กม.ลูกเข้าสภาม.ค. รัฐบาลชี้ฉบับก้าวไกลแท้งแน่/‘ตู่-ป้อม’กำราบส.ส.โดดล่ม

“จรุงวิทย์” เผยเตรียมเคาะ พ.ร.ป.พรรคการเมืองใน 1-2 วันนี้ “วิษณุ” กางไทม์ไลน์เชื่อกฎหมายลูกทั้ง 2 ฉบับน่าจะถึงมือรัฐสภาใน ม.ค.2565 ประเมินฉบับพรรคก้าวไกลไม่น่าพ้นวาระแรก เพราะเสนอขัดรัฐธรรมนูญ “พปชร.-ปชป.-ชทพ.” หนุนใช้เบอร์เดียวทั่วประเทศ “ประยุทธ์” ประกาศแล้วไม่ย้ายไปไหน อยู่กับพลังประชารัฐแน่นอน เพราะเป็นคนเสนอชื่อนั่งนายกฯ กำชับอย่าปล่อยให้สภาล่มบ่อย “ประวิตร” ถือไม้เรียวหวดก้นรัฐมนตรี-ส.ส.ห้ามโดดประชุม ขู่อาจยุบสภาหากองค์ประชุมสภาล่มเป็นนิจ

เมื่อวันอังคาร ยังคงมีความต่อเนื่องจากการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขเพิ่มเติม ที่ต้องมีการแก้ไขพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) จำนวน 2 ฉบับตามมา โดย พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กล่าวถึงความคืบหน้าแก้ไข พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.และ พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง ว่าร่างแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.อยู่ระหว่างรับฟังความคิดเห็น ซึ่งหลังจากนี้ 15 วันต้องส่งให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) ส่วนร่างแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง คาดว่าภายใน 1-2 วันนี้จะผ่านที่ประชุม กกต. ก่อนเปิดรับฟังความคิดเห็นผู้เกี่ยวข้องและประชาชนต่อไป ซึ่งรายละเอียดร่างแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.ป.ทั้ง 2 ฉบับ จะปรับแก้อีกครั้งหลังจากเสนอ ครม.หรือไม่นั้น ยังไม่ทราบ แต่เราต้องส่งให้ ครม.ตามกฎหมาย

ขณะที่นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณี กกต.ส่งร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. พ.ศ….รับฟังความคิดเห็นประชาชนว่า กกต.ต้องรับฟังความคิดเห็น 15 วัน จากนั้นนำความเห็นมาปรับปรุงก่อนส่งมาที่ ครม. คาดว่าจะอยู่ช่วงเดือน ธ.ค.ตามที่เคยตกลงกันไว้ ซึ่งยังไม่เห็นรายละเอียดในร่างกฎหมาย โดยเมื่อรัฐบาลรับร่างดังกล่าวมาแล้ว แม้ไม่มีกรอบเวลาส่งให้รัฐสภาพิจารณา แต่ต้องเร่ง เพราะต้องให้คณะกรรมการกฤษฎีกาดู ซึ่งใช้เวลา 4-5 วัน คิดว่าต้นเดือน ม.ค.น่าจะส่งถึงสภาได้ ส่วนร่างของพรรคร่วมนั้นไม่จำเป็นต้องส่งมาที่ ครม. แต่หากคุยกันก่อนเป็นการภายในว่าเพื่อไม่มีข้อขัดแย้งอะไรกันมาก ควรจัดประชุมร่วมกันระหว่าง กกต.กับพรรคร่วมรัฐบาล โดยรัฐบาลจะเป็นเจ้าภาพ ส่วนพรรคร่วมฝ่ายค้านจะร่วมหรือไม่นั้น ไม่ทราบ

“การหารือเพื่อจูนกัน อะไรปรับกันได้ก็ปรับก่อน เพื่อให้กลมกลืน ประหยัดเวลาสภา แต่อะไรที่ปรับไม่ได้ ก็ให้กรรมาธิการ (กมธ.) แก้ไขกันในที่ประชุมร่วมสภา โดยทั้งสองร่างดังกล่าวต่างคนต่างไป แต่จะไปประกบกันในชั้น กมธ.โดยใช้ร่างของรัฐบาลเป็นหลักโดยร่างที่ว่าหมายถึงร่างของ กกต.เพราะรัฐบาลเสนอเองไม่ได้ อย่างไรก็ตาม หากฝ่ายค้านอยากยื่นร่างของตัวเองด้วยเขาก็มีสิทธิ และ ส.ส.ทุกคนก็มีสิทธิเข้าชื่อเสนอกฎหมาย”

เมื่อถามถึงความคืบหน้าร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.… กกต.จะส่งให้รัฐบาลเมื่อใด นายวิษณุกล่าวว่า ร่างดังกล่าว กกต.ใหญ่ยังไม่ได้ให้ความเห็นชอบ ซึ่งก็ต้องดำเนินการตามขั้นตอนดังกล่าวเหมือน พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. โดยคาดว่ากฎหมายทั้ง 2 ฉบับจะเข้าพิจารณาในสภาพร้อมกัน คาดว่าเป็นช่วงเดือน ม.ค.2565

ถามว่าหากมีการยุบสภาขณะที่กฎหมายลูกเกี่ยวกับการเลือกตั้งยังไม่ประกาศใช้ จะทำให้ยุ่งหรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ยุ่ง อย่านึกเลย ส่วนจะมีทางออกหรือไม่นั้น อย่าพูดเลย ได้แต่ภาวนาขออย่าให้มันเกิด ส่วนที่มีบางพรรคเตรียมเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญเข้ามาอีกครั้งก็แล้วแต่เขา จะยื่นหลายครั้งก็ได้ แต่ยังไม่ทราบว่าจะแก้เรื่องอะไร แต่ถ้าแก้เรื่องเดียวกันอาจยุ่ง

ขณะที่นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกฯ ตอบคำถามสื่อมวลชน ตามที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และ รมว.กลาโหม มอบหมายถึงเรื่องบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ ว่าเป็นความเห็นของพรรคการเมืองที่เสนอเข้าพิจารณาในสภา นายกฯ ไม่มีความเห็น แต่หวังจะได้ ส.ส.ที่มีคุณภาพทำงานเพื่อประชาชนที่เลือกเข้าไป ซึ่งขึ้นอยู่กับประชาชนที่เลือก ส่วนเรื่องของกฎหมายลูก 2 ฉบับนั้น ที่ยังมีความคิดเห็นไม่ตรงกันนั้น นายกฯ ให้เป็นกระบวนการของสภา พรรคร่วมรัฐบาล พรรคร่วมฝ่ายค้าน และ กกต.

เมื่อถามว่า เป็นไปได้หรือไม่เมื่อมีการแก้กฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้งเสร็จสิ้นจะยุบสภา นายธนกรกล่าวว่า นายกฯ ชี้แจง ยังไม่มีแนวคิดในเรื่องนี้ และเมื่อถามถึงข่าวว่าจะไปสังกัดพรรคไทยสร้างสรรค์ นายธนกรกล่าวว่า นายกฯ ชี้แจงว่าไม่มีความคิดในเรื่องนี้ เป็นเรื่องของการเสนอข่าวจากโซเชียลมีเดีย นายกฯ ยังอยู่กับพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ในฐานะที่พรรค พปชร.เสนอชื่อเป็น พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯ ในช่วงที่ผ่านมา

นายนิกร จำนง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคชาติไทยพัฒนา (ชทพ.) ในฐานะกรรมการประสานงาน (วิป) พรรคร่วมรัฐบาล ระบุว่า ในวันที่ 24-25 พ.ย. คณะทำงานวิปรัฐบาลเพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญจะนัดประชุมเพื่อพิจารณาเนื้อหาก่อนเสนอต่อรัฐสภา และจะเชิญ กกต.เข้าชี้แจงในรายละเอียดต่อร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.ที่อยู่ระหว่างการรับฟังความเห็น ส่วนกรณีกังวลว่าระหว่างกฎหมายลูกไม่แล้วเสร็จอาจยุบสภานั้น หากเกิดจริง ครม.อาจนำร่างแก้ไขของ กกต.มาพิจารณาประกาศเป็นพระราชกำหนดเพื่อประกาศใช้และเดินหน้าจัดการเลือกตั้งได้

ฉบับก้าวไกลส่อแท้งแน่

นายนิกรยังกล่าวถึงข้อเรียกร้องของพรรคก้าวไกล (ก.ก.) ที่ให้ใช้ระบบการคำนวณคะแนน ส.ส.บัญชีรายชื่อ แบบ MMP หรือแบบสัดส่วนส่วนผสมมาใช้ว่า ไม่สามารถนำมาใช้ได้ เพราะรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมกำหนดชัดเจนถึงการคิดคำนวณคะแนนที่ระบุว่าต้องเป็นคะแนนสัดส่วนที่สัมพันธ์กันโดยตรงกับคะแนนรวม ซึ่งเป็นการคิดคะแนนแบบทางตรง ส่วนแบบ MMP เป็นแบบคะแนนโดยอ้อม จึงถือว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญ

ขณะที่นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ ในฐานะรองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) กล่าวถึงร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ว่าอาจจะยึดร่าง กกต.พิจารณาเป็นหลักที่มีอยู่ 37 มาตรา ซึ่งจะเป็นร่างของ ครม.ด้วย โดยมาตรา 61/1 บัญญัติให้พรรคการเมืองใช้เบอร์เดียวทั้ง ส.ส.เขตและ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และมาตรา 128 บัญญัติเกี่ยวกับ การคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ซึ่งตรงกับแนวทางที่พรรค พปชร.เคยศึกษาไว้
โดยร่างของพรรคร่วมรัฐบาลก็มีเนื้อหาที่ใกล้เคียงกับร่าง กกต. ส่วนร่างของพรรคเพื่อไทยก็มีเนื้อหาคล้ายกัน เว้นแต่ร่างของพรรคก้าวไกลที่ต่างกัน เป็นวิธีคำนวณ MMP ซึ่งเชื่อว่าร่างของพรรคก้าวไกล จะไม่ผ่านในวาระรับหลักการ แต่ร่าง กกต. พรรคร่วมรัฐบาล และเพื่อไทย เชื่อว่าจะผ่านเข้าสู่การพิจารณาในวาระที่สอง

ส่วน พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ ในฐานะหัวหน้าพรรคพลัง พปชร.กล่าวถึงการใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบจะทำให้ได้เสียเปรียบหรือได้เปรียบว่า ไม่รู้ สองใบก็ต้องสองใบ ก็ต้องเลือกกันไป ก็แล้วแต่ประชาชน ส่วนที่วิเคราะห์ว่าพรรคที่ได้เปรียบคือพรรคขนาดใหญ่ เช่น พปชร. และพรรคเพื่อไทย (พท.) นั้นจะไปรู้ได้อย่างไรว่าได้เปรียบหรือไม่ได้เปรียบ ต้องไปถามประชาชนว่าใครได้เปรียบหรือเสียเปรียบ

เมื่อถามว่า มีการวิเคราะห์ว่าบัตรเลือกตั้งสองใบจะเข้าทางพรรคเพื่อไทย พล.อ.ประวิตรย้ำว่า แล้วแต่ประชาชน และเมื่อถามว่าจะส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งแบบแบ่งเขตทั้ง 400 เขตหรือไม่ พล.อ.ประวิตรไม่ตอบคำถามดังกล่าว เพียงแต่ตอบว่าต้องเตรียมพร้อม

นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) และกรรมการบริหารพรรค (กก.บห.) พรรค พปชร. กล่าวประเด็นนี้ว่า ยังตอบไม่ได้ว่าเสียเปรียบหรือได้เปรียบ ยังไม่ได้เลือกตั้ง ขอดูก่อน แต่คิดว่ารัฐธรรมนูญไม่ได้แก้เพื่อใคร แก้เพื่อให้ทุกคนยอมรับด้วยกันหมด ไม่มีใครได้เปรียบเสียเปรียบ

ด้านนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และ รมว.สาธารณสุข ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย (ภท.) กล่าวว่า พรรครับได้อยู่ เพราะรัฐธรรมนูญมีผลบังคับใช้แล้ว เราต้องปรับตัวให้ทันสถานการณ์ทุกอย่าง คิดว่าคนที่จะได้รับความไว้ใจจากประชาชนให้ทำหน้าที่ผู้แทนฯ อยู่ที่ความเอาใจใส่ และทำงานรับใช้ประชาชนและลงพื้นที่หนักแค่ไหน ส่วนเรื่องบัตรจะกี่ใบเป็นเรื่องรอง

“แลนสไลด์แบบถูลู่ถูกังก็มีเยอะไป ไม่มีปัญหา ภูมิใจไทยเน้นที่ผลงาน นโยบาย และการเข้าถึงประชาชน และเป็นเรื่องดีที่มีการแข่งขันกันมาก เพราะทุกพรรคต้องไปคิดนโยบายที่โดนใจประชาชน”นายอนุทินกล่าวตอบข้อถามที่ว่าบัตร 2 ใบอาจทำให้พรรคใหญ่ได้เสียงแบบแลนด์สไลด์

นายอนุทินยังกล่าวถึงการเลือกตั้งครั้งหน้าจะได้เสียงเพิ่มขึ้นหรือไม่ว่า ต้องมั่นใจ เพราะทำงานมา 2-3 ปี พูดไม่ค่อยเก่ง แต่คิดว่าทำงานได้เยอะ แต่ต้องให้ประชาชนตัดสิน จะเพิ่มมากหรือน้อยอยู่ที่การนำเสนอนโยบายและผลงาน ยืนยันว่าเราทำเต็มที่ พูดอะไรไว้ก็ต้องทำ

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม ในฐานะเลขาธิการพรรค ภท. ปฏิเสธให้สัมภาษณ์ถึงความพร้อมในการตั้งแบบบัตรเลือกตั้งสองใบ โดยหัวเราะและกล่าวว่า ไม่เอา จากนั้นผู้สื่อข่าวถามหยอกกลับว่าไม่เอาคือไม่เอาบัตร 2 ใบจะเอาใบเดียวใช่หรือไม่ นายศักดิ์สยามกล่าวว่า ใบไหนก็ได้ อยู่ที่ประชาชน ไม่ใช่เฉพาะพรรคภูมิใจไทย ถ้าทุกพรรคทำงานเพื่อประชาชนประชาชนเห็นก็จะตัดสินใจได้

นายวีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล รมช.คมนาคม ในฐานะ กก.บห.พรรค ภท.กล่าวว่า ในวันที่ 19 ธ.ค. พรรคจะประชุมใหญ่พรรคที่ จ.นครราชสีมา และจะประกาศให้สังคมทราบว่า ภท.ที่นครราชสีมามี ส.ส.4 คน รวมทั้งจะประกาศนโยบายของพรรคให้สังคมรับทราบ ส่วนรายละเอียดต้องให้นายอนุทินชี้แจง

“ปชป.-ชทพ.”พร้อมใช้บัตร2ใบ

เมื่อถามว่า การประชุมดังกล่าวแสดงว่า จ.นครราชสีมาไม่ใช่ของ พปชร.ใช่หรือไม่ นายวีรศักดิ์กล่าวว่า บอกไม่ได้หรอกว่า จ.นครราชสีมาเป็นของพรรค พปชร.หรือพรรคใด แต่คิดว่าในพื้นที่ จ.นครราชสีมา พรรคจะได้ ส.ส.มากกว่าเดิมในการเลือกตั้งครั้งหน้า

ส่วนนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกฯ และ รมว.พาณิชย์ ในฐานะหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กล่าวว่าการเปลี่ยนมาเป็นระบบบัตร 2 ใบจะทำให้พรรคการเมืองมีความสำคัญ การลงสมัครรับเลือกตั้งนอกจากประชาชนจะพิจารณาตัวบุคคลแล้ว ต้องพิจารณาพรรคการเมืองด้วย เป็นเรื่องที่ดี ซึ่ง ปชป.สนับสนุนมาโดยตลอด ถือว่าเป็นสัญญาณที่ดีในการสร้างความเข้มแข็งให้กับระบอบประชาธิปไตย และพรรคไม่ต้องปรับอะไรเนื่องจากเป็นระบบที่เราคุ้นเคยดีอยู่แล้ว

เมื่อถามว่า ควรใช้เบอร์เดียวกันหรือไม่ทั้งบุคคลและพรรค นายจุรินทร์กล่าวว่า ควรเป็นเบอร์เดียวกัน เพื่อความสะดวกของประชาชนที่จะพิจารณาและตัดสินใจ ส่วนพรรคจะส่งครบทุกเขตหรือไม่นั้น กำลังดำเนินการอยู่ แต่ในเรื่องตัวบุคคลที่มีความคืบหน้าเยอะแล้ว แต่โดยหลักควรส่งให้ครบทุกเขต

เมื่อถามว่า นายสมชัย ศรีสุทธิยากร อดีต กกต. ระบุว่า ระบบบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ จะทำให้เทคะแนนไปที่พรรค พท. กังวลหรือไม่ นายจุรินทร์กล่าวว่า อยู่ที่ประชาชน การวิเคราะห์หรือวิจารณ์อาจตรงหรือไม่ตรงกลับข้อเท็จจริงก็ได้ ถึงเวลาประชาชนอาจพิจารณาไปทางใดทางหนึ่งก็ได้ อันนั้นขึ้นอยู่กับเสียงของประชาชน เราไปคาดคะเนไปก่อน คือ การคาดคะเนเท่านั้น ส่วนที่นายเทพไท เสนพงศ์ อดีต ส.ส.นครศรีธรรมราชของพรรคประเมินว่าบัตร 2 ใบจะทำ ปชป.เสียเปรียบนั้น ก็ไม่ทราบ ไม่ได้ติดตาม

นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทรัพยากรธรรมชาติฯ ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายและยุทธศาสตร์พรรค ชทพ. กล่าวว่า ไม่ว่าบัตรเลือกตั้ง 1 ใบหรือ 2 ใบ มีข้อดี-ข้อด้อยแตกต่างกัน ในฐานะพรรคการเมืองที่รับฟังเสียงมาแล้ว เมื่อเปลี่ยนกติกาแล้วก็ต้องทำงานตามกรอบกติกา ส่วนเรื่องเบอร์นั้นจากประสบการณ์ตอนรัฐธรรมนูญ 2540 บัตรเลือกตั้ง​ ​2​ ​ใบเป็นเบอร์เดียวกันทั้งประเทศ ประชาชนไม่เกิดความสับสน พรรคการเมืองเองก็ไม่สับสนด้วย

เมื่อถามว่า​ จะทำให้ที่นั่ง ส.ส.ของพรรคลดลงหรือไม่ นายวราวุธกล่าวว่า คงไม่ลดลงหรอก เพราะพรรคมีความคิดที่จะเพิ่มจำนวน ส.ส.​ แต่ท้ายที่สุดต้องดูว่าเมื่อผลออกมาแล้วจะเป็นอย่างไร ส่วนกรณีการวิเคราะห์ของนายสมชัยเรื่องพรรคเล็กเสียเปรียบนั้น สถานการณ์การเลือกตั้งในแต่ละครั้งจะมีปัจจัยที่กระทบต่อการเลือกตั้งแตกต่างกันไป เร็วเกินไปที่จะประเมินว่าพรรคเล็กสูญพันธุ์หรือพรรคใหญ่ได้เปรียบ

ถามถึงกรณีนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ในฐานะหัวหน้าพรรคก้าวไกล ประกาศว่าการเลือกตั้งครั้งหน้าจะเจาะ จ.สุพรรณบุรีให้ได้ นายวราวุธกล่าวว่า เป็นสิทธิที่จะพูด​ ทุกคนคิดได้ ทำได้ แต่ความเป็นจริงจะเป็นอย่างไรว่ากันอีกที และพรรคไม่ได้มีความกังวล

ส่วนนายสุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม พรรค พท. ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) กล่าวถึงความคืบหน้าร่าง พ.ร.ป. 2 ฉบับของพรรคร่วมฝ่ายค้านว่า พรรคได้พูดคุบกับพรรค ก.ก.แล้วว่าจะให้เป็นสิทธิ์ของแต่ละพรรคการเมืองได้เสนอตามจุดยืนของตนเอง ซึ่งเราก็เคารพกัน ซึ่งพรรคจะเสนอ 2 ฉบับ ส่วนของ ก.ก.ไม่แน่ใจว่าจะเสนอกี่ฉบับ ขณะที่พรรคฝ่ายค้านอื่นคิดว่าคงไม่ยื่น

ขู่ยุบสภาองค์ประชุมล่มบ่อย

วันเดียวกัน มีรายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาล แจ้งว่าในที่ประชุม ครม. พล.อ.ประยุทธ์ได้กำชับกับที่ประชุม ครม.เรื่ององค์ประชุมสภา ว่าขอความร่วมมืออย่าให้องค์ประชุมล่มเด็ดขาด รัฐมนตรีก็ต้องเข้าร่วมประชุมด้วยในทุกกฎหมาย และฝากพรรคร่วมรัฐบาลด้วย

ขณะที่พรรค พปชร.มีการประชุม ส.ส.พรรค​ โดยมีนายไพบูลย์ทำหน้าที่ประชุมในช่วงแรก โดยชี้แจงเรื่องระเบียบวาระการประชุมสภาระหว่างวันที่ 24-26 พ.ย.นี้ให้ที่ประชุมรับทราบ พร้อมย้ำสมาชิก และขอให้รัฐมนตรีเข้าร่วมประชุม ต่อมาเวลา 15.30 น. พล.อ.ประวิตรเดินทางเข้าพรรค เพื่อหารือกับรรดารัฐมนตรี และแกนนำของพรรคที่ชั้น 21 จากนั้นเข้าร่วมประชุม ส.ส. โดยกล่าวหยอกล้อผู้สื่อข่าวก่อนเริ่มการประชุมว่า ถ่ายรูปเสร็จและให้ออกไปเลย ไม่ได้เป็นสมาชิกพรรคอยู่ไม่ได้ ทั้งนี้ ที่ประชุมใช้เวลาประมาณ 30 นาที

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในที่ประชุมพรรคได้แจกเอกสาร กรอบแนวคิดการกำหนดนโยบาย แผนงาน โครงการของ พปชร.เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการเลือกตั้ง และเตรียมจัดทำเป็นยุทธศาสตร์พรรคในสโลแกน "เศรษฐกิจพัฒนา ประชามีสุข ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมยั่งยืน ประเทศชาติมั่นคง" โดยมีโครงการต่างๆ อาทิ โครงการบัตรเครดิตเกษตรประชารัฐถูกใจ วงเงิน 50,000 บาทต่อครอบครัว, โครงการประชารัฐระดับตำบล ตำบลละ 20 ล้านบาท, โครงการนิยมไทยหัวใจเดียวกัน และโครงการคนดีต้องมีที่ยืน เป็นต้น

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการประชุมพรรค พล.อ.ประวิตรได้กำชับ ส.ส.ของพรรคให้เข้าร่วมประชุมสภาผู้แทนราษฎร และอยู่จนเลิกประชุม เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาองค์ประชุม หรือสภาล่มตามมา โดยขอให้ทั้ง ส.ส.และรัฐมนตรีของพรรคมาประชุมสภา เพราะในการประชุม เมื่อต้องมีการนับองค์ประชุมจะปรินต์รายชื่อ ส.ส.ออกมาดู และจะส่งให้ พล.อ.ประวิตร ดูว่ามีรัฐมนตรีหรือ ส.ส.คนไหนขาดประชุม และเป็นของพรรคการเมืองใดบ้างในพรรคร่วมรัฐบาล ไม่ใช่เฉพาะพรรค พปชร.พรรคเดียว โดย พล.อ.ประวิตรกำชับหลายครั้งและพูดทิ้งท้ายว่า “ถ้าองค์ล่มบ่อยๆ ก็จะโดนบอกให้ยุบสภาได้”.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ชงไทยบี้เมียนมา งดขายน้ำมันให้ เจรจาสันติภาพ

"โรม" เสนอให้ไทยงดขายน้ำมันให้ "เมียนมา" ปูดใช้ไทยฟอกเงินเครือข่ายซื้ออาวุธที่ใช้ปฏิบัติการ เตือนถูกดึงไปเอี่ยวร่วมฆ่าล้างเผ่าพันธุ์