‘ศาล’เมินให้ประกัน3นิ้ว

“สมัย” ชี้สังคมน่าห่วง ละลาบละล้วงมาตรา 112 ยันเป็นการเปลี่ยนแปลงที่เลวร้าย “ก๊วน 3 นิ้ว” คอตก ศาลชี้ข้อหาหนัก พฤติกรรมร้ายแรงยื่นประกัน 12 ราย ศาลเมิน 9 ราย ส่วนอีก 3 รายชงศาลอุทธรณ์พิจารณา “ไผ่ ดาวดิน” ทำกิจกรรมยื่นหยุดขัง รีบออกตัวไม่ได้กดดันศาล

เมื่อวันอาทิตย์ที่ 29 ม.ค. นายสมัย เจริญช่าง อดีต ส.ส.กรุงเทพมหานครกล่าวในงาน ‘เสวนาประสาไตรรงค์’ ตอนหนึ่งว่า จากประสบการณ์การทำงานการเมือง วันนี้รู้สึกเป็นห่วงสังคมมากเหลือเกิน เพราะสังคมมันเปลี่ยน บ้านเมืองมันเปลี่ยน ความคิดอ่านคนเปลี่ยนไป ในอดีตไม่มีใครกล้าละลาบละล้วงไปถึงมาตรา 112 แต่เดี๋ยวนี้มีคนกล้าคิด กล้าพูด กล้าแสดงออก แสดงว่าสังคมมันเปลี่ยน แต่การเปลี่ยนแบบนี้ไม่ได้เป็นพัฒนาการ เพราะไม่ได้เปลี่ยนไปสู่สิ่งที่ดีกว่า แต่เปลี่ยนไปสู่สิ่งที่เลวร้ายกว่า เป็นหน้าที่พวกเราที่จะประคับประคองบ้านเมืองนี้อย่างไร  

ขณะที่นายกิตติศักดิ์ กองทอง ทนายความศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้ยื่นประกันตัวนักกิจกรรมทางการเมือง 12 คน โดยนายประกันได้ยื่นคำร้องต่อศาลอาญาขอปล่อยชั่วคราวชั้นพิจารณา นายวัชรพล (สงวนนามสกุล) จำเลยที่ 1, นายพลพล (สงวนนามสกุล) จำเลยที่ 2, นายจตุพล (สงวนนามสกุล) จำเลยที่ 3, นายณัฐพล (สงวนนามสกุล) จำเลยที่ 4 คดีหมายเลขดำ อ.1841/2565 (คดีถูกกล่าวหาร่วมกันวางเพลิง ทำให้เสียทรัพย์ มั่วสุมใช้กำลังประทุษร้ายฯ) โดยเสนอหลักทรัพย์เป็นเงินสดรวม 400,000 บาท

กรณียื่นคำร้องขอปล่อยชั่วคราวชั้นพิจารณา นายคทาธร (สงวนนามสกุล) จำเลยที่ 1 และนายคงเพชร (สงวนนามสกุล) จำเลยที่ 2 คดีหมายเลขดำ อ.1607/2565 (คดีถูกกล่าวหาร่วมกันมีวัตถุระเบิดฯ และร่วมกันต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงาน) เสนอหลักทรัพย์เป็นเงินสดรวม 200,000 บาท

กรณียื่นคำร้องขอปล่อยชั่วคราวชั้นพิจารณา นายพรพจน์ (สงวนนามสกุล) จำเลยที่ 3 คดีหมายเลขดำ อ.1266/2565 (คดีถูกกล่าวหาร่วมกันทำให้เกิดระเบิดจนน่าจะเป็นอันตรายต่อบุคคล และพาอาวุธไปในเมือง) เสนอหลักทรัพย์เป็นเงินสดจำนวน 100,000 บาท

โดยศาลอาญาพิเคราะห์แล้วคดีมีข้อหาหนัก พฤติการณ์ร้ายแรงเกี่ยวกับวัตถุระเบิดเป็นอันตรายอย่างยิ่งต่อสังคม หลักประกันเพียงคนรู้จักกับจำเลยง่ายต่อการละทิ้ง อีกทั้งศาลเคยไม่ให้ประกันมาหลายครั้งแล้ว จึงเกรงว่าจะหลบหนีหรือไปก่อเหตุอันตรายประการอื่นทำให้เกิดความไม่สงบขึ้นในบ้านเมืองได้ ชั้นนี้จึงไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว

นอกจากนี้ยังมีกรณีที่ยื่นคำร้องขอปล่อยชั่วคราวชั้นฝากขังนายทัตพงศ์ (สงวนนามสกุล) ผู้ต้องหาตามคำร้องฝากขังหมายเลขดำ ฝ.1367/2565 (คดีถูกกล่าวหาร่วมมีและใช้วัตถุระเบิดโดยไม่ได้รับอนุญาต และมียุทธภัณฑ์ไว้ในครอบครอง) ซึ่งนายประกันเสนอหลักทรัพย์เป็นเงินสด 100,000 บาท

โดยศาลอาญาพิเคราะห์แล้ว ข้อหาหนัก พยานชั้นสอบสวนมีหลักฐานจากกล้องวงจรปิด พนักงานสอบสวนจึงคัดค้านประกัน โดยพฤติการณ์ร้ายแรงเกี่ยวข้องกับวัตถุระเบิดเป็นอันตรายต่อสังคม ศาลอุทธรณ์จึงไม่อนุญาตมาโดยตลอด เพราะเกรงว่าจะหลบหนี หรือก่อเหตุร้ายประการอื่นทำให้บ้านเมืองไม่สงบสุข ชั้นนี้จึงยังไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว

กรณียื่นคำร้องขอปล่อยชั่วคราวชั้นพิจารณา นายสุรศักดิ์ (สงวนนามสกุล) จำเลยคดีหมายเลขดำ อ.3133/2565 (คดีถูกกล่าวหาหมิ่นประมาท ดูหมิ่นสถาบันฯ และพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์) ซึ่งเสนอหลักทรัพย์เป็นเงินสด 100,000 บาท โดยศาลอาญาพิเคราะห์แล้ว ข้อหาหนัก พฤติการณ์ร้ายแรงต่อสถาบันหลักของประเทศชาติ และใกล้ถึงนัดตรวจพยานหลักฐาน ซึ่งตามฟ้องมีข้อมูลโยงจากสื่อออนไลน์ถึงจำเลย โจทก์จึงคัดค้านประกันและศาลอุทธรณ์ไม่อนุญาตมาแล้ว เพราะเกรงว่าจะเสียรูปคดีในกระบวนการยุติธรรม ชั้นนี้จึงยังคงเกรงว่าจะหลบหนีหรือก่ออันตรายประการอื่นได้ ไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว

และกรณีที่ยื่นคำร้องขอปล่อยชั่วคราวระหว่างอุทธรณ์คดี นายสิทธิโชค (สงวนนามสกุล) จำเลยคดีหมายเลขดำ อ.2528/2564 และคดีหมายเลขแดง อ.55/2566 (ศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุก 2 ปี 4 เดือน) โดยนายประกันเสนอหลักทรัพย์เป็นเงินสด จำนวน 150,000 บาท และกรณียื่นคำร้องขอปล่อยชั่วคราวระหว่างอุทธรณ์คดี นายอุกกฤษฎ์ (สงวนนามสกุล) จำเลยคดีหมายเลขดำ อ.2110/2564 และคดีหมายเลขแดง อ.3582/2565 (ศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุก 5 ปี 30 เดือน) โดยนายประกันเสนอหลักทรัพย์เป็นเงินสด จำนวน 400,000 บาท โดยศาลอาญามีคำสั่งส่งคำร้องนี้ให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาสั่งต่อไป

ส่วนที่ศาลอาญากรุงเทพใต้ ก็มีการยื่นประกันตัวนายสมบัติ (สงวนนามสกุล) ซึ่งศาลมีคำสั่งส่งไปให้ศาลอุทธรณ์สั่งเพิ่มเติม ทำให้วันนี้มีการยื่นประกันทั้งสิ้น 12 ราย ศาลไม่ให้ประกัน 9 คน และส่งให้ศาลอุทธรณ์พิจารณา 3 คน

โดยก่อนยื่นประกันดังกล่าว ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร กลุ่มทะลุฟ้า นำโดยนายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือไผ่ ดาวดิน ได้ทำกิจกรรมยื่น หยุด ขัง เดินทางไปที่ศาลอาญาเพื่อยื่นประกันตัวผู้ต้องหาคดีทางการเมืองทั้งหมด โดยเมื่อมาถึงหน้าศาลอาญา นายกิตติศักดิ์กล่าวว่า วันนี้มายื่นประกันตัวนักกิจกรรมทางการเมืองทั้ง 12 คน เชื่อว่าข้อเท็จจริงที่จะนำเสนอวันนี้สู่ศาล จะทำให้เปลี่ยนแปลงคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัวจำเลยและผู้ต้องหาทุกคน

นายกิตติศักดิ์ยังกล่าวถึงกรณี น.ส.ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ หรือตะวัน, น.ส.อรวรรณ ภู่พงษ์ หรือแบม, น.ส.ณัฐนิช ดวงมุสิทธิ์ หรือใบปอ และนายโสภณ สุรฤทธิ์ธำรง หรือเก็ท ที่ยังไม่ยื่นประกันตัวเนื่องจากเขาแจ้งกับทนายความว่าไม่ประสงค์ให้ใครยื่นประกันตัว เพราะต้องการต่อสู้เพื่อสิทธิการประกันตัวให้นักกิจกรรมทางการเมืองทุกคนไปก่อน และขอเน้นย้ำว่าสิทธิ์นี้เป็นสิทธิ์ตามกฎหมายที่ทุกคนควรจะได้รับเพื่อให้สังคมและผู้พิพากษาได้ตระหนักถึงเรื่องนี้

ต่อมานายจตุภัทร์ได้อ่านแถลงการณ์ประชาชนเรื่อง เรียกร้องขอให้ศาลพิจารณาคืนสิทธิประกันตัวผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีการเมืองว่า นับเป็นเวลากว่า 10 วันแล้วที่ตะวัน และแบม-อรวรรณ ภู่พงษ์ ผู้ต้องหาในคดีความผิดตามมาตรา 112 เคลื่อนไหวโดยการอดอาหารและน้ำจนร่างกายเข้าขั้นวิกฤตและต้องรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล อีกทั้งยังมีนายสิทธิโชค เศรษฐเศวต ผู้ต้องขังในคดีตามมาตรา 112 ที่กำลังเริ่มต้นการอดอาหารและอดน้ำด้วยเช่นกัน ซึ่งหนึ่งในข้อเรียกร้องที่ทำให้ทั้งสามคนตัดสินใจอดข้าวอดน้ำ คือ การปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม และการคืนสิทธิประกันตัวให้ผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีการเมืองหรือคดีที่เกี่ยวเนื่องกับการใช้เสรีภาพในการแสดงออกหรือการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง เนื่องจากมีผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีทางการเมืองที่ถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำโดยไม่ได้รับสิทธิในการประกันตัวทั้งก่อนและระหว่างพิจารณาในชั้นศาลไม่น้อยกว่า 16 คน

“ขอเรียกร้องไปยังผู้พิพากษาเจ้าของคดี อธิบดีศาลอาญา และผู้มีอำนาจหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ดังนี้ 1.ขอให้ศาลพิจารณาปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีการเมืองทุกคดีตามหลักกฎหมาย เพื่อธำรงไว้ซึ่งนิติรัฐและคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนตามที่รัฐธรรมนูญและกติกาสากลให้การรับรอง 2.ขอให้ศาลพิจารณายกเลิกกำหนดเงื่อนไขการประกันตัว เช่น การใส่กำไลอิเล็กทรอนิกส์เพื่อติดตามตัว การห้ามออกนอกเคหสถาน ในลักษณะที่เงื่อนไขกลายเป็นข้อจำกัดในการทำกิจกรรมและการใช้ชีวิต จนขัดต่อหลักความจำเป็นและได้สัดส่วน” แถลงการณ์ระบุ และว่า การทำกิจกรรมในครั้งนี้มิได้เป็นการกดดันการปฏิบัติหน้าที่ของศาลหรือกระทำการอันเป็นแทรกแซงการพิจารณาคดีที่ต้องเป็นอิสระและเป็นธรรมของศาล แต่เป็นการหาทางออกให้กับประเทศท่ามกลางสถานการณ์ทางการเมืองที่ขัดแย้งและตึงเครียด ด้วยมีความเชื่อมั่นว่าสถาบันตุลาการจะเป็นเสาหลัก นำพาความยุติธรรม ทำให้ความขัดแย้งเบาบางลง.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'ไมค์ ภาณุพงศ์' เคลื่อนไหวแล้ว หลังศาลออกหมายจับ เหตุเบี้ยวฟังพิพากษาคดีหมิ่นเบื้องสูง

กรณีนายภาณุพงศ์ จาดนอก แกนนำม็อบคณะราษฎร จำเลยในคดีมาตรา 112 ไม่ได้เดินทางมาฟังคำพิพากษาในวันนี้ ศาลจึงออกหมายจับ