ยื้่อเคาะค่าไฟฟ้า สร.กฟผ.จี้รัฐยุติ แปรรูปทางอ้อม

นายกฯ เผยที่ประชุม กพช.ยังไม่เคาะค่าไฟ ขอฟังความคิดเห็นให้รอบคอบก่อน ยันจะไม่ทำให้ ปชช.เดือดร้อน ขอภาคอุตสาหกรรมอย่าขึ้นราคาสินค้า "สุพัฒนพงษ์" การันตีค่าไฟฟ้าภาคอุตสาหกรรมงวด 2 ต่ำกว่างวดแรก ขณะที่ "สร.กฟผ." บุกทำเนียบฯ จี้รัฐยุตินโยบายบริหารพลังงาน เหตุทำลายรัฐวิสาหกิจแปรรูปทางอ้อม ทำให้ กฟผ.เป็นเอกชนโดยปริยาย ขัด พ.ร.บ.กฟผ.

ที่ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล วันที่ 9 มีนาคม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชานายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ให้สัมภาษณ์ภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ครั้งที่ 2/2566 ว่า ที่ประชุม กพช.หารือในหลายเรื่อง โดยเฉพาะทำอย่างไรจะทำให้มีการปรับพลังงานหมุนเวียนให้มากขึ้น ให้มีการขยายกำลังการผลิตในเรื่องของพลังงานหมุนเวียน โดยเฉพาะในระดับท้องถิ่น เพราะมีความจำเป็นต้องแก้ไขปัญหาเรื่องของโลกร้อน ขยะ เพื่อนำกลับมาเป็นพลังงาน ให้สอดคล้องกับแผนพลังงานของเราในการลดพลังงานฟอสซิลลง นอกนั้นได้มีการหารือถึงการบริหารภายในเป็นเรื่องของการดูแลเกี่ยวกับค่าไฟฟ้าต่างๆ

 “ก็พยายามจะไม่ให้เกิดความเดือดร้อนกับประชาชนในทุกกลุ่ม การดูแลประชาชนผู้มีรายได้น้อยก็ยังมีความจำเป็น ในส่วนของราคาพลังงานก็อยู่ระหว่างการรับฟังความคิดเห็น ยืนยันว่ารัฐบาลไม่ต้องการทำให้ใครเดือดร้อนทั้งสิ้น แต่ต้องเข้าใจว่าเราต้องบริหารอย่างระมัดระวังที่สุด ถ้าเราบริหารไม่ถูกต้องหรือไม่ดี ก็จะมีปัญหาระยะยาวในวันข้างหน้า ซึ่งผมยืนยันและได้ให้แนวทางไปแล้วว่าจะต้องทำให้เดือดร้อนน้อยที่สุดหรือไม่เดือดร้อนเลย ถ้าสถานการณ์มันดีขึ้น สถานการณ์โลกดีขึ้น วันนี้เรายังมีความเป็นห่วงกังวลในเรื่องของอัตราเงินเฟ้อ เรื่องการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของต่างประเทศ เพราะส่งผลกระทบกับเรา"

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวต่อว่า รัฐบาลทำอย่างเต็มที่แล้ว เมื่อสักครู่ได้พูดคุยกับคณะทำงานด้านเศรษฐกิจกระทรวงการคลัง นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พลังงาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง วันนี้เราถือว่าเราทำได้ดีมากพอสมควร และถือว่าดีมากด้วยซ้ำไปถ้าเทียบกับหลายๆ ประเทศ ก็ขอให้ประชาชนเข้าใจ และร่วมมือกับรัฐบาลบ้างก็แล้วกัน ทั้งนี้ ที่ประชุมไม่ได้พิจารณาและพูดถึงเรื่องของค่าก๊าซธรรมชาติและก๊าซหุงต้ม แต่มีการพูดถึงพิจารณาเรื่องของค่าไฟฟ้า

ผู้สื่อข่าวถามว่า ที่ประชุม กพช.ได้มีการพิจารณาตรึงเรื่องราคาค่าไฟฟ้าอย่างไร พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า มาตรการใดที่เราเคยทำไว้แล้วเราก็จะทำต่อเนื่อง ซึ่งเช้าวันเดียวกันนี้ก็มีข่าวว่าราคาค่าไฟฟ้าจะพุ่งไปถึง 4 บาทกว่า ขณะนี้ทางคณะกรรมการที่เกี่ยวข้องอยู่ระหว่างการรับฟังความคิดเห็น มันนิดๆ นิดหน่อยๆ ก็ต้องช่วยกันบ้าง ไม่เช่นนั้นรัฐบาลก็จะต้องใช้เงินเดือนละเป็นหมื่นๆ ล้านบาท ก็ขอความเข้าใจด้วยก็แล้วกัน เราก็พยายามทำให้เต็มที่เพื่อไม่ให้ระยะยาวมันมีปัญหาเกิดขึ้นในอนาคตด้วย และไม่อยากสร้างภาระให้กับรัฐบาลใหม่ นี่คือความในใจของนายกฯ เป็นแบบนี้ ไม่อยากสร้างภาระใครจะเป็นรัฐบาล ก็ถือว่าทำให้ดีที่สุดก็แล้วกัน

ผู้สื่อข่าวถามว่า ในส่วนของภาคเอกชน หากไม่สามารถลดค่าไฟฟ้าลงได้ก็จะทำให้ต้นทุนการผลิตต่างๆ สูงขึ้นประชาชนก็จะได้รับผลกระทบ นายกฯ กล่าวว่า เรื่องนี้ก็ต้องขอร้องกัน วันนี้รัฐบาลก็พยายามทำอย่างเต็มที่ และดูแลภาคอุตสาหกรรมอย่างเต็มที่แล้ว และได้มีการพูดคุยและหารือกันไปบ้างแล้ว ทุกคนก็โอเค บางอย่างก็ต้องนึกถึงผู้ที่มีรายได้น้อยหรือกลุ่มเปราะบาง ก็ต้องดูแลกันว่าตรงนี้ต่อเดือนใช้เงินเป็นหมื่นๆ ล้านบาท ก็ดูแลกันอย่างเต็มที่แล้ว ในส่วนของภาคอุตสาหกรรมก็ต้องขอร้องกันว่าอย่าขึ้นราคาสินค้าอะไรเลย

นายสุพัฒนพงษ์​ พันธ์มีเชาว์​ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พลังงาน​ เปิดเผยว่า​ อัตราค่าไฟฟ้างวดที่ 2 ของปี 2566 (พ.ค.-ส.ค.2566) ของภาคอุตสาหกรรมจะต้องต่ำกว่างวดแรกปี 2566 และจะเป็นอัตราเดียว​ ไม่ใช่​ 2 อัตราเหมือนที่ผ่านมา​ ที่รัฐบาลพยายามช่วยเหลือเป็นกรณีพิเศษ​ เนื่องจากขณะนี้สถานการณ์ราคาพลังงานดีขึ้น ทำให้ต้นทุนต่างๆ ลดลงได้​ อัตราค่าไฟฟ้าเมื่อรวมไฟฟ้าฐาน​ ควรจะอยู่ไม่เกิน​ 4.72 บาทต่อหน่วย​ ทั้งครัวเรือนและอุตสาหกรรม ซึ่งคงต้องมาดูรายละเอียด​ โดยเฉพาะการคืนหนี้​ที่​การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.​) แบกรับภาระต้นทุนไว้​กว่า​ 1.3 แสนล้านบาท จะสามารถปรับอย่างไรได้บ้าง

ที่ผ่านมา​ สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.​) พิจารณาอัตราค่าไฟฟ้าเป็น 2 อัตรา คือครัวเรือนคิดค่าไฟที่ 4.72​ บาทต่อหน่วย และผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทอื่น และอุตสาหกรรม​ คิดอัตรา 5.33 บาทต่อหน่วย​

นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขานุการสำนักงาน กกพ. กล่าวว่า เบื้องต้นได้รับทราบข้อห่วงใยจาก กพช.แล้ว โดยอัตราค่าไฟฟ้าเฉลี่ยที่เรียกเก็บกับประชาชนงวดเดือน พ.ค.-ส.ค.2566 จะต่ำกว่า 5 บาท/หน่วยแน่นอน ส่วนรายละเอียดจะกำหนดเป็นอัตราเดียวกันทั้งประเทศหรือไม่ กกพ.มีกำหนดการชี้แจงอีกครั้งในวันที่ 10 มี.ค.นี้ ซึ่งมีการเปิดรับฟังความคิดเห็นวันที่ 10-20 มี.ค.2566 เพื่อนำเสนอให้ที่ประชุม กกพ.พิจารณาในวันที่ 22 มี.ค. ก่อนประกาศอย่างเป็นทางการช่วงต้นเดือนเม.ย.2566 ให้ทันการบังคับใช้ในเดือน พ.ค.2566

ที่ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ ทำเนียบรัฐบาล กลุ่มสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (สร.กฟผ.) จำนวน 80 คน นำโดยนางณิชารีย์ กิตตะคุปต์ ประธาน สร.กฟผ. ยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธาน กพช. เพื่อขอให้ยุตินโยบายตามมติ กพช.ครั้งที่ 2/2566 (ครั้งที่ 58) โดยนางณิชารีย์กล่าวว่า สร.กฟผ.ไม่เห็นด้วยกับมติเห็นชอบแนวนโยบายในการกำกับดูแลการผลิตไฟฟ้าโดยภาครัฐ ที่ฝ่ายบริหาร กฟผ.จะดำเนินการแยกศูนย์ควบคุมระบบไฟฟ้าออกจาก กฟผ.ด้วยเหตุผล ดังนี้

1.แนวนโยบายในการกำกับดูแลการผลิตไฟฟ้าโดยภาครัฐทั้ง 3 ข้อต้องการให้ กฟผ.บริหารแบบเอกชนเป็นการแปรรูปทางอ้อม โดยทำให้ กฟผ.เป็นเอกชนโดยปริยาย ซึ่งต้องเหมือนกับเอกชนทั่วไป บทบาทหน้าที่ของ กฟผ.จะเปลี่ยนไป ความมุ่งหมายขององค์กรก็เปลี่ยนไป จากทำเพื่อผลประโยชน์ของประชาชน เป็นการมุ่งกำไรเช่นเดียวกับเอกชน ซึ่งขัดต่อ พ.ร.บ.กฟผ. พ.ศ.2511 มาตรา 41 ในการดำเนินกิจการของ กฟผ. ให้คำนึงถึงประโยชน์ของรัฐและประชาชน

2.ศูนย์ควบคุมระบบไฟฟ้ามีบทบาทหน้าที่ มีอำนาจควบคุมด้านความมั่นคงและความเป็นธรรมของระบบไฟฟ้าของประเทศ เป็นการควบคุมที่มีผลประโยชน์ ปัจจุบันรัฐมีนโยบายเอื้อประโยชน์เอกชน องค์กรนิติบุคคลใหม่ถึงแม้ว่าจะเป็นองค์กรของรัฐ ก็ย่อมให้ประโยชน์แก่เอกชน ในกิจการไฟฟ้าเมื่อเอื้อต่อเอกชนมากเกินไป ย่อมเป็นการทำลายรัฐวิสาหกิจอย่างเป็นไปเอง อันเป็นการทำลายผลประโยชน์ของชาติและประชาชน

3.ตาม พ.ร.บ.ประกอบกิจการพลังงาน ในมาตรา 8 (5) รัฐ หมายถึง 3 การไฟฟ้าเท่านั้น ( กฟผ., กฟภ. และ กฟน.) ไม่มีองค์กรอื่น และแต่ละองค์กรก็ประกอบกิจการตามที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ. ซึ่งการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยเป็นผู้ประกอบกิจการระบบส่งไฟฟ้า โดยที่ระบบส่งไฟฟ้าครอบคลุมไปถึงศูนย์ควบคุมระบบไฟฟ้า ตาม พ.ร.บ.ประกอบกิจการพลังงาน ความพยายามในการแยกศูนย์ควบคุมฯ จึงเป็นเรื่องผิดปกติ

"แนวนโยบายในการกำกับดูแลการผลิตไฟฟ้าโดยภาครัฐ เป็นการทำลายรัฐวิสาหกิจ ทำลายความสมดุลระหว่างภาครัฐกับภาคเอกชน เพราะระบบเศรษฐกิจเสรีนิยม มิใช่มีแต่เอกชนอย่างเดียว แต่ต้องมีภาครัฐด้วย ต้องมีความสมดุล จึงจะพัฒนาระบบเศรษฐกิจของชาติได้ เมื่อรัฐพยายามทำลายรัฐวิสาหกิจซึ่งเป็นภาครัฐ ก็เป็นการทำลายระบบเศรษฐกิจ ท้ายที่สุดจะมาซึ่งการขูดรีดประชาชนด้วยการค้ากำไรเกินควรของภาคเอกชน จึงขอให้ยุตินโยบายตามแนวนโยบายดังกล่าว" ประธาน สร.กฟผ.กล่าว.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง