ชงตรึงค่าไฟฟ้า 4.72บาท/หน่วย งวดแรกของปี66

“พลังงาน” เตรียมชง "กพช." เดือน พ.ย.นี้ ออกมาตรการบรรเทาผลกระทบราคาพลังงานเป็นของขวัญปีใหม่มอบให้คนไทย กางแผนตรึงค่าไฟฟ้างวดแรกของปี 66 (ม.ค.-เม.ย.)  อยู่ที่ 4.72 บาทต่อหน่วย พร้อมเร่งมาตรการดูแลพลังงานรอบด้าน

 นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวบรรยายในหัวข้อ “ถอดบทเรียนวิกฤตพลังงานโลก สะเทือนถึงไทย”  ในงานเสวนาฝ่าวิกฤต “พลังงานโลก”  ทางรอด “พลังงานไทย” จัดโดยสมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจ ว่าในไตรมาส 4 เป็นช่วงที่กำลังเริ่มเข้าสู่ฤดูหนาวที่จะมีความต้องการใช้เชื้อเพลิงปริมาณสูง จึงคาดว่าราคาก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี) จะอยู่ที่ 40-50 เหรียญสหรัฐ/ล้านบีทียู ส่วนปี 2566 สถาบันการเงินมอร์แกน สแตนลีย์ และกลุ่มปริซึม ปตท. (PTT PRISM) คาดว่าราคาแอลเอ็นจีจะอยู่ที่ 39 เหรียญสหรัฐ/ล้านบีทียู ส่วนไตรมาส 2 คาดว่าจะปรับขึ้นไปแตะระดับ 50 เหรียญสหรัฐ/ล้านบีทียู

ในส่วนของกระทรวงพลังงานประเมินแนวโน้มราคาน้ำมันดิบตลาดโลกปี 2566 เคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 100-110 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ซึ่งเป็นระดับที่บริหารจัดการได้ โดยปัจจุบันกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงใช้เงินอุดหนุนราคาดีเซลประมาณ 2-3 บาท/ลิตร เพื่อให้ราคาขายปลีกดีเซลไม่เกิน 35 บาท/ลิตร จากก่อนหน้านี้ในช่วงที่ราคาน้ำมันดิบสูงถึง 150 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล กองทุนต้องอุดหนุนดีเซลถึง 14 บาท/ลิตร

 “ขณะนี้กระทรวงพลังงานเตรียมดำเนินมาตรการพยุงอัตราค่าไฟฟ้าไม่เกิน 4.72 บาท/หน่วยในไตรมาส 4 ของปีนี้ ไปจนถึงไตรมาส 1/2566 หรือช่วงเดือนม.ค.-เม.ย.2566 งวดแรกของปีนี้ เพื่อลดภาระค่าครองชีพให้กับประชาชน ภายใต้สมมติฐานราคาน้ำมันตลาดโลกอยู่ที่ 100 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล โดยหากราคาแอลเอ็นจีสูงเกิน 25 เหรียญสหรัฐ/ล้านบีทียู ก็จะให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และโรงไฟฟ้าเอกชน หันไปใช้น้ำมันเตาและดีเซลประมาณ 200-300 ล้านลิตร เดินเครื่องผลิตไฟฟ้าทดแทนก๊าซ” นายกุลิศกล่าว

นายกุลิศกล่าวเพิ่มเติมว่า กระทรวงพลังงานเตรียมจัดทำของขวัญปีใหม่ให้คนไทยเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) พิจารณาเห็นชอบในเดือน พ.ย.นี้ ทั้งเรื่องก๊าซหุงต้ม (แอลพีจี) ในครัวเรือน น้ำมัน และค่าไฟฟ้าที่ยังดูแลกลุ่มผู้ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 300 หน่วย และ 500 หน่วย รวมถึงจะมีมาตรการเสริมสำหรับผู้ใช้ไฟฟ้าทั่วไปด้วย

นอกจากนี้ ยังอยู่ระหว่างศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ในการขยายระยะเวลาปลดระวางโรงไฟฟ้าแม่เมาะ (ถ่านหิน) โรงที่ 8 ที่จะหมดอายุออกไปอีก 2 ปี ทำให้มีกำลังผลิตไฟฟ้าเข้าระบบเพิ่มประมาณ 300 เมกะวัตต์ ในอัตราประมาณ 2-3 บาท/หน่วย ประกอบกับมีแผนนำโรงไฟฟ้าแม่เมาะ โรงที่ 4 ที่ปลดระวางไปแล้ว กลับมาเดินเครื่องผลิตไฟฟ้าเข้าระบบอีกครั้ง คาดว่าจะมีความชัดเจนภายใน 2-3 เดือนนี้ ช่วยเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าเข้าระบบอีก 200 เมกะวัตต์

ขณะเดียวกัน ยังต้องเร่งการผลิตก๊าซจากแหล่งในประเทศจากแหล่งเอราวัณ และเพิ่มการผลิตก๊าซแหล่งอื่นๆ รวมถึงการซื้อก๊าซจากเมียนมาจากแหล่งซอติก้า และยาดานา การซื้อก๊าซจากองค์กรร่วมไทย-มาเลเซีย หรือ MTJA และการซื้อไฟฟ้าพลังน้ำจาก สปป.ลาว เพิ่มเติม ควบคู่กับการส่งเสริมให้ใช้ยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) เพื่อลดการใช้น้ำมัน พร้อมกับสนับสนุนให้เกิดการลงทุนผลิตแบตเตอรี่ในประเทศ เร่งประสาน 3 การไฟฟ้าเชื่อมโยงข้อมูลการใช้แอปพลิเคชันรองรับการใช้งานรถอีวีที่หลากหลายยี่ห้อเข้ากับฐานข้อมูลทั้งระบบ ตั้งเป้าหมายในช่วงกลางปี 2566 กฟผ.จะเริ่มจัดทำระบบชำระค่าบริการชาร์จไฟฟ้ารถอีวีร่วมกันได้

สำหรับความคืบหน้าการกู้เงินของกองทุนหลังจากกระทรวงการคลังได้เข้ามาค้ำประกันเงินกู้ วงเงิน 150,000 ล้านบาท ตามกำหนดระยะเวลา 1 ปี (6 ต.ค.2565-5 ต.ค.2566) นั้น คาดว่าจะออกประกาศเชิญชวนให้สถาบันการเงินร่วมเสนอเงินกู้ได้ต้นเดือน พ.ย.นี้ และน่าจะได้รับเงินกู้ก้อนแรกในเดือน พ.ย.นี้ เบื้องต้นแผนเงินกู้จะเป็นการทยอยกู้เงิน 12 งวด โดย 1-2 งวดแรก วงเงินอยู่ที่ 30,000 ล้านบาท งวดต่อไปวงเงิน 20,000 ล้านบาท แต่จะต้องกู้เงินให้เสร็จตามระยะเวลาเงื่อนไข 1 ปี

นางสาวสมฤดี พู่พรอเนก รองอธิบดีกรมยุโรป กระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่า ความขัดแย้งของรัสเซียและยูเครนน่าจะยังยืดเยื้อต่อไปอีกนั้น ทำให้เกิดวิกฤตพลังงานไปทั่วโลก โดยทำให้อุปทานลดลง และราคาปรับตัวเพิ่มขึ้นมาก ส่งผลกระทบต่อเนื่องให้อัตราเงินเฟ้อทั่วโลกอยู่ในระดับสูง และกระทบภาวะเศรษฐกิจทั่วโลก เพราะรัสเซียเป็นผู้ส่งออกน้ำมันอันดับ 2 ของโลก และส่งออกก๊าซธรรมชาติ อันดับ 1 ของโลก สำหรับในส่วนของสหภาพยุโรป (อียู) ได้รับผลกระทบอย่างหนักเช่นกัน เพราะพึ่งพาการนำเข้าพลังงานจากยุโรปในสัดส่วนสูงมาก โดยนำเข้าก๊าซธรรมชาติ สัดส่วน 40% น้ำมัน 27% และถ่านหิน 46% คิดเป็นมูลค่า 3,714 ล้านบาท ส่งผลให้ยูโรปต้องออกกฎหมายและมาตรการต่างๆ เพื่อลดการพึ่งพาพลังงานจากรัสเซีย

 “พลังงานเป็นเรื่องสำคัญมากของยุโรป โดยเฉพาะในช่วงหน้าหนาว อียูจึงต้องออกกฎหมายและมาตรการต่างๆ เพื่อช่วยลดผลกระทบให้กับประชาชน และลดการพึ่งพาพลังงานจากรัสเซียให้ได้ โดยตั้งเป้าหมายลดการนำเข้าก๊าซธรรมชาติจากรัสเซียให้ได้ 2 ใน 3 ภายในปีนี้ ล่าสุดเหลือการนำเข้าเพียง 20% แล้ว ส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียน และเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียนในยุโรปให้ได้ 45% ภายในปี 2573 รวมถึงแสวงแหล่งพลังงานจากที่อื่น เพิ่มการสำรองก๊าซธรรมชาติให้ได้ 80% ล่าสุดสำรองเพิ่มได้มากกว่า 85% แล้ว รัฐบาลยังได้ออกมาตรการช่วยเหลือประชาชน เพื่อลดผลกระทบจากราคาพลังงาน" นางสาวสมฤดีกล่าว.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง