‘บิ๊กตู่’อยู่2ปีต่อยอด รทสช.ฟุ้งกวาดกทม.-กลาง-ใต้/กกต.ย้าห้ามแจกของปีใหม่

“เอกนัฏ” มั่นใจกระแส “บิ๊กตู่" ยังดีอยู่ การเลือกพรรคใหม่ทำให้กระแสนิยมกลับมาดีเหมือนเดิม และจะดีขึ้นเมื่อใกล้เลือกตั้ง โดยเฉพาะภาคใต้ เชื่อสนาม กทม.มีพลิกมาทาง รทสช. บัตร 2 ใบทำให้ตัวผู้สมัครได้กระแสลุงตู่ช่วยเยอะ เวลาที่เหลือ 2 ปีกำลังพอดีที่จะสานงานต่อ ลั่นเก้าอี้เลขาฯ เลื่อยยาก “แรมโบ้” ยันไม่มีความขัดแย้ง “พีระพันธุ์” มีแต่ความตั้งใจเข้ามาช่วยให้บิ๊กตู่เป็นนายกฯอีกสมัย "เสี่ยหนู" ย้ำอ้าแขนร่วมรัฐบาลทุกขั้ว ปิดประตูร่วม "ก้าวไกล" หากไม่เลิกแก้ ม.112 "เพื่อไทย" ไม่สน "หญิงหน่อย-สมคิด" จับมือพันธมิตร เชื่อไม่กระทบพรรค ซูเปอร์โพลเผยนักการเมืองที่สุดเเห่งปีขวัญใจ ปชช. "อนุทิน" ดาวรุ่งพุ่งแรง  กกต.เตือน ส.ส.-ว่าที่ผู้สมัครขึ้นป้ายปีใหม่ พึงระวังหมิ่นเหม่ งดแจกของ-ปฏิทินเด็ดขาด

เมื่อวันที่ 30 ธันวาคม นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ เลขาธิการพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) ให้สัมภาษณ์ถึงกระแสของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ที่เหมือนดูลดลง บวกกับความเป็นพรรคใหม่ของรวมไทยสร้างชาติ ต้องมีการปรับกลยุทธ์ใดหรือไม่ว่า  คิดว่าคะแนน พล.อ.ประยุทธ์ยังดีอยู่ และจะดีขึ้นอีกเมื่อใกล้เลือกตั้ง วันนี้ถ้าเรามองแบ่งพื้นที่การเมือง แต่ละพรรคจะมีฐานเสียงส่วนหนึ่ง ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ยังเป็นแชมป์ และยังไม่เห็นว่ามีผู้นำคนไหนที่มาแทน พล.อ.ประยุทธ์ได้ แต่เมื่อมีการสำรวจเปรียบเทียบกับการเลือกตั้งปี 62 ที่คะแนนนิยมนายกฯ เยอะ ก็อาจมีลดลงมาบ้าง แต่ว่าปัจจัยที่ทำให้คะแนนนิยมตัวนายกฯ ลดลงไม่ใช่ที่ตัวนายกฯ แต่เป็นแวดล้อม ก็ต้องปรับแวดล้อมใหม่ พรรคใหม่

"นี่คือเหตุผลว่าทำไมจึงต้องมีพรรคใหม่ และนายกฯ ต้องเลือกพรรคใหม่ เพราะพรรคใหม่ต้องทำแบบใหม่ ไม่ใช่บริหารแบบเดิม จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ทำให้คะแนนนิยมตัวนายกฯ กลับมาดีเหมือนเดิม เราต้องใช้ความใหม่ให้เป็นประโยชน์ ซึ่งเรื่องความคล่องตัวความยืดหยุ่นในการบริหารจัดการต้องมี  แต่ขณะเดียวกันต้องมีระบบ มีมาตรฐานในการคัดเลือกตัวผู้สมัคร การเสนอจุดยืนวางแนวนโยบายต่างๆ ต้องมีระบบ"

เมื่อถามว่า หลายโพลสำรวจไม่ค่อยมีชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ติดอันดับต้น นายเอกนัฏกล่าวว่า ยังเชื่อว่าโพลครั้งสุดท้ายที่ทำเรตติ้ง พล.อ.ประยุทธ์ยังดี และดีขึ้นตั้งแต่การประชุมเอเปก และหลังเอเปกมาหากท่านตัดสินใจและมีแวดล้อมใหม่ ตนคิดว่าจะดีขึ้นอีก พอใกล้เลือกตั้งเมื่อมีการเปรียบเทียบตัวผู้นำตนว่ายิ่งดีขึ้นอีก ทั้งนี้ผลคะแนนการเลือกตั้งบางทีไม่ได้ชี้วัดกันที่ความชอบอย่างเดียว แต่มีอีกหลายปัจจัยว่าทำไมต้องเลือกพรรครวมไทยสร้างชาติ ซึ่งเราทำงานอยู่กับประชาชนเราสามารถวัดได้โดยที่ไม่ต้องฟังผลโพลด้วยซ้ำ ซึ่งผลโพลเป็นสีสันและมีการเปลี่ยนอยู่ตลอด เราอาจต้องรอให้ปัจจัยต่างๆ มันนิ่งก่อน ตัวชี้วัดการสำรวจถึงจะแม่น โดยเฉพาะพื้นที่ภาคใต้กระแส พล.อ.ประยุทธ์ดีมาก คนชอบท่าน และมีผลต่อการเลือกตั้งแน่นอน ถ้า พล.อ.ประยุทธ์มาจริงได้ ก็จะได้กระแสบวกอีก ภาคอื่นก็แบบนี้เช่นกัน

นายเอกนัฏกล่าวว่า ส่วนกรณีบัตรสองใบ ตัวผู้สมัคร ทีมงาน ผู้สมัคร ผู้สนับสนุนในพื้นที่ จะเป็นปัจจัยสำคัญ แต่แน่นอนว่าหากมีกระแสพรรคหรือกระแสตัวผู้นำไปหนุนด้วยก็ยิ่งดี บัตรสองใบอาจจะทำให้ผู้สมัครดีที่ไม่มีกระแสเสียเปรียบน้อยลง อย่างภาคใต้ถ้ามีลุงตู่กระแสดีอยู่แล้ว เช่น ถ้าสมมติว่านายกฯ มีเรตติ้งอยู่ 15-20% ก็ไปคำนวณว่าเป็นกี่ล้านเสียง ถ้าผู้มาใช้สิทธิ์ 35-40% ก็ตีกลมๆ ได้ 6 ล้านเสียง นี่คือประเมินแบบต่ำเลย แต่เชื่อว่าเมื่อไปถึงใกล้เลือกตั้งจะมีมากกว่านี้ สมมติว่า 6 ล้านหารด้วย 400 ก็จะมีไม่ต่ำกว่า 15,000-17,000 คะแนนต่อเขต ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้น ภาคใต้ กรุงเทพฯ ภาคกลาง ก็จะดีกว่าอีสานกับเหนือ ดังนั้นตัวผู้สมัครยังไม่ทันได้ทำอะไรมาลงรับสมัครก็มีคะแนนรองท้องแล้ว

เชื่อกทม.พลิกมาทางรทสช.

นายเอกนัฏกล่าวว่า แม้แต่กรุงเทพฯ ก็ดี คิดว่าเปิดตัวผู้สมัครมาจะสมบูรณ์แบบมาก การเลือกตั้งระดับประเทศในกรุงเทพฯ จะไม่เหมือนเลือกตั้งผู้ว่าฯ  กทม. เพราะนั่นเป็นเลือกตั้งท้องถิ่น ที่ฐานคะแนนส่วนใหญ่กับผู้สมัครในแง่ของความใกล้ชิดมีน้อย ไม่เหมือนกับต่างจังหวัด ดังนั้นวิธีการตัดสินใจยังอยู่ที่ปัจจัยอื่น พรรค ผู้สมัคร ผู้นำและจุดยืนทางการเมืองจึงสำคัญมาก เมื่อเที่ยวที่แล้วส่วนใหญ่ก็ย้ายไปพลังประชารัฐ แล้วมาวันนี้ก็น่าจะมีการเปลี่ยนแปลงอีก ซึ่งเราเชื่อว่านายกฯ กับนายพีระพันธุ์จะมีแรงดึงดูดคนกลุ่มนี้มาไม่มากก็น้อย ซึ่งจะเป็นตัวแปรในผลการเลือกตั้ง คนบอกตกปลาในบ่อเพื่อน ไม่จริง แต่ละคนพูดคุยกันอยู่ตลอดเวลา คนอยู่ในป่าเดียวกัน

เมื่อถามถึงกระแสที่จะถูกเลื่อยขาเก้าอี้เลขาธิการพรรค นายเอกนัฏหัวเราะก่อนกล่าวว่า ขาตนสั้น เลื่อยยาก ในทางการเมืองเป็นเรื่องปกติที่แต่ละคนจะมีความอยาก และเป็นธรรมดา ซึ่งตนเข้าใจ  คนทำการเมืองต้องใจกว้าง ใจนักเลง ไม่คิดเล็กคิดน้อย ไม่คิดคับแคบ มีคนอยากก็ดี เกิดการแข่งขัน ตนก็ต้องทำงานแข่ง  แต่เอาเข้าจริงถึงวันนี้ไม่มีปัญหา ทำงานเป็นทีมเดียวกัน ตนไม่ใช่สไตล์เลขาธิการพรรคที่จะต้องไปกดปุ่มสั่งคนไปเสียทุกเรื่อง แต่เป็นคนประสานงาน ทำงานด้วยเหตุด้วยผล ด้วยข้อมูลข้อเท็จจริง เป็นคนตรงมาก มีเหตุผล ไม่ได้พูดด้วยความรู้สึก

"ไม่มีผลต่อพรรค เพราะที่ผ่านมาค่าเฉลี่ยอายุรัฐบาลก็ไม่ถึง 2 ปี แต่ขณะเดียวกันก็งงว่าทำไมจึงไปให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ คิดว่าจะ 2 หรือ 3 ปี หากคนที่เชื่อในตัวนายกฯ ก็เชื่อว่านายกฯ ทำงานได้ ไม่ได้มีผลต่อการตัดสินใจ เมื่อหมดวาระลงก็มีกลไกในการเลือกผู้นำคนใหม่อยู่แล้ว ยิ่งเป็นการดี เพราะเหมือนเป็นสอบกลางเทอม ช่วงเวลา 2 ปี กำลังดี เหมาะสม นายกฯ สามารถสานต่อภารกิจโดยที่ไม่ได้ติดยึดกับพันธนาการที่เคยมีอยู่ เชื่อว่าหลายเรื่องนายกฯ อยากทำ แต่ที่ผ่านมาทำไม่ได้ด้วยข้อจำกัดต่างๆ แต่ถ้าเปลี่ยน แวดล้อมใหม่ พรรคใหม่ จะเสริมให้นายกฯ สามารถทำสิ่งที่อยากทำแล้วยังไม่ได้ทำได้ อีก 2 ปี เป็นเวลาที่เพียงพอที่จะมาสานต่องานที่ทำไว้ ไม่ต้องนับหนึ่งใหม่ ไปต่อได้ ต่อยอดได้" นายเอกนัฏกล่าวเมื่อถามว่าการดำรงตำแหน่งนายกฯ ที่เหลืออีก 2 ปีจะมีผลอย่างไรหรือไม่

นายเสกสกล อัตถาวงศ์ อดีตผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำนายกรัฐมนตรี ยืนยันว่าไม่มีความขัดแย้งกับนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค หัวหน้าพรรค รทสช. หรือคนในพรรคในเรื่องของการดูแลพื้นที่ภาคอีสาน ตามที่มีกระแสข่าว รวมถึงไม่มีการต่อรองตำแหน่งใดๆ ทั้งสิ้น ตนยินดีที่จะทำงานการเมืองร่วมกับพรรค รทสช. ไม่ว่าจะมีตำแหน่งใดๆ หรือไม่ เพราะส่วนตัวมีความตั้งใจอยู่แล้วที่อยากจะเข้ามาช่วยงาน พล.อ.ประยุทธ์ และสนับสนุนให้ได้เป็นนายกฯ อีกครั้ง อีกทั้งพรรค รทสช.ยังถือว่าเป็นพรรคที่มีอุดมการณ์เดียวกัน คือ ปกป้องชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์   ส่วนการเข้าสมัครสมาชิกพรรค ตนจะเป็นผู้ที่นำนายอานนท์ แสนน่าน ประธานหมู่บ้านเทิดไท้องค์ราชันแห่งประเทศไทย, นางนิตยา นาโล หรือ "นักสู้ปอสี่" อดีตประธานหมู่บ้านเสื้อแดงภาคอีสาน, นายสมชัย แสงทอง อดีตประธานหมู่บ้านเสื้อแดงภาคเหนือ เข้ามาสมัครสมาชิกพรรคหลังปีใหม่อย่างแน่นอน

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย (ภท.) กล่าวถึงแนวทางการร่วมรัฐบาลของพรรค ภท.หลังการเลือกตั้งเที่ยวหน้าว่า การจะร่วมรัฐบาลกับใคร ต้องดูว่าไปรวมแล้วเสียงจะเกินหนึ่งของสภา (เกิน 251 เสียง) หรือไม่ ควบคู่กับประเมินจากคะแนนพรรค และคะแนนผู้สมัครตรงนี้จะทำให้เราทราบว่าประชาชนต้องการให้เราทำอะไร ไปในทิศทางไหน เราคงจะไม่ฝืนความต้องการของประชาชน 

'เสี่ยหนู'ย้ำร่วมรบ.ได้ทุกขั้ว

ผู้สื่อข่าวถามว่า พรรคภูมิใจไทยมีเงื่อนไขอย่างไรบ้างในการจะจับมือหรือไม่จับมือกับพรรคการเมืองใดในการทำงาน  นายอนุทินกล่าวว่า พรรคภูมิใจไทยไม่เคยมีปัญหาในเรื่องของความสัมพันธ์กับพรรคไหนอยู่แล้ว ความคิดเห็นที่ต่างกันทางการเมืองท่าทีของเรื่องต่างๆ ที่เห็นต่างกันถือเป็นเรื่องปกติ ทุกอย่างอยู่ที่ผลของการเลือกตั้งครั้งหน้า เพราะยังไม่รู้ว่าพรรครัฐบาลมีใครบ้าง พรรคพลังประชารัฐที่เคยเป็นพรรคแกนหลักจัดตั้งรัฐบาล ความเป็นไปในพรรคเป็นอย่างไร แกนนำของแต่พรรคยังตัดสินใจที่จะอยู่ด้วยกันหรือไม่ หรือจะแยกไปทำพรรคอื่นต่างหาก ในเมื่อเราไม่รู้ เราก็ต้องพยายามทำให้เราแข็งแรงที่สุด ตั้งเป้าให้เราเป็นตัวของตัวเองให้ได้มากที่สุด ส่วนถ้าพรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำ ได้ ส.ส.เยอะ ก็ต้องไปถามพรรคเพื่อไทย แต่ในส่วนของเราก็ต้องทำให้มีจำนวน ส.ส.มากที่สุด ซึ่งคนที่จะทำให้เราได้มากหรือน้อยคือประชาชน    ประชาชนจะพิพากษาว่าจะให้เราทำอย่างไรเราฝืนประชาชนไม่ได้

เมื่อถามว่า พรรคก้าวไกลมีจุดยืนแก้ ป.อาญา ม.112 บอกได้เลยหรือไม่ว่าไม่น่าจะร่วมงานกันได้ หัวหน้าพรรคภูมิใจไทยกล่าวว่า ถ้าจุดยืนนี้ยังไม่เปลี่ยน ก็คงลำบากที่จะทำงานด้วยกัน เพราะพรรคภูมิใจไทยมีความชัดเจนเรื่องของสถาบันพระมหากษัตริย์ เราเชื่อว่ามาตรา 112 ที่บัญญัติไว้ในปัจจุบันเป็นสิ่งที่มีไว้เพื่อธำรงรักษาสถาบันพระมหากษัตริย์หรือสถาบันหลักของชาติไว้ เรามีความจำเป็นที่จะต้องยึดถือเรื่องนี้เอาไว้ เรายังพูดเหมือนเดิมว่า ถ้าเราไม่คิดจาบจ้วง ก้าวล่วง ให้ร้ายสถาบัน มาตรา 112 แทบจะไม่ได้มีความหมายอะไรกับคนปกติทั่วไป ซึ่งมาตรา 112 พรรคภูมิใจไทยก็ไม่ได้เดือดร้อนด้วย เพราะพรรคยึดมั่นในสถาบันหลักของชาติ ประเทศไทยต้องมีสถาบันพระมหากษัตริย์

นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในฐานะหัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา (ชทพ.) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่มีเสียงวิจารณ์ว่า ชทพ.มักจะเป็นตัวเลือกอันดับหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นขั้วไหนก็ต้องมาดึงไปร่วมว่า ต้องเป็นคำถามที่ไปถามพรรคใหญ่ๆ มากกว่าว่าคิดอย่างไร หรืออะไรเป็นปัจจัยที่จะมาเลือก ชทพ. สิ่งเดียวที่ตนบอกได้ตอนนี้คือ 3 ปีที่ผ่านมา รัฐมนตรีของพรรคเน้นอยู่ที่การทำงาน ไม่ว่าจะตนหรือใครก็ตาม จุดยืนคือเราไม่ได้เล่นการเมือง แต่เข้ามาทำงานให้ประชาชน ถึงแม้ว่าจะมีคนพูดต่อว่าต่อขาน ติฉินนินทา ประชดประชันเสมอว่า ชทพ.รอเสียบเป็นรัฐบาลอย่างเดียว ก็ต้องตอบเหมือนเดิมว่า มีพรรคไหนบ้างที่ตั้งหน้าตั้งตาเป็นฝ่ายค้าน แต่ที่สำคัญที่สุด เราไม่ได้เป็นคนเลือกเขา แต่เขาเป็นคนเลือกเรา

ต่อข้อถามว่า แบบนี้คือแต่งตัวรอใช่หรือไม่ นายวราวุธกล่าวว่า แน่นอน ถ้าถามว่าเขามาเชิญไปร่วมรัฐบาลแล้วจะไปหรือไม่ มีพรรคไหนจะตอบว่าไม่ไปบ้าง แต่ในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาก็เคยมีพรรคชาติไทยที่นายบรรหาร ศิลปอาชา ได้ตอบปฏิเสธนายทักษิณ ชินวัตร ที่สามารถตั้งรัฐบาลพรรคเดียวได้ ไม่จำเป็นต้องมีพรรคอื่นก็ได้ นอกนั้นที่ผ่านมาไม่เคยเห็นพรรคไหนปฏิเสธ ส่วนเงื่อนไขในการจะเข้าร่วมนั้น แนวทางการทำงานแก้ไขปัญหาให้ประเทศชาติเป็นสิ่งสำคัญ เพราะสิ่งที่ ชทพ.จะเสนอคือ ความยั่งยืนของประเทศชาติ เราไม่เล่นการเมืองในขณะทำงาน

นายสมคิด เชื้อคง ส.ส.อุบลราชธานี พรรคเพื่อไทย ให้สัมภาษณ์กรณีพรรคไทยสร้างไทยกับพรรคสร้างอนาคตไทย ประการเป็นพันธมิตรทางการเมืองว่า เป็นเรื่องปกติที่เขาจะเป็นพันธมิตรกันก่อนเลือกตั้ง เพราะเป็นพรรคเล็กและพรรคใหม่ด้วยกันทั้งคู่ ตามกฎหมายใหม่พรรคเล็กจะต่อสู้ยากขึ้น แต่ก็ไม่ถึงปิดโอกาสพรรคเล็กหรือพรรคใหม่เสียทีเดียว ดังนั้นการรวมตัวกันก่อนเช่นนี้มองว่าเป็นเรื่องดี อย่างน้อยๆ หลังผลการเลือกตั้งออกมาทั้งสองพรรคจะเดินร่วมงานได้ง่ายไม่ต้องเริ่มใหม่ทั้งหมด ก็ขอยินดีกับทั้งสองพรรค ขอให้เสนอนโยบายดีๆ มาแข่งขันกันในสนามเลือกตั้ง และไม่มีผลกระทบกับพรรคเพื่อไทย เพราะพรรคเพื่อไทยได้นำเสนอนโยบายแก่ประชาชนและเชื่อว่าส่วนมากเขาได้ตัดสินใจเลือกเพื่อไทยไปแล้ว สังเกตได้จากโพลสำนักต่างๆที่ออกมา

โพลเชียร์'อนุทิน'ขวัญใจปชช.

 เมื่อถามถึงกรณีนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค หัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ  และนายไตรรงค์ สุวรรณคีรี ที่ปรึกษานายกฯ สมาชิกพรรค รทสช. เข้าพบ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ ที่ตึกไทยคู่ฟ้า เมื่อวันที่ 29 ธ.ค. นายสมคิดกล่าวว่า ไม่ใช่เรื่องแปลก คนเหล่านี้อยู่ข้างกายนายกฯ และได้รับแต่งตั้งให้ทำงานในรัฐบาลมาแล้ว ตอนนี้ก็เลิกเขินอายได้แล้ว ประชาชนรู้หมดใครช่วยใครตรงไหน การเลือกตั้งใกล้เข้ามาแล้ว พล.อ.ประยุทธ์ ที่ประกาศร่วมพรรครวมไทยสร้างชาติ ก็ควรรีบสมัครเป็นสมาชิกพรรคได้แล้ว เปิดหน้าเปิดตา เพราะถ้าไม่ยอมสมัครเป็นสมาชิก รอให้เขาเชิญเป็นแคนดิเดตอย่างเดียว จะถือว่าไม่จริงใจกับประชาชน

ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยซูเปอร์โพล เปิดเผยผลสำรวจเรื่อง “รัฐมนตรี นายกฯ ขวัญใจประชาชน” กรณีศึกษาประชาชนทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศ 1,105 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 25-29 ธันวาคม 2565 ที่ผ่านมา โดยเมื่อถามถึงความคิดเห็นของประชาชนต่อ รัฐมนตรี-นายกรัฐมนตรี ในช่วงปีที่ผ่านมา พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 67.2 ระบุนายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย เป็นนักการเมืองที่สุดเเห่งปีขวัญใจประชาชน เนื้อหอม ทำตามที่พูด ดาวรุ่งพุ่งเเรง จิตใจดี ไม่ด่างพร้อย ช่วยเหลือคนตัวเล็กตัวน้อย มีผลงานการบริหารจัดการวัคซีน ดูแลบุคลากรการแพทย์ อสม. ช่วยประชาชนปลอดภัยจากวิกฤตโควิด รองลงมาคือ ร้อยละ 65.2 ระบุนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เป็นนักการเมืองที่สุดแห่งปี ขวัญใจประชาชนด้าน ความเป็นสุภาพบุรุษ มีความนิ่ง มีหลักการ มีผลงานประกันรายได้เกษตรกร และเศรษฐกิจการค้าระหว่างประเทศ

นอกจากนี้ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 60.6 ระบุ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นนักการเมืองที่สุดเเห่งปีขวัญใจประชาชน เรื่องความซื่อสัตย์ สุจริต มีผลงาน นำพาประเทศชาติผ่านวิกฤตในช่วง 8 ปีที่ผ่านมา ในขณะที่ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 59.7 ระบุ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นนักการเมืองที่สุดเเห่งปีขวัญใจประชาชน เรื่องความเป็นพี่ใหญ่ที่ประนีประนอม มีผลงาน การแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ ปัญหาการค้ามนุษย์ การบริหารจัดการน้ำ แก้ภัยแล้งและความมั่นคงชาติ

