โพลดันอิ๊งค์นั่งนายกฯ

"นิด้าโพล" เปิดผลสำรวจศึกเลือกตั้งครั้งแรก "อุ๊งอิ๊ง" นำลิ่วนั่งเก้าอี้นายกฯ ปชช.เทคะแนนให้เพื่อไทย ทั้ง ส.ส.เขต-ปาร์ตี้ลิสต์ ขณะที่ "บิ๊กตู่-รทสช." รั้งอันดับ 3 "ซูเปอร์โพล" ประเมินผลเลือกตั้งมีโอกาสพลิกผันสูง ผู้ชนะอาจไม่ได้จัดตั้งรัฐบาล "เอกนัฏ" ปลื้มเรตติ้งรวมไทยสร้างชาติดีขึ้นต่อเนื่อง แซง "ภท.-ปชป.-พปชร." รับอีสานและเหนือต้องหาเสียงหนักขึ้น "ลุงป้อม" ไม่เป็นไรไม่ติดท็อปเท็น

เมื่อวันที่ 19 มีนาคม ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจของประชาชนเรื่อง “ศึกเลือกตั้ง 2566 ครั้งที่ 1” ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 2-8 มีนาคม 2566 จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไปทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้น จำนวน 2,000 หน่วยตัวอย่าง โดยเมื่อถามถึงบุคคลที่ประชาชนจะสนับสนุนให้เป็นนายกรัฐมนตรีในการเลือกตั้งครั้งนี้  พบว่า อันดับ 1 ร้อยละ 38.20 ระบุว่าเป็น น.ส.แพทองธาร (อุ๊งอิ๊ง) ชินวัตร (พรรคเพื่อไทย), อันดับ 2 ร้อยละ 15.75 นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ (พรรคก้าวไกล)             อันดับ 3 ร้อยละ 15.65 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา (พรรครวมไทยสร้างชาติ), อันดับ 4 ร้อยละ 9.45 ระบุว่ายังหาคนที่เหมาะสมไม่ได้, อันดับ 5 ร้อยละ 5.10 คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ (พรรคไทยสร้างไทย), อันดับ 6 ร้อยละ 4.45 พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส (พรรคเสรีรวมไทย), อันดับ 7 ร้อยละ 2.35 นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ (พรรคประชาธิปัตย์), อันดับ 8 ร้อยละ 1.60 นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว (พรรคเพื่อไทย), อันดับ 9 ร้อยละ 1.55 นายอนุทิน ชาญวีรกูล (พรรคภูมิใจไทย), อันดับ 10 ร้อยละ 1.40 นายกรณ์ จาติกวณิช (พรรคชาติพัฒนากล้า), อันดับ 11 ร้อยละ 1.15 ระบุว่าไม่ตอบ/ไม่สนใจ

และร้อยละ 3.35 ระบุอื่นๆ ได้แก่ น.ส.กัญจนา ศิลปอาชา (พรรคชาติไทยพัฒนา), นายเศรษฐา ทวีสิน, พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ (พรรคพลังประชารัฐ), นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา (พรรคประชาชาติ), นายมงคลกิตติ์ สุขสินธารานนท์ (พรรคไทยศรีวิไลย์), ดร.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์, นายเทวัญ ลิปตพัลลภ (พรรคชาติพัฒนากล้า), นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม (พรรคไทยภักดี), นายชวน หลีกภัย (พรรคประชาธิปัตย์), ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์, นายสมศักดิ์ เทพสุทิน และนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (พรรคประชาธิปัตย์)

สำหรับพรรคการเมืองที่ประชาชนจะเลือกให้เป็น ส.ส.แบบแบ่งเขต พบว่า อันดับ 1 ร้อยละ 49.75 ระบุว่าเป็น พรรคเพื่อไทย, อันดับ 2 ร้อยละ 17.40 พรรคก้าวไกล, อันดับ 3 ร้อยละ 11.75 พรรครวมไทยสร้างชาติ, อันดับ 4 ร้อยละ 5.40 พรรคประชาธิปัตย์, อันดับ 5 ร้อยละ 2.95 พรรคไทยสร้างไทย, อันดับ 6 ร้อยละ 2.70 พรรคภูมิใจไทย, อันดับ 7 ร้อยละ 2.60 พรรคเสรีรวมไทย, อันดับ 8 ร้อยละ 2.35 ระบุว่ายังไม่ตัดสินใจ, อันดับ 9 ร้อยละ 2.15 พรรคพลังประชารัฐ และร้อยละ 2.95 ระบุอื่น ๆ ได้แก่ พรรคชาติไทยพัฒนา พรรคชาติพัฒนากล้า พรรคประชาชาติ พรรคไทยภักดี พรรคกล้า พรรคไทยศรีวิไลย์ พรรคสร้างอนาคตไทย และพรรคเพื่อชาติ 

ด้านพรรคการเมืองที่ประชาชนจะเลือกให้เป็น ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พบว่า อันดับ 1 ร้อยละ 49.85 ระบุว่าเป็น พรรคเพื่อไทย, อันดับ 2 ร้อยละ 17.15 พรรคก้าวไกล, อันดับ 3 ร้อยละ 12.15 พรรครวมไทยสร้างชาติ, อันดับ 4 ร้อยละ 4.95 พรรคประชาธิปัตย์, อันดับ 5 ร้อยละ 2.85 พรรคเสรีรวมไทย, อันดับ 6 ร้อยละ 2.60 พรรคไทยสร้างไทย,  อันดับ 7 ร้อยละ 2.55 พรรคภูมิใจไทย,  อันดับ 8 ร้อยละ 2.35 ยังไม่ตัดสินใจ, อันดับ 9 ร้อยละ 2.30 พรรคพลังประชารัฐ และร้อยละ 3.25 ระบุอื่นๆ ได้แก่ พรรคชาติพัฒนากล้า, พรรคประชาชาติ,  พรรคไทยภักดี, พรรคไทยศรีวิไลย์, พรรคสร้างอนาคตไทย, พรรคกล้า, พรรคเพื่อชาติ และไม่ตอบ/ไม่สนใจ

สำนักวิจัยซูเปอร์โพล (SUPER POLL) เสนอผลสำรวจเรื่อง ประเมินความเสี่ยง ความล้มเหลวการเมือง กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศ ดำเนินโครงการทั้งการวิจัยเชิงปริมาณ และการวิจัยเชิงคุณภาพ จำนวน 1,061 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 15-18 มีนาคม พ.ศ.2566 พบว่า เกินกว่า 1 ใน 3 หรือร้อยละ 37.7 ยังคงสนับสนุนรัฐบาลทำงานต่อ ในขณะที่ร้อยละ 34.2 ขออยู่ตรงกลาง พลังเงียบ และร้อยละ 28.1 ไม่สนับสนุนรัฐบาล

ผลเลือกตั้งพลิกผันสูง

ที่น่าสนใจคือ เมื่อสอบถามถึงความตั้งใจจะกาบัตรให้แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีคนใด (ถ้าเลือกได้) พบ 5 อันดับแรก ได้แก่ ร้อยละ 39.0 ระบุบัตรอุ๊งอิ๊ง (เพื่อไทย), ร้อยละ 21.9 บัตรอนุทิน (ภูมิใจไทย), ร้อยละ 13.9 บัตรจุรินทร์ (ประชาธิปัตย์), ร้อยละ 13.2 บัตรลุงตู่ (รวมไทยสร้างชาติ) และร้อยละ 2.6 บัตรลุงป้อม (พลังประชารัฐ) ตามลำดับ นอกจากนี้ เมื่อวิเคราะห์ความเสี่ยงการเมืองกับกระแส ส.ส.ย้ายออกจากพรรค (โอกาสพลิกผัน) พบว่า ร้อยละ 57.4 เสี่ยงน้อยถึงไม่กระทบเลย ในขณะที่ร้อยละ 24.5 กระทบปานกลาง และร้อยละ 18.1 เสี่ยงมากถึงมากที่สุด

น่าพิจารณาคือ เมื่อวิเคราะห์ความเสี่ยงการเมืองกับกระแส ส.ส.ย้ายออกจากพรรค (โอกาสพลิกผัน) กับความตั้งใจจะกาบัตรเลือกแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ถ้าเลือกได้ พบว่า บัตรลุงตู่ (รวมไทยสร้างชาติ) มีความเสี่ยงมากที่สุดคือร้อยละ 27.1 ขณะที่บัตรอุ๊งอิ๊ง (เพื่อไทย) มีความเสี่ยงสูงรองลงมาคือร้อยละ 22.2, บัตรอนุทิน (ภูมิใจไทย) มีความเสี่ยงร้อยละ 18.2, บัตรจุรินทร์ (ประชาธิปัตย์) มีความเสี่ยงร้อยละ 12.9 และบัตรลุงป้อม (พลังประชารัฐ) มีความเสี่ยงร้อยละ 3.6 ตามลำดับ

รายงานของสำนักวิจัยซูเปอร์โพลระบุว่า ผลการวิเคราะห์ความเสี่ยงความล้มเหลวการเมืองในผลโพลชิ้นนี้ชี้ให้เห็นว่า โอกาสพลิกผันทางการเมืองยังคงมีอยู่ที่จะทำให้อันดับผลการเลือกตั้งเปลี่ยนแปลงได้โดยเฉพาะต่อพรรครวมไทยสร้างชาติที่ชู พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในปัจจุบันนี้ และ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย ที่มีความเสี่ยงสูงอาจเกิดโอกาสพลิกผันเปลี่ยนใจของประชาชนผู้ตั้งใจจะเลือกได้ นี่คือความรู้สึกของประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งอันน่าจะมีปัจจัยสำคัญมาจากการวิเคราะห์ข้อมูลอื่นๆ ประกอบ และพบสาเหตุที่เป็นไปได้บางประการ ได้แก่

ประการแรก ความเป็นสถาบันการเมือง การไม่เป็นพรรคการเมืองที่จัดตั้งใหม่จนกล่าวกันว่าเป็นพรรคเฉพาะกิจ ไม่ถูกก่อตั้งขึ้นมาเพื่อหวังเป้าหมายทางการเมืองอะไรบางอย่าง ความมีหลักการอุดมการณ์ทางการเมืองที่ยาวนาน และผลงานการประกันรายได้เกษตรกรพืชเศรษฐกิจ น่าจะเป็นปัจจัยสำคัญทำให้ความตั้งใจจะเลือกบัตรจุรินทร์ มีความเสี่ยงต่ำต่อการตัดสินใจของแฟนคลับพรรคประชาธิปัตย์

ประการที่สอง ความเป็นอนุรักษนิยมที่ประชาชนต้องการให้กลับไปสู่วิถีชีวิตแบบเดิมปรากฏในนโยบายกัญชาของพรรคภูมิใจไทย อันเป็นวิถีชีวิตของประชาชนชาวบ้านในการใช้กัญชาเพื่อเหตุผลทางการแพทย์พื้นบ้าน หมอชาวบ้านในสมัยดั้งเดิมและผลงานของพรรคภูมิใจไทยด้านสุขภาพและดูแลสวัสดิการของบุคลากรทางการแพทย์ เช่น อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) การเป็นที่ยอมรับของนานาชาติทั่วโลกต่อผลงานฝ่าวิกฤตโควิด น่าจะเป็นปัจจัยสำคัญทำให้มีความเสี่ยงต่ำเช่นกัน ส่วนการทำลายพรรคภูมิใจไทยจากกระแสไม่น่ามีผลเท่าการมุ่งจะฆ่ากันเองของผู้มีอำนาจ

รายงานของซูเปอร์โพลระบุด้วยว่า การวิเคราะห์ความเสี่ยงครั้งนี้มาจากความรู้สึกนึกคิดของประชาชนเป็นหลัก อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงความล้มเหลวการเมืองของพรรคการเมืองและแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีอาจจะพลิกผันด้วยเหตุผลอื่นได้ เช่น การใช้กฎหมายเพื่อรวบหัวรวบหาง กินปลาทั้งบ่อ จัดการกับพรรคการเมืองที่แย่งปลาในบ่อเดียวกัน เมื่อจัดการพรรคการเมืองที่แย่งปลาในบ่อเดียวกันได้ตัวเลือกตัวหารน้อยลงก็จะเข้าสู่เป้าหมายทางการเมืองของบางคนได้ เพราะกลยุทธ์ชนะการเลือกตั้ง กับเป้าหมายการจัดตั้งรัฐบาลและการเข้าสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรี อาจจะเป็นคนละส่วนกัน ผู้ชนะการเลือกตั้งอาจจะไม่บรรลุเป้าหมายในการจัดตั้งรัฐบาลและไม่ได้เป็นนายกรัฐมนตรี

"ดังนั้น ถ้าห้ำหั่นฆ่ากันเองเพื่อแย่งปลาในบ่อเดียวกัน ก็อาจจะพังกันไปทั้งแถบ แต่ถ้าตกลงกันได้เพื่อให้ทุกอย่างขับเคลื่อนเดินหน้าถึงเป้าหมายแบบเป็นมาอย่างไรก็เป็นไปอย่างนั้น หมายถึงพรรคร่วมรัฐบาลยังสามารถรวมตัวกันจัดตั้งรัฐบาลแบบที่เป็นอยู่ตอนนี้ได้เหมือนเดิม เพราะคะแนนวันนี้ของฝั่งรัฐบาลรวมกันแล้วจะพบว่าพรรคเพื่อไทยจะไม่ชนะแบบแลนด์สไลด์ การเจรจาตกลงกันได้ในกลุ่มพรรคร่วมรัฐบาลเพื่อก้าวข้ามความขัดแย้งแท้จริง จึงเป็นแนวทางที่น่าพิจารณา เพราะต่างฝ่ายต่างมีศักยภาพคงไม่มีใครยอมตกเป็นเป้านิ่งให้ถูกกระทำเพียงฝ่ายเดียว" ซูเปอร์โพลระบุ

ปลื้มเรตติ้งบิ๊กตู่-รทสช.ดีขึ้น

วันเดียวกัน นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ เลขาธิการพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) กล่าวถึงผลนิด้าโพลระบุคะแนนของ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นอันดับ 3 รองจาก น.ส.แพทองธารและนายพิธาว่า หากดูโพลตั้งแต่เริ่มต้นมาในวันที่ตนรับตำแหน่งเป็นเลขาธิการพรรคครั้งแรก ที่โดนสบประมาทปรามาสมาตลอด แต่มาถึงวันนี้ก็เห็นได้ว่าคะแนนนิยมของพรรคเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จากต่ำกว่า 1% ขึ้นมาเป็น 7% เป็น 13-14% โดยเฉพาะคะแนนนิยมในภาคใต้ของ พล.อ.ประยุทธ์ มาเป็นอันดับ 1 และพรรคเองก็มีคะแนนนิยมที่ดี

ขณะที่กรุงเทพฯ หากดูจากผลโพล จะพบว่าเป็นการต่อสู้ที่สูสี ระหว่างพรรคเพื่อไทย พรรคก้าวไกล และพรรครวมไทยสร้างชาติ ส่วนภาคกลางเห็นว่าพรรครวมไทยสร้างชาติอยู่ในเรตติ้งที่น่าจะสู้ได้ เพราะมีทีมงานที่ดีและมี ส.ส. เดิมที่แข็งแรง เช่น นายสุชาติ ชมกลิ่น รวมถึง น.ส.รังสิมา รอดรัศมี แต่ยอมรับว่าภาคอีสานและภาคเหนือต้องทำงานให้หนักกว่านี้ ส่วนต่างของผลคะแนนที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่มาจากภาคเหนือและอีสาน ส่วนภาคอื่นมั่นใจว่ามีศักยภาพพอที่จะสู้ ไม่แพ้พรรคการเมืองอื่น

"วันนี้พรรครวมไทยสร้างชาติเป็นพรรคที่ใหม่ที่สุด สามารถเทียบชั้นพรรคเดิม วันนี้ก็แซงพรรคภูมิใจไทย พรรคประชาธิปัตย์ พรรคพลังประชารัฐ ที่ก่อนหน้านี้สื่อมวลชนสบประมาทว่าเราจะได้ ส.ส.น้อยกว่าพรรคเหล่านี้ แต่วันนี้ตัวผู้นำได้แซงพรรคการเมืองเหล่านี้ไปหมดแล้ว" เลขาธิการ รสทช.ระบุ

เมื่อถามว่า พล.อ.ประยุทธ์จะพอใจเรื่องผลโพลหรือไม่ นายเอกนัฏกล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์พอใจ แต่ผลโพลล่าสุดยังไม่ได้คุยกัน แต่ครั้งสุดท้ายที่เจอ พล.อ.ประยุทธ์ ก็มีความสุขดี ที่ได้เข้ามาทำงานการเมืองเต็มตัว ซึ่งต่อไป พล.อ.ประยุทธ์จะร่วมแคมเปญหาเสียงของพรรค รทสช.มากขึ้น

ทางด้าน พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ถึงผลโพลที่ไม่ติด 1 ใน 10 อันดับแรกที่ประชาชนอยากให้เป็นนายกฯ ว่า "ไม่ต้องปรับยุทธศาสตร์อะไร เราก็เดินหน้าของเราต่อไป” เมื่อถามย้ำว่า คาดว่าครั้งหน้าคะแนนความนิยมจะขึ้นหรือไม่ พล.อ.ประวิตรกล่าวสั้นๆ เพียงว่า ไม่เป็นไร. 

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง