ชู ‘บิ๊กป้อม’ นายกฯ ส.ส. พปชร.เชื่อพรรคเสนอชื่อแคนดิเดตครบ3คนมี ‘ลุงตู่’ด้วย

ควันหลงนายกฯ 8 ปี ฝ่ายค้านจ่อยื่นขอเปิด ม.152 ซักฟอกแบบไม่ลงมติ คิดอะไรไม่ออกขอตั้ง “ส.ส.ร.” ยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะรีเซตประเทศไทย ก้าวไกลประกาศขอเป็นรัฐบาลบ้าง "ทอนหมื่นล้าน" ลั่นต้องล้างกลุ่มทุนใหญ่  เพื่อไทยดีใจคำวินิจฉัยศาล รธน.ส่งเสริมแลนด์สไลด์ "วีระกร" เชื่อพลังประชารัฐเสนอแคนดิเดตนายกฯ มากกว่า 1 คน แต่ชู "บิ๊กป้อม" เป็นนายกฯ ส่วน "บิ๊กตู่" ลดเกรดเป็นรองนายกฯ แทน

            เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2565 นายพิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคก้าวไกล (ก.ก.) ในฐานะประธานวิปพรรค ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่พรรคร่วมฝ่ายค้านเตรียมยื่นขอเปิดอภิปรายทั่วไปโดยไม่ลงมติ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 152 เป็นการหวังผลในทางการเมืองอย่างไรว่า พรรคร่วมฝ่ายค้านได้หารือกันเบื้องต้นว่าในสมัยประชุมสภาผู้แทนราษฎรครั้งหน้า กลไกที่เหลือให้ตรวจสอบรัฐบาลได้คือการอภิปรายแบบไม่ลงมติตามมาตรา 152 เป็นการหารือเพื่อให้พรรคร่วมฝ่ายค้านเตรียมพร้อมไว้ก่อน เราใช้กลไกของรัฐธรรมนูญ ตามสถานการณ์ ปัญหาของประเทศและเสถียรภาพทางการเมือง เพื่อนำความทุกข์ร้อนของประชาชนมาอภิปรายในสภา โดยเรายังไม่ได้ประสานไปยังวิปรัฐบาล แต่ตนคิดว่าวิปรัฐบาลน่าจะทราบอยู่แล้วว่าจะมีการอภิปรายเกิดขึ้นในสมัยประชุมถัดไป เพียงแต่จะเกิดขึ้นช่วงไหนเท่านั้นเอง

            เมื่อถามว่า จะถูกมองว่าเล่นเกมการเมืองมากเกินไปหรือไม่ นายพิจารณ์ ปฏิเสธว่า ไม่ใช่เรื่องของการเล่นเกมการเมือง แต่เป็นกลไกที่พรรคร่วมฝ่ายค้านทำหน้าที่ตรวจสอบและให้การเสนอแนะกับรัฐบาล ซึ่งหากมองอย่างเป็นกลางก็จะเป็นผลดีด้วยซ้ำ ที่นำปัญหาของประชาชนมาสะท้อนให้เห็นในสภา

            เขากล่าวว่า สิ่งที่สำคัญและค้างคาจากสมัยประชุมที่แล้วคือ ญัตติที่พรรค ก.ก.เสนอขอให้มีมติให้ฝ่ายบริหารทำประชามติ เพื่อถามประชาชนว่าจะแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับโดยสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) หรือไม่ อีกช่องทางหนึ่งที่พรรค ก.ก.กำลังรณรงค์อยู่คือแคมเปญรีเซตประเทศไทย ผ่านการล่ารายชื่อประชาชน 5 หมื่นรายชื่อเพื่อขอแก้ไขรัฐธรรมนูญ

            นายนิโรธ สุนทรเลขา ส.ส.นครสวรรค์ พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) ให้สัมภาษณ์ว่า  เป็นสิทธิที่พรรคร่วมฝ่ายค้านสามารถยื่นญัตติขออภิปรายตามรัฐธรรมนูญมาตรา 152 ได้ ถือเป็นเรื่องที่ไม่เหนือความคาดหมายที่ฝ่ายค้านจะใช้ทุกช่องทางในการตรวจสอบรัฐบาล เพราะมีเป้าหมายเพื่อหวังผลในทางการเมืองมาตลอดอยู่แล้ว ฝ่ายรัฐบาลโดยเฉพาะ ครม.และพรรคร่วมรัฐบาลก็พร้อมที่จะชี้แจงข้อซักถามและข้อเสนอแนะของฝ่ายค้าน ซึ่งถือเป็นโอกาสดีที่ฝ่ายรัฐบาลจะใช้เวทีดังกล่าวในการสื่อสารถึงผลงานที่รัฐบาลได้ดำเนินการที่ผ่านมาให้กับประชาชนได้รับทราบด้วย

            "ไม่ใช่เรื่องแปลกที่ฝ่ายค้านจะใช้ทุกช่องทางและกลไกของสภาในการตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล แต่การจะอภิปรายในประเด็นการดำรงตำแหน่งนายกฯ ครบ 8 ปีของ พล.อ.ประยุทธ์ ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยในกรณีดังกล่าวออกมาแล้วว่า พล.อ.ประยุทธ์สามารถปฏิบัติหน้าที่นายกฯ ต่อไปได้ ยังไม่ครบ 8 ปี หากฝ่ายค้านจะอภิปรายเรื่องนี้ เป็นเรื่องที่ฝ่ายค้านจะต้องระมัดระวังในการอภิปรายไม่ให้สุ่มเสี่ยงว่าเป็นการละเมิดคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ในฝ่ายของรัฐบาลและ พล.อ.ประยุทธ์คงไม่ได้กังวลอะไร เพราะจะยึดหลักชี้แจงตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ออกมาอย่างชัดเจนแล้ว" นายนิโรธกล่าว

ก้าวไกลขอเป็นรัฐบาล

            ด้านนายธีรัจชัย พันธุมาศ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ให้สัมภาษณ์กรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้ความเป็นนายกรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยังไม่สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญปี 2560 ว่า เป็นไปตามความคาดหมาย เชื่อว่าในความรู้สึกของคนทั่วไป อยากจะให้การที่ออกกติกา 8 ปีต่อเนื่อง เป็นการรวมกันตั้งแต่การดำรงตำแหน่ง เพราะอำนาจของนายกรัฐมนตรีที่เป็นอำนาจของฝ่ายบริหารจะต้องถูกจำกัดไม่ให้นานเกินไป จะเป็นรากงอก

            "ความรู้สึกของคนจำนวนไม่น้อยอาจจะมีความรู้สึกกระอักกระอ่วนกับ พล.อ.ประยุทธ์ ก็ยังคงมีอยู่แน่นอนจากผลการวินิจฉัยที่ออกมาแบบนี้ แต่อย่างไรก็ตามเมื่อผลออกมาแบบนี้ก็ต้องเป็นไปตามนั้น  เนื่องจากรัฐธรรมนูญกำหนดให้คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญถือว่าเป็นที่สุด และมีผลผูกพันกับทุกองค์กร ซึ่งเราก็ต้องยอมรับในส่วนนี้ไป เพราะเป็นบรรทัดฐานในปัจจุบัน"

            นายธีรัจชัยกล่าวต่อว่า อีก 6 เดือน เชื่อว่ารัฐบาลจะอยู่ครบวาระ หรือไม่ก็อาจจะใกล้ครบวาระแล้วจึงยุบสภา เนื่องจาก พล.อ.ประยุทธ์จะดำรงตำแหน่งไปอีกประมาณ 2 ปี ดังนั้นการที่ พล.อ.ประยุทธ์รีบยุบสภาเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ยาก เพราะคิดว่าอย่างไรก็อยู่ให้ครบไปก่อนดีกว่า ซึ่งคิดว่าน่าจะเป็นแบบนี้ ฉะนั้นการที่อยู่ให้ครบวาระหรือใกล้จะครบวาระจึงจะยุบสภา ก็เป็นสิ่งที่น่าจะเป็นไปได้มากที่สุดในขณะนี้

            “การเลือกตั้งครั้งต่อไปเราไม่ใช่พรรคใหม่ เราเป็นพรรคการเมืองที่เราเคยทำงานในสภามาแล้ว เราพร้อมที่จะยกระดับไปสู่การเป็นรัฐบาล ดังนั้นเราต้องทำให้ประชาชนเชื่อว่าเรามีความพร้อมที่จะเป็นรัฐบาลอย่างไรบ้าง”

            นายธีรัจชัยกล่าวว่า การเลือกตั้งครั้งหน้าพรรคก้าวไกลจะไม่ใช่แค่เปลี่ยนตัวรัฐบาล แต่จะเปลี่ยนแปลงประเทศและโครงสร้าง เพื่อให้ไปสู่ความทันสมัยทั้งในเรื่องการเมืองที่เป็นประชาธิปไตยมากยิ่งขึ้น ไม่ใช่การนำกลุ่มสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) เข้ามาเพื่อเลือกนายกฯ หรือองค์กรอิสระที่มีความเชื่อมโยงกับคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ซึ่งมีความเอาเปรียบ

            นายณัฐวุฒิ บัวประทุม ส.ส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคก้าวไกล (ก.ก.) ให้สัมภาษณ์ว่า การวินิจฉัยในวันที่ 30 ก.ย. เป็นอีกครั้งที่ทำให้เห็นว่ารัฐธรรมนูญ 2560 มีปัญหาเรื่องการตีความ ทั้งการตีความตามเจตนารมณ์ การตีความตามตัวอักษร หรือการตีความจากผู้ยกร่างรัฐธรรมนูญ ดังนั้นโจทย์ใหญ่ในทางการเมืองที่เราต้องคิดมากกว่าผลทางการเมืองแค่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง คือการต้องมาทบทวนกันว่าเมื่อรัฐธรรมนูญมีปัญหาค่อนข้างมาก จะนำไปสู่กระบวนการทำให้เกิดรัฐธรรมนูญที่ชัดเจน และกระบวนการยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ได้อย่างไร

รู้สึกท้อแท้สิ้นหวัง

            นายณัฐวุฒิกล่าวต่อว่า สำหรับประเด็นการเสนอ พล.อ.ประยุทธ์เป็นแคนดิเดตนายกฯ อีกครั้งหรือไม่ พรรค ก.ก.ไม่ก้าวล่วงไปตอบได้ แต่ว่าจะเป็นคำถามของทุกพรรคการเมือง ที่อาจจะเสนอชื่อพล.อ.ประยุทธ์เป็นแคนดิเดตนายกฯ ต้องคิดทบทวนถึงข้อจำกัดเรื่องการดำรงตำแหน่งที่ไม่สามารถอยู่จนครบวาระ 4 ปีได้ แน่นอนย่อมทำให้ประชาชนคลางแคลงว่าพรรคนั้นจะเข้าไปบริหารแผ่นดินได้อย่างไร หากมีการเลือกตั้งครั้งหน้า ฝ่ายค้านได้เสนอให้ทำประชามติเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งหมด น่าจะเป็นคำตอบระยะยาวที่ดีที่สุดมากกว่า

            เมื่อถามว่า ในการเลือกตั้งครั้งหน้า แคนดิเดตนายกฯ จะเป็นส่วนสำคัญหนึ่งในการชนะเลือกตั้งใช่หรือไม่ นายณัฐวุฒิ กล่าวว่า แน่นอน เพราะหากแคนดิเดตนายกฯ มีปัญหาเรื่องคุณสมบัติและวาระการดำรงตำแหน่ง ประชาชนต้องดูว่ากล้าที่เลือก หรือเลือกไปแล้วจะมีผลอะไรอีกหรือไม่

            นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า ให้ความเห็นว่า ประเทศไทยไม่ได้ต้องการแค่นายกฯ ใหม่ แต่ต้องการระบอบการเมืองที่มีอนาคต คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญไม่เพียงสร้างความคับแค้นใจให้กับประชาชนจำนวนมากในประเทศนี้เท่านั้น แต่มีราคาอันแสนแพงที่สังคมไทยต้องจ่ายจากการที่พล.อ.ประยุทธ์ได้ไปต่อ

            เขาระบุว่า ศาลรัฐธรรมนูญ รวมไปถึงองค์กรอิสระและระบบตุลาการทั้งองคาพยพ ต้องเผชิญวิกฤตศรัทธาจากประชาชน ถูกมองเป็นเครื่องมือรับใช้ระบอบรัฐประหาร แทนที่จะเป็นสถาบันหลักของชาติ ผดุงหลักนิติรัฐ อนาคตเศรษฐกิจไทยยังต้องไปต่อแบบไร้ทิศทาง ไร้นวัตกรรม เพราะขาดผู้นำที่มีวิสัยทัศน์ในการออกนโยบายที่จะสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจใหม่ๆ ให้กับประเทศ

            "ความหวังของประชาชนในสังคมถูกทุบทำลายลงอีกครั้ง เกิดสภาพความรู้สึกท้อแท้สิ้นหวัง ว่าการเปลี่ยนแปลงสังคมไปสู่ความก้าวหน้าจะไม่สามารถเป็นจริงได้ในอนาคตอันใกล้"

            นายธนาธรยังระบุว่า เราเห็นแล้วว่า เครือข่ายของขุนศึก ชนชั้นนำอนุรักษนิยม และกลุ่มนายทุนผูกขาด สามารถไปได้สุดทาง ทำได้ทุกอย่างเพื่อรักษาผลประโยชน์และสืบทอดอำนาจพวกพ้องเครือข่ายของตนเอง โดยไม่สนใจว่าจะต้องแลกมาด้วยอนาคตหรือความเจริญก้าวหน้าของประชาชนส่วนใหญ่ ไม่สนใจว่าจะต้องแลกมาด้วยการระบบการเมืองที่ฉ้อฉล ไม่สนใจว่าจะต้องแลกมาด้วยการทำลายสถาบันตุลาการและกระบวนการยุติธรรม

            ดังนั้น วันนี้ประเทศของเราจึงไม่ได้ต้องการแค่ผู้นำคนใหม่หรือรัฐบาลชุดใหม่ ผมขอให้พี่น้องประชาชนคิดไปให้ไกลกว่านั้น ลำพังเพียงการเปลี่ยนผู้นำไม่สามารถทำให้ประเทศรอดพ้นจากระบอบการเมืองที่กัดกินประชาชนผู้เป็นเจ้าของประเทศได้

ล้มกลุ่มทุนใหญ่

            "จุดเริ่มต้นคือการผลักดันให้เกิดรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่ร่างโดยประชาชนให้ได้ เพื่อยุติกลไกสืบทอดอำนาจของระบอบรัฐประหาร และเดินหน้าสถาปนาหลักการประชาชนคือผู้ทรงอำนาจสูงสุดของประเทศ แต่ที่ไกลกว่านั้น เราต้องการการเปลี่ยนแปลงระดับรากฐาน เราต้องการยกเลิกรัฐราชการรวมศูนย์ ไปสู่ระบบการบริหารประเทศที่ก้าวหน้า มีประสิทธิภาพ และกระจายอำนาจไปสู่ประชาชนทั้งประเทศ เพื่อปลดปล่อยศักยภาพของประเทศ"

            เจ้าของธุรกิจหมื่นล้านรายนี้ยังอ้างว่า  เราต้องการระบบเศรษฐกิจที่ไม่ได้ผูกขาดอยู่ในมือของกลุ่มทุนใหญ่ แต่สร้างความเติบโตอย่างเป็นธรรม ก้าวหน้าทันโลก

            "ทั้งหมดนี้ไม่สามารถเกิดขึ้นได้ หากเราไม่มีระบบการเมืองที่เป็นตัวแทนรับใช้ประชาชน 99% ไม่ใช่แค่คน 1% ที่อยู่บนยอดพีระมิด ระบบการเมืองที่รับใช้คน 99% คือเป้าหมายสูงสุดของผมตั้งแต่เริ่มต้นทำงานการเมืองในนามพรรคอนาคตใหม่ และยังเป็นเป้าหมายของพวกเรามาจนถึงปัจจุบัน" นายธนาธรระบุ

            ขณะที่ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน หัวหน้าพรรคเพื่อไทย (พท.) ให้สัมภาษณ์ ว่า คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเป็นผลดีกับพรรคเพื่อไทยมากๆ เพราะสิ่งที่เราได้รับกระแสตอบรับจากประชาชนเรื่องการแลนด์สไลด์ที่เพิ่มขึ้นตลอด เหตุผลหลักเรื่องหนึ่งคือ วิกฤตที่ พล.อ.ประยุทธ์สร้างขึ้น เป็นผลจากการบริหารราชการแผ่นดินของ พล.อ.ประยุทธ์ และองคาพยพของ พล.อ.ประยุทธ์ ที่ทำให้ประชาชนเจอวิกฤตในหลายด้าน ฉะนั้น การอยู่ต่อของ พล.อ.ประยุทธ์ ทำให้เงื่อนไขนี้ดำรงคงอยู่ ซึ่งก็เป็นประโยชน์กับพรรค พท.ในการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง

            เมื่อถามว่า แล้วในมุมของ พท. มองว่าจะทำให้เกิดการแลนด์สไลด์ได้เลยหรือไม่ นพ.ชลน่านกล่าวว่า “การอยู่ต่อของ พล.อ.ประยุทธ์ ทำให้พรรค พท.มีโอกาสได้แลนด์สไลด์มากขึ้น”

            ขณะที่นายวีระกร คำประกอบ ส.ส.นครสวรรค์ พรรคพลังประชารัฐ กล่าวถึงแนวทางการเสนอชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคในการเลือกตั้งสมัยหน้าว่า เชื่อว่าจะเสนอรายชื่อให้ครบทั้ง 3คน ไม่เสนอแค่คนเดียว จะเสนอชื่อทั้งพล.อ.ประยุทธ์ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ อีกคนกำลังพิจารณาอยู่ เพราะทั้ง พล.อ.ประยุทธ์ พล.อ.ประวิตร ต่างเป็นที่ชื่นชอบของประชาชนจำนวนมาก ต้องดึงคะแนนนิยมแต่ละคนมาช่วยทำคะแนนให้พรรค แม้จะบอกว่าพล.อ.ประยุทธ์มีคนไม่ชอบเยอะ แต่ก็มีแฟนประจำเยอะพอสมควร ส่วนการหาเสียง ถ้าชาวบ้านถามว่าจะเสนอใครเป็นนายกฯ จะบอกว่าอยู่ใน 3 คนที่เสนอชื่อมา พรรคเพื่อไทยรอบที่แล้วก็เสนอชื่อ 3คน ก็ไม่มีใครถามจะเอาใครเป็นนายกฯ

            นายวีระกรกล่าวว่า อย่างไรก็ตาม เมื่อถึงตอนเสนอชื่อนายกฯ เพื่อโหวตในสภานั้น คงต้องเสนอชื่อ พล.อ.ประวิตร เพราะพล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯ ต่อได้แค่ 2 ปี อาจให้ พล.อ.ประยุทธ์เป็นรองนายกฯ หรือ รมว.กลาโหม ยืนยันการเลือกตั้งรอบหน้า 3 ป.ยังไปด้วยกัน เพราะ พล.อ.ประยุทธ์เล่นการเมืองไม่เป็น คนเล่นการเมืองคือ พล.อ.ประวิตรคนเดียว

ให้ 'ลุงตู่' เป็นรองนายกฯ

            "พล.อ.ประยุทธ์เป็นฝ่ายบริหาร ไม่เล่นการเมือง ไม่สุงสิงกับ ส.ส. ปราศรัยไม่เป็น พรรครวมไทยสร้างชาติที่คิดว่า พล.อ.ประยุทธ์จะมาอยู่ด้วยคงจะแห้ว พล.อ.ประยุทธ์ไม่มาร่วมหัวจมท้ายด้วยแน่ เพราะเป็นนายกฯ ได้อีกแค่ 2 ปี จะมาชู พล.อ.ประยุทธ์ได้อย่างไร"

            “สมัยหน้าเป็นรถเมล์เที่ยวสุดท้ายที่จะมี ส.ว.มาช่วยสนับสนุน ดังนั้นต้องดันลุงป้อมเป็นนายกฯ ส่วนลุงตู่ไปเป็นรองนายกฯ หรือ รมว.กลาโหม หรือโยกเป็นรมว.มหาดไทยก็ได้ ถึงลุงตู่เคยเป็นนายกฯ มาแล้ว จะมาเป็นรองนายกฯ ก็ไม่เป็นไร เพราะ 3 คนพี่น้องแน่นเฟ้นกันเหนียวแน่น มองบ้านเมืองเป็นหลัก” นายวีระกรกล่าว

            ผู้สื่อข่าวถามว่า การที่ พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯ ต่อได้อีก 2 ปี จะมี ส.ส.อยู่ร่วมกับพรรคพลังประชารัฐมากขึ้นหรือไม่ นายวีระกรตอบว่า มั่นใจพรรคพลังประชารัฐยังมีโอกาสสูงเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลเที่ยวหน้า เพราะมี ส.ว. 250 คนสนับสนุนการโหวต จึงมีแรงดึงดูดให้ ส.ส.อยู่กับพรรคพลังประชารัฐต่อไป ส่วนการปรับ ครม. ถ้าไม่จำเป็นจริงๆ ไม่มีใครปรับ เพราะคนที่ไม่ได้ก็ไม่พอใจ ยังดีที่พรรคพลังประชารัฐส่วนใหญ่เป็นเด็กรุ่นใหม่ ยังไม่เขี้ยวที่จะมาบีบบังคับกดดันกัน

ผศ.ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยซูเปอร์โพล (SUPER POLL)  เสนอผลสำรวจเรื่อง ฐานหนุนการเมือง  เมื่อพิจารณาฐานสนับสนุนทางการเมืองล่าสุดของประชาชน พบว่า สูสีกัน หายใจรดต้นคอ ระหว่างกลุ่มผู้สนับสนุนรัฐบาล ร้อยละ 31.6 และกลุ่มผู้ไม่สนับสนุนรัฐบาล 31.2 ในขณะที่เป็นกลุ่มพลังเงียบ ขออยู่ตรงกลาง ร้อยละ 37.2 ที่ยังเป็นกลุ่มใหญ่ที่สุดของประชาชนในขณะนี้

            ที่น่าสนใจคือ เมื่อจำแนกฐานสนับสนุนทางการเมืองออกตามความนิยมของประชาชนต่อพรรคการเมืองฝ่ายรัฐบาล พบตัวเลขที่น่าพิจารณาคือ กลุ่มนิยมพรรคพลังประชารัฐส่วนใหญ่หรือร้อยละ 64.3 สนับสนุนรัฐบาล มีไม่สนับสนุนเพียงร้อยละ 2.0 และร้อยละ 33.7 ของกลุ่มนิยมพลังประชารัฐเป็นพลังเงียบขออยู่ตรงกลาง ในขณะที่กลุ่มนิยมพรรคภูมิใจไทยส่วนใหญ่เช่นกัน หรือร้อยละ 59.5 สนับสนุนรัฐบาล, ไม่สนับสนุนมีอยู่ร้อยละ 12.3 และร้อยละ 28.2 เป็นพลังเงียบ ขออยู่ตรงกลาง โดยกลุ่มนิยมพรรคประชาธิปัตย์ร้อยละ 34.3 สนับสนุนรัฐบาล, ร้อยละ 24.9 ไม่สนับสนุนรัฐบาล และร้อยละ 40.8 เป็นพลังเงียบ

            ที่น่าพิจารณาคือ กลุ่มประชาชนที่นิยมพรรคการเมืองฝ่ายค้าน เช่น พรรคเพื่อไทย ร้อยละ 10.2 สนับสนุนรัฐบาล, ร้อยละ 54.2 ไม่สนับสนุนรัฐบาล และร้อยละ 35.6 เป็นพลังเงียบ ขออยู่ตรงกลาง ในขณะที่กลุ่มประชาชนที่นิยมพรรคก้าวไกล ร้อยละ 13.7 สนับสนุนรัฐบาล, ร้อยละ 46.3 ไม่สนับสนุนรัฐบาล และร้อยละ 40.0 เป็นพลังเงียบ.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ชงไทยบี้เมียนมา งดขายน้ำมันให้ เจรจาสันติภาพ

"โรม" เสนอให้ไทยงดขายน้ำมันให้ "เมียนมา" ปูดใช้ไทยฟอกเงินเครือข่ายซื้ออาวุธที่ใช้ปฏิบัติการ เตือนถูกดึงไปเอี่ยวร่วมฆ่าล้างเผ่าพันธุ์