ถล่ม‘ปิยบุตร’มั่วโยงม.112 จี้มท.สอบ‘มูลนิธิก้าวหน้า’

ถล่ม "ปิยบุตร" มั่วย้อนยุคพระเจ้าเอกทัศ ลากโยงสู่ 112 ยุคปัจจุบัน ถ้าจะใช้บริบทสมัยอยุธยา ปิยบุตรและโคตรเหง้าคงถูกตัดหัวเรียงตัวจากชั้นบนลงล่าง 7  ชั่วโคตรไปแล้ว "ไทยภักดี" ยื่นหนังสือถึงปลัด มท.ตรวจสอบ "มูลนิธิก้าวหน้า" กรณีบอร์ดเกม "Patani Colonial  Teritory" ปลุกปั่นแบ่งแยกดินแดนหรือไม่

จากกรณีนายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า แสดงความคิดเห็นในเฟซบุ๊กส่วนตัวเกี่ยวกับมาตรา  112 ว่า "จากคดี 112 วิจารณ์เศรษฐกิจพอเพียง ที่ผู้พิพากษาลงความเห็นว่า กล่าวถึงราชบิดาของกษัตริย์องค์ปัจจุบัน ผิด 112 ถ้ายึดตามมาตรฐานแบบนี้ ก็ไม่ต้องเรียนประวัติศาสตร์กันแล้ว เพราะเราจะวิจารณ์รัชกาลที่ 6  พระเจ้าตากสิน พระเจ้าเอกทัศ หรือหนังสุริโยไทก็วิจารณ์ขุนวรวงศาธิราชและท้าวศรีสุดาจันทร์ ไม่ได้เลย!" นั้น

ล่าสุด มีความเห็นโต้แย้งจากนายเทพมนตรี ลิมปพยอม นักประวัติศาสตร์ ว่า "ความคิดของปิยบุตรที่ยกตัวอย่างอดีตพระมหากษัตริย์อย่างพระเจ้าเอกทัศมาอ้าง  แล้วนำไปพัวพันกับประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112  ที่ตัวเขาตกเป็นผู้ต้องหาในคดี ย่อมสะท้อนให้เห็นความไม่เข้าใจและไม่รู้ความจริงทางประวัติศาสตร์ เอามาเปรียบเทียบกันไม่ได้ ราชวงศ์อยุธยาจบไปแล้วครับ เพราะถ้าจะใช้บริบทสมัยอยุธยาแล้วไซร้ ปิยบุตรและโคตรเหง้าคงถูกตัดหัวเรียงตัวจากชั้นบนลงล่าง 7 ชั่วโคตรไปแล้ว

พระเจ้าเอกทัศ ราชวงศ์อยุธยา จบไปแล้วเป็นบทเรียนทางประวัติศาสตร์ ปัจจุบันคือเรื่องปัจจุบัน ถ้าปิยบุตรยังทำแบบนี้ต่อไป คนจำนวนหนึ่งคงเคียดแค้นและรำคาญ  สังคมก็จะวุ่นวายสับสนต่อบทบาทและมารยาททางการเมืองของปิยบุตร"

เช่นเดียวกับ ดร.ศุภณัฐ อภิญญาณ หรือ “ดร.นิว” นักวิจัยภายใต้สถาบันวิจัย MAST Center และคณะวิศวกรรมชีวการแพทย์ University of  Arkansas ประเทศสหรัฐอเมริกา โพสต์เฟซบุ๊กระบุว่า "ฝนตกขี้หมูไหล นักกฎหมายอะไรหมกมุ่นบิดเบือนให้ร้าย กุเรื่องโจมตี ม.112 แบบมั่วๆ?

ม.112 เป็นกฎหมายอาญาในระบอบประชาธิปไตย  ซึ่งคุ้มครองสิทธิเสรีภาพและสิทธิมนุษยชนของสถาบันพระมหากษัตริย์ ตลอดจนปกป้องความมั่นคงแห่งราชบัลลังก์

ผู้กระทำความผิด ม.112 จึงไม่ได้เป็นเพียงแค่ผู้เห็นต่างหรือผู้วิจารณ์ตามที่เขาหลอกลวง หากแต่เป็นผู้กระทำการหมิ่นประมาท อาฆาตมาดร้ายต่อสถาบันพระมหากษัตริย์

จากตอนหนึ่งของคำพิพากษา​ศาลฎีกา​ที่​ 6374/2556 ความว่า '...การที่กฎหมายมิได้บัญญัติว่า พระมหากษัตริย์จะต้องครองราชย์อยู่เท่านั้น ผู้กระทำจึงจะเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา  112 แม้จะกระทำต่ออดีตพระมหากษัตริย์ซึ่งสวรรคตไปแล้ว ก็ยังเป็นความผิดตามบทกฎหมายดังกล่าว การหมิ่นประมาทอดีตพระมหากษัตริย์ก็ย่อมกระทบถึงพระมหากษัตริย์องค์ปัจจุบันที่ยังคงครองราชย์อยู่...'

ย่อมแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า การพิจารณาถึงขอบเขตที่แท้จริงๆ ของ ม.112 ต้องคำนึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อพระมหากษัตริย์องค์ปัจจุบันที่ยังคงครองราชย์อยู่ด้วย ดังนั้น ม.112 จึงให้คุ้มครองทางอาญาแก่พระมหากษัตริย์องค์ปัจจุบันผู้ทรงครองราชย์ ตลอดจนครอบคลุมถึงบูรพมหากษัตริย์ทั้งหมดในราชวงศ์จักรีแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ แต่นักกฎหมายบางคนกลับบิดเบือนแบบมั่วๆ คิดเอาเองว่า ม.112 ให้ความคุ้มครองย้อนไปถึงพระเจ้าเอกทัศในสมัยอยุธยา ซึ่งไม่ได้เกี่ยวข้องหรือกระทบต่อราชบัลลังก์ปัจจุบันเลย"

ขณะที่นายอัษฎางค์ ยมนาค นักวิชาการอิสระ โพสต์เฟซบุ๊ก “เอ็ดดี้ อัษฎางค์ ยมนาค” โดยระบุข้อความว่า "คีย์เวิร์ดจากคำพิพากษาที่ว่า 'การหมิ่นประมาทอดีตพระมหากษัตริย์ก็ย่อมกระทบถึงพระมหากษัตริย์องค์ปัจจุบันที่ยังคงครองราชย์อยู่' หมายความว่า ถ้ามีผลกระทบ ก็หมายความว่า เป็นการกระทำผิดมาตรา 112 แต่ถ้าไม่มีผลกระทบ ก็หมายความว่า 'อาจจะ' ไม่เป็นการกระทำผิดมาตรา 112 และคำพิพากษานี้จะเป็นบรรทัดฐานในการพิจารณาคดีต่อๆ ไป ความจริงเป็นที่ทราบดีทั้งประชาชนทั่วไปและผู้ที่จงใจจาบจ้วง บิดเบือนหรือให้ร้ายในหลวงรัชกาลที่ 9 ว่า การจาบจ้วง บิดเบือนหรือให้ร้ายในหลวงรัชกาลที่ 9 นั้นจงใจให้มีผลกระทบถึงในหลวงรัชกาลที่ 10  รวมทั้งจงใจให้มีผลกระทบถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ทั้งสถาบัน อันเป็นความจงใจให้กระทบถึงการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขด้วย"

นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม หัวหน้าพรรคไทยภักดี โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก "วรงค์ เดชกิจวิกรม - Warong  Dechgitvigrom" ระบุว่า "เห็นการทำงานของคนกลุ่มนี้ ยุยงปลุกปั่นคนรุ่นใหม่มาทำความผิด ตามมาตรา 112 ขณะที่มูลนิธิก้าวหน้า ซึ่งใกล้ชิดกัน ก็ไปสนับสนุนการจัดทำ  Patani Colonial Territory บอร์ดเกม ซึ่งต้องถามว่าสนับสนุนการแบ่งแยกดินแดนหรือไม่? คงต้องติดตามและถามว่า พวกคุณเป็นคนไทยหรือเปล่า?"

ที่กระทรวงมหาดไทย นายสุขสันต์ แสงศรี โฆษกพรรคไทยภักดี และคณะ เข้ายื่นหนังสือต่อปลัดกระทรวงมหาดไทย ขอให้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริง กรณีมูลนิธิคณะก้าวหน้าให้การสนับสนุนบอร์ดเกมที่เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ปัตตานี ตามที่ปรากฏบนสื่อออนไลน์เพจเฟซบุ๊ก Urban Creature ได้นำเสนอบอร์ดเกมที่มีชื่อว่า  “Patani Colonial Teritory” ซึ่งเป็นเกมสำหรับเยาวชนที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ปัตตานี

โดยนายสุขสันต์ให้รายละเอียดว่า บอร์ดเกมนี้ได้รับการสนับสนุนจากสำนักพิมพ์ KOPl และได้รับทุนสนับสนุนจาก Common School มูลนิธิคณะก้าวหน้า จึงขอให้มีการตรวจสอบข้อเท็จจริง ประกอบด้วย

1.บอร์ดเกมดังกล่าวมีเนื้อหาสาระที่นำไปสู่ความแตกแยก และนำไปสู่การสร้างกระแส และเกิดแรงกระตุ้นให้เกิดการแบ่งแยกดินแดนหรือไม่

2.ขอให้ตรวจสอบงบการเงินของมูลนิธิคณะก้าวหน้า  ซึ่งเป็นผู้ให้การสนับสนุนบอร์ดเกมดังกล่าว ว่าเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่

3.การสนับสนุนโดยมูลนิธิคณะก้าวหน้าในประเด็นนี้  ตามพระราชบัญญัติกำหนดความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด สมาคม และ มูลนิธิ พ.ศ.2499 ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่

ทั้งนี้ ขอให้กระทรวงมหาดไทยดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงให้เป็นที่ปรากฏ และหากพบว่ามีประเด็นที่ไม่เป็นไปตามกฎหมายแล้ว ขอให้มีการดำเนินการกับผู้ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงมูลนิธิคณะก้าวหน้าตามกฎหมายต่อไป  อย่างไรก็ตาม ผู้แทนศูนย์ดำรงธรรมกระทรวงมหาดไทย และเจ้าหน้าที่กรมการปกครอง ทั้ง 2 หน่วยงานนี้ได้รับเรื่องไว้เรียบร้อยแล้วเพื่อนำข้อมูลมาตรวจสอบต่อไป

ก่อนหน้านี้ ดร.ปิติ ศรีแสงนาม ผู้อำนวยการศูนย์เศรษฐกิจระหว่างประเทศ อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กว่า  "ค่อนข้างห่วงกังวล โดยเฉพาะประเด็นข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ อาทิ ภาพการ์ดในเกมที่นำมาประชาสัมพันธ์ ยังมีการทำซ้ำในประเด็นอ่อนไหว เรื่องเอ็นร้อยหวาย ที่ปัจจุบันในวงวิชาการยอมรับว่าเป็นเรื่องเสริมแต่งเพิ่มในภายหลัง ที่ไม่เป็นความจริง แต่เป็นเรื่องราวที่สร้างขึ้นเพื่อสร้างความเกลียดชังรัฐสยาม แต่ในเกมยังเอาเรื่องราวสร้างความหวาดกลัวนี้มาใช้ในการประชาสัมพันธ์"       

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า เมื่อวันที่ 16 กันยายน  2564 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ประกาศนายทะเบียนมูลนิธิ กรุงเทพมหานคร เรื่องจดทะเบียนจัดตั้ง  “มูลนิธิคณะก้าวหน้า”

โดยประกาศดังกล่าวมีใจความว่า "ด้วยนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ได้ยื่นคำขอจดทะเบียนจัดตั้งมูลนิธิคณะก้าวหน้า ต่อนายทะเบียนมูลนิธิกรุงเทพมหานคร โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อส่งเสริมการศึกษา วิจัย ด้านสังคมศาสตร์ นิติศาสตร์  รัฐศาสตร์ และอื่นๆ"

ประกาศดังกล่าวระบุว่า "ทรัพย์สินของมูลนิธิมีทุนแรกเริ่มเป็นเงินสดจำนวน 500,000 บาท (ห้าแสนบาทถ้วน)  และมีคณะกรรมการดำเนินงานทั้งสิ้น 13 คน ดังรายนามต่อไปนี้ 1.นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ - ประธานกรรมการ 2. นายชํานาญ จันทร์เรือง - รองประธานกรรมการ 3.นายพงศกร รอดชมภู - รองประธานกรรมการ 4.นายสุรชัย ศรีสารคาม - รองประธานกรรมการ 5.นายปิยบุตร แสงกนกกุล - กรรมการ 6.นางสาวพรรณิการ์ วานิช - กรรมการ 7. นายเดชรัต สุขกําเนิด - กรรมการ 8.นายสุนทร บุญยอด -  กรรมการ 9. นายชัน ภักดีศรี - กรรมการ 10.นายเจนวิทย์  ไกรสินธุ์ - กรรมการ 11.นายไกลก้อง ไวทยการ -  กรรมการ 12. นางสาวเยาวลักษณ์ วงษ์ประภารัตน์ -  กรรมการและเหรัญญิก 13.นางสาวกุลธิดา รุ่งเรืองเกียรติ -  กรรมการและเลขานุการ.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง