ชวนส่งศาลพรก.อุ้มหาย

"ชวน" ส่งคำร้อง ส.ส. ขอศาลวินิจฉัย พ.ร.ก.อุ้มหายแล้ว "ณัฐวุฒิ"  แฉ "ปธ.วิปรัฐบาล" รับงาน "คนทำเนียบ"  เดินเกมชิงตัดหน้าก่อนโดนโหวตคว่ำ ด้าน "ราเมศ" โต้เดือด "สมชัย" พาดพิงประธานสภาฯ

เมื่อวันที่ 1 มีนาคม น.ส.ผ่องศรี ธาราภูมิ โฆษกประธานสภาผู้แทนราษฎร แถลงถึงกรณี ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลร่วมลงชื่อยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความว่าพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) แก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ.2565 พ.ศ.2566 ที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เป็นผู้เสนอ ขัดกับรัฐธรรมนูญมาตรา 172 วรรคหนึ่งหรือไม่ ซึ่งนายชวน หลีกภัย ประธานสภาฯ ได้แจ้งให้ที่ประชุมทราบถึงการยื่นเรื่องดังกล่าว ว่า ทางสำนักเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ได้ตรวจสอบรายชื่อ ส.ส.ที่ร่วมลงชื่อเรียบร้อยแล้ว ซึ่งตามรัฐธรรมนูญ ต้องมีจำนวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 5 ของ ส.ส.ที่ปฏิบัติหน้าที่ได้คือ จำนวน 81 คน โดยคำร้องดังกล่าวมีผู้ลงชื่อ 99 คน ซึ่งนายชวนได้ลงนามในคำร้องดังกล่าวเรียบร้อยแล้ว เพื่อยื่นต่อประธานศาลรัฐธรรมนูญ รวมทั้งทำหนังสือแจ้งไปยังนายกรัฐมนตรีให้ทราบว่าได้มี ส.ส.เข้าชื่อขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย และประธานสภาฯ​ ได้ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยแล้ว จึงให้รอการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับ พ.ร.ก.ไปก่อน รวมทั้งยังได้แจ้งให้ผู้ร้องรับทราบแล้ว ว่าประธานสภาฯ ได้ดำเนินการส่งคำร้องแล้ว

ด้านนายณัฐวุฒิ บัวประทุม ส.ส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคก้าวไกล (ก.ก.) กล่าวถึงกรณีที่ ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลลงชื่อยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความว่าพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) แก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ.2565 พ.ศ.2566 ที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เป็นผู้เสนอ ขัดกับรัฐธรรมนูญหรือไม่ ว่าเป็นการชิงตัดหน้าก่อนที่กฎหมายจะถูกคว่ำ ความจริงพรรคร่วมฝ่ายค้านคาดคะเนไว้แล้วว่าจะออกมาเป็นเช่นนี้ แต่ไม่คิดว่ารัฐบาลจะเหี้ยมเกรียมและกล้าที่จะทำเพียงนี้ พ.ร.บ.ป้องกันการทรมานฯ ทั้ง ส.ส.และ ส.ว.ลงคะแนนให้ผ่านอย่างท่วมท้น ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลทั้งหมดกลับเป็นผู้ยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อให้ตีความว่า พ.ร.ก.ที่รัฐบาลออกชอบหรือไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ แบบนี้จะไม่ให้คิดเป็นอื่นได้อย่างไรว่าถ้าไม่ใช่เพราะเรื่องอื่น หรือสิ่งที่เตรียมการมาตั้งแต่ต้น

"ในการลงชื่อของ ส.ส.รัฐบาลเมื่อวันที่ 28 ก.พ. ไม่ใช่ว่าอยู่ดีๆ นายนิโรธ สุนทรเลขา ส.ส.นครสวรรค์ พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะประธานวิปรัฐบาล ซึ่งหายหน้าหายตาไปหลายสัปดาห์ อยู่ดีๆ ก็กลับมาทำงาน ทั้งๆ ที่ทุกครั้งที่ประชุมสภาล่มก็ไม่รู้ว่าหายไปไหน แต่ได้ยินมาว่ามีสายตรงมาจากทำเนียบรัฐบาลประสานว่าขอให้นายนิโรธเป็นผู้ดำเนินการในเรื่องนี้" นายณัฐวุฒิระบุ

ขณะที่นายราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะเลขานุการประธานรัฐสภา กล่าวถึงกรณีนายสมชัย ศรีสุทธิยากร ประธานยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนนโยบายพรรคเสรีรวมไทย พาดพิงนายชวน หลีกภัย ประธานสภาฯ กรณีให้ชะลอการพิจารณา พ.ร.ก.ป้องกันการทรมานฯ ไว้ก่อนว่า หลักการเรื่องนี้ไม่มีอะไรสลับซับซ้อน รัฐธรรมนูญมาตรา 173 ระบุไว้ชัดว่า ส.ส.มีสิทธิเข้าชื่อเสนอความเห็นต่อประธานสภาฯ ว่า พ.ร.ก.นั้นไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ และได้กำหนดให้ประธานสภาฯ ต้องส่งความเห็นไปยังศาลรัฐธรรมนูญภายใน 3 วันนับแต่วันที่ได้รับความเห็นเพื่อวินิจฉัย และให้รอการพิจารณา จนกว่าจะได้รับแจ้งคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ และเมื่อได้ตรวจสอบลายมือชื่อเบื้องต้นครบถ้วนถูกต้องตามที่กำหนดไว้ ประธานสภาฯ ก็ต้องให้หยุดการพิจารณาไว้ก่อน นายสมชัยต้องหัดทำการบ้าน ศึกษากฎหมายให้แตกฉาน จะได้ไม่แสดงความเห็นปล่อยไก่แบบนี้ ดังนั้นการที่นายสมชัยบอกว่าการดำเนินการของนายชวนเป็นการเสื่อมเกียรติอย่างยิ่งนั้น ควรย้อนกลับดูตัวเองว่าที่เป็นถึงอดีต กกต. แต่แสดงความเห็นได้แย่ที่สุด ไม่มีแก่น มีแต่รากเน่า ยิ่งกว่าเสื่อมเกียรติ หากเจอยาดีๆ ก็อาจจะหายได้.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง