ศาลรับวินิจฉัยสถานะรมต.นิพนธ์

ศาล รธน.รับคำร้องวินิจฉัยสถานะ รมต. "นิพนธ์" ปมคำสั่งพ้นนายก อบจ.สงขลา แต่ไม่ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ ตีตกคำร้อง "หมอวรงค์" กรณี ครม.ยิ่งลักษณ์-กสทช.ออกใบอนุญาต​ดาวเทียมไทยคม จับตาศิษย์เก่าเพื่อไทยแห่กลับถิ่นเก่า หลังหมอภูมินทร์เซ็นใบลาออก

เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญได้เผยแพร่เอกสารข่าวระบุว่า ศาลรัฐธรรมนูญได้ประชุมปรึกษาคดีที่สำคัญ กรณีประธานสภาผู้แทนราษฎรส่งคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคสาม ประกอบมาตรา 82 ว่าความเป็นรัฐมนตรีของนายนิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย สิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญมาตรา 170 วรรคหนึ่ง (4) ประกอบมาตรา 160 (6) และมาตรา 98 (8) หรือไม่ (เรื่องพิจารณาที่ 22/2564) กรณีกระทรวงมหาดไทยมีคำสั่งให้นายนิพนธ์พ้นจากตำแหน่งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา จากการถูกคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบชี้มูลว่ามีความผิดคดีไม่เบิกจ่ายเงินค่ารถอเนกประสงค์ 2 คัน มูลค่า 50 ล้านบาทให้แก่เอกชนเมื่อปี 2556

ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาข้อเท็จจริงตามคำร้องและเอกสารประกอบคำร้องแล้ว เห็นว่า กรณีเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคสาม ประกอบมาตรา 82 วรรคหนึ่ง และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2561 มาตรา 7 (9) จึงมีมติเอกฉันท์รับคำร้องนี้ไว้พิจารณาวินิจฉัยให้ผู้ถูกร้องยื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาต่อศาลรัฐธรรมนูญภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับสำเนาคำร้องและเห็นว่าข้อเท็จจริงตามคำร้องและเอกสารประกอบคำร้องยังไม่มีเหตุอันควรสงสัยว่าผู้ถูกร้องมีกรณีตามที่ถูกร้อง จึงมีคำสั่งว่านายนิพนธ์ไม่ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 82 วรรคสอง

นอกจากนี้ ศาลรัฐธรรมนูญมีมติสั่งไม่รับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัยกรณี นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 213 ว่า คณะรัฐมนตรีในรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (ผู้ถูกร้องที่ 1) กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ผู้ถูกร้องที่ 2) คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) (ผู้ถูกร้องที่ 3) และคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) (ผู้ถูกร้องที่ 4) และบริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) (ผู้ถูกร้องที่ 5) กระทำการขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 190 และมาตรา 305 (1) และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 60 และมาตรา 274

วันเดียวกัน นพ.ภูมินทร์ ลีธีระประเสริฐ อดีตผู้สมัคร ส.ส.เขต 4 ศรีสะเกษ ได้โพสต์ภาพหนังสือลาออกจากการเป็นสมาชิกพรรคพลังประชารัฐ ที่ได้ยื่นกับ กกต.เมื่อวันที่ 16 พ.ย. พร้อมโพสต์ข้อความว่า “วันนี้ วันดี เวลา 13.00 น. เดินทางไปสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง ที่ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ เพื่อยื่นหนังสือลาออกจากการเป็นสมาชิกพรรคพลังประชารัฐ ยื่นแล้วก็เบาตัว ลองทายดูดิ ว่าไปต่อที่ไหน???”

ทั้งนี้ นพ.ภูมินทร์เคยดำรงตำแหน่งรองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นอดีต ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ 3 สมัย พรรคไทยรักไทย อดีต ส.ส.ศรีสะเกษ พรรคความหวังใหม่ และอดีตผู้สมัคร ส.ส.เขต 4 ศรีสะเกษ พรรคพลังประชารัฐ ในการเลือกตั้งปี 62 โดยมีรายงานข่าวว่า นพ.ภูมินทร์เตรียมกลับไปสมัครเป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทยเร็วๆ นี้ ร่วมกับ 2 อดีตผู้สมัคร ส.ส.ศรีสะเกษ นายอมรเทพ สมหมาย ที่ลาออกจากสมาชิกพรรคชาติไทยพัฒนา โดยยื่นหนังสือลาออกที่ กกต.แล้วเมื่อวันที่ 16 พ.ย. และนางมาลินี อินฉัตร อดีตสมาชิกพรรคเพื่อชาติ ทั้ง 2 คนเตรียมกลับพรรคเพื่อไทยด้วยเช่นกับ นพ.ภูมินทร์ โดยทั้ง 3 คนจะไปสมัครสมาชิกพรรคเพื่อไทยพร้อมกัน ทั้งนี้ ยังมีอีกหลายคนที่เป็นอดีตสมาชิกพรรคเพื่อไทยเตรียมย้ายกลับพรรคเพื่อไทย

ที่รัฐสภา นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย ในฐานะวิปฝ่ายค้าน แถลงภายหลังนายศุภชัย โพธิ์สุ รองประธานสภาฯ คนที่ 2 ทำหน้าที่ประธานการประชุมสภา สั่งปิดการประชุมระหว่างการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.เครื่องสำอาง พ.ศ….. ยังไม่แล้วเสร็จ ว่า สภาไม่ล่มก็เหมือนล่ม ซึ่งเป็นไปตามคาดการณ์ตั้งแต่เปิดสมัยประชุม เพราะปัญหาภายในพรรครัฐบาลยังไม่เสร็จสิ้น ทำให้การควบคุมองค์ประชุมมีปัญหา
“พรรคเพื่อไทยและฝ่ายค้านพยายามใช้กลไกทุกวิถีทาง แต่รัฐบาลก็มองข้ามมาตลอด ทั้งเรื่องการตอบกระทู้ถามสดและการประชุมสภา การที่รัฐบาลมีหน้าที่ดูแลการประชุม ส่วนฝ่ายค้านก็ให้ความร่วมมือลงมติทุกครั้ง อย่างไรก็ตาม ฝ่ายค้านยืนยันว่าจะคงมาตรการเข้มเพื่อให้ ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลและรัฐบาลปรับปรุงตัวและให้ความสำคัญกับองค์ประชุมสภาต่อไป ส่วนที่อ้างว่าเลิกประชุมรัฐสภาดึกนั้น เป็นเพียงแค่ข้ออ้าง เพราะการเป็น ส.ส.ต้องมีความรับผิดชอบ” นายจุลพันธ์กล่าว.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง