ชงครม.ประชามติรธน.ใหม่ ไฟเขียวบิ๊กอปท.หาเสียงสส.

"พีระพันธุ์" โยน "บิ๊กตู่"   ตัดสินใจร่วม "รวมไทยสร้างชาติ" หรือไม่   ปัดข่าว "ไตรรงค์" เข้าพรรค อ้างยังไม่ถึงเวลาเลือกตั้ง "บิ๊กป้อม" โว พปชร.ขับเคลื่อน 3 พันธกิจหลัก ลั่นจะทำทุกทางให้ปชช.อยู่ดีกินดีโดยใช้นโยบายพรรคต่อยอดการทำงานรัฐบาล "เพื่อไทย" เปิด 43 ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.ใต้ โวกระแสภาคใต้ดี  มั่นใจได้ ส.ส.แน่ สภาเอกฉันท์ส่ง ครม.ทำประชามติ รธน.ฉบับใหม่ กกต.ไฟเขียวผู้บริหารและสมาชิกสภาท้องถิ่นช่วยผู้สมัคร ส.ส.หาเสียงช่วง 180 วันได้

ที่ทำเนียบรัฐบาล วันที่ 3 พฤศจิกายน  นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) ให้สัมภาษณ์ถึงกระแสข่าวนายไตรรงค์ สุวรรณคีรี อดีตรองนายกฯ ที่เพิ่งลาออกจากพรรคประชาธิปัตย์จะมาร่วมกับพรรครวมไทยสร้างชาติหรือไม่ว่า ยังไม่ได้เจอนายไตรรงค์ ยังไม่ได้พูดคุย ข่าวก็เขียนกันไป ตนยังไม่รู้เรื่อง

เมื่อถามว่า มีกระแสข่าว พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และ รมว.กลาโหม จะร่วมพรรค รทสช. นายพีระพันธุ์กล่าวว่า ก็เป็นเพียงกระแสข่าว ความจริงยังไม่มี เมื่อซักว่าอยากให้ พล.อ.ประยุทธ์มาร่วมพรรคหรือไม่ นายพีระพันธุ์กล่าวว่า อยู่ที่ พล.อ.ประยุทธ์จะพิจารณา ไม่ใช่ตน และที่ผ่านมาก็ไม่ได้มีการชักชวน ไม่ได้พูดคุยกันเลย

ถามอีกว่า พรรครวมไทยสร้างชาติ เตรียมรายชื่อแคนดิเดตนายกฯ แล้วหรือยัง นายพีระพันธุ์กล่าวว่า ยังไม่ถึงเวลา ต้องรอให้ใกล้เลือกตั้งก่อน ตอนนี้ยังไม่ได้เลือกตั้ง ส่วนแคมเปญในการเลือกตั้งของพรรคนั้น ยังไม่ถึงเวลาประกาศเช่นเดียวกัน และถ้ามีการยุบสภา เรามีความพร้อมเพราะเป็นพรรคการเมือง และไม่มีอะไรที่จะเป็นห่วง พล.อ.ประยุทธ์เป็นพิเศษ

พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) เปิดเผยว่า จากการที่ พปชร.ได้มีการวางนโยบายขับเคลื่อนและสานต่อ 3 พันธกิจหลัก ที่ประกอบด้วย 1.สวัสดิการประชารัฐขจัดความเหลื่อมล้ำ 2.เศรษฐกิจประชารัฐ สร้างความสามารถและโอกาสที่เท่าเทียม และ 3.สังคมประชารัฐ สงบสุข เข้มแข็ง แบ่งปัน ที่เป็นนโยบายสำหรับการเลือกตั้งที่จะมาถึงในอนาคต เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตให้กับพี่น้องประชาชน ล่าสุดพรรคได้ดำเนินการแต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อน 3 พันธกิจ ได้แก่ คณะกรรมการด้านสวัสดิการประชารัฐ, คณะกรรมการด้านเศรษฐกิจประชารัฐ และคณะกรรมการด้านสังคมประชารัฐ เพื่อสานต่อนโยบายที่จะช่วยเหลือประชาชนคนไทยให้ครอบคลุมได้มากที่สุด ทั้งนี้ เพื่อให้นโยบายตอบโจทย์ประชาชนในแต่ละพื้นที่ที่มีบริบทแตกต่างกันในด้านวิถีชีวิต ความเป็นอยู่ และการประกอบอาชีพ

"พปชร.จะเดินหน้าทำทุกทางให้ประชาชนมีความกินดีอยู่ดี มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น มุ่งเน้นไปที่การพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากในระยะยาว โดยมีกลไกที่สามารถช่วยเหลือชุมชนให้เกิดความเข้มแข็งและยั่งยืน ดังนั้นนโยบายของพรรคในครั้งนี้จะเป็นการดำเนินนโยบาย เพื่อเป็นการต่อยอดจากการทำงาน และร่วมขับเคลื่อนนโยบายของพรรคในการบริหารราชการของรัฐบาลชุดนี้ เพราะเราต้องการต่อยอดนโยบายที่ดีและเป็นประโยชน์กับประชาชน พร้อมกับนำเสนอสิ่งใหม่ๆ ที่ตรงกับความต้องการของประชาชนอย่างแท้จริง" พล.อ.ประวิตร กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในวันที่ 11 พ.ย. พปชร.จะมีการจัดสัมมนาที่โรงแรมรามาการ์เด้นส์ ถ.วิภาวดีรังสิต โดยจะมีการเชิญคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มาชี้แจงทำความเข้าใจแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับการเลือกตั้ง 

ที่พรรคเพื่อไทย (พท.) นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่านและหัวหน้าพรรค พท., นายประเสริฐ จันทรรวงทอง ส.ส.นครราชสีมา และเลขาธิการพรรค, นายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ ส.ส.พะเยา และประธานส.ส.พรรค, น.ส.ธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ ส.ส.กทม.และโฆษกพรรค, นายจักรพงษ์ แสงมณี นายทะเบียนสมาชิกพรรค และน.ส.ศรีญาดา ปาลิมาพันธ์ กลุ่มงานบริหารพื้นที่ภาคใต้ ร่วมแถลงข่าวเปิดตัวผู้ซึ่งประสงค์จะสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.ภาคใต้พรรค พท. รวม 43 คน จากทั้งหมด 58 เขต

 นพ.ชลน่านกล่าวว่า เราต้องการทุกภาคของประเทศให้ได้ ส.ส.มากกว่า 250 ที่นั่งขึ้นไป โดยเฉพาะ ส.ว. 250 ที่นั่ง ที่มีอำนาจเลือกนายกฯ เราจะนำนโยบายบอกกล่าวสะท้อนปัญหาประชาชน เพื่อกำหนดนโยบายที่เป็นความต้องการแท้จริงของประชาชนแต่ละภูมิภาค มุ่งหวังอย่างมากในภาคใต้ เนื่องจากกระแสต่างๆ เราเห็นแสงสว่างโร่บนหัว พวกเราทุกคนเห็นโอกาสในภาคใต้ ทั้งกระแสคะแนนนิยมทั้งตัวพรรคและตัวบุคคล ร้อยละ 14-15 ไม่ได้แตกต่างจากพรรคอื่นๆ ยืนยันว่านโยบายพรรคจะทำได้ ทำจริง เคยสำเร็จมากแล้ว เชื่อว่าพรรคเพื่อไทยจะปักธงได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อเราได้แน่นอน และจะสามารถปักธง ส.ส.ในพื้นที่ได้ด้วย

นายประเสริฐกล่าวว่า พื้นที่ภาคใต้เป็นพื้นที่ที่ช่วงชิงจากหลายพรรคการเมือง จากการสำรวจความนิยมของนิด้าโพล พรรคเพื่อไทยได้รับความนิยมจากพื้นที่ภาคใต้ดีขึ้นเป็นระยะ ขณะที่คนใต้ตื่นตัวทางการเมือง จึงมุ่งมั่นส่งผู้สมัครครบทุกเขตรวม 58 เขต ได้ดำเนินการสรรหาว่าที่ผู้สมัครมาสักระยะ และเปิดโอกาสให้แต่ละท่านได้ทำงาน โดยเป็นบุคคลที่มีความรู้ความสามารถและมีคุณภาพ เชื่อว่านโยบายพรรคตอบโจทย์พี่น้องทุกจังหวัดในภาคใต้ เพราะนโยบายของเราทำได้จริง เชื่อว่าจะได้รับการสนับสนุนจากพี่น้องชาวภาคใต้ต่อไป

ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายชวน หลีกภัย ประธานสภาฯ เป็นประธานการประชุม มีการลงมติในญัตติด่วนเรื่อง ขอให้สภาพิจารณาเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ดำเนินการตามที่สภามีมติในการออกเสียงประชามติเกี่ยวกับความเห็นของประชาชนต่อการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ของนายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส.เชียงใหม่ และรองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย และนายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ ส.ส.กทม. พรรคก้าวไกล ซึ่งเมื่อวันที่ 15 ก.ย.ที่ผ่านมา สมาชิกได้อภิปรายญัตติด่วนดังกล่าวครบถ้วนแล้ว แต่องค์ประชุมก่อนลงมติไม่ครบ ดังนั้น ประธานการประชุมขณะนั้นจึงได้สั่งเลื่อนการลงมติออกไป กระทั่งวันที่ 3 พ.ย.  ปรากฏว่าที่ประชุมสภามีเสียงเป็นเอกฉันท์ด้วยคะแนน 323 ต่อ 0 งดออกเสียง 1 ไม่ออกเสียง 7 เสียง ให้สภาส่งเรื่องไปยัง ครม. ให้ทำประชามติเพื่อจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อสภาลงมติเรียบร้อยแล้ว จะต้องส่งเรื่องต่อไปยังวุฒิสภาเพื่อให้ลงมติว่าเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบอย่างไร จากนั้นจึงค่อยส่งถึงคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่อไป

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเร็วๆ นี้ นายศิริวัฒน์ บุปผาเจริญ รองอธิบดี ปฏิบัติราชการแทนอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น ได้มีหนังสือหารือเรื่องแนวทางการปฏิบัติเกี่ยวกับการเลือกตั้ง ส.ส. 2566 มายังเลขาธิการ กกต. ขอความชัดเจนว่าในช่วง 180 วันก่อนสภาผู้แทนราษฎรชุดปัจจุบันจะครบวาระการดำรงตำแหน่งในวันที่ 23 มี.ค.66 นั้น ผู้บริหารท้องถิ่น รองผู้บริหารท้องถิ่น เลขานุการผู้บริหารท้องถิ่น ที่ปรึกษาผู้บริหารท้องถิ่น สมาชิกสภาท้องถิ่น เลขานุการสภาท้องถิ่น ถือเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐตามมาตรา 78 วรรคหนึ่ง พ.ร.ป. ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. 2561 ที่ห้ามใช้ตำแหน่งหน้าที่โดยมิชอบด้วยกฎหมายในการช่วยเหลือผู้สมัคร พรรคการเมืองในการหาเสียงเลือกตั้งหรือไม่ และถ้าไปช่วยผู้สมัครหรือพรรคการเมืองหาเสียงเลือกตั้งโดยส่วนตัว มิได้ใช้ตำแหน่งหน้าที่ นอกเวลาราชการ ไม่ใช้ทรัพยากรของรัฐ จะสามารถทำได้หรือไม่เพียงไร

ซึ่งสำนักงาน กกต. โดยนายกิตติพงษ์ บริบูรณ์ รองเลขาธิการ รักษาการแทนเลขาธิการ กกต. ได้มีหนังสือตอบข้อหารือดังกล่าวกลับไปเมื่อวันที่ 21 ต.ค.ที่ ผ่านมา ระบุว่า ผู้ดำรงตำแหน่งดังกล่าว อาจเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐตามมาตรา 78 พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.2561 ได้หากเข้าลักษณะตามหลักเกณฑ์คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 5/2543 ลงวันที่ 14 ก.พ.2543 ซึ่งได้กำหนดหลักเกณฑ์ "เจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ" ไว้หมายถึง 1.ได้รับแต่งตั้งหรือเลือกตั้งตามกฎหมาย 2.มีอำนาจหน้าที่ดำเนินการหรือหน้าที่ปฏิบัติการให้เป็นไปตามกฎหมายและปฏิบัติงานประจำ 3. อยู่ในบังคับบัญชาหรือในกำกับดูแลของรัฐ 4.มีเงินเดือนค่าจ้างหรือค่าตอบแทนตามกฎหมาย โดยผู้ดำรงตำแหน่งดังกล่าวสามารถช่วยเหลือผู้สมัครหรือพรรคการเมืองหาเสียงเลือกตั้งเป็นการส่วนตัว และนอกเหนือเวลาราชการได้ แต่ต้องระมัดระวังไม่ให้ขัดต่อพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. 2561 และต้องเป็นไปตามกฎหมาย รวมทั้งระเบียบที่เกี่ยวข้องเฉพาะตำแหน่งดังกล่าว

โดยเมื่อวันที่ 2 พ.ย.ที่ผ่านมา นายศิริวัฒน์ได้มีหนังสือแจ้งแนวทางการปฏิบัติดังกล่าวไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศ เพื่อแจ้งต่อนายอำเภอทุกอำเภอและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกแห่งทราบ.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง