ตั้งศูนย์ปฏิบัติการซีเซียม

บอร์ดนิวเคลียร์ถกปมซีเซียม-137 ด่วน “เอนก” ยันตัวอย่างทั้งน้ำ-ดิน-อากาศไม่มีปนเปื้อน เช็กข้อมูลย้อนหลัง 3 เดือนไม่พบผิดปกติ เล็งเชิญนักวิชาการจุฬาฯ มาร่วมตรวจ พร้อมผุดศูนย์ปฏิบัติการด่วนที่โรงงาน สธ.เผยผลตรวจ 70 คนงานปกติ เตรียมตรวจซ้ำ 5 เม.ย. “บิ๊กเด่น” สั่งฟันทุกมิติทำสารกัมมันตรังสีรั่วไหล

เมื่อวันอังคารที่ 21 มีนาคม ยังคงมีความต่อเนื่องกรณีวัสดุกัมมันตรังสีซีเซียม-137 สูญหายจากโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนของบริษัท เนชั่นแนล เพาเวอร์ แพลนท์ 5 เอ จำกัด ในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม 304 อ.ศรีมหาโพธิ จ.ปราจีนบุรี ก่อนพบในโรงงานหลอมเหล็กแห่งหนึ่งใน จ.ปราจีนบุรีนั้น ล่าสุดได้มีการประชุมคณะกรรมการพลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ ซึ่งนายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) รองประธานคณะกรรมการพลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ ทำหน้าที่ประธาน

โดยนายเอนกกล่าวถึงผลประชุมในเรื่องนี้ว่า ได้มีการเก็บตัวอย่างน้ำ ดิน ในบริเวณโรงงานโดยรอบมาวิเคราะห์ และไม่พบว่าปนเปื้อน ขณะที่การตรวจวัดระดับรังสีไม่พบการฟุ้งกระจายในอากาศในอาคาร และไม่มีการปนเปื้อนออกมาภายนอก ซึ่งขณะนี้สารกัมมันตรังสีซีเซียมถูกบรรจุในถุงบิ๊กแบ็ก ซึ่งถูกควบคุมและจำกัดพื้นที่แล้ว ส่วนสุขภาพของประชาชน ได้มีการเข้าไปตรวจสอบพนักงานภายในโรงงานกว่า 70 คน ซึ่งเป็นกลุ่มเสี่ยง โดยได้เก็บปัสสาวะและเลือดเพื่อตรวจหาสารกัมมันตรังสีตามวิธีมาตรฐาน และจากการตรวจสอบประวัติสุขภาพย้อนหลัง 1 เดือนของประชาชนใน จ.ปราจีนบุรีจากรายงานของโรงพยาบาลต่างๆ ไม่พบประชาชนรายใดมีอาการสุ่มเสี่ยงว่าเจ็บป่วยจากการได้รับสารกัมมันตรังสี

“ไทยมีจุดตรวจวัดปริมาณกัมมันตรังสีในอากาศ 18 จุด และในน้ำ 5 จุดทั่วประเทศ ซึ่งวัดทุกวันอย่างต่อเนื่องตามมาตรฐานสากล ซึ่งการตรวจเช็กข้อมูลย้อนหลัง 3 เดือน พบว่าอยู่ในระดับปกติทุกวันในทุกจุด รวมทั้งตรวจสอบข้อมูลการตรวจวัดจากจุดตรวจในต่างประเทศในเครือข่าย ไม่พบว่ามีการปนเปื้อนของซีเซียมในสิ่งแวดล้อม” นายเอนกกล่าว และได้สั่งให้ระดมกำลังทุกภาคส่วน โดยนอกจากจะมีนักวิชาการของสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติแล้ว ยังมีนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านรังสีจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยร่วมติดตามและตรวจสอบทั้งหมดอย่างเข้มงวดและใกล้ชิดที่สุด จนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย

นายเอนกกล่าวอีกว่า ที่ประชุมได้เห็นชอบกับแนวทางจัดการปัญหาของคณะกรรมการพลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ การปฏิบัติงานของทางจังหวัด รวมทั้งการจัดตั้งศูนย์ประสานงานเพื่อเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์เกี่ยวกับวัสดุกัมมันตรังสีซีเซียม-137 รวมถึงการดูแลความปลอดภัยของประชาชนและดูแลการปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อมทุกจุดและทุกพื้นที่รัศมีโดยรอบ ทั้งดิน น้ำ อากาศ ตามที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และ รมว.กลาโหม ได้สั่งการเฝ้าระวังอย่างสูงสุด เพื่อไม่ให้ประชาชนได้รับอันตรายจากสารกัมมันตรังสี

นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ได้รับรายงานจาก นพ.สุรินทร์ สืบซึ้ง นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดปราจีนบุรี ในฐานะผู้บัญชาการเหตุการณ์ศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข จ.ปราจีนบุรี ถึงการตรวจตรวจเลือดคนงานโรงงานถลุงเหล็กที่หลอมซีเซียม-137 จำนวน 70 คน เพื่อเฝ้าระวังว่าค่าเม็ดเลือดขาว ค่าเกล็ดเลือด ค่าการทำงานของตับและไตเป็นปกติ โดยนัดตรวจซ้ำอีกครั้งในวันที่ 5 เม.