งัดบทเรียนปี54สู้‘โนรู’ สั่งจว.พร้อมเผชิญเหตุ

โนรูคลายฤทธิ์เคลื่อนตรงเข้าอีสานอ่อนกำลังเป็นดีเปรสชัน “บิ๊กตู่”ออกโรงปลุกเหล่าทัพเตรียม แนะนำบทเรียนน้ำท่วมใหญ่ 54 มาปรับใช้ ระบุทหารต้องไม่ทอดทิ้งประชาชน ด้าน มท.1 คอนเฟอเรนซ์ผู้ว่าฯ กลุ่มจังหวัดเสี่ยงพายุ เตรียมพร้อมแผนเผชิญเหตุ-ตั้งศูนย์พักพิง ขณะที่รัฐบาลสยบข่าวลืออ่างเก็บน้ำเต็ม  ด้าน กทม.เร่งกระจายกระสอบทรายพื้นที่เสี่ยง

เมื่อวันพุธ น.ส.ชมภารี ชมภูรัตน์ อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา ออกประกาศเรื่อง พายุโนรู ฉบับที่ 14 ลงวันที่ 28 กันยายน 2565 ระบุว่า เมื่อเวลา 13.00 น. พายุโซนร้อนโนรู บริเวณแขวงสาละวัน ประเทศลาว มีศูนย์กลางอยู่ห่างประมาณ 90 กิโลเมตร ทางทิศตะวันออกของอำเภอเขมราฐ จังหวัดอุบลราชธานี คาดว่าพายุนี้จะเคลื่อนเข้าปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง บริเวณจังหวัดอำนาจเจริญและอุบลราชธานีในคืนนี้ และอ่อนกำลังลงเป็นพายุดีเปรสชัน

น.ส.ชมภารีกล่าวว่า ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทยมีกำลังค่อนข้างแรง ส่งผลทำให้มีฝนตกหนักหลายพื้นที่และมีฝนตกหนักมากบางแห่งกับมีลมแรงบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ภาคตะวันออก และภาคใต้

“ขอให้ประชาชนในบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจากฝนตกหนักถึงหนักมากและฝนที่ตกสะสม ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่ม สำหรับประชาชนที่อาศัยบริเวณชายฝั่งให้ระวังอันตรายจากคลื่นที่ซัดเข้าหาฝั่งไว้ด้วย โดยขอให้ชาวเรือเดินเรือด้วยความระมัดระวัง เรือเล็กบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบนควรงดออกจากฝั่งจนถึงวันที่ 1 ต.ค. 65” น.ส.ชมภารีระบุ

วันเดียวกัน พล.อ.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม แถลงผลการประชุมสภากลาโหม ครั้งที่ 9/2565 ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา รมว.กลาโหม เป็นประธานการประชุมว่า ในส่วนสถานการณ์พายุโนรูที่เข้ามาทางภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พล.อ.ประยุทธ์กำชับขอให้หน่วยทหารเสริมกำลังเครื่องมือช่างเข้าไปรองรับพายุที่กำลังเข้ามา โดยเฉพาะเรื่องการอพยพประชาชนออกจากพื้นที่ โดยกำชับให้ใช้หน่วยทหารที่อยู่ในพื้นที่นำประชาชนออกจากพื้นที่ เพื่อนำไปอยู่ในพื้นที่ปลอดภัยทั้งในค่ายทหารและศูนย์อพยพ

“ขณะเดียวกันขอให้เจ้าหน้าที่อยู่กับประชาชนในพื้นที่ โดยเฉพาะประชาชนที่ยังไม่ได้ออกจากพื้นที่ ขอให้นำเรือท้องแบนส่งถุงยังชีพให้กำลังพลที่อยู่ในพื้นที่ที่คอยช่วยเหลือประชาชน โดยให้เจ้าหน้าที่อยู่ในพื้นที่จนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย น้ำลดถึงจะออกมา ย้ำว่าทหารยังคงสนับสนุนรัฐบาลในการช่วยเหลือประชาชนที่ประสบทุกข์กับภัยอย่างต่อเนื่อง เราไม่ได้ทิ้ง โดยเฉพาะการรับมือกับพายุโซนร้อนโนรู ที่เราค่อนข้างจะวิตกกังวล ขอให้มั่นใจว่าทหารจะอยู่กับประชาชน ดูแลประชาชนอย่างต่อเนื่อง” พล.อ.คงชีพระบุ

ด้าน พ.อ.วันชนะ สวัสดี รองโฆษกกระทรวงกลาโหม กล่าวเพิ่มเติมว่า พล.อ.ประยุทธ์ได้พูดถึงภารกิจของทหาร และของตนเองในการช่วยเหลือประชาชน โดยเฉพาะน้ำท่วมใหญ่ปี 2554 ขอให้เหล่าทัพนำประสบการณ์นั้นมาดูแลประชาชนรับมือพายุโนรู

ที่ จ.พิษณุโลก พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย  และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ลงพื้นที่จังหวัดพิษณุโลก ประชุมติดตามสถานการณ์รับมือพายุโนรู ผ่านวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ ร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัดเขตพื้นที่กลุ่มเสี่ยงได้รับผลกระทบจากพายุโนรู

พล.อ.อนุพงษ์ระบุว่า ในหลายพื้นที่มีสถานการณ์น้ำท่วม รวมถึงลุ่มน้ำเจ้าพระยา โดยได้ระบายน้ำไปบางส่วนแล้ว ส่วนปริมาณแม่น้ำมูลและแม่น้ำชี ขณะนี้ มวลน้ำยังไหลไม่ถึง จ.อุบลราชธานี สถานการณ์จึงน่าเป็นห่วง เพราะหากมีฝนตกเพิ่ม ก็จะมีปริมาณน้ำที่มาก จึงอยากให้ผู้ว่าราชการจังหวัด ที่ได้ตั้งศูนย์ส่วนหน้าเรียบร้อยแล้ว ได้ติดตามสถานการณ์ด้วย ประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงทรัพย์ กรมชลประทาน กรมอุตุนิยมวิทยา ได้เตรียมความพร้อมการระบายน้ำในอ่างเก็บน้ำ และพื้นที่รับน้ำ แล้วประเมินสถานการณ์มายังจังหวัด รวมถึงการเตรียมพร้อมของ ทหาร ตำรวจ โรงพยาบาล ศูนย์พักพิง

จึงขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดในพื้นที่เสี่ยงได้รับผลกระทบติดตามสถานการณ์ หากพื้นที่ใดมีความเสี่ยงมาก ให้ประเมินจากสถานการณ์จริง กำหนดพื้นที่จริงเพื่อป้องกันบรรเทาสาธารณภัยต่อไป ส่วนกรณีไฟฟ้าเป็นหน้าที่ของท้องถิ่นในการประเมินสถานการณ์ว่าพื้นที่ใดมีความเสี่ยงจะเกิดอันตรายจากไฟฟ้า ต้องดูแลอย่างใกล้ชิด กำชับเตรียมพร้อมเครื่องมือ เครื่องจักรกล บรรเทาสาธารณภัย เพื่อรับมือสถานการณ์ให้ทันท่วงที

ด้านนายพงศ์รัตน์ ภิรมย์รัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี รายงานสถานการณ์น้ำในแม่น้ำมูลว่า มีน้ำชีไหลมารวมกับแม่น้ำมูลที่ อ.เมืองฯ อ.วารินชำราบ ทำให้ขณะนี้อัตราการไหลของน้ำเกินศักยภาพแล้ว ปริมาณมีถึง 3,400 ลูกบาศก์เมตร แต่ยังโชคดีที่แม่น้ำโขงที่รับน้ำจากแม่น้ำมูลยังมีปริมาณต่ำ สามารถผลักดันลงแม่น้ำโขงได้อย่างรวดเร็ว ดังนั้นต้องเร่งระบายน้ำลงแม่โขงโดยเร็วที่สุด และเปิดประตูระบายน้ำเขื่อนปากมูลทั้ง 8 บาน และขณะนี้มีชุมชนที่ได้รับผลกระทบ 44 ชุมชน 4,100 คน ที่อพยพมาอยู่ศูนย์พักพิง ที่มีรองรับ 40 ศูนย์ ซึ่งจะต้องเพิ่มศูนย์พักพิง

ด้าน น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า จากประกาศกรมอุตุนิยมวิทยาเตือน “พายุโนรู” ทำให้มีการเผยแพร่ข้อมูล “มีเขื่อนแตกหรือไม่สามารถเก็บกักน้ำได้อีกแล้ว” ผ่านสื่อโซเชียลจนเกิดความเข้าใจผิด จึงขอให้ประชาชนรับฟังข้อมูลข่าวสารการแจ้งเตือนและความเคลื่อนไหวของสถานการณ์จากหน่วยงานภาครัฐอย่างใกล้ชิด

น.ส.รัชดากล่าวว่า จากรายงานสถานการณ์น้ำของกรมชลประทาน (ข้อมูล ณ วันที่ 27 ก.ย.65) พบว่า สภาพน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลาง (447 แห่ง) มีปริมาตรน้ำในอ่าง 55,078 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 72 ปริมาตรน้ำในอ่างเทียบกับปี 2564 มากกว่าปี 2564 จำนวน 5,935 ล้าน ลบ.ม. ในส่วนของอ่างเก็บน้ำภูมิพล สิริกิติ์ แควน้อยฯ และป่าสักชลสิทธิ์ รวม 4 อ่าง มีปริมาตรน้ำในอ่าง 16,307 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 66 ปริมาณน้ำไหลลงอ่าง อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่อยู่ในเกณฑ์ มากกว่าร้อยละ 80 ขึ้นไปของความจุอ่างจำนวน 15 อ่าง อาทิ อ่างแม่งัดสมบูรณ์ชล (87%),  อ่างจุฬาภรณ์ (85%), อ่างอุบลรัตน์  (82%), อ่างลำตะคอง (81%)

“ซึ่งหลายอ่างไม่ได้อยู่ในพื้นที่ที่จะได้รับผลกระทบจากมรสุม และหน่วยงานภาครัฐมีแผนบริหารจัดการหากจำเป็นต้องระบายน้ำไว้แล้ว เพื่อให้ประชาชนในเขตพื้นที่รับน้ำได้รับผลกระทบน้อยที่สุดย้ำอ่างเก็บน้ำทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่ในประเทศไทยยังสามารถรับน้ำได้ ขอให้เชื่อมั่นต่อแผนรับน้ำและการระบายน้ำของรัฐบาล ทั้งนี้ ทุกหน่วยงานไม่ได้นิ่งนอนใจ เตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์ พายุโนรูอยู่ตลอดเวลา" น.ส.รัชดาระบุ

ที่ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร ดินแดง นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า สำหรับพื้นที่ที่ต้องเฝ้าระวัง โซนตะวันออกของ กทม. ตั้งแต่เขตมีนบุรี หนองจอก ลาดกระบัง สะพานสูง และสวนหลวง ส่วนโซนเหนือในเขตดอนเมือง และบางเขน และโซนริมแม่น้ำเจ้าพระยา เขตสัมพันธวงศ์และป้อมปราบศัตรูพ่าย สำหรับกระสอบทราย 2,500,000 ใบที่ กทม.สั่งมาจะกระจายไปในจุดเสี่ยง โดยเฉพาะโซนตะวันออกของ กทม.และริมแม่น้ำเจ้าพระยา คงต้องให้กรอกทรายเข้ากระสอบใกล้กับจุดเสี่ยงจะได้ไม่ต้องขนย้ายมาก

ที่พรรคเพื่อไทย น.ส.ลิณธิภรณ์ วริณวัชรโรจน์ รองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า แผนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของรัฐบาลที่วางไว้ตั้งแต่ปี 2558-2569 หากนับเอาเฉพาะปี 2560-2565 รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ใช้งบประมาณแผ่นดินรวมกับงบกลางไปแล้ว 364,090 ล้านบาท ซึ่งมากกว่าโครงการบริหารจัดการน้ำทั้งระบบมูลค่า 350,000 ล้านบาทของรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่ได้ทำไว้หลังเกิดน้ำท่วมในปี 2554 เพียง 1 ปี

“ขณะที่รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ใช้งบประมาณแผ่นดินไปมากมาย แต่ไม่สามารถป้องกันชีวิตและดูแลความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชนได้ นี่คือตัวอย่างของผู้นำที่มาจากรัฐธรรมนูญฉบับปราบโกงที่คนไทยไม่ต้องการ” น.ส.ลิณธิภรณ์ ระบุ.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ชงไทยบี้เมียนมา งดขายน้ำมันให้ เจรจาสันติภาพ

"โรม" เสนอให้ไทยงดขายน้ำมันให้ "เมียนมา" ปูดใช้ไทยฟอกเงินเครือข่ายซื้ออาวุธที่ใช้ปฏิบัติการ เตือนถูกดึงไปเอี่ยวร่วมฆ่าล้างเผ่าพันธุ์