‘บิ๊กตู่’ทูลเกล้าฯ สองกฎหมายลูก พท.ดอดแก้รธน.

“วิษณุ” เผยนายกฯ ลงนามในกฎหมายลูก 2 ฉบับแล้ว คาดทูลเกล้าฯ  ถวายในวันที่ 16-17 ธ.ค. ย้ำยังไม่มีสัญญาณยุบสภา บอกหากบิ๊กตู่จะยุบก็ไม่ต้องปรึกษา ลั่น ครม.จะไม่มีการเสนอกฎหมายอีกแล้ว “เพื่อไทย” ได้ทีอัด ส.ส.แห่ลาออกไม่เคารพการทำหน้าที่ฝ่ายนิติบัญญัติ

เมื่อวันศุกร์ที่ 16 ธันวาคม นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงความคืบหน้าร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้ลงนามในร่างกฎหมายดังกล่าวเพื่อเตรียมนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายภายในวันที่ 16 ธ.ค. หรืออย่างช้าวันที่ 17 ธ.ค.แล้ว ซึ่งตามขั้นตอนเมื่อทูลเกล้าฯ ถวายไปแล้วจะอยู่ในพระบรมราชวินิจฉัย 90 วัน เมื่อมีการโปรดเกล้าฯ ลงมา และประกาศในราชกิจจานุเบกษา จะมีผลบังคับใช้ในวันถัดไป ถือว่ากติกาสำหรับการเลือกตั้งครบถ้วนแล้ว แต่หากใครจะคัดค้านต้องดำเนินการหลังจากมีผลบังคับใช้แล้ว ส่วนกระบวนการนั้นต้องไปร้องศาล และให้ศาลส่งต่อมายังศาลรัฐธรรมนูญ  

 เมื่อถามถึงกรณี ส.ส.ลาออกจำนวนมาก ทำให้มีหลายฝ่ายตั้งข้อสังเกตว่านายกฯ จะถือโอกาสยุบสภาผู้แทนราษฎร นายวิษณุกล่าวว่า เดิม ส.ส.มี 500 คน  ขณะนี้เหลือกว่า 400 คน องค์ประชุมลดตามลงมา ประมาณ 220 คน ฉะนั้นการดำเนินงานของสภายังดำเนินการได้ตามปกติ เหมือนที่นายชวน หลีกภัย ประธานสภาฯ ว่าไว้ ยังประชุมได้ ยังทำภารกิจได้ และยังมีเวลาเหลือกว่า 2 เดือน ซึ่งหลังจากนี้รัฐบาลคงไม่เสนอกฎหมายใหม่เข้าไป ซึ่งขณะนี้มีกฎหมายที่ค้างสภาอยู่ 3 ประเภท คือ 1.กฎหมายที่คณะกรรมาธิการ (กมธ.) พิจารณาเสร็จแล้วและเสนอกลับมาให้สภาพิจารณา 2.กฎหมายที่รัฐบาล ส.ส. และประชาชนเสนอเข้าไป แต่ยังไม่ได้พิจารณาในวาระ 1 และ 3.เรื่องที่อยู่ระหว่างการศึกษาของ กมธ. 

เมื่อถามย้ำว่า ที่ ส.ส.ลาออกจำนวนมากเช่นนี้เป็นเงื่อนไขให้ยุบสภาหรือไม่ นายวิษณุกล่าวสั้นๆ ว่า ขณะนี้ยัง และเมื่อถามว่าการที่นายกฯ จะยุบสภาต้องแจ้งให้พรรคร่วมรัฐบาลทราบหรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า ไม่เคยยุบสภา เพราะเป็นอำนาจนายกฯ แต่ในฐานะที่ร่างพระราชกฤษฎีกายุบสภามาแล้ว 3-4 ครั้ง นายกฯ จะไม่นำเรื่องดังกล่าวปรึกษาในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่างจากพระราชกฤษฎีกาทั่วไปที่ต้องผ่าน ครม. แต่พระราชกฤษฎีกายุบสภาเป็นฉบับเดียวที่ไม่เคยมีนายกฯ คนใดนำมาปรึกษาในที่ประชุม ครม. แต่การจะบอกบางคน เช่น แกนนำพรรค มีความเป็นไปได้

ถามอีกว่า ได้สัญญาณการยุบสภามาจากนายกฯ บ้างหรือยัง นายวิษณุกล่าวว่า เตรียมอุปกรณ์ที่จะร่างมา 2 ปีแล้ว แต่ไม่ได้ประเมินอะไร เพราะไม่ใช่เรื่องแปลกประหลาดทางการเมือง และขอยืนยันยังไม่เคยได้ยินนายกฯ หรือรัฐมนตรีคนใดบอกว่าให้ยุบสภา

เมื่อถามถึงกรณีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกฯ ระบุว่าหากนายกฯ ยุบสภา เงื่อนไขกฎเหล็ก 180 วันของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จะเป็นโมฆะไปเลยหรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า มันไม่ได้เซตซีโร เพราะยุบสภา แต่มีการประกาศใช้ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญเลือกตั้งฉบับใหม่ที่บางส่วนต่างจากฉบับเก่า ดังนั้นอะไรที่ผิดอาจไม่ผิด แต่การยุบสภาไม่ได้ส่งผลอะไรต่อเรื่องดังกล่าว เพราะการกระทำผิดทางกฎหมายคือเรื่องของกฎหมาย แต่การยุบสภาเป็นเรื่องการตัดสินใจทางการเมือง 

ขณะที่นายชวนได้แจ้งที่ประชุมสภาว่า ขณะนี้มี ส.ส.ลาออกเพิ่ม 3 คนคือ นายสุชาติ อุสาหะ ส.ส.เพชรบุรี พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.), พล.อ.สมชาย วิษณุวงศ์ ส.ส.กาญจนบุรี และนายกนก วงษ์ตระหง่าน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ทำให้สภามี ส.ส.ที่ปฏิบัติหน้าที่ได้ 439 คน หรือองค์ประชุม 220 คน

ด้าน นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน และหัวหน้าพรรคเพื่อไทย (พท.) ในฐานะผู้นำฝ่ายค้านในสภาฯ กล่าวถึงความกังวลการประชุมสภาจะล่ม เนื่องจาก ส.ส.ลาออกจำนวนมากว่า ไม่กังวล เพราะล่มเป็นประจำอยู่แล้ว ที่สำคัญพรรคร่วมฝ่ายค้านเราถือว่าเป็นองค์ประชุมสำคัญ เรื่องที่เป็นความสำคัญของประเทศ ถ้าเสียงข้างมากไม่ทำงาน ไม่มาเป็นองค์ประชุม เราจะใช้กลไกนี้บอกกับพี่น้องประชาชนว่าคุณไม่รับผิดชอบต่อสิ่งที่มีความสำคัญของประเทศ เช่น การมีกฎหมายสำคัญเข้ามา ฝ่ายค้านก็พร้อมทำงานในหน้าที่อย่างเต็มที่ อะไรที่เป็นเรื่องสำคัญของประเทศเรายินดีร่วมเป็นองค์ประชุม

เมื่อถามว่า การที่ ส.ส.ย้ายในตอนนี้ถือเป็นการละทิ้งหน้าที่หรือไม่ นพ.ชลน่านกล่าวว่า ชัดเจนอยู่แล้ว หน้าที่คือต้องทำหน้าที่ในสภา ขณะนี้มีกฎหมายเยอะมาก ถ้าลาออกก็หมายความว่ามีเจตจำนงชัดว่าเป็นการเข้าไปสังกัดพรรคใหม่เพื่อขอเป็น ส.ส.ในปีต่อไปมากกว่าตำแหน่งหน้าที่ในปัจจุบัน เหมือนไม่ให้เกียรติพี่น้องประชาชนที่เลือกเข้ามา เลยต้องกลับไปถามพี่น้องประชาชนว่า เขาทำเพื่อพี่น้องประชาชนจริงหรือไม่ พี่น้องประชาชนก็ลองพิจารณาดูว่าสมควรที่จะมอบหมายให้เขาทำหน้าที่ต่อไปหรือไม่ ถ้าย้ายไปแล้วเขาเลือก แสดงว่าพี่น้องประชาชนเห็นด้วย

ถามถึงกรณี พล.อ.ประยุทธ์ระบุว่าไม่ใช่เรื่องของนายกฯ ที่ต้องควบคุม ส.ส.ให้เข้าร่วมประชุมสภา เพราะได้กำชับไปแล้ว แต่ ส.ส.ไม่เข้าร่วม นพ.ชลน่านกล่าวว่า ตามข้อเท็จจริงนายกฯ ก็ตอบถูก ในแง่ที่เขาเป็นหัวหน้าฝ่ายบริหาร การมาควบคุม ส.ส.ในสภาให้ทำนั่นทำนี่ เราก็เคยทักท้วง อำนาจฝ่ายบริหารและอำนาจนิติบัญญัติในระบบรัฐสภาแบ่งแยกกันอย่างชัดเจน ถือว่าไม่ชอบด้วยบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ

“หากนายกฯ ถ้าจะมีอำนาจมาควบคุมผู้แทนฯ ได้ เขาก็ควรเป็นหัวหน้าพรรคการเมืองที่เกี่ยวข้อง และควรเป็น ส.ส.ด้วย หากเป็นอย่างนี้ถือว่าเขาไม่ควบคุมในฐานะหัวหน้าพรรคการเมือง ไม่ทำหน้าที่ในฐานะเป็น ส.ส. ต้องแยกกันอย่างนั้น อย่าไปเรียกร้องคนที่ไม่ได้เป็นผู้แทนฯ  ไม่ได้เป็นหัวหน้าพรรคการเมือง เขาพูดถูก ในฐานะนายกฯ เขาไม่มีหน้าที่โดยตรง” นพ.ชลน่านกล่าว

 นายสมคิด เชื้อคง ส.ส.อุบลราชธานี พรรค พท. ในฐานะรองประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) กล่าวประเด็นนี้ว่า พูดเช่นนี้ใช้ไม่ได้ ถ้าเป็นรัฐบาลแล้วทำให้สภาล่มบ่อยจะเป็นรัฐบาลไปทำไม การพูดเช่นนี้เป็นการปัดสวะให้พ้นตัว ในฐานะ พล.อ.ประยุทธ์เป็นหัวหน้ารัฐบาล เป็นเสียงข้างมาก จะมาปัดสวะแบบนี้ไม่ได้

“จะมาหนีแบบนี้ไม่ได้ อยากให้ไปถามนายชวนที่เคยพูดไว้ว่าเรื่ององค์ประชุมเป็นเรื่องของรัฐบาล ดังนั้นการที่สภาล่มก็มาจากฝ่ายรัฐบาล แต่วันนี้ พล.อ.ประยุทธ์บอกว่าไม่เกี่ยว กินยาผิดซองหรือเปล่า อย่ามาเป็นรัฐบาลเลย ยุบสภาไปเลยดีกว่า เพราะแค่คุมเสียงในสภายังทำไม่ได้ แล้วจะไปสร้างความสุขให้ประชาชนได้อย่างไร” นายสมคิดระบุ.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ชงไทยบี้เมียนมา งดขายน้ำมันให้ เจรจาสันติภาพ

"โรม" เสนอให้ไทยงดขายน้ำมันให้ "เมียนมา" ปูดใช้ไทยฟอกเงินเครือข่ายซื้ออาวุธที่ใช้ปฏิบัติการ เตือนถูกดึงไปเอี่ยวร่วมฆ่าล้างเผ่าพันธุ์