ที่รัฐสภา นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา ให้สัมภาษณ์ถึงการปฏิรูปประเทศที่ทางวุฒิสภาต้องดำเนินการ แต่ถูกวิจารณ์ว่ายังไปไม่ถึงไหนว่า  ส่วนนี้เราก็ต้องยอมรับว่ากฎหมายเกี่ยวกับการปฏิรูปประเทศ มีบางส่วนที่ได้ผ่านไปบ้างแล้ว เช่นเรื่องการปฏิรูปด้านตำรวจ แต่เท่าที่ตนทราบ ยังไม่เป็นที่พอใจ ส่วนเรื่อง พ.ร.บ.การศึกษาที่จะเข้าที่ประชุมร่วมรัฐสภาในวันที่ 10-11 ม.ค.66 นั้น รู้สึกว่าขณะร่างมาก็ยังไม่พอใจ แต่ถ้าเป็นเรื่องที่สั้นหน่อยก็ผ่านไปได้ เช่น กฎหมายการซ้อมทรมาน

เมื่อถามว่า ใกล้ครบวาระ 5  ปีของส.ว.แล้ว การติดตามเรื่องการปฏิรูปจะไปทางไหน เพราะมีการมองว่า ส.ว.ไม่มีบทบาทเต็มที่ นายพรเพชรกล่าวว่า เรื่องนี้พล.อ.สิงห์ศึก สิงห์ไพร รองประธานวุฒิสภาคนที่หนึ่ง เคร่งครัดมากในการที่จะให้เป็นไปตามแผนปฏิรูปประเทศที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ และในกฎหมาย ซึ่งในส่วนของกฎหมาย ยังไม่เป็นที่พอใจแต่ในส่วนที่ต้องดำเนินการโดยไม่ต้องใช้กฎหมายก็มีเยอะ ส่วนนี้เป็นส่วนที่ยาก ซึ่งเรายังมีเวลาในการดูสิ่งเหล่านี้เพื่อให้ประสบผลสำเร็จ อาจจะไม่ร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ต้องได้ผลประโยชน์ตามที่รัฐธรรมนูญเขียนไว้ ซึ่งในรัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ตั้งใจที่จะให้มีสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้น จึงได้เขียนไว้ในรัฐธรรมนูญ                                   นายสำราญ ตันพานิช ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง ประจำกรุงเทพมหานคร (ผอ.กกต.กทม.) กล่าวถึงกรณีที่พรรคการเมืองและว่าที่ผู้ประสงค์ที่จะลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.ในการเลือกตั้งทั่วไปครั้งหน้า จะต้องพึงถือปฏิบัติให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2561 มาตรา 68 (1) รวมถึงระเบียบและ ประกาศ กกต.ที่เกี่ยวข้องกับการหาเสียงเลือกตั้งภายในกรอบระยะเวลา 180 วัน ก่อนวันครบวาระจนถึงวันก่อนวันเลือกตั้งอย่างเคร่งครัด และจากข้อเท็จจริงเท่าที่ปรากฏในช่วงเทศกาลส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ 2566 ขอความร่วมมือ และพึงระมัดระวังในการปิดแผ่นประกาศขนาด ต้องไม่เกิน 30×42 ซม. และการติดแผ่นป้ายขนาดไม่เกิน 130×245 ซม. ในบริเวณหรือสถานที่ที่ได้ประกาศกำหนดไว้ ในการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2562 หากจะเพิ่มข้อความส่งท้ายปีเก่า ต้อนรับปีใหม่ลงไป ก็สามารถกระทำได้ แต่ต้องพึงระมัดระวังมิให้มีข้อความใดๆ ที่สื่อถึงการฝ่าฝืนหรือหมิ่นเหม่ต่อ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. พ.ศ.2561 มาตรา 73 ด้วย

"ขอให้ว่าที่ผู้สมัคร งดมอบของขวัญ ปีใหม่ รวมถึงปฏิทิน โดยเด็ดขาดโดยการอวยพรส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่จะสามารถกระทำได้ผ่านสื่อสังคมออนไลน์หรือโซเชียลเท่านั้น เพราะไม่ถือว่าเป็นการหาเสียง" นายสำราญกล่าว.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง