จี้ทำประชามติซื้อที่ดิน วิษณุแจงยังทบทวนได้

“บิ๊กตู่” ปิดปากเงียบเรื่องมติ ครม.ให้ต่างชาติซื้อบ้านและที่ดิน ส่วน "วิษณุ" แจงยังทบทวนได้เพราะแค่อนุมัติหลักการไม่สะเด็ดน้ำ "สาวเพื่อไทย" ป้องนายใหญ่ดูไบ โทษ “ประชาธิปัตย์” เป็นต้นตอกฎหมาย “นิติธร-จตุพร” บุกศูนย์ร้องเรียน จี้เป็นเรื่องใหญ่ควรทำประชามติ  ตุ๊ดตู่ข้องใจกองเชียร์ที่เคยด่าขายชาติในอดีตทำไมหายหัว  เตรียมบุกถามกองทัพเรื่องปกป้องดินแดน

เมื่อวันจันทร์ที่ 31 ตุลาคม ยังคงมีความต่อเนื่องจากมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 25 ต.ค.

ที่อนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงการได้มาซึ่งที่ดินเพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัยของคนต่างด้าว ตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุนโดยการดึงดูดคนต่างด้าวที่มีศักยภาพสูงสู่ประเทศไทย พ.ศ. ... ตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอ โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ปฏิเสธตอบคำถามถึงเสียงวิพากษ์วิจารณ์มติ ครม.ดังกล่าว

ในขณะที่นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ระบุว่า แม้  ครม.จะอนุมัติหลักการไปแล้ว แต่ยังสามารถทบทวนได้  จากนี้ ครม.จะต้องส่งไปให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณา และเมื่อตรวจสอบเสร็จแล้วต้องส่งกลับมาที่ ครม.อีกครั้ง ส่วนที่จะเสนอความคิดเห็นต่างๆ เข้ามาก็สามารถเสนอเข้ามาได้ ซึ่งเมื่อใดที่พูดถึงเรื่องการให้คนต่างชาติเข้ามาซื้อที่ดินในประเทศไทยจะเป็นปัญหามาตลอด ซึ่งมีมาตั้งแต่สมัยรัฐบาล พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ  ปี 2531 ต่อมาปี 2545 ก็ได้ร่างกฎกระทรวงออกมาในรัฐบาลนายทักษิณ ชินวัตร ซึ่งกำหนดให้คนต่างชาติที่มีเงินลงทุน 40 ล้านบาทขึ้นไปสามารถเข้ามาซื้อที่ดินได้คนละไม่เกิน 1 ไร่เพื่อการอยู่อาศัย รวมถึงมีการกำหนดหลักเกณฑ์ต่างๆ

“ตั้งแต่ปี 2545 มาจนถึงปัจจุบันนี้ก็เป็นเวลานานพอสมควร หลักเกณฑ์เดิมที่เคยมีในตอนนั้นบางเรื่องถือว่าตึงเกินไป แต่บางเรื่องก็หละหลวมเกินไป เราจึงอยากจำกัดหลักเกณฑ์ผู้ที่มาซื้อที่ดินในประเทศ ว่าไม่ใช่ให้ใครก็ได้เพียงแค่มีเงิน 40 ล้านบาท จึงได้กำหนดกลุ่มคนต่างชาติ 4 ประเภท เพื่อกำหนดคนผู้ได้รับสิทธิ์ให้วงแคบลง  และมีการเพิ่มเงื่อนไขหรือปรับบางอย่างก็ได้ ซึ่งการแสดงความคิดเห็นกันในขณะนี้ บางคนก็เสนอให้มีการเติมเงื่อนไข ซึ่งรัฐบาลยินดีรับไว้พิจารณา อาทิ ข้อเสนอที่ห้ามนำไปขายต่อ ห้ามมิให้ผู้ซื้อที่ดินนำที่ดินมาต่อรวมกัน” นายวิษณุระบุ            

ผู้สื่อข่าวถามว่า มีบางฝ่ายเสนอให้ปรับหลักเกณฑ์ จาก 40 ล้านบาทเป็น 100 ล้านบาท นายวิษณุกล่าวว่าไม่ทราบ ต้องให้ผู้ที่เกี่ยวข้องไปพิจารณาอีกครั้ง รัฐบาลเพียงอยากให้มีคนที่มีศักยภาพเข้ามาลงทุน และคิดว่า  40 ล้านบาทก็น่าจะมากพอหากเป็นเรื่องของการก่อสร้าง  แต่ถ้าจะไปนับรวมที่ดินกับสิ่งปลูกสร้าง ก็อาจกำหนดแยกรายละเอียดอีกครั้ง ว่าแต่ละส่วนนั้นต้องมีมูลค่าเท่าไหร่อย่างไร ส่วนหลักเกณฑ์ที่กำหนดว่าต้องเข้ามาลงทุนในไทยไม่ต่ำกว่า 3 ปี ที่ลดลงมาจาก 5 ปี จะกลับไปเป็นตามหลักเกณฑ์เดิมได้หรือไม่นั้น กำลังดูแนวโน้มจากกรณีของต่างประเทศว่าเขามีการลดหย่อนกันอย่างไร

 “ร่างดังกล่าวเป็นเพียงร่างแรก ทุกครั้งที่เราพูดถึงกันเรื่องขายที่ดินให้ชาวต่างชาติ ก็มักพูดถึงเรื่องขายชาติ และมีอีกฝ่ายออกมาตอบโต้ว่าไม่ใช่การขายชาติ เพราะคนต่างชาติเหล่านั้นก็ไม่สามารถนำที่ดินหนีบรักแร้กลับไปประเทศของเขาได้ จึงเถียงกันอย่างนี้มาตลอด ผมอยู่มาตั้งแต่สมัย พล.อ.ชาติชายที่เสนอเรื่องนี้ แตในตอนนั้นทำไม่สำเร็จจึงได้เลิกไป จนกระทั่งมาถึงรัฐบาลนายทักษิณก็ทำได้สำเร็จและบังคับใช้เรื่อยมา การปรับเกณฑ์ก็เพราะอยากให้เพิ่มจำนวนคนซื้อมากขึ้น” นายวิษณุย้ำ

ด้าน น.ส.ตรีชฎา ศรีธาดา รองโฆษกพรรคเพื่อไทย  (พท.) กล่าวตอบโต้ น.ส.ทิพานัน ศิริชนะ รองโฆษกประจำสำนักนายกฯ ที่ระบุว่าเป็นคนเข้ามากอบกู้ชาติ ไม่ใช่ขายชาติที่หนีไปต่างประเทศว่า ขอให้ความรู้ น.ส.ทิพานันว่ารัฐบาลที่แก้มาตรา 96 ทวิ ที่เปิดให้ต่างชาติซื้อที่ดิน  1 ไร่ได้นั้น คือรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ที่แก้ไขกฎหมายในปี 2542 ตามเงื่อนไขการกู้เงินจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ส่วนกฎกระทรวงปี  2545 ในสมัยนายทักษิณก็เป็นไปตามมาตรา 96 ทวิ  ที่พรรค ปชป.แก้ไขไว้ และมีเงื่อนไขที่เข้มงวดกว่าเดิมด้วยซ้ำ จึงทำให้มีคนสนใจมาเสนอซื้อเพียงแค่ 8 รายเท่านั้น  ดังนั้นรัฐบาลนายทักษิณ ต่อเนื่องมาถึงรัฐบาลของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ไม่ได้ขายชาติ

"สิ่งที่ น.ส.ทิพานันกำลังทำอยู่ อย่าลืมว่าตอนนี้อยู่ในกฎเหล็ก 180 วันของ กกต.ห้ามใส่ร้ายบุคคลอื่น ดังนั้น  น.ส.ทิพานันต้องยับยั้งชั่งใจตัวเองบ้าง เป็นทีมโฆษกรัฐบาลและเป็นทีมโฆษกพรรคพลังประชารัฐ ควรเอาเวลาไปเผยแพร่ผลงานของรัฐบาล และติดตามนโยบายของพรรคที่หาเสียงไว้ในปี 2562 ว่าทำได้จริงตามที่หาเสียงมากน้อยแค่ไหนจะดีกว่า" น.ส.ตรีชฎากล่าว

ที่สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน นายมงคลกิตติ์ สุขสินธารานนท์ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคไทยศรีวิไลย์ เดินทางมายื่นเรื่องร้องเรียนผ่านนายวทัญญู ทิพยมณฑา รองเลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน เพื่อขอให้ผู้ตรวจการแผ่นดินยื่นศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยมติ ครม.ดังกล่าวว่าขัดรัฐธรรมนูญ 2560 หรือไม่ ทั้งนี้ก่อนที่นายมงคลกิตติ์จะมายื่นหนังสือ ได้ไปไหว้อนุสาวรีย์พระเจ้าตากสินที่วงเวียนใหญ่ เพื่อรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณที่ได้ทรงขยายแผ่นดินสยามและทำให้คนไทยอยู่ดีกินดีมาถึงปัจจุบัน พร้อมทั้งระบุว่า พล.อ.ประยุทธ์กำลังแบ่งที่ดินที่พระองค์ขยายอาณาจักรไว้ให้ชาวต่างชาติ จะขอทำหน้าที่ขัดขวางจนถึงที่สุด

คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ หัวหน้าพรรคไทยสร้างไทย (ทสท.) พร้อมแกนนำพรรค ได้แถลงให้รัฐบาลทบทวนเรื่องดังกล่าว โดยระบุว่าร่างกฎกระทรวงจะส่งผลเสียต่อประเทศชาติในระยะยาวมากกว่าการได้ประโยชน์เพียงน้อยนิดในระยะสั้น เนื่องจาก 1.มาตรการนี้ไม่น่าจะได้ประโยชน์มากนัก เพราะจำนวนเงินที่มาลงทุนแค่ 40  ล้านบาท เป็นจำนวนที่น้อยมาก 2.ต้องวางเงื่อนไขเพื่อคุมวัตถุประสงค์การใช้ที่ดินอย่างเข้มงวด ใช้เพื่อการอยู่อาศัยเท่านั้น ห้ามเอาไปทำการค้าหรือปล่อยเช่าต่อเด็ดขาด 3.รัฐควรนำมาตรการทางภาษีมาใช้ เหมือนอย่างที่ในหลายประเทศใช้อยู่ โดยคิดค่าธรรมเนียมการโอนของชาวต่างชาติให้มากกว่าคนไทย และเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างในอัตราที่มากกว่าคนไทย และ 4.การสร้างรายได้เข้าประเทศสามารถทำได้หลายวิธี เช่น การสร้างรายได้จากฐานเศรษฐกิจใหม่ การเร่งแก้กฎหมายที่เป็นอุปสรรคขวางกั้นการลงทุนของต่างชาติ

ส่วนที่ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ทำเนียบรัฐบาล นายจตุพร พรหมพันธุ์ และนายนิติธร ล้ำเหลือ ในฐานะคณะหลอมรวมประชาชน ยื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์เพื่อคัดค้านมติ ครม.ดังกล่าว โดยนายนิติธรกล่าวว่า การให้ต่างชาติถือครองกรรมสิทธิ์ที่ดินได้ แม้เคยมีการดำเนินการมาแล้วในอดีต แต่ประชาชนก็มีการรวมตัวกันคัดค้านอย่างกว้างขวาง ทั้งมีการประณามรัฐบาลขณะนั้นเป็นผู้ขายชาติ และกาลเวลาพิสูจน์แล้วว่ามาตรการดังกล่าวไม่ได้เป็นแรงจูงใจให้เกิดผลกระตุ้นทางเศรษฐกิจอย่างแท้จริง

“มติ ครม.ดังกล่าวจึงถือเป็นอำนาจรัฐที่เป็นภัยคุกคามซ่อนรูปต่อความมั่นคงประเทศและประชาชนรูปแบบใหม่ จึงขอให้ยกเลิกมติ ครม.ดังกล่าวพร้อมยกเลิกกฎหมายกฎกระทรวงระเบียบประกาศต่างๆ ที่มีลักษณะหรือก่อให้เกิดผลเช่นเดียวกันทันที” นายนิติธรกล่าวและว่า  มติ ครม.ดังกล่าวอาจมีผลกระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจ การเมือง สังคมอย่างกว้างขวาง จึงมีเหตุอันสมควรให้มีการออกเสียงประชามติว่าประชาชนเห็นด้วยหรือไม่

ด้านนายจตุพรกล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์รอดเงื้อมมือกฎหมายมาทุกเรื่อง จนกระทั่งอายุสภาอยู่ในช่วงสุดท้าย ที่ไม่สามารถจะอภิปรายไม่ไว้วางใจได้ จึงออกมาตรการให้ต่างชาติเข้ามาถือครองที่ดิน คำกล่าวอ้างว่าเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ ทำไมไม่กระตุ้นมาตั้งแต่ปีแรก แต่ปล่อยมาให้เลยถึง 8 ปี และที่ผ่านมาก็บอกว่าเศรษฐกิจไทยกำลังดีขึ้น แต่พฤติการณ์และพฤติกรรมที่มีมติ ครม.นี้ที่ผ่านมาใช้วิธีการว่า เอ็งชั่วข้าก็เลว เองเลวข้าก็ชั่ว จึงอธิบายว่าเป็นกฎกระทรวงตั้งแต่ปี 2545 สมัยนายทักษิณ และตอนนั้นก็ยังย้อนด่ารัฐบาลนายชวน หลีกภัยว่าขายชาติ

 “วันนี้ต่างชาติเข้ามาครองแผ่นดินไทยโดยการใช้นอมินีกันเต็มไปหมด วันนี้ 3 ป.ต้องไม่ลืมว่าเป็นอดีตผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) มาก่อน และเป็นทหารเสือที่มีหน้าที่ปกป้องแผ่นดิน ดังนั้นวันที่ 2 พ.ย.เราจะนำเรื่องนี้ไปยื่นที่กองบัญชาการกองทัพไทยว่ารู้สึกต่อเรื่องนี้อย่างไร และวันที่ 4 พ.ย.จะไปยื่นต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ให้ตรวจสอบเรื่องดังกล่าวต่อไป” นายจตุพรกล่าวและว่า กองเชียร์ พล.อ.ประยุทธ์ที่เคยว่านายชวนขายชาติ นายทักษิณขายชาตินั้น ตอนนี้มาตรฐานอยู่ที่ไหน หมายความว่า พล.อ.ประยุทธ์ทำได้ใช่หรือไม่ และตั้งข้อสังเกตว่าการออกมติ ครม.นี้ เพราะจะมีการประชุมเอเปกเพื่อเร่ขายแผ่นดินในตลาดเอเปกใช่หรือไม่

ดร.วิชัย วิรัตกพันธ์ ผู้ตรวจการธนาคารอาคารสงเคราะห์ และรักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ กล่าวถึงการโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดของคนต่างชาติ ไตรมาส 2 ปี 2565 ว่า มีจำนวนหน่วยโอนกรรมสิทธิ์  2,326 หน่วย เพิ่มขึ้น 15.1% มีมูลค่าการโอนกรรมสิทธิ์ 12,114 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 26.9% และเป็นพื้นที่โอนกรรมสิทธิ์ 109,486 ตร.ม. เพิ่มขึ้น  27.6% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งยอดการโอนกรรมสิทธิ์ไตรมาส 2 นี้สูงกว่าค่าเฉลี่ยในช่วงเกิดโควิด-19 และเป็นการเพิ่มขึ้นในเชิงจำนวนหน่วยสูงสุดในรอบ 5 ไตรมาสที่ผ่านมา

“มติ ครม.ที่ให้คนต่างชาติสามารถซื้อบ้านพร้อมที่ดินได้ นับเป็นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุนหนึ่งที่จะดึงดูดคนต่างชาติที่มีศักยภาพสูงเข้ามาสู่ประเทศ ซึ่งจะเป็นการสร้างให้เกิดอุปสงค์ใหม่ๆ เพราะช่วงก่อนเกิดโควิดมีการโอนกรรมสิทธิ์ปีละมากกว่า 10,000 หน่วย มูลค่ามากกว่า 50,000 ล้านบาท หรือ 5% ของการโอนกรรมสิทธิ์ทั่วประเทศ แต่หากเปิดให้ชาวต่างชาติ คาดว่าก็น่าจะทำให้เกิดมูลค่าการโอนกรรมสิทธิ์เพิ่มสูงสุดได้อีก  50,000 หน่วย มูลค่าประมาณ 100,000 ล้านบาท จากมูลค่าโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยในแต่ละปีจะสูงถึง 1  ล้านล้านบาท ซึ่งอาจจะทำให้สัดส่วนของมูลค่าการโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยที่ซื้อโดยคนต่างชาติเพิ่มจาก 5%  เป็น 15% ของมูลค่าการโอนกรรมสิทธิ์ทั้งประเทศ” ดร.วิชัยกล่าว.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง