‘บิ๊กตู่’กำชับ‘ลอยกระทง’ ตร.เตือนภัยแฝงเทศกาล

โพลระบุคนไทยสนใจร่วมลอยกระทง พร้อมนำบทเรียน “อิแทวอน” มาใช้ขอจัดระเบียบจำนวนพื้นที่และคนร่วมงาน นายกฯ กำชับเจ้าท่า-ปภ.ตรวจโป๊ะ ท่าน้ำ พร้อมเข้มงวดห้ามจุดพลุ ปล่อยโคมลอยรอบสนามบิน ใครฝ่าฝืนมี โทษหนัก ด้าน ตร.ไซเบอร์แนะ 5 วิธีป้องกันมิจฉาชีพแฝงตัว

วันที่ 6 พ.ย. สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต สำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วประเทศ จำนวนทั้งสิ้น 1,163 คน (สำรวจทางออนไลน์) ระหว่างวันที่ 1-4 พฤศจิกายน 2565 พบว่า ในปีนี้ประชาชนสนใจร่วมงานลอยกระทง ร้อยละ 72.14 โดยจะไปร่วมงานเทศกาลลอยกระทงตามสถานที่ท่องเที่ยวหรือที่มีการจัดงาน ร้อยละ 60.67 สิ่งที่ประชาชนจะอธิษฐานในวันลอยกระทง  คือขอให้ครอบครัวมีความสุข สุขภาพแข็งแรง ปราศจากโรคภัย ร้อยละ 41.52 ทั้งนี้มองว่าเทศกาลลอยกระทงในปัจจุบันยังเป็นการช่วยสืบสานวัฒนธรรมประเพณีไทยได้ ร้อยละ 83.49 ประชาชนคิดว่าเทศกาลลอยกระทงช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวได้ ร้อยละ 88.45

ทั้งนี้ จากเหตุการณ์อิแทวอน เกาหลีใต้ บทเรียนที่ควรนำมาใช้ในการจัดงานเทศกาลต่างๆ ของไทยคือ ควรมีการจัดระเบียบ กำหนดพื้นที่และจำนวนคนให้เหมาะสม ร้อยละ 90.09 รองลงมาคือ มีการเตรียมพร้อมรับมือ มีการแจ้งเตือนภัยที่รวดเร็ว ร้อยละ 80.78 เทศกาลลอยกระทงปีนี้ส่งสัญญาณคึกคักกว่าปีที่ผ่านมา เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 เริ่มมีแนวโน้มดีขึ้น จากผลโพลพบว่า กลุ่มคนเจน Z สนใจไปร่วมงานลอยกระทงมากถึงร้อยละ 82.22 รองลงมาคือกลุ่มคนเจน Y ในขณะที่กลุ่มคนบูมเมอร์มองว่าจะลอยกระทงทางออนไลน์

 ส่วนการอธิษฐานยังคงเป็นความหวังและที่พึ่งทางใจของคนไทย พบว่า กลุ่มคนเจน Z และเจน Y อธิษฐานขอให้ตนเองประสบความสำเร็จในเรื่องงาน/เรื่องเรียน ในขณะที่คนบูมเมอร์ขอให้ครอบครัวมีความสุข สุขภาพแข็งแรง ปราศจากโรคภัย ทั้งนี้ อยากให้นำบทเรียนจากเหตุการณ์ “อิแทวอน” มาปรับใช้ในการจัดงานอย่างเหมาะสมด้วย

น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า รัฐบาลได้คาดการณ์ว่าเทศกาลลอยกระทงในปีนี้ ซึ่งตรงกับวันอังคารที่ 8 พ.ย. 65 จะมีประชาชนออกไปร่วมงานเป็นจำนวนมาก เนื่องจากเป็นปีที่สถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม แสดงความห่วงใย พร้อมกับขอให้ประชาชนถือปฏิบัติตามข้อแนะนำเกี่ยวกับมาตรการความปลอดภัยด้านต่างๆ โดยสั่งการให้กระทรวงคมนาคมกำชับกรมเจ้าท่า มีการตรวจสอบโป๊ะ ท่าน้ำต่างๆ โดยเฉพาะในจุดที่มีการจัดงานลอยกระทงที่จะมีคนมาร่วมจำนวนมาก ให้ดูแลให้สถานที่อยู่ในสภาพแข็งแรง มีความพร้อม หรือหากจุดใดมีความเสี่ยงต้องประกาศเตือนประชาชนอย่างชัดเจน ทางด้านกระทรวงมหาดไทยให้กำชับกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย หน่วยงานท้องถิ่น ให้จัดเตรียมเจ้าหน้าที่ให้พร้อมออกอำนวยความสะดวกและให้ความช่วยเหลือประชาชนกรณีเกิดเหตุต่างๆ

น.ส.ไตรศุลีกล่าวว่า ในช่วงวันลอยกระทง ประจำปี 2565 ที่ห้ามไม่ให้มีการให้จุดพลุ ประทัด และห้ามปล่อยโคมลอยในพื้นที่กรุงเทพฯ เด็ดขาด หากฝ่าฝืนจะโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ส่วนจังหวัดอื่นๆ ในปริมณฑล เช่น จังหวัดสมุทรปราการ ก็มีประกาศห้ามเช่นเดียวกัน

นอกจากนี้ ขอให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่โดยรอบท่าอากาศยานทุกแห่งงดการจุดพลุ ปล่อยโคม หรือวัตถุใดๆ ขึ้นสู่อากาศ เพื่อไม่ให้รบกวนการขึ้นลงและกระทบความปลอดภัยของอากาศยานและผู้โดยสาร ซึ่งปัจจุบันนี้มีกฎหมายหลายฉบับที่ออกมาป้องกันเหตุอันตราย ทั้งข้อกำหนดของท้องถิ่นข้างต้น ประมวลกฎหมายอาญา พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การเดินอากาศ (ฉบับที่ 14) พ.ศ.2562  พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดบางประการต่อการเดินอากาศ พ.ศ.2558 ซึ่งทั้งหมดกำหนดบทลงโทษอาญาทั้งปรับและจำคุกต่อผู้ฝ่าฝืน และหากเกิดเหตุร้ายแรงขึ้นจะมีโทษถึงประหารชีวิต 

ขณะที่ พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ โฆษกกองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.) เปิดเผยว่า ในการลอยกระทงออนไลน์ เหล่ามิจฉาชีพอาจอาศัยโอกาสดังกล่าวสร้างเว็บไซต์ปลอมขึ้นมาทั้งหมดหรือเว็บไซต์ปลอมที่คล้ายคลึงกับเว็บไซต์จริง เพื่อหลอกลวงให้ประชนกรอกข้อมูลส่วนบุคคล และข้อมูลทางการเงิน เช่น ชื่อนามสกุล วันเดือนปีเกิด เบอร์โทรศัพท์ หมายเลขบัตรประชาชน เลขบัญชีธนาคาร เลขบัตรเครดิต รหัสหลังบัตร 3 หลัก รหัส OTP เป็นต้น เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในทางมิชอบ ไม่ว่าจะเป็นการนำข้อมูลไปเข้าถึงบัญชีเฟซบุ๊ก ไลน์ โดยมิชอบแล้ว ไปหลอกยืมเงินผู้อื่น หรือใช้บัตรเครดิตรูดซื้อสินค้า หรือถูกโอนเงินจากบัญชีธนาคาร หรือไปแอบอ้างทำเรื่องที่ผิดกฎหมาย

จึงขอฝากประชาสัมพันธ์ถึงวิธีหลีกเลี่ยงการถูกหลอกลวงเอาข้อมูลส่วนตัว พร้อมแนวทางการป้องกัน ดังนี้ 1.ระมัดระวังเว็บไซต์ปลอม หรือเว็บไซต์เสมือน หากต้องการจะเข้าเว็บไซต์ใด ให้พิมพ์หรือกรอกชื่อเว็บด้วยตนเอง 2.อย่ากดลิงก์ที่เเนบมากับอีเมล หรือข้อความสั้น (SMS) ที่น่าสงสัย ไม่ทราบเเหล่งที่มา 3.หากต้องกรอกข้อมูล ควรกรอกเท่าที่จำเป็นเท่านั้น หากมีการขอข้อมูลในส่วนที่ไม่จำเป็น ให้สันนิษฐานได้ว่าเป็นมิจฉาชีพแน่นอน หากไม่แน่ใจให้ติดต่อสอบถามกลับไปยังหน่วยงานของรัฐหรือเอกชนโดยตรง

4.ไม่โพสต์ข้อมูลที่สำคัญลงในสื่อสังคมออนไลน์ และควรตั้งค่าความเป็นส่วนตัวจำกัดผู้เข้าถึงข้อมูล 5.ตั้งรหัสผ่านให้คาดเดาได้ยาก เช่น ใช้อักษรตัวพิมพ์เล็ก ตัวพิมพ์ใหญ่ ใช้อักขระพิเศษ ตัวเลข มารวมกัน อย่าใช้ชุดเลขที่เกี่ยวข้องกับวันเดือนปีเกิด หมายเลขโทรศัพท์ และเปิดใช้งานการเข้าถึงแบบหลายชั้น เช่น การใช้ร่วมกับ OTP หรือการยืนยันตัวตนหลายปัจจัย ทั้งนี้ หากพบเบาะแสการกระทำผิด หรือข้อขัดข้องใดๆ ก็สามารถติดต่อสอบถามได้ที่สายด่วนหมายเลข 1441 หรือหมายเลขโทรศัพท์ 08-1866-3000 ตลอด 24 ชั่วโมง และแจ้งความออนไลน์ที่เว็บไซต์ www.thaipoliceonline.com

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ชงไทยบี้เมียนมา งดขายน้ำมันให้ เจรจาสันติภาพ

"โรม" เสนอให้ไทยงดขายน้ำมันให้ "เมียนมา" ปูดใช้ไทยฟอกเงินเครือข่ายซื้ออาวุธที่ใช้ปฏิบัติการ เตือนถูกดึงไปเอี่ยวร่วมฆ่าล้างเผ่าพันธุ์