บิ๊กตู่สยบลือยุบสภา หวั่นตีความช่วงรักษาการนายกฯ/กกต.ย้ำกฎเหล็ก180วัน

"วิษณุ" ชี้ "บิ๊กตู่" เป็นนายกฯ ได้อีกแค่ 2 ปี  รับอาจมีคนร้องตีความยื้อเวลาให้อยู่ต่อ อ้างเหตุไม่นับช่วงรักษาการอาจจะ 5-10 เดือน แต่บางคนบอก 8 ปีต้องออกเลย นายกฯ สยบข่าวลือยุบสภาโบ้ยไม่ทราบ "เพื่อไทย" เชื่อปลายปีสภาวุ่นหนัก ส.ส.ลาออกหลายคนเปิดช่องยุบสภา ย้ำยื่นอภิปราย ม.152 หวังตีแผ่ความเลวร้ายรัฐบาล เสมือนของขวัญปีใหม่จากฝ่ายค้าน  "กกต." ยืนยันต้องปฏิบัติตามกฎเหล็ก 180 วัน  

ที่ทำเนียบรัฐบาล วันที่ 31 ตุลาคม นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์กรณีผลการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่มีการวิพากษ์วิจารณ์ภายหลังว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และรมว.กลาโหม จะเป็นนายกฯ ได้อีกแค่ 2 ปี คือถึงปี 2568 และมีนักกฎหมายระบุว่า เมื่อถึงเวลานั้นอาจตีความได้เกิน 2 ปีว่า  ไม่มีอะไรจะตีความแล้ว ในเมื่อศาลบอกว่าเริ่มต้นเมื่อมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ เหตุที่เริ่มวันนั้นอธิบายชัดเจน ศาลไม่ได้บอกว่าจะไปหมดเมื่อไหร่ แต่ศาลบอกว่าเริ่มเมื่อใด  และเมื่อระบุจุดเริ่มต้นก็จะเข้ามาตรา 158 วรรค 4 ที่ระบุว่านายกรัฐมนตรีจะดํารงตําแหน่งรวมกันแล้วเกินแปดปีมิได้ ทั้งนี้ไม่ว่าจะเป็นการดํารงตําแหน่งติดต่อกันหรือไม่  แต่มิให้นับรวมระยะเวลาในระหว่างที่อยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปหลังพ้นจากตําแหน่ง ถือว่าเป็นข้อยุติโดยสิ้นเชิง

เมื่อถามว่า หาก พล.อ.ประยุทธ์สามารถกลับมาเป็นนายกฯ ได้อีกครั้ง พอถึงปี 68 ไม่จำเป็นต้องตีความอีกใช่หรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า "ไม่ต้องร้องแล้ว แต่ก็อาจจะมีการร้องกันอีก ไอ้นี่คือผมหาเรื่องพูด เพราะว่าในมาตรา  158 เขาบอกว่า 8 ปีไม่ได้นับเวลารักษาการ สมมุติว่ามีการรักษาการ 5 เดือน 8 เดือน 10 เดือน แต่บางคนอาจบอกว่าต้องออกเลยหากครบ 8 ปี จากที่ศาลบอกให้เริ่มนับ ขณะที่อีกฝ่ายบอกไม่ออกยังไงก็ต้องอยู่"    

เมื่อถามว่า นักกฎหมายบางคนยังอ้างมาตรา 159  ที่ระบุถึงกระบวนการได้มาของนายกฯ ตามรัฐธรรมนูญ  60 อาจทำให้ตีความให้อยู่ต่อไปได้อีก นายวิษณุกล่าวว่า  ใช่ แต่ตนมองว่าเป็นประเด็นเล็กๆ ไม่ใช่เรื่องใหญ่ พอแล้วไม่ต้องอยู่ได้แล้ว

ด้าน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม กล่าวถึงกระแสข่าวการยุบสภาที่ออกมาในช่วงจะมีการประชุมเอเปกว่า “ไม่ทราบครับ ไม่ทราบ”

พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ ในฐานะหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) กล่าวถึงกรณี นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย (พท.) คาดการณ์ว่าจะมีการยุบสภาในวันที่ 24 ธ.ค.นี้ว่า ให้ไปถามนายกฯ เมื่อถามว่าได้พูดคุยกับ พล.อ.ประยุทธ์ถึงประเด็นนี้หรือไม่  พล.อ.ประวิตรไม่ตอบคำถาม

นายอนุทิน​ ชาญวีรกูล​ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข​ ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย (ภท.) กล่าวถึงกระแสข่าวการยุบสภา​ว่า​ ไม่ทราบ ก่อนที่จะชี้ไปยังตึกไทยคู่ฟ้า พร้อมกับระบุว่าเป็นอำนาจของนายกรัฐมนตรี เป็น​ผู้ตัดสินใจ​ ทั้งนี้ได้มีการเตรียมความพร้อมไว้แล้ว​ ไม่ว่าอย่างไรต้องให้ผ่านการจัดประชุมเอเปกไปก่อน และในสัปดาห์นี้คงจะยุ่งเกี่ยวกับเรื่องการเตรียมจัดการประชุมเอเปก​

เมื่อถามว่า มีสัญญาณว่าจะยุบสภาส่งมายังพรรคร่วมรัฐบาลหรือยัง นายอนุทิน​กล่าวว่า​ อำนาจหน้าที่การยุบสภาเป็นของนายกฯ ตรงนี้เป็นข้อแตกต่างของคนเป็นนายกฯ และไม่ใช่นายกฯ เราจะไปคาดการณ์หรือก้าวล่วงอะไรไม่ได้ และเป็นช่วงโค้งสุดท้ายของวาระสภาชุดนี้อยู่แล้ว จึงต้องมีการเตรียมความพร้อมอยู่ตลอด

เมื่อถามว่า มองอย่างไรกับสูตรการจับมือจัดตั้งรัฐบาล  พรรคภูมิใจไทยจะจับมือกับขั้วใด นายอนุทิน​กล่าวว่า เคยพูดไว้แล้วขอให้รอผลการเลือกตั้ง เย็นวันเลือกตั้งค่อยมาถาม

ถามว่า ขณะนี้มี ส.ส.พรรค พปชร.เตรียมย้ายมาสังกัดพรรค ภท.บ้างหรือไม่ นายอนุทิน​กล่าวว่า​ไม่ทราบ ขณะนี้ยังไม่ได้มีการเข้ามาพูดคุยกัน เมื่อถามย้ำว่า​ ส.ส.กลุ่มปากน้ำ​จะย้ายมาซบพรรค ภท.หรือไม่​ หลังมีภาพ นายชนม์สวัสดิ์​ อัศวเหม​ แกนนำมารับประทานอาหารร่วมกัน​ นายอนุทิน​กล่าวว่า​ เรื่องภาพที่ปรากฏ​เป็นเรื่องของการเกี่ยวดองทางครอบครัว​ รู้อยู่แล้วว่าตนเป็นดองกัน​อย่างไรกับนายชนม์สวัสดิ์​ ส่วนจะมีความเกี่ยวดองกันทางการเมืองหรือไม่​ นายอนุทินกล่าวติดตลกว่า “ลูกอยู่ แต่พ่อไม่อยู่​ ลูกแต่งงานเมื่อไหร่ก็เข้าบ้าน ก็เป็นลูกผมไง”

ยื่นซักฟอกแฉความล้มเหลว

นายสมคิด เชื้อคง ส.ส.อุบลราชธานี พรรคเพื่อไทย ในฐานะรองประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) กล่าวถึงกรณีการอภิปรายทั่วไปแบบไม่ลงมติตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 152 ว่า เพื่ออภิปราย พล.อ.ประยุทธ์ รวมทั้งเสนอแนะและให้คำแนะนำแก่รัฐบาลถึงความบกพร่องของรัฐบาล ที่ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ ทั้งปัญหายาเสพติด อาชญากรรม การเยียวยาพี่น้องประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม สร้างปัญหาให้กับประชาชน การบริหารประเทศที่ส่งผลกระทบกับสังคมอย่างกว้างขวาง ความตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 152 พรรคร่วมฝ่ายค้านเตรียมหารือกันว่าจะอภิปรายและให้คำแนะนำรัฐบาลในเรื่องใดบ้าง ที่บอกว่า พล.อ.ประยุทธ์เข้ามากู้ชาตินั้น ถามว่าเข้ามากู้ชาติหรือมากู้เงิน  เพราะ พล.อ.ประยุทธ์คนเดียวกู้เงินมหาศาล

"คาดว่าช่วงสิ้นปี 2565 บรรยากาศทางการเมืองของรัฐบาล และสภาผู้แทนราษฎรจะเกิดความวุ่นวายมาก ในช่วงเวลาดังกล่าว จะมี ส.ส.หลายคนทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านลาออก เพื่อจะย้ายพรรคให้อยู่ในช่วง 90 วันตามรัฐธรรมนูญ จะเป็นต้นเหตุองค์ประชุมสภาที่อาจจะล่มได้ทุกสัปดาห์ ดังนั้นเรื่องนี้จะเป็นสาเหตุสำคัญที่ พล.อ.ประยุทธ์จะยุบสภาเพราะลากไปไม่ไหวแล้ว พรรคการเมืองที่มีการจัดตั้งขึ้นใหม่ของ พล.อ.ประยุทธ์ ที่ให้คนใกล้ชิดไปดำเนินการ พร้อมเลือกตั้งแล้ว มีความเป็นไปได้ว่า พล.อ.ประยุทธ์จะยุบสภาในช่วงปลายเดือนมกราคม  2566 และการเลือกตั้งใหม่จะอยู่ในช่วงปลายเดือนเมษายน 2566 ก่อนเทศกาลสงกรานต์ ถึงเวลานั้น ประชาชนจะเป็นคนตัดสิน ทุกพรรคการเมืองต้องยอมรับผลการเลือกตั้งของประชาชน” นายสมคิดกล่าว 

  น.ส.ตรีชฎา ศรีธาดา รองโฆษกพรรค พท.กล่าวว่า  ตามที่นายธนกร วังบุญคงชนะ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพปชร.ระบุว่า นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรค พท. เตรียมยื่นญัตติเปิดอภิปรายรัฐบาลโดยไม่ลงมติ เพื่อเรียกคะแนนนิยมให้ตัวเองหวังดิสเครดิตรัฐบาลนั้น รู้สึกอนาถใจต่อทัศนคติของคนที่ได้ชื่อว่าเป็น ส.ส. นายธนกรไม่มีความรู้ ไม่มีความเข้าใจในบทบาทและหน้าที่ของฝ่ายค้านในการตรวจสอบและควบคุมการบริหารราชการแผ่นดิน  การตรวจสอบถ่วงดุลกันระหว่างคณะรัฐมนตรี รัฐสภา และศาล เป็นผู้ใช้อำนาจอธิปไตยตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 มาตรา152 ของรัฐธรรมนูญ บัญญัติให้  ส.ส.ไม่น้อยกว่า 1 ใน 10 ของ ส.ส.ที่มีอยู่ในสภายื่นญัตติอภิปรายทั่วไปเพื่อซักถามข้อเท็จจริง หรือเสนอแนะปัญหาต่อคณะรัฐมนตรีโดยไม่มีการลงมติ ทางที่ดีนายธนกรควรหันไปใช้เวลาศึกษารัฐธรรมนูญให้ถ่องแท้เสียก่อนออกมาให้ข่าว หรือไปทำหน้าที่ของ ส.ส.ที่แท้จริงด้วยการลงพื้นที่ไปถามไถ่สารทุกข์สุกดิบพี่น้องประชาชนบ้าง มิใช่ออกมาให้ข่าวปล่อยไก่

 “ศึกซักฟอกที่จะเกิดขึ้นในกลางเดือนธันวาคมนี้ จะเป็นเสมือนของขวัญปีใหม่จากฝ่ายค้าน เพื่อสอบถามการแก้ปัญหายาเสพติด ปัญหาการใช้อาวุธปืนเกลื่อนกลาดขาดการควบคุมดูแลที่ดีพอ บ่อนการพนัน กัญชาเสรี การเปิดให้ต่างชาติซื้อที่ดินในไทยได้จนถูกสังคมตั้งคำถาม จะถูกฝ่ายค้านนำมาชำแหละ และรัฐบาลต้องออกมาชี้แจง   เพื่อบอกให้สังคมรับรู้ความจริงว่ารัฐบาลมีการบริหารที่ล้มเหลวหรือไม่" น.ส.ตรีชฎากล่าว

นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล (ก.ก.)  กล่าวถึงการเตรียมการอภิปรายทั่วไปแบบไม่ลงมติตามมาตรา 152 ว่า วันนี้มีการประชุมหัวหน้าพรรคร่วมฝ่ายค้าน คาดว่าน่าจะมีความชัดเจนถึงระยะเวลาการอภิปราย  ซึ่งพรรคร่วมฝ่ายค้านมองว่ายังมีประเด็นที่รัฐบาลจะต้องชี้แจงให้ประชาชนเข้าใจ เช่น นโยบายให้ต่างชาติถือครองที่ดิน 1 ไร่ ปัญหายาเสพติด เหตุการณ์โศกนาฏกรรมหนองบัวลำภู รวมถึงปัญหาเศรษฐกิจ การทุจริตคอร์รัปชัน  มองว่าเป็นหมัดฮุกสุดท้ายของฝ่ายค้าน ซึ่งมีความสำคัญมากกว่าพิธีกรรมอภิปรายธรรมดาทั่วไป โดยเกิดขึ้นก่อนเลือกตั้ง เชื่อว่าประชาชนจะให้ความสนใจ

กกต.ยืนยันกฎเหล็ก 180 วัน

ที่ทำการพรรคสร้างอนาคตไทย (สอท.) นายนริศ  เชยกลิ่น รองหัวหน้าพรรคและโฆษกพรรค สอท. เปิดเผยว่า หลังจากที่นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ประธานพรรค ได้เปิดตัวที่กรุงเทพฯ และนำคณะผู้บริหารพรรคเดินสายเวทีปราศรัยใหญ่ในพื้นที่ภาคใต้มาแล้ว 2 ครั้ง คือที่ภูเก็ต และพัทลุง ซึ่งมีกระแสตอบรับจากภาคธุรกิจ ผู้นำชุมชน  และพี่น้องประชาชนในพื้นที่อย่างล้นหลาม โดยเวทีต่อไปนายสมคิดจะนำคณะผู้บริหารพรรคเดินสายภาคอีสาน โดยจะเปิดเวทีแรกที่จังหวัดอุบลราชธานี ถิ่นของขุนพลอีสาน  นายสุพล ฟองงาม ในวันที่ 5 พ.ย.นี้ ที่หอประชุมมหาวิทยาลัยอุบลฯ ทั้งนี้ ในช่วงบรรยากาศนับถอยหลังเข้าสู่บรรยากาศของการเลือกตั้งทั่วไปที่จะถึงนี้ พรรคจะมีการจัดแถลงข่าวเกี่ยวกับนโยบาย ทิศทางการทำงาน และความเคลื่อนไหวของพรรค ตลอดจนความเห็นและประเด็นทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม ซึ่งจะจัดขึ้นที่ทำการพรรค หรือนอกสถานที่ตามความเหมาะสมในทุกวันเสาร์ โดยจะเริ่มตั้งแต่เดือน พ.ย.65 เป็นต้นไป

วันเดียวกัน สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง  (กกต.) ​ได้ทำหนังสือตอบข้อสอบถาม กรณีพรรคก้าวไกลได้ขอสอบถามเกี่ยวกับการปฏิบัติของพรรคการเมืองให้ถูกต้องตามข้อกฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้งและพรรคการเมือง หรือข้อกำหนด ระเบียบ หรือประกาศของ กกต.ในหลายประเด็น เช่นภายใต้ระยะเวลา 180 วัน ก่อนวันครบอายุสภาผู้แทนราษฎร จนถึงวันประกาศพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.)  พรรคการเมือง สมาชิกพรรคการเมืองที่ไม่ได้ดำรงตำแหน่ง ส.ส. สมาชิกพรรคการเมืองที่ดำรงตำแหน่ง ส.ส.สามารถทำการให้เมื่อมีเหตุอันสมควรแก่ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติ ตลอดจนภัยอื่นๆ อันมีมาเป็นสาธารณะ ไม่ว่าเกิดจากธรรมชาติหรือมีบุคคลหรือสัตว์ทำให้เกิดขึ้น ซึ่งก่อให้เกิดอันตรายแก่ชีวิต ร่างกายของประชาชน หรือก่อให้เกิดความเสียหายแก่ทรัพย์สินของประชาชนหรือของรัฐได้ใช่หรือไม่ กรณีที่ได้ทำการให้เมื่อมีเหตุอันสมควรไปแล้ว จะถือเป็นการค่าใช้จ่ายที่นำมาคำนวณตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2561 มาตรา 64 ของผู้สมัคร หรือของพรรคการเมือง ใช่หรือไม่

โดยสำนักงาน กกต.ได้ชี้แจงว่า กรณีดังกล่าวข้างต้น ไม่สามารถกระทำได้ เนื่องจากอยู่ในช่วงระยะเวลา 180  วัน ก่อนวันครบอายุสภาผู้แทนราษฎร จนถึงวันประกาศพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามมาตรา 64 และมาตรา 68 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2561  ประกอบระเบียบ กกต.ว่าด้วยวิธีการหาเสียงและลักษณะต้องห้ามในการหาเสียงเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร  พ.ศ.2561 และแก้ไขเพิ่มเติมถึง (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2565 และระเบียบ กกต.ว่าด้วยจำนวน หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขของการให้ตามประเพณี หรือเมื่อมีเหตุอันสมควร และการยื่นคัดค้านเกี่ยวกับการบันทึกค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้ง ส.ส.ครั้งต่อไป พ.ศ.2561.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง