ดีลควบรวม‘ทรู-ดีแทค’ฉลุย

ดีลควบรวม "ทรู-ดีแทค" ฉลุย! กสทช.ถกเครียดก่อนมีมติรับทราบ  พร้อมกำหนดเงื่อนไขให้เอกชนดำเนินการ  ป้องกันการผูกขาดและมาตรการคุ้มครองผู้บริโภค

ที่สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม เวลา 09.30 น. คณะกรรมการ กสทช. (บอร์ด) ได้มีการจัดประชุมวาระพิเศษ เรื่องพิจารณาวาระการรายงานการรวมธุรกิจระหว่าง บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TRUE และบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ DTAC

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในช่วงเช้า มีกลุ่มเครือข่ายภาคประชาสังคมและประชาชนคนใช้มือถือจำนวนหนึ่ง เดินทางมาเฝ้าสังเกตการณ์การประชุมครั้งนี้ และชูป้ายข้อความคัดค้านการควบรวมทั้งสองกิจการ เนื่องจากจะเป็นการผูกขาดกิจการโทรคมนาคม ซึ่งจะทำให้ค่าบริการแพงขึ้นกระทบต่อผู้บริโภค ทั้งนี้ น.ส.สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสภาองค์กรของผู้บริโภค ได้เข้ายื่นหนังสือต่อ พ.ต.อ.ประเวศน์ มูลประมุข เลขานุการประจำประธานบอร์ด กสทช.ด้วย นอกจากนี้นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า พร้อมด้วย น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล ได้เดินทางมาร่วมสังเกตการณ์และแสดงความเห็นคัดค้านเช่นกัน สำหรับบรรยากาศโดยรวมเป็นไปด้วยความเรียบร้อย มีเจ้าหน้าที่ตำรวจจาก สน.บางซื่อ ดูแลการจราจรและความเรียบร้อย

ขณะเดียวกัน ได้มีตัวแทนผู้บริหารบริษัท ทรูฯ เดินทางมาร่วมเฝ้าสังเกตการณ์การประชุมบอร์ด กสทช.ในครั้งนี้ด้วย ซึ่งหากไม่มีการลงมติในวันนี้ คณะกรรมการ กสทช.จะมีความผิดตามกฎหมาย เพราะได้มีการเลื่อนการลงมติมาแล้วหลายครั้ง และปัจจุบันระยะเวลาเกิน 90 วัน ซึ่งเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด ซึ่งอาจมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 ฐานละเลยการปฏิบัติหน้าที่

ก่อนการประชุม แหล่งข่าวระดับสูงจาก กสทช.เปิดเผยว่า ผลการประชุมของบอร์ด มีกระบวนการพิจารณา 2 รูปแบบ  คือ 1.รับทราบรายงานการรวมธุรกิจ ตามข้อ 12 ประกาศ กสทช.เรื่องมาตรการกำกับดูแลการรวมธุรกิจในกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2561 เป็นเพียงการรับทราบไม่ได้พิจารณาอนุญาต 2.การรวมธุรกิจ “มีลักษณะเป็นการถือครองธุรกิจในบริการประเภทเดียวกัน ตามข้อ 8 ของประกาศ กทช. เรื่องมาตรการเพื่อป้องกันมิให้เป็นการกระทำอันเป็นการผูกขาดหรือก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมในการแข่งขันในกิจการโทรคมนาคม ปี 2549 โดยการเข้าซื้อหรือถือหุ้นเกิน 10% หรือซื้อสินทรัพย์ทั้งหมด หรือบางส่วน ไม่ว่าจะทางตรงหรือทางอ้อม

อย่างไรก็ตาม การพิจารณาทั้ง 2 กรณีที่กล่าวมาข้างต้น อธิบายได้ดังนี้ กรณีที่บอร์ดรับทราบรายงานการรวมธุรกิจ ตามข้อ 12 ของประกาศ กสทช.เรื่องมาตรการกำกับดูแลการรวมธุรกิจในกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2561 จะต้องกำหนดตลาดที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะออกมาตรการ หาก HHI มากกว่า 2,500 อุปสรรคการเข้าตลาดเพิ่มขึ้นมีนัยสำคัญ การครอบครองโครงสร้างพื้นฐานเพิ่มขึ้น ผลกระทบการแข่งขัน อาจกำหนดเงื่อนไขหรือมาตรการเฉพาะ สำหรับผู้ประกอบการที่มีอำนาจเหนือตลาด (SMP) มาบังคับใช้

ขณะเดียวกัน หากบอร์ด กสทช.พิจารณา ตามข้อกฎหมาย ข้อ 8 ของประกาศ กทช.เรื่อง มาตรการเพื่อป้องกันมิให้เป็นการกระทำอันเป็นการผูกขาดหรือก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมในการแข่งขันในกิจการโทรคมนาคม ปี 2549  โดยการเข้าซื้อหรือถือหุ้นเกิน 10% หรือซื้อสินทรัพย์ทั้งหมด หรือบางส่วน ไม่ว่าจะทางตรงหรือทางอ้อม ซึ่งพบว่ามีพฤติกรรมผูกขาด หรือจำกัดการแข่งขัน กสทช.จะต้องสั่งห้าม หรืออนุญาต แต่ต้องออกมาตรการเฉพาะขึ้นมา

 “ตอนนี้สิ่งที่ต้องถกกันน่าจะเป็นประเด็นเกี่ยวกับการมีอำนาจหรือไม่มีอำนาจของ กสทช. หาก กสทช.ตัดสินว่าอนุญาตให้ควบรวม ก็ต้องออกมาตรการกำกับดูแลออกมา แต่ถ้าไม่อนุญาต ก็ไม่ต้องมีมาตรการใดๆ ซึ่งทั้งหมดนี้ หาก กสทช.ตัดสินรับทราบ และออกมาตรการออกมา ก็จะส่งผลให้กลุ่มที่คัดค้านเดินหน้าฟ้อง กสทช. ขณะเดียวกัน หาก กสทช.พิจารณาการรวมธุรกิจ ตามประกาศข้อ 8 ของ กทช. ซึ่งจะมีการออกมาตรการห้าม และกำหนดมาตรการเฉพาะ ก็อาจจะส่งผลให้ทรูและดีแทค ฟ้อง กสทช.เช่นกัน ดังนั้น กสทช. ไม่ว่าจะพิจารณารูปแบบใด ก็จะโดนทั้งขึ้นทั้งล่อง” แหล่งข่าวระบุ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการประชุมบอร์ดมีมติ 3 ต่อ 2 รับทราบรายงานการรวมธุรกิจ และให้เอกชนดำเนินการตามคำขอได้ ก่อนจะมีการพิจารณาการกำหนดเงื่อนไขให้ภาคเอกชนต้องปฏิบัติตามเพื่อเยียวยาและรักษาผลประโยขน์ของผู้ใช้บริการ และป้องกันการผูกขาด

สำหรับดัชนี้ซื้อขายหลักทรัพย์วันที่ 20 ต.ค. พบว่า หุ้นดีแทค ราคาปรับขึ้นไปที่ 47 บาทต่อหุ้น จากราคาปิดก่อนหน้าอยู่ที่ 46.75 บาทต่อหุ้น และปิดตลาดที่ราคา 46 บาทต่อหุ้น หรือลดลง 0.75 บาทต่อหุ้น หรือคิดเป็น 1.60% ส่วนหุ้นทรู ราคาปรับขึ้นไปที่ 5.25 บาทต่อหุ้น จากราคาปิดก่อนหน้า อยู่ที่ 5.15 บาทต่อหุ้น และปิดตลาดที่ 5.10 บาทต่อหุ้น ลดลง 5 สตางค์ หรือลดลง 0.97% ขณะที่หุ้นแอดวานซ์ ของบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) ราคาปรับขึ้นไปสูงสุดที่ 190 บาทต่อหุ้น จากราคาปิดก่อนหน้า อยู่ที่ 185.50 บาทต่อหุ้น และปิดตลาดที่ 189 บาท หรือปรับขึ้น 3.50 บาท หรือขึ้นประมาณ 1.89%.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ชงไทยบี้เมียนมา งดขายน้ำมันให้ เจรจาสันติภาพ

"โรม" เสนอให้ไทยงดขายน้ำมันให้ "เมียนมา" ปูดใช้ไทยฟอกเงินเครือข่ายซื้ออาวุธที่ใช้ปฏิบัติการ เตือนถูกดึงไปเอี่ยวร่วมฆ่าล้างเผ่าพันธุ์