใจผิดกันนิดหน่อย เพราะเรื่องยังอยู่ในศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) แต่ขณะนี้ ศบค.ได้พิจารณาขั้นต้นแล้ว ก็ไม่ได้มีปัญหาอะไรในการจัดงาน ให้โฆษกฯแถลงแล้ว ก็เป็นไปตามนั้น แต่ก็ต้องระมัดระวัง และมีมาตรการเฉพาะออกมา เพราะจะจัดงานใหญ่คนเยอะแน่นๆ แบบเดิมไม่ได้

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า เคยพูดหลายครั้งแล้ว อยากได้เรื่องความปลอดภัยสำหรับประชาชน ทุกคนก็ต้องช่วยกันทำ อะไรดีก็ต้องช่วยกัน นั่นคือการทำงานร่วมกันระหว่างรัฐบาลและประชาชน ไม่ไปกันคนละทางสองทาง เพราะรัฐบาลไม่สามารถกำหนดคนทุกคนได้ เพราะอัตราการแพร่ระบาดเกิดจากการใกล้ชิด คนหมู่มากไม่สวมหน้ากาก ดังนั้นทุกคนต้องร่วมมือกัน ถ้าอยากจัดกิจกรรม อยากเปิดประเทศ ทุกคนก็ต้องร่วมมือ และถ้าสถิติการแพร่ระบาดสูงขึ้นอีก ก็ต้องจำเป็นอีกนั่นแหละ

"ผมไม่ได้ขู่ เพียงแต่เป็นมาตรฐานอยู่แล้ว ส่วนวันหน้าก็มาดูกันอีกครั้ง เพราะขณะนี้หลายประเทศก็มีการปรับเรื่องการประเมินต่างๆ ใหม่ ทั้งเรื่องการฉีดวัคซีน ผู้ติดเชื้อรายวัน เตียงที่สามารถรองรับได้ เหล่านี้ทุกฝ่ายก็หารือกันอยู่ ซึ่งหวังว่าจะปลอดภัย ประเมินกันเป็นระยะๆ ทุก 15 วัน เพราะมีการปรับเปลี่ยนกันอยู่ตลอด ก็ต้องไปดูสถิติกันว่าลดลงหรือไม่ ส่วนรายละเอียดการจัดงาน ขอให้เป็นไปตามมาตรการที่ ศบค.กำหนด ศบค.เขียนไว้อย่างไรก็ให้เป็นไปตามนั้น" นายกฯ กล่าว

ขณะที่ พญ.สุมนี วัชรสินธุ์ ผู้อำนวยการสำนักสื่อสารความเสี่ยงและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ กรมควบคุมโรค ในฐานะผู้ช่วยรองโฆษก ศบค. แถลงสถานการณ์การแพร่ระบาดในประเทศไทยว่า พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 6,978 ราย เป็นการติดเชื้อในประเทศ 6,624 ราย จากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 6,387 ราย ค้นหาเชิงรุก 237 ราย เรือนจำ 346 ราย เดินทางมาจากต่างประเทศ 8 ราย ทำให้มียอดผู้ติดเชื้อสะสม 1,989,473 ราย หายป่วยเพิ่มขึ้น 7,697 ราย ทำให้มียอดหายป่วยสะสม 1,873,184 ราย อยู่ระหว่างรักษา 96,463 ราย อาการหนัก 1,877 ราย ใส่ท่อช่วยหายใจ 423 ราย เสียชีวิตเพิ่มขึ้น 62 ราย เป็นชาย 29 ราย หญิง 33 ราย เป็นผู้เสียชีวิตที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป 45 ราย มีโรคเรื้อรัง 11 ราย มีเด็กเสียชีวิต 2 ราย รายแรก อายุ 9 ขวบ อยู่ที่ จ.สงขลา และรายที่สอง อายุ 13 ปี อยู่ที่ จ.ตาก ซึ่งยังไม่ได้รับวัคซีนทั้งคู่ พบผู้เสียชีวิตมากสุดอยู่ใน กทม. สงขลา นครศรีธรรมราช ราชบุรี จังหวัดละ 5 ราย ทำให้มียอดผู้เสียชีวิตสะสมตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 19,826 ราย

ลอยกระทงยึดตาม สธ.

ส่วนยอดผู้ได้รับวัคซีนของประเทศไทยเมื่อวันที่ 9 พ.ย. มีการฉีดวัคซีนเพิ่มเติม 792,255 โดส รวมยอดฉีดวัคซีนสะสมตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ. ทั้งสิ้น 81,761,062 โดส

สำหรับ 10 จังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อสูงสุดวันที่ 10 พ.ย. ได้แก่ กทม. 864 ราย, สงขลา 479 ราย, เชียงใหม่ 380 ราย, ปัตตานี 356 ราย, สมุทรปราการ 233 ราย, นครศรีธรรมราช 224 ราย, ชลบุรี 203 ราย, ยะลา 202 ราย, นราธิวาส 192 ราย และสุราษฎร์ธานี 183 ราย ในส่วนคลัสเตอร์ใหม่ในโรงงานและสถานประกอบการพบในหลายจังหวัด ประกอบด้วย กทม. เพชรบุรี ปราจีนบุรี ราชบุรี เชียงใหม่ สระแก้ว และสุราษฎร์ธานี ขณะที่คลัสเตอร์ตลาดพบที่ กทม. เชียงใหม่ ชลบุรี ประจวบคีรีขันธ์ สระแก้ว กาญจนบุรี สุพรรณบุรี ฉะเชิงเทรา สุรินทร์ นครสวรรค์ ขอนแก่น ส่วนคลัสเตอร์พิธีกรรมทางศาสนา ทั้งงานบวชและทอดกฐิน คือที่ จ.ยโสธร ร้อยเอ็ด คลัสเตอร์งานศพพบที่ จ.พะเยา สระแก้ว เชียงใหม่ ขอนแก่น สุราษฎร์ธานี คลัสเตอร์แคมป์คนงานก่อสร้างพบที่ จ.เชียงใหม่ สุราษฎร์ธานี ลำพูน อุทัยธานี ประจวบคีรีขันธ์ กาญจนบุรี คลัสเตอร์เรือนจำพบที่ จ.นครราชสีมา กทม. ศรีสะเกษ เชียงใหม่ สุพรรณบุรี

พญ.สุมนีกล่าวว่า สำหรับจำนวนผู้เดินทางเข้าประเทศทางอากาศผ่านสนามบินต่างๆ ในวันที่ 9 พ.ย. มีจำนวน 2,779 ราย ขณะที่ยอดรวมตั้งแต่วันที่ 1-9 พ.ย. มีทั้งสิ้น 28,021 ราย ในจำนวนนี้มีผู้ติดเชื้อ 29 ราย หรือคิดเป็น 0.10%

เมื่อถามถึงความชัดเจนการจัดกิจกรรมทางประเพณี เช่น งานเทศกาลลอยกระทง ผู้ช่วยรองโฆษก ศบค.กล่าวว่า มติที่ประชุม ศบค.ชุดใหญ่ล่าสุดให้จัดเทศกาลลอยกระทงตามประเพณีได้ โดยแบ่งเป็น 2 กลุ่มคือ การจัดงานขนาดเล็กในระดับบุคคลหรือครอบครัวสามารถทำได้ ภายใต้มาตรการป้องกันแบบครอบจักรวาล สวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา อยู่ห่าง ล้างมือ ตามมาตรการที่สาธารณสุขกำหนด แบบส่วนอีกแบบเป็นการจัดงานขนาดใหญ่ หรืออีเวนต์ เช่น งานลอยกระทงที่ จ.สุโขทัย เทศกาลโคมลอยยี่เป็ง จ.เชียงใหม่ ต้องขอความเห็นชอบจากคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด

ทั้งนี้ ให้คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดเข้ามากำกับดูแลการจัดงานภาพรวมในพื้นที่ เพื่อดูแลทั้งในส่วนที่มาขออนุญาตและไม่ได้มาขอ เนื่องจากเป็นงานขนาดเล็ก โดยการดำเนินงานให้ยึดแนวทางและมาตรการรณรงค์ที่กระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงสาธารณสุข และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหารือร่วมกัน โดย ศบค.ให้ความเห็นชอบไปเมื่อวันที่ 29 ต.ค.ที่ผ่านมา

"ในวันศุกร์ที่ 12 พ.ย.นี้ นายกฯ จะเป็นประธานประชุม ศบค.ชุดใหญ่ เพื่อติดตามมาตรการที่ออกไปครบ 2 สัปดาห์ จึงขอให้ประชาชนติดตามข้อสรุปและมติที่ประชุมจากโฆษก ศบค." ผู้ช่วยรองโฆษก ศบค.ระบุ

ด้าน พล.อ.สุพจน์ มาลานิยม เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศปก.ศบค.) กล่าวถึงการจัดงานลอยกระทงว่า ประเพณีอะไรที่มีการรวมคนกันทางกระทรวงสาธารณสุขเป็นห่วงมาก โดยเฉพาะคุณหมอ แต่เราดำเนินการอย่างเป็นขั้นเป็นตอน มีการประเมินหลายครั้ง ให้ทางจังหวัดซึ่งมีไม่กี่จังหวัดที่จะจัดงานได้นำข้อมูลและมาตรการต่างๆ มานำเสนอ ซึ่งที่ประชุมก็เห็นว่าเป็นมาตรการที่รอบคอบรัดกุม และผู้ว่าราชการจังหวัดเองก็ยืนยันว่าได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในจังหวัดนั้นๆ อย่างดี

ซักว่าการประชุม ศบค.ชุดใหญ่ วันที่ 12 พ.ย. มีการผ่อนคลายกิจกรรมการเพิ่มขึ้นหรือไม่ เลขาฯ สมช.กล่าวว่า ความจริงเราผ่อนคลายมาเยอะแล้ว ยกเว้นจังหวัดที่จัดอยู่ในพื้นที่เสี่ยง ซึ่งจำเป็นต้องจำกัดไว้ก่อน แต่จังหวัดไหนที่ประเมินแล้วมีมาตรฐานผ่าน ก็จะขยับดีขึ้นมาเรื่อยๆ

เปิดปท.10วันไร้ปัญหา

"ตัวเลขนักท่องเที่ยวที่ติดเชื้อเมื่อเทียบกับปริมาณที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทย ถือว่าพอใจเป็นเปอร์เซ็นต์ที่น้อยมาก แต่อย่างไรก็ตาม มาตรการจะต้องรัดกุมต่อเนื่อง แต่สิ่งที่นายกฯ กังวลและกำชับให้ ศปก.ศบค.ช่วยกันหาทางแก้ไขก็คือความสะดวก รวดเร็ว และปลอดภัย ซึ่งเรากำลังดำเนินการอยู่" เลขาฯ สมช.กล่าว

วันเดียวกัน นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข กล่าวเปิดประชุมเชิงปฏิบัติการเตรียมความพร้อมการเปิดประเทศและรองรับการระบาดโรคโควิด-19 ภาคกลาง ตอนหนึ่งถึงภาพรวมการเปิดประเทศมาแล้ว 10 วันว่า ภาพรวมเป็นไปด้วยดี สามารถควบคุมสถานการณ์ไว้ได้ การเดินทางเข้ามาของผู้เดินทางเป็นไปตามมาตรการคัดกรอง ตรวจหาเชื้อด้วย RT-PCR ซึ่งได้รับความร่วมมืออย่างดี

"จะพยายามหามาตรการที่จะทำให้เกิดความสะดวกและปลอดภัยมากขึ้น ทั้งเรื่องโควิดฟรีเซตติง การฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น จนถึงขณะนี้ไทยฉีดวัคซีนแล้วกว่า 80 ล้านโดส และคาดว่าสิ้นปี 64 ก็จะมีสัดส่วนของวัคซีนตามเป้าหมาย 80%" นายอนุทินกล่าว

รองนายกฯ กล่าวถึงการจัดซื้อยาโมลนูพิราเวียร์และยาแพกซ์โลวิดว่า ขณะนี้ไทยไม่ได้มีปัญหาการขาดแคลนยาและเวชภัณฑ์ แต่การสั่งซื้อยาโมลนูพิราเวียร์เพื่อเก็บสำรองยาไว้ ส่วนยาแพกซ์โลวิดนั้นที่ยังไม่ได้มีการอนุมัติสั่งซื้อ แต่เชื่อว่าไม่ตกขบวน ขณะนี้อยู่ระหว่างการพูดคุยกับทางบริษัทไฟเซอร์ และกำลังอยู่ระหว่างการขึ้นทะเบียนกับ US FDA

ส่วน นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ผ่านมา 10 วันการเปิดประเทศทุกอย่างเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ยังไม่มีอะไรน่ากังวล การเปิดประเทศความยากง่ายไม่ใช่แค่เปิดหรือปิด แต่ต้องมีมาตรการตรงกลางที่สมดุลเพื่อป้องกันไม่ให้มีการติดเชื้อกลับมาเพิ่มอีก โดยขณะนี้ผลของวัคซีนเริ่มทำงานแล้ว คนในเมืองส่วนใหญ่ได้รับวัคซีน และวัคซีนก็มีปริมาณมากพอ ทำให้อัตราการป่วยติดเชื้อลดลง อัตราการเสียชีวิตก็ลดลง

ที่กระทรวงมหาดไทย (มท.) นายชัยวัฒน์ ชื่นโกสุม รองปลัด มท. กล่าวถึงกรณีมีการฉีดวัคซีนจอห์นสันแอนด์ จอห์นสันที่คลินิกเอกชนแห่งหนึ่งในจังหวัดสระแก้วว่า ได้กำชับให้ทุกจังหวัดตรวจตราเพื่อไม่ให้เกิดซ้ำรอยจังหวัดสระแก้ว ซึ่งทราบว่าผู้ว่าฯ สระแก้วได้เข้ามาหารือกับรองนายกฯ ด้วยตัวเอง รายงานความคืบหน้าเรื่องนี้ว่าทาง สสจ.ได้สั่งปิดคลินิกดังกล่าวแล้ว และกำชับเป็นรายอำเภอให้ตรวจสอบเรื่องนี้ด้วย.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'เศรษฐา' อวดคนอีสาน 10 เดือน ผลงานเพียบ ไตรมาส 4 ได้เงินหมื่นแน่

นายกฯ พบชาวหนองพอก อวดผลงาน 10 เดือน ราคาพืชผลการเกษตรดี ยันเร่งแก้ปัญหาน้ำประปา ปราบหนี้นอกระบบให้หมด ย้ำ 'ดิจิทัล วอลเล็ต' ไตรมาส 4 ได้แน่