กกต.ลั่นแบ่งเขตไม่ตามใจใคร

เลขาฯ กกต.ย้ำแบ่งเขตไม่ได้ทำให้ถูกใจใคร แต่ยึดรัฐธรรมนูญ ลั่นจะติดตามบัตรเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรไม่ให้คลาดสายตาอีกแล้ว โอ่รู้ผลใครชนะวันเลือกตั้งเลย เผยพร้อมรับมือคำวินิจฉัยศาล รธน.แล้ว “วิษณุ” ชี้ หากไม่ขัดจะง่ายขึ้น แต่หากตรงข้าม เขตต้องเปลี่ยนแปลง

เมื่อวันที่ 24 ก.พ. ที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จัดอบรมสัมมนาเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจในแนวทางปฏิบัติ กฎหมาย กฎระเบียบที่ปรับปรุงเปลี่ยนไปตามห้วงเวลาระหว่างสำนักงาน กกต. แก่สื่อมวลชน และเครือข่ายสำนักงาน กกต. เพื่อเตรียมความพร้อมการเลือกตั้ง ส.ส.เป็นการทั่วไป พ.ศ.2566 โดยนายแสวง บุญมี เลขาธิการ กกต. กล่าวเปิดงานตอนหนึ่งว่า กกต.ไม่ได้ทำงานเพื่อคนใดคนหนึ่ง แต่เราทำงานเพื่อประเทศไทย ส่วนในเรื่องการแบ่งเขตเลือกตั้ง ส.ส. สำนักงาน กกต.ไม่ได้ยึดหลักว่าต้องทำให้ถูกใจใคร เพราะผู้แข่งขันทุกคนต้องการชัยชนะ เพียงแต่ต้องทำงานให้ถูกต้องตามกฎหมาย

นายแสวงกล่าวว่า การเลือกตั้งครั้งนี้เราต้องทำให้เป็นที่ยอมรับของทุกคน เพื่อให้เป็นทางออกของประเทศได้ อย่างไรก็ตาม เรามี 4 หลักในการทำงาน 1.สุจริต เที่ยงธรรม 2.โปร่งใส ตรวจสอบได้เมื่อมีปัญหา 3.ประสิทธิภาพ 4.การมีส่วนร่วมของประชาชน ส่วนเมื่อมีการแก้กฎหมาย มีระเบียบใหม่ การเลือกตั้งจะเปลี่ยนไป ยืนยันว่าเราทำตามกฎหมาย ถ้ากฎหมายเป็นแบบนี้ เราต้องทำแบบนี้ ไม่ใช่ว่า กกต.คิดกติกาเพื่อประโยชน์ของใคร ถ้ากติกาไม่ดีก็ให้ไปแก้ที่กฎหมาย

นายแสวงยังระบุว่า สำหรับการเลือกตั้ง ส.ส.นั้น มีแรงเสียดทานที่ตามมา จึงให้โจทก์กับสำนักงาน กกต.ว่าเราจะต้องทำให้เรียบร้อย และให้การเลือกตั้งเป็นที่ยอมรับ ระหว่างทาง กกต.จะทำทุกอย่างให้เป็นไปตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด ส่วนเรื่องการทำไพรมารีโหวตของพรรคการเมือง จากการทำงานร่วมกับพรรคการเมืองในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา ต้องเน้นย้ำให้พรรคการเมือง ปฏิบัติตามขั้นตอน ซึ่งมีทั้งสิ้น 10 ขั้นตอน ตนในฐานะหัวหน้างานธุรการของ กกต. และพรรคการเมือง มีความมั่นใจกับตัวทีมงานและประชาชนที่มาร่วมงานกับเรา ณ วันนี้เราได้เตรียมความพร้อมตามเงื่อนไขเวลาที่เกิดขึ้น แต่การเลือกตั้งจะเรียบร้อยและเป็นที่ยอมรับต้องได้รับความร่วมมือจากคนทุกคนในชาติ และหวังว่าการเลือกตั้งครั้งนี้จะได้รับความร่วมมือ

เลขาธิการ กกต.เน้นย้ำว่า ทาง กกต.รับฟังทุกความเห็น และไม่ได้ตัดสินใจบนพื้นฐานทางการเมือง แต่ตัดสินใจบนพื้นฐานของกฎหมายและประโยชน์ของประเทศชาติ คงต้องขอความร่วมมือพรรคการเมืองว่าต้องแข่งขันให้เคารพกฎหมาย

เลขาธิการ กกต.กล่าวว่า ในส่วนของการรายงานผลการเลือกตั้ง ผลคะแนนอย่างไม่เป็นทางการสำนักงาน กกต.ตั้งเป้าที่จะรายงานผลให้ครบ 100% และคิดว่าในคืนของวันเลือกตั้งประชาชนน่าจะได้ทราบผลว่าใครเป็นผู้ชนะ อย่างไรก็ตาม เรารู้ดีว่าถ้าผิดพลาดแม้แต่คะแนนเดียวเราก็ยืนอยู่ไม่ได้ ตรงนั้นจึงเป็นบทเรียนให้เราต้องแก้ไขและจัดทำระบบ เพื่อที่วันเลือกตั้งจะได้ไม่มีความผิดพลาด อย่าให้ประชาชนเกิดความเคลือบแคลงในการทำงานของเรา พยายามออกแบบในทุกขั้นตอนให้มีความโปร่งใส ถ้าเกิดความผิดปกติสามารถมองเห็นหรือตรวจสอบได้

นายแสวงได้ยืนยันว่า ในการเลือกตั้งครั้งนี้จะไม่เป็นปัญหาเรื่องการนับคะแนนนอกราชอาณาจักรอย่างที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีมติชี้มูลความผิดอดีตรองเลขาธิการ กกต. ฐานละเว้นไม่รับมอบติดตามถุงเมล์การทูตบรรจุซองใส่บัตรเลือกตั้ง ส.ส.นอกราชอาณาจักรปี 62 โดย กกต.ได้เตรียมแผนบริหารความเสี่ยงถุงเมล์การทูตไว้แล้ว เรียกได้ว่าไม่ให้คลาดสายตา เราจะตามตลอดว่าทำอย่างไรถุงเมล์จึงจะมาถึงก่อนวันเลือกตั้ง และเมื่อมาถึงประเทศไทยแล้วจะมีการคัดแยกลงคะแนนส่งไปนับคะแนนยังสถานที่นับคะแนนของผู้ใช้สิทธิ์ที่มีภูมิลำเนาอยู่ในประเทศไทย ยืนยันว่าจะไม่ให้เกิดปัญหาเรื่องความสูญเปล่าอีก

มีแผนรองรับคำวินิจฉัยแล้ว

นายแสวงยังเปิดเผยด้วยว่า ในส่วนเรื่องการแบ่งเขตเลือกตั้ง กกต.ได้มีการเตรียมการไว้แล้วกรณีหากศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยในวันที่ 3 มี.ค. ว่าการคำนวณจำนวน ส.ส.ที่แต่ละจังหวัดพึงมี และการแบ่งเขตเลือกตั้งไม่สามารถนับรวมราษฎรที่ไม่มีสัญชาติไทยได้ ขอให้สบายใจได้ ทุกอย่างยังเป็นไปตามเวลาและแผนงานที่วางไว้ อาจจะมีขยับบ้าง แต่เราจะเร่งเวลาในส่วนของ กกต.ที่เหลือ ให้เหลือเวลาตามกฎหมายเท่านั้น แต่ในส่วนพรรคการเมืองที่ทำไพรมารีโหวต จะใช้เวลาประมาณ 10 วัน จึงคิดว่าหากเป็นกรณีที่สภาอยู่ครบวาระ กกต.น่าจะประกาศเขตเลือกตั้งได้ภายใน 10 วันก่อนสภาครบวาระ

เลขาธิการ กกต.ยังได้เตือนเรื่องการทำผลสำรวจความนิยมประชาชนเกี่ยวกับการเลือกตั้งว่า สามารถทำได้ แต่อย่าไปชี้นำให้สำคัญผิดหรือจูงใจ และอย่าเปิดเผยในช่วง 7 วันก่อนวันเลือกตั้ง

นายกิตติพงษ์ บริบูรณ์ รองเลขาธิการ กกต. กล่าวบรรยายหัวข้อ การจัดการเลือกตั้ง ส.ส.ตามบทบัญญัติกฎหมายใหม่ ตอนหนึ่งว่า ถ้าศาลวินิจฉัยไปต่างจากที่เราดำเนินการมา สิ่งที่เราต้องเริ่มดำเนินการนั้นต้องทำให้เร็วที่สุด ตามกรอบเวลาที่เรามีอยู่ เราคงรอให้เวลาล่วงเลยไปไม่ได้ จะมีการดำเนินการคู่ขนานไปกับการรอศาลวินิจฉัย ทั้งนี้ ในวันที่ 23 มี.ค.นี้ จะครบวาระสภานี้ แต่อย่างไรก็ตาม เพื่อความไม่ประมาท เราต้องรีบดำเนินการให้แล้วเสร็จ เพราะมันจะมีขั้นของการทำไพรมารีโหวตของพรรคการเมือง ในเรื่องการประกาศให้มีการเลือกตั้งได้นั้น ต้องมีพระราชกฤษฎีกา เมื่อมีแล้ว กกต.จะประกาศกำหนดวันเลือกตั้งภายใน 5 วัน

นายกิตติพงษ์กล่าวว่า ส่วนที่บอกว่าให้ประกาศให้มีการเลือกตั้งไปก่อนการมีเขตเลือกตั้งได้หรือนั้น คงต้องบอกว่าทำไม่ได้โดยข้อกฎหมาย ส่วนวันที่จะเลื่อนวันเลือกตั้งได้นั้น ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ ในความเห็นส่วนตัวการจะเลื่อนวันเลือกตั้งได้นั้น ต้องเป็นเหตุจำเป็นที่จะไม่ทำให้ลงคะแนนได้ เช่น เกิดเหตุจลาจล แต่ต้องอยู่ในช่วงเวลาที่กฎหมายกำหนด ดังนั้นการจัดการเลือกตั้งได้จะต้องมีเขตเลือกตั้งก่อน 

ด้าน ร.ต.อ.ชนินทร์ น้อยเล็ก รองเลขาธิการ กกต. กล่าวบรรยายหัวข้อ กลยุทธ์การแสวงหาข่าวและป้องปราบการทุจริตการเลือกตั้ง ส.ส.ว่า เราได้ขอความร่วมมือกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติจัดชุดเคลื่อนที่เร็วจำนวน 400 ชุดทั่วประเทศ ในการดูแลความเรียบร้อยและการทำผิดกฎหมายเลือกตั้ง ส่วนงานสืบสวนสวนสอบ เราได้ให้มีการตั้งศูนย์สืบสวนสอบสวนทุกจังหวัด 

วันเดียวกัน ที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น ระหว่างนายแสวงกำลังให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนถึงกรณีนายสมชัย ศรีสุทธิยากร ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรคเสรีรวมไทย และอดีต กกต. ยื่นร้องขอให้ตรวจสอบการจัดประชุมใหญ่ของพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) และการเปิดตัว พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ซึ่งต่อมา กกต.ยกคำร้องนั้น ปรากฏว่าในช่วงท้ายการสัมภาษณ์ นายสมชัยได้ปรากฏตัวขึ้นกลางวงสัมภาษณ์ของสื่อมวลชนที่มาร่วมงาน พร้อมกับระบุว่า มาให้กำลังใจการทำงานของ กกต.และต้องการมาสอบถามเหตุผลที่ยกคำร้อง

นายสมชัยให้สัมภาษณ์ด้วยว่า เมื่อการตีตกคำร้องมีความไม่ชัดเจน จึงจะนัดเข้าไปขอรับฟังเหตุผลในการยกคำร้องดังกล่าว ในวันศุกร์ที่ 3 มี.ค. เวลา 11.00 น. ทั้งนี้ เรื่องดังกล่าวไม่ใช่ความผิดของสำนักงาน กกต. แต่เป็นเรื่องที่ผ่านการเห็นชอบของ กกต.ไปแล้ว โดยมี กกต. 6 คนลงมติให้คำร้องดังกล่าวตกไป จึงต้องไปขอเหตุผลว่าเหตุใดจึงยกคำร้อง

 “ต้องดูว่า กกต.ทั้ง 6 คนจะมาชี้แจงผมหรือไม่ หรือจะส่งเจ้าหน้าที่มาชี้แจงกับผม เพราะสำนักงาน กกต.ที่มีเจ้าหน้าที่อยู่ 800 คน ถ้าผมไปแล้วมีการปิดประตู สัปดาห์ถัดไป ก็จะขอสงวนสิทธิ์ดำเนินคดีกับ กกต.ทั้งชุดอย่างถึงที่สุด เพราะถ้าไม่คุยถือว่าละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ปฏิบัติหน้าที่ไม่เป็นกลางทางการเมือง แต่ถ้าได้พูดคุยกันแล้วชี้แจงเคลียร์ ก็จะไม่ดำเนินคดี” นายสมชัยระบุ

เอกสารเขียนยุบสภา 15 มี.ค.

เมื่อวันศุกร์ พล.อ.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม กล่าวถึงการเตรียมพร้อมของหน่วยงานภายใต้สังกัดกระทรวงกลาโหมและเหล่าทัพในการสนับสนุนการเลือกตั้งและการวางตัวของกองทัพว่า กองทัพยึดข้อบังคับกระทรวงกลาโหม ปี 49 และมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ปี 62 ที่เกี่ยวกับการสนับสนุนสถานที่หาเสียงและเลือกตั้ง การจัดสถานที่ติดตั้งป้ายหาเสียง ไม่ให้กำลังพลไม่วิจารณ์การกระทำฝ่ายการเมืองและไม่แสดงออกโดยตรงหรือปริยายถึงผู้สมัครรับเลือกตั้ง ซึ่งเรื่องดังกล่าวจะมีการประชุมภายในเหล่าทัพเพื่อให้เป็นไปในแนวทางเดียวกัน รวมถึงการพิจารณาว่าอำนาจในการตัดสินใจให้พรรคการเมืองเข้ามาหาเสียงจะเป็นผู้บังคับหน่วยระดับใด ซึ่งต้องหารือกับ กกต.ด้วย สิ่งที่เราจะหารืออีกคือกรอบการหาเสียงจะทำได้แค่ไหน เพื่อไม่เกิดความเหลื่อมล้ำและให้มีความเท่าเทียมกับทุกพรรคการเมือง นอกจากนี้ กองทัพยังดำรงความเป็นกลางการเมือง ยึดหลักสามัคคี ไม่ขัดแย้ง เป็นกองทัพทหารอาชีพ พร้อมทำงานบริหารราชการแผ่นดินภายใต้ทุกพรรคการเมืองที่เข้ามาเป็นรัฐบาล

ผู้สื่อข่าวถามว่า ในการเลือกตั้งครั้งนี้ รมว.กลาโหม ในฐานะผู้บังคับบัญชา สังกัดพรรคการเมืองแล้ว พล.อ.คงชีพ ตอบว่า ต้องแยกแยะ แต่เป็นเรื่องปกติ การเมืองเป็นแบบนี้ทุกยุคทุกสมัย ผู้นำรัฐบาล รัฐมนตรี ต่างมีสังกัดพรรคการเมือง ซึ่งส่วนราชการต้องปฏิบัติตามมติ ครม. เกี่ยวกับแนวทางสนับสนุนการเลือกตั้ง ซึ่งในส่วนของกระทรวงกลาโหมมีข้อบังคับอยู่ด้วย

เมื่อถามย้ำว่า แต่ในกรณีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นั้น เป็นทหารเก่า เป็นอดีต ผบ.ทบ. เคยทำรัฐประหาร จึงทำให้กองทัพมองว่าจะเอนเอียงหรือไม่ พล.อ.คงชีพชี้แจงว่า โดยสถานะเราทำไม่ได้อยู่แล้ว ไม่ไปล้ำเส้นการเมือง

ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงไทม์ไลน์การเลือกตั้งที่ทาง กกต.ได้ตั้งเป็นสมมติฐาน ขณะที่ศาลรัฐธรรมนูญกำลังวินิจฉัยการแบ่งเขตของ กกต. ในวันที่ 3 มี.ค.ว่า ศาลคงจะตัดสินได้ในวันที่ 3 มี.ค. เพราะงดสืบพยานแล้ว และไม่ว่าศาลจะตัดสินออกมาอย่างไร กรอบระยะเวลาที่ไม่เกินช่วงกลางเดือน มี.ค. เป็นเวลาที่เหมาะสมของการยุบสภา ซึ่งรัฐบาลจะยุบสภาอยู่แล้ว ฉะนั้นไทม์ไลน์การเลือกตั้งยังเป็นเช่นเดิม และเมื่อศาลตัดสินแล้ว กกต.ยังยืนยันกับตนว่าต้องการเวลาให้พรรคเล็กทำไพรมารีโหวต โดยการทำไพรมารีโหวตมี 10 ขั้นตอน ต้องทําให้เสร็จภายใน 11 วัน ก่อนถึงวันรับสมัครเลือกตั้ง ซึ่งการทำไพรมารีโหวต ขึ้นอยู่กับศักยภาพของแต่ละพรรคการเมือง การทําไพรมารีโหวตขึ้นอยู่กับการแบ่งเขต หากยังไม่สามารถแบ่งเขตเลือกตั้งได้ก็ไม่สามารถทำไพรมารีโหวตได้ และถ้าสามารถย่นระยะเวลาในการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในเรื่องการแบ่งเขตเลือกตั้ง จะทำให้มีเวลาทำไพรมารีโหวตมากขึ้น

“ฉะนั้น มีเวลาของมันอยู่ รัฐบาลไม่ได้เลือกยุบสภาตามใจชอบ ถ้ายุบสภาได้คงยุบพรุ่งนี้ไปแล้ว แต่ทําไม่ได้ ฉะนั้นอยู่ที่คำตัดสินของศาลในวันที่ 3 มี.ค.นี้ หากศาลวินิจฉัยว่าการแบ่งเขตของ กกต.ที่นับคนต่างด้าวสามารถทำได้ก็จะง่ายหน่อย แต่ถ้าหากศาลวินิจฉัยเปลี่ยนเรื่องนี้ จะทำให้เขตเลือกตั้งเกิดการเปลี่ยนแปลง อย่างไรก็ตาม ผมคุยกับ กกต.ทุกวัน เพราะผมก็ร้อนใจอยากให้ยุบเร็ว” นายวิษณุกล่าว

เมื่อถามว่า สามารถยุบสภาในวันที่ 15 มี.ค.นี้ใช่หรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า “มันไม่ควรจะเกินนั้น แต่ผมไม่กล้าบอกว่าวันนั้น มันอาจจะเร็วกว่านั้นก็ได้” เมื่อถามว่า ที่มีการมองว่าวันธงชัยในเดือน มี.ค. คิดว่าวันไหนเหมาะสม นายวิษณุกล่าวติดตลกว่า วันธงชัยต้องไปถามสมเด็จธงชัย 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ระหว่างนายวิษณุ ให้สัมภาษณ์เรื่องที่ศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยเรื่องจำนวนราษฎรที่ กกต.เอามาคำนวณจำนวน ส.ส.ในวันที่ 3 มี.ค.นี้ ว่าจะกระทบต่อไทม์ไลน์เลือกตั้งหรือไม่นั้น นายวิษณุได้ให้เจ้าหน้าที่ไปนำเอกสารไทม์ไลน์เลือกตั้งของ กกต.มาจากในรถ   และกางเปิดอ่านต่อหน้าผู้สื่อข่าว เพื่อยืนยันถึงการใช้เวลาทำไพรมารีโหวต โดยในเอกสารดังกล่าว ผู้สื่อข่าวสังเกตเห็นว่ามีการระบุถึงวันยุบสภาที่กำหนดไว้ในวัน 15 มี.ค. และเลือกตั้งวันที่ 7 พ.ค. ตามที่มีกระแสข่าวออกมาก่อนหน้านี้ด้วย.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

กกต.เริ่มขยับ พร้อมงัด 'กฎเหล็ก' คุมเข้มเลือก สว. 2567

ความเคลื่อนไหวการได้มาซึ่ง "สมาชิกวุฒิสภา" (สว.) ชุดใหม่ใกล้เข้ามาเรื่อยๆ ล่าสุด ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันอังคารที่ 23 เม.ย.ที่ผ่านมา ได้อนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกสมาชิกวุฒิสภา