เลื่อนใช้กม.อุ้มหายส่อขัดรธน.

"กสม." ผิดหวัง ครม.เลื่อนการบังคับใช้กฎหมายป้องกันการทรมานและอุ้มหายออกไปกว่า 7 เดือน หวั่นกระทบสิทธิ ปชช.และความน่าเชื่อถือของประเทศ "ที่ปรึกษา สสส." ชี้ข้ออ้างการออก พ.ร.ก.ไม่เป็นไปตามเงื่อนไข รธน.มาตรา 172 แค่เป็นเหตุผลทางบริหาร แนะ ส.ส., ส.ว. 1 ใน 5 เข้าชื่อเสนอศาลรธน.ตีความ "วิรุตม์" แฉเหตุเลื่อนการบังคับใช้ ตร.ไม่ต้องการรายงานการจับกุมให้นายอำเภอและอัยการทราบทันที จะทำให้รีดส่วยไม่ได้

เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ นายวสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.)​ แถลงว่า ตามที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบร่างพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) แก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ.2565 ซึ่งเดิมจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 22 ก.พ.2566 โดยให้ขยายกำหนดเวลาการมีผลบังคับใช้ของมาตรา 22-25 ซึ่งเป็นมาตราที่สำคัญออกไปเป็นวันที่ 1 ต.ค.2566 นั้น คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติผิดหวัง และเป็นห่วงว่าประชาชนยังอาจถูกละเมิดสิทธิในชีวิตและร่างกาย โดยกระบวนการจับกุมและสอบสวนที่ขัดต่อกฎหมายและหลักสิทธิมนุษยชน ขณะเดียวกันก็เป็นห่วงถึงผลกระทบต่อความน่าเชื่อถือของประเทศในเรื่องความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะผลักดันให้มีกฎหมายฉบับนี้ เพื่อให้เป็นไปตามอนุสัญญาว่าด้วยการต่อต้านการทรมานและการประติบัติหรือการลงโทษอื่นที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรมหรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี (CAT) ที่ประเทศไทยเป็นภาคีมาตั้งแต่ปี 2550 และอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการหายสาบสูญโดยถูกบังคับ (ICPPED) ที่ไทยได้แสดงเจตนารมณ์เข้าเป็นภาคีไว้ตั้งแต่ปี 2555

นายวสันต์กล่าวว่า สำหรับประเด็นที่มีข้อถกเถียงว่าการออก พ.ร.ก.แก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายดังกล่าว เพื่อขยายระยะเวลาบังคับใช้กฎหมาย เป็นไปตามเงื่อนไขที่บัญญัติไว้ในมาตรา 172 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 เพื่อประโยชน์ในอันที่จะรักษาความปลอดภัยของประเทศ ความปลอดภัยสาธารณะ ความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ หรือป้องปัดภัยพิบัติสาธารณะ ซึ่งเป็นกรณีฉุกเฉินที่มีความจำเป็นรีบด่วนอันมิอาจจะหลีกเลี่ยงได้หรือไม่นั้น เพื่อให้สิ้นความสงสัยและเป็นบรรทัดฐานในโอกาสต่อๆ ไป กสม. เห็นควรให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องเสนอเรื่องนี้ไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณาวินิจฉัยด้วย

 “กสม.ได้รับทราบปัญหาและข้อจำกัดของสำนักงานตำรวจแห่งชาติในเรื่องความพร้อมด้านอุปกรณ์การบันทึกภาพและเสียง ความพร้อมของบุคลากรในการปฏิบัติตามกฎหมาย และความไม่ชัดเจนในแนวปฏิบัติที่เป็นมาตรฐานกลาง อย่างไรก็ดี กสม.และผู้เกี่ยวข้องหลายฝ่ายเห็นว่าปัญหาดังกล่าวมีทางออกและข้อยกเว้นอยู่แล้ว และเห็นว่าการบังคับใช้กฎหมายที่ล่าช้าออกไป จะส่งผลกระทบมากกว่า โดยเฉพาะต่อสิทธิและเสรีภาพในชีวิตและร่างกายของประชาชน” นายวสันต์กล่าว และว่า ระหว่างที่มีการเลื่อนการบังคับใช้กฎหมายมาตราที่สำคัญออกไป ขอให้รัฐบาลเร่งเตรียมความพร้อมและแก้ปัญหาข้อจำกัดในทุกด้าน โดยหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะไม่มีการขอเลื่อนการบังคับใช้กฎหมายออกไปอีก

ด้านนายไพโรจน์ พลเพชร ที่ปรึกษาสมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.) กล่าวว่า การออก พ.ร.ก.ขยายการบังคับใช้กฎหมายป้องกันและปราบปรามการทรมานฯ เงื่อนไขการออก พ.ร.ก.ตามรัฐธรรมนูญ 60 มาตรา 172 เพื่อ 1.การรักษาความปลอดภัยของประเทศ 2.ความปลอดภัยสาธารณะ 3.ความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ 4.ป้องปัดภัยพิบัติสาธารณะ อีกทั้งต้องเป็นกรณีฉุกเฉินที่มีความจำเป็นรีบด่วนอันมิอาจที่จะหลีกเลี่ยงได้ แต่ข้ออ้างการออก พ.ร.ก.ของคณะรัฐมนตรี  "ที่ว่าต้องปรับปรุงการดำเนินการของเจ้าหน้าที่ระดับหน่วยปฏิบัติ เช่น การจัดซื้อกล้องติดตามตัว การจัดเก็บข้อมูล การฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ ครม.จึงเห็นชอบออกพระราชกำหนดให้ขยายเวลาการบังคับใช้ออกไป เพื่อให้หน่วยงานและเจ้าหน้าที่มีความพร้อมและป้องกันการกล่าวหาเจ้าหน้าที่จับกุมไม่เป็นไปตามกฎหมาย ซึ่งอาจมีต่อการดำเนินคดีในศาล"

"เห็นว่าไม่ได้เป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ แต่เป็นเหตุผลทางบริหาร ซึ่งเป็นหน้าที่ความรับผิดชอบของรัฐบาล ซึ่งกฎหมายป้องกันและปราบปรามการทรมานและการอุ้มหายได้ให้ระยะเวลาให้เตรียมการพอสมควร แต่นายกรัฐมนตรีและรัฐบาลกลับไม่ใส่ใจ ละเลยไม่รับผิดชอบต่อรัฐสภาที่ออกกฎหมายที่มุ่งหมายคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน รัฐสภาจึงควรตรวจสอบการออก พ.ร.ก.โดย ส.ส.หรือ ส.ว. 1 ใน 5 เข้าชื่อเสนอศาลรัฐธรรมนูญวินิจว่า พ.ร.ก.ดังกล่าวขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 172 หรือไม่" นายไพโรจน์กล่าว  

ขณะที่ พ.ต.อ.วิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร  เลขาธิการสถาบันเพื่อการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม (สป.ยธ.) และอดีตที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย สภาผู้แทนราษฎร ผู้มีบทบาทสำคัญคนหนึ่งในการร่วมผลักดันกฎหมายฉบับนี้ กล่าวว่า นับเป็นเรื่องน่าเสียใจที่นายกรัฐมนตรีได้ใช้อำนาจฝ่ายบริหารออกพระราชกำหนด ตัดอำนาจนิติบัญญัติ โดยให้เลื่อนการใช้ พ.ร.บ.ป้องกันการทรมาน 4 มาตราที่สำคัญออกไปตามที่ ผบ.ตร.เสนอผ่าน รมว.ยุติธรรม ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ด้วยข้ออ้างว่ากล้องบันทึกภาพเสียงและบุคลากร ตร.ยังไม่พร้อม  ต้องตั้งงบประมาณจัดซื้อจำนวน 170,000 ชุด รวมเป็นเงินกว่า 3,500 ล้านบาท

"ถือเป็นความเข้าใจผิด และเป็นการ ให้ข้อมูลที่ไม่ถูกต้องต่อนายกรัฐมนตรี นำไปสู่ความหลงผิด และออก พ.ร.ก.เลื่อนการใช้กฎหมายดังกล่าวออกไปโดยมิชอบ เพราะข้อเท็จจริงไม่จำเป็นต้องซื้อกล้องจำนวนมากขนาดนั้น เพียงซื้อไว้เป็น อุปกรณ์ประจำหน่วย ให้ตำรวจผู้มีหน้าที่จับกุมไม่ว่าจะเป็นสายตรวจ หรือ ตร.ฝ่ายสืบสวนหมุนเวียนเบิกไปใช้เมื่อเวลาเข้าเวรเท่านั้น จะซื้อไปทำไมมากมายโดยไม่จำเป็น สิ้นเปลืองเงินภาษีของประชาชน อย่างมาก ก็ซื้อเพิ่มจากที่มีอยู่แล้ว 90% ไม่เกิน 30,000 ชุด ใช้เงินแค่ระดับร้อยล้านเท่านั้น"

"เป้าหมายแท้จริงของตำรวจผู้ใหญ่ชั้นนายพลทั้งในและนอกราชการที่อยู่เบื้องหลังการเสนอเลื่อนการใช้บางมาตรา ก็คือไม่ต้องการให้ใช้มาตรา 22 วรรคสอง เป็นสำคัญ เพราะวรรคสองของมาตรา 22 ได้บัญญัติให้ผู้รับผิดชอบการจับ ต้องรายงานการจับให้นายอำเภอและอัยการทราบทันที มีข้อมูลรายละเอียดตามที่กฎหมายกำหนด ถือเป็นหัวใจสำคัญของกฎหมายนี้ ที่จะมีผลในการป้องกันการทำร้ายและการละเมิดบุคคลหลังถูกจับมากที่สุด ถ้ากฎหมายใช้บังคับทุกมาตราอย่างสมบูรณ์ การนำตัวผู้ถูกจับไปควบคุมไว้ในที่ลึกลับเพื่อเค้นข้อมูล หรือต่อรองแลกเงิน ทรัพย์สินหรือประโยชน์ต่างๆ แล้วปล่อยตัวไป โดยนำเงินหรือทรัพย์สินที่ได้ไปส่งส่วยให้ตำรวจ ผู้ใหญ่เช่นที่เป็นอยู่ปัจจุบัน จะไม่สามารถกระทำได้อีกต่อไป นี่คือเป้าหมายสำคัญเบื้องหลังการเสนอต่อนายกฯ ให้ออก พ.ร.ก.เลื่อนการใช้กฎหมายฉบับนี้ออกไปถึง 1 ต.ค.2566 ทั้งที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 172 เนื่องจากไม่ใช่กรณีที่เกี่ยวกับความมั่นคงหรือความปลอดภัยของประเทศที่ฉุกเฉินไม่อาจหลีกเลี่ยงได้" พ.ต.อ.วิรุตม์กล่าว.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง