นายกฯ-จุรินทร์ คิกออฟโอนเงิน ช่วยผู้ปลูกข้าว

แบ่งกันคิกออฟ “บิ๊กตู่” คิกออฟโอนเงินมาตรการช่วยเหลือและยกระดับรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 65/66 วงเงิน 8.1 หมื่นล้านบาท อุ้มเกษตรกรกว่า 4.68 ล้านครัวเรือน ล็อตแรกรับ 4.5 พันล้านบาท "จุรินทร์" จับมือ 3 สมาคมชาวนาจ่ายส่วนต่างประกันรายได้และค่าบริหารจัดการไร่ละ 1 พันบาท  เริ่มโอนเข้าบัญชี 24 พ.ย.        

เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน ณ บริเวณสนามหน้าศาลากลางจังหวัดเพชรบูรณ์  พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม เป็นประธานในกิจกรรมส่งมอบเงินตามมาตรการช่วยเหลือและยกระดับรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2565/66 วันแรก โดยมีพล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย,  นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.การคลัง และประธานกรรมการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.),  นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม, นายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน, นายธนารัตน์ งามวลัยรัตน์ ผู้จัดการ ธ.ก.ส. ผู้บริหารและผู้แทนจากส่วนงานต่างๆ พร้อมด้วยเกษตรกรในเขตจังหวัดภาคเหนือ เข้าร่วมกิจกรรม

โดยนายอาคมกล่าวว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 15 พ.ย.2565 และมติคณะกรรมการ ธ.ก.ส. เมื่อวันที่ 21 พ.ย. 2565 เห็นชอบให้ ธ.ก.ส.ดำเนินมาตรการช่วยเหลือและยกระดับรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวผ่าน 4 โครงการ เพื่อเสริมสภาพคล่องในการใช้จ่าย และพัฒนาศักยภาพในการผลิต เพื่อให้มีโอกาสขายข้าวเปลือกในราคาที่สูงขึ้น วงเงินรวม 81,265 ล้านบาท ซึ่งมีเกษตรกรได้รับประโยชน์จำนวน 4.68 ล้านครัวเรือน ระยะเวลาดำเนินโครงการตั้งแต่บัดนี้จนถึง 30 ก.ย.2566

ประกอบด้วย มาตรการจ่ายเงินช่วยเหลือเกษตรกร ได้แก่ 1.โครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2565/66 เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้เกษตรกร ลดต้นทุนการผลิต และสร้างขวัญกำลังใจในการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตข้าวและจูงใจให้เกษตรกรดูแลรักษาข้าวให้มีคุณภาพดี ในการเพิ่มโอกาสในการขายข้าวในราคาที่สูงและมีรายได้มากขึ้น โดยสนับสนุนเงินให้เกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนผู้ปลูกข้าวกับกรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ปีการผลิต 2565/66 ในอัตราไร่ละ 1,000 บาท สูงสุดไม่เกิน 20 ไร่ หรือไม่เกิน 20,000 บาทต่อครัวเรือน วงเงินงบประมาณ 55,083 ล้านบาท โดยในส่วนของจังหวัดเพชรบูรณ์ มีเกษตรกรได้รับเงินช่วยเหลือจำนวน 77,452 ราย เป็นจำนวนเงินกว่า 932 ล้านบาท

2.โครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2565/66 เพื่อป้องกันความเสี่ยงด้านราคาไม่ให้ประสบปัญหาขาดทุน ลดภาระค่าใช้จ่ายในการแก้ไขปัญหาราคาผลผลิตตกต่ำจากสภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวและภัยธรรมชาติ โดยประกันรายได้แก่เกษตรกรผู้ปลูกข้าว 5 ชนิด ได้แก่ ข้าวเปลือกหอมมะลิ ตันละ 15,000 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 14 ตัน,  ข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่ ตันละ 14,000 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 16 ตัน,  ข้าวเปลือกเจ้า ตันละ 10,000 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 30 ตัน, ข้าวเปลือกหอมปทุมธานี ตันละ 11,000 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 25 ตัน และข้าวเปลือกเหนียว ตันละ 12,000 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 16 ตัน วงเงินงบประมาณ 18,700 ล้านบาท

สำหรับเกษตรกรที่แจ้งวันเก็บเกี่ยวก่อนวันที่ 15 ต.ค. ถึงวันที่ 18 พ.ย.2565 ธ.ก.ส.จะโอนเงินเข้าบัญชีของเกษตรกรโดยตรงตามข้อมูลที่ได้รับจากกรมส่งเสริมการเกษตร และผ่านการประชุมของคณะอนุกรรมการกำกับดูแลและเกณฑ์กลางอ้างอิงฯ งวดที่ 1-6 โดยเกษตรกรสามารถถอนเงินได้ตั้งแต่วันที่ 24 พ.ย. 2565 รวมทั้งสิ้น 1.68 ล้านครัวเรือน เป็นเงินจำนวนกว่า 4,516 ล้านบาท โดยพื้นที่จังหวัดเพชรบูรณ์มีการโอนเงินให้เกษตรกร จำนวน 42,008 ครัวเรือน วงเงิน 143 ล้านบาท

ด้านมาตรการคู่ขนานที่จะช่วยดูแลและรักษาเสถียรภาพราคาข้าวเปลือก ได้แก่ 3.โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2565/66 เพื่อให้เกษตรกรมีเงินทุนหมุนเวียนระหว่างชะลอการขายข้าว โดยไม่ต้องเร่งขายข้าวเปลือกในช่วงที่ผลผลิตออกสู่ตลาดจำนวนมากและราคาตกต่ำ วงเงินสินเชื่อรวม 25,590 ล้านบาท กรณีชำระคืนภายใน 5 เดือน ไม่มีดอกเบี้ย (รัฐบาลรับภาระจ่ายแทน) ตั้งเป้ากักเก็บปริมาณข้าวเปลือกกว่า 2.5 ล้านตัน ระยะเวลาตั้งแต่บัดนี้ถึงวันที่ 28 ก.พ.2566 และภาคใต้ ตั้งแต่ มี.ค.ถึง 30 ก.ค.2566 วงเงินงบประมาณ 7,107 ล้านบาท

4.สินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร ปีการผลิต 2565/66 สำหรับสหกรณ์การเกษตร กลุ่มเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน และศูนย์ข้าวชุมชนที่ประกอบธุรกิจรวบรวมข้าวจากเกษตรกรสมาชิก เกษตรกรทั่วไป กำหนดวงเงินกู้สำหรับสหกรณ์การเกษตรแห่งละไม่เกิน 300 ล้านบาท กลุ่มเกษตรกรแห่งละไม่เกิน 20 ล้านบาท และวิสาหกิจชุมชนแห่งละไม่เกิน 5 ล้านบาท วงเงินสินเชื่อรวม 10,000 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ย 4% ต่อปี ซึ่งคิดจากสถาบันฯ เพียง 1% ต่อปี ระยะเวลาการจ่ายสินเชื่อ ตั้งแต่บัดนี้ถึง 31 ธ.ค.2566 วงเงินงบประมาณ 375 ล้านบาท

ที่ห้องบุรฉัตรไชยากร ชั้น 4 สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พาณิชย์ แถลงข่าวการจ่ายเงินโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว และสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 4 พร้อมด้วยสมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย สมาคมชาวนาข้าวไทยและสมาคมส่งเสริมเกษตรกรชาวนาอีสาน

นายจุรินทร์กล่าวว่า นโยบายประกันรายได้เกษตรกร ในพืช 5 ชนิด คือ ข้าว มัน ยาง ปาล์มและข้าวโพด ได้เดินหน้ามาถึงปีที่ 4 วันนี้จะ Kick off การจ่ายเงินส่วนต่างให้กับเกษตรกรผู้ปลูกข้าว รวมทั้งเริ่มต้นโครงการคู่ขนาน หรือมาตรการคู่ขนานที่จะช่วยยกระดับราคาข้าวในตลาดและเริ่มจ่ายเงินไร่ละ 1,000 บาทให้กับเกษตรกรผู้ปลูกข้าว

 “ขอแสดงความยินดีกับพี่น้องชาวนาทุกคนที่รอคอยทั้งเงินส่วนต่าง มาตรการคู่ขนานและเงินไร่ละ 1,000 บาทตลอดระยะเวลาหลายเดือนที่ผ่านมา ซึ่งต้องจ่ายงวดแรกตั้งแต่ 15 ตุลาคมที่ผ่านมา แต่กระบวนการพิจารณาของคณะรัฐมนตรีต้องใช้เวลา ผ่านกระบวนการหลายขั้นตอน ซึ่งเป็นเรื่องปกติ ถึงเวลาแล้ว จ่ายเงินทีเดียว 6 งวด จากนี้จะไปเริ่มงวดที่ 7 ต่อไป จนถึงงวดที่ 33” รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์กล่าว

นายจุรินทร์กล่าวต่อว่า สำหรับเกษตรผู้ปลูกข้าวที่ขึ้นทะเบียนตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.-31 ต.ค.65 และภาคใต้ที่ขึ้นทะเบียนตั้งแต่วันที่ 16 มิ.ย.-28 ก.พ.66 สำหรับงบประมาณทั้ง 3 โครงการ ทั้งเงินส่วนต่างจากโครงการประกันรายได้ ไร่ละ 1,000 บาท และมาตรการคู่ขนานรวมทั้งสิ้น 81,265 ล้านบาท โดยการจ่ายเงินส่วนต่างจากโครงการประกันรายได้ งวด 1-6 ครอบคลุมพื้นที่เพาะปลูกประมาณ 75% ของทั้งหมด การช่วยค่าเพาะปลูกและค่าบริหารจัดการ จะโอนให้กับเกษตรกรทั้งหมด 4.68 ล้านครัวเรือน ใช้งบประมาณ 55,083 ล้านบาท โอนงวดแรกวันนี้แล้ว     งวดที่สองวันพรุ่งนี้ และถัดไปรวม 5 งวด จ่ายวันที่ 24-28 พ.ย.นี้ งวดที่หนึ่งโอนให้เกษตรกร 804,017 ครัวเรือน, งวดที่สอง 985,871 ครัวเรือน, งวดที่สาม 978,459 ครัวเรือน, งวดที่สี่ 980,489 ครัวเรือน และงวดที่ห้า 546,458 ครัวเรือน รวม 4,295,294 ครัวเรือน และการจ่ายเงินส่วนต่างข้าว 5 ชนิด รวม 4 ปี เงินส่วนต่างที่บางครอบครัวได้รับสูงสุด ข้าวหอมมะลิ สูงสุด 58,988 บาท/ครัวเรือน, ข้าวหอมมะลินอกพื้นที่ สูงสุด 60,086 บาท/ครัวเรือน, ข้าวหอมปทุมธานี สูงสุด 41,527 บาท/ครัวเรือน, ข้าวเปลือกเจ้า เงินส่วนต่างสูงสุด 76,601 บาท/ครัวเรือน และข้าวเปลือกเหนียว เงินชดเชยสูงสุด 71,465 บาท/ครัวเรือน

 “ส่วนประกันรายได้มันสำปะหลัง  ปาล์มน้ำมัน ข้าวโพด และยางพารา อยู่ในขั้นตอนกระบวนการรอนำเข้าสู่ที่พิจารณาของคณะรัฐมนตรี ส่วนที่กระทรวงพาณิชย์ทำต้นเรื่องเสนอไปแล้วก่อนหน้านี้ รอกระบวนการ สำหรับปาล์มน้ำมันและข้าวโพด ตอนนี้ประกันรายได้และเงินส่วนต่างยังไม่จำเป็น เนื่องจากตอนนี้ข้าวโพดในตลาดราคา 11-12 บาท/กก., ปาล์มน้ำมัน ประกันที่ 4 บาท/กก. แต่ราคาในตลาด 5-6 บาท เกือบ 7 บาท/กก., มันสำปะหลัง ประกันที่กิโลละ 2.50 บาท/กก. ตอนนี้กิโลกรัมละ 3 บาทกว่า ยังรอได้ ไม่จำเป็นต้องใช้เงินส่วนต่างชดเชย ส่วนยางพาราก็รอกระบวนการพิจารณาของ ครม.ต่อไป” นายจุรินทร์กล่าว.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'หมอชัย' โนคอมเมนต์ นายกฯ ทาบ 'จักรพล' นั่งโฆษกรัฐบาล

นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกระแสข่าวที่นายกรัฐมนตรีทาบทามนายจักรพล ตั้งสุทธิธรรม รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง