‘บิ๊กตู่’ ถกเลขายูเอ็นชื่นมื่น

พล.อ.ประยุทธ์เข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน-อินเดีย  ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น ย้ำความร่วมมือทุกด้านเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนและเสถียรภาพในภูมิภาค ก่อนหารือกับ เลขาธิการสหประชาชาติชื่นมื่น ชื่นชมไทยมีบทบาทอย่างกระตือรือร้นในเวทีระหว่างประเทศ

            เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน เวลา 08.00 น. ที่โรงแรมสกคา กรุงพนมเปญ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เข้าร่วมและกล่าวถ้อยแถลงในการประชุมสุดยอดอาเซียนบวกสาม ครั้งที่ 25 (the 25th ASEAN Plus Three Summit) โดยมีผู้นำประเทศสมาชิกอาเซียนหรือผู้แทน (ยกเว้นเมียนมา) นายหลี่ เค่อเฉียง นายกรัฐมนตรีจีน, นายยุน ซ็อกยอล ประธานาธิบดีสาธารณรัฐเกาหลี, นายคิชิดะ ฟูมิโอะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น และเลขาธิการอาเซียน เข้าร่วมประชุม เพื่อทบทวนความร่วมมือภายใต้กรอบอาเซียนบวกสามในรอบปีที่ผ่านมา กำหนดทิศทางความร่วมมือ และแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็น

            นายกรัฐมนตรีไทยกล่าวถึงความสำคัญของอาเซียนบวกสามในฐานะกรอบความร่วมมือที่เป็นรูปธรรมหลักของภูมิภาค พร้อมแสดงความยินดีกับทุกประเทศที่ได้ผ่านพ้นจากวิกฤตโควิด-19 ได้อย่างเข้มแข็ง ถือเป็นบทพิสูจน์ให้เห็นถึงความจำเป็นในการรักษาพลวัตของความร่วมมืออาเซียนบวกสาม โดยยืนยันความมุ่งมั่นของไทยที่จะดำเนินการตามแผนงานความร่วมมืออาเซียนบวกสามฉบับใหม่ที่มองไปข้างหน้าและมีประชาชนเป็นศูนย์กลาง

            นายกรัฐมนตรีนำเสนอ 2 ประเด็นสำคัญในวาระครบรอบ 25 ปีของอาเซียนบวกสาม เพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งของภูมิภาคในระยะยาว 1.เร่งขยายความร่วมมือเพื่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ยั่งยืน และเสริมสร้างบูรณาการทางเศรษฐกิจในภูมิภาค ไทยพร้อมดำเนินการตามแผนงานความร่วมมือด้านเศรษฐกิจอาเซียนบวกสาม ปี 2566-2567 และยินดีต่อความร่วมมือภายใต้กรอบการฟื้นฟูที่ครอบคลุมของอาเซียน (ACRF) และเน้นย้ำให้ใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่จากความตกลงการค้าเสรีระหว่างอาเซียนกับประเทศบวกสาม ควบคู่ไปกับ RCEP เพื่อขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะยาว

            2.ผลักดันวาระด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน สร้างสมดุลระหว่างสรรพสิ่งที่ครอบคลุมและรอบด้าน คำนึงถึงประเด็นท้าทายระดับโลกต่างๆ และประเด็นที่เกี่ยวข้องกับคุณภาพชีวิตของประชาชนโดยตรง โดยไทยได้เสนอโมเดลเศรษฐกิจ BCG เป็นแนวทางให้สามารถบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยจะสานต่อบทบาทในเรื่องนี้อย่างต่อเนื่องกับนานาประเทศเพื่อสอดประสานนโยบายด้านการพัฒนาที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมต่อไป

            นายกรัฐมนตรียังได้ฝากผู้นำประเทศบวก 3 และผู้นำท่านอื่นๆ ให้ช่วยกันเสริมสร้างบรรยากาศแห่งสันติภาพและความร่วมมือที่สร้างสรรค์ในภูมิภาค โดยทั้ง 3 ประเทศเป็นกุญแจสำคัญยิ่งในการไขประตูแห่งความสำเร็จนานาประการ ซึ่งจะนำพาโลกของเราไปสู่สันติสุขตลอดไป

อาเซียน-อินเดีย

            ต่อมาเวลา 10.26 น. พล.อ.ประยุทธ์ เข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน-อินเดีย ครั้งที่ 19 โดยมีผู้นำประเทศสมาชิกอาเซียน 9 ประเทศ (เมียนมาไม่เข้าร่วม) นายชัคทีป ธันขระ รองประธานาธิบดีอินเดีย และเลขาธิการอาเซียน เพื่อเฉลิมฉลองวาระครบรอบ 30 ปี ความสัมพันธ์อาเซียน-อินเดีย ตลอดจนทบทวนความคืบหน้าและกำหนดทิศทางการขับเคลื่อนความสัมพันธ์ในทุกมิติ

            นายกฯ กล่าวว่า รู้สึกยินดีที่ตลอด 3 ทศวรรษที่ผ่านมา ความร่วมมือของอาเซียนและอินเดียได้พัฒนาก้าวหน้าไปในทุกมิติบนพื้นฐานของความใกล้ชิดทางภูมิศาสตร์และสายสัมพันธ์ทางอารยธรรม อย่างไรก็ดี มองว่าอาเซียนและอินเดียมีจุดแข็งร่วมกัน ที่จะช่วยปลดล็อกศักยภาพด้านเศรษฐกิจ และยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชนให้พร้อมเดินหน้าผ่านความท้าทายต่างๆ ไปสู่อนาคตที่มั่นคงและยั่งยืน

            พล.อ.ประยุทธ์เผยว่า การพัฒนาด้านดิจิทัล ไทยสนับสนุนให้อินเดียคว้าโอกาสในตลาดดิจิทัลอาเซียน ที่คาดว่าจะมีมูลค่ากว่า 360,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐในอีก 3 ปีข้างหน้า โดยการกระชับความร่วมมือเพื่อขับเคลื่อนการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลในภูมิภาค โดยเฉพาะการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลและการค้าดิจิทัล ซึ่งไทยมีเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ที่มีศักยภาพรองรับการลงทุนและการส่งเสริมความร่วมมือดังกล่าว

            ต่อมาเวลา 11.10 น. พล.อ.ประยุทธ์ เข้าร่วมและกล่าวถ้อยแถลงในการประชุมสุดยอดอาเซียน-ออสเตรเลีย ครั้งที่ 2 โดยมีผู้นำประเทศสมาชิกอาเซียนจากทั้ง 9 ประเทศ เลขาธิการอาเซียน และนายแอนโทนี แอลบาเนซี (The Honourable Anthony Albanese MP) นายกรัฐมนตรีเครือรัฐออสเตรเลีย ร่วมกล่าวถ้อยแถลง เพื่อทบทวนความร่วมมือภายใต้กรอบอาเซียน-ออสเตรเลียในรอบปีที่ผ่านมา กำหนดทิศทางของการดำเนินความสัมพันธ์ให้มีพลวัต แน่นแฟ้น ครอบคลุม และยั่งยืน

            พล.อ.ประยุทธ์เน้นย้ำความสำคัญของการเสริมสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจ และการดำเนินความร่วมมือที่สร้างสรรค์เพื่อนำพาภูมิภาคให้ผ่านพ้นความท้าทายและภัยคุกคามร่วมกันได้อย่างยั่งยืน รวมทั้ง บทบาทออสเตรเลียและความร่วมมือในกลุ่ม Quad และ AUKUS จะสร้างบรรยากาศแห่งสันติภาพในภูมิภาคและโลก ไทยพร้อมต้อนรับนายกรัฐมนตรีออสเตรเลียในการประชุมเอเปก และร่วมฉลองการครบรอบ 70 ปี การสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทยกับออสเตรเลียด้วย

            ถัดมาเวลา 14.25 น. พล.อ.ประยุทธ์ เข้าร่วมและกล่าวถ้อยแถลงในการประชุมสุดยอดอาเซียน-ญี่ปุ่น ครั้งที่ 25 โดยมีผู้นำประเทศสมาชิกอาเซียนจากทั้ง 9 ประเทศ นายคิชิดะ ฟูมิโอะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น และเลขาธิการอาเซียน เข้าร่วมประชุม เพื่อทบทวนความร่วมมือในรอบปีที่ผ่านมา กำหนดทิศทางความสัมพันธ์และแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็น

หารือเลขาฯ ยูเอ็น

            ในโอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีไทยได้กล่าวถ้อยแถลงในนามอาเซียนว่า “คากายาเครุ ยูโจว, คากายาเครุ คิไก”  “มิตรภาพเรืองรอง โอกาสทองของเรา” ซึ่งเป็นคำขวัญสำหรับการเฉลิมฉลองวาระครบรอบ 50 ปีความสัมพันธ์อาเซียน-ญี่ปุ่นที่จะจัดขึ้น สะท้อนมิตรภาพและความร่วมมืออย่างลึกซึ้งและกว้างขวาง บนพื้นฐานของความไว้เนื้อเชื่อใจกัน และความเป็นหุ้นส่วนที่เท่าเทียมกัน รวมทั้งเห็นชอบที่จะจัดการประชุมสุดยอดอาเซียน-ญี่ปุ่นในปีหน้า

            พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ความร่วมมือทางเศรษฐกิจ อาเซียนมุ่งมั่นที่จะเสริมสร้างความเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจที่เข้มแข็ง รวมทั้งกำหนดแนวทางการดำเนินการเชิงยุทธศาสตร์สำหรับอาเซียนและญี่ปุ่น เพื่อมุ่งสู่การฟื้นฟูที่ครอบคลุม ยืดหยุ่น และยั่งยืนยิ่งขึ้น โดยนายกรัฐมนตรียังได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของความเชื่อมโยงและความยืดหยุ่นของห่วงโซ่อุปทานในภูมิภาค และสนับสนุนให้ภาคธุรกิจของญี่ปุ่นลงทุนในอาเซียนต่อไป เพื่อให้อาเซียนเป็นจุดเชื่อมต่อที่สำคัญ โดยพร้อมส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจอาเซียน-ญี่ปุ่น และความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาคอย่างเต็มที่และมีประสิทธิภาพ

            และเวลา 16.50 น. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หารือกับนายอันโตนิอู กุแตเรช (H.E. Mr. António Guterres) เลขาธิการสหประชาชาติ ในช่วงการประชุมสุดยอดอาเซียน-สหประชาชาติ ครั้งที่ 12 เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในเรื่องต่างๆ ที่อยู่ในความสนใจร่วมกัน

            โดยนายกรัฐมนตรีกล่าวยินดีที่ได้พบเลขาธิการสหประชาชาติอีกครั้ง ยืนยันถึงความเชื่อมั่นของไทยในระบบพหุภาคี มีสหประชาชาติเป็นศูนย์กลาง โดยไทยมุ่งมั่นร่วมมือเพื่อสนับสนุนสหประชาชาติในการรับมือกับปัญหาและความท้าทายของโลก พร้อมกล่าวสนับสนุนข้อริเริ่มในรายงาน Our Common Agenda เพื่อให้ทุกภาคส่วนสามารถบรรลุ SDGs

            ด้านเลขาธิการสหประชาชาติรู้สึกยินดีที่ได้พบนายกรัฐมนตรี พร้อมชื่นชมไทยและนายกรัฐมนตรีที่มีบทบาทอย่างกระตือรือร้นในเวทีระหว่างประเทศ ซึ่งไทยถือเป็นตัวอย่างของเจ้าบ้านที่ดีในการเป็นที่ตั้งของหน่วยงานต่างๆ ของสหประชาชาติ ซึ่งรวมถึงคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติสำหรับเอเชียและแปซิฟิก (ESCAP) ที่ได้รับการสนับสนุนอย่างดีจากรัฐบาลไทย ทั้งนี้ หน่วยงานของสหประชาชาติมีความกระตือรือร้นที่จะทำงานกับไทย รวมทั้ง เห็นว่าไทยดำเนินการแก้ปัญหาที่เป็นความท้าทายของโลกอย่างจริงจัง.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ชงไทยบี้เมียนมา งดขายน้ำมันให้ เจรจาสันติภาพ

"โรม" เสนอให้ไทยงดขายน้ำมันให้ "เมียนมา" ปูดใช้ไทยฟอกเงินเครือข่ายซื้ออาวุธที่ใช้ปฏิบัติการ เตือนถูกดึงไปเอี่ยวร่วมฆ่าล้างเผ่าพันธุ์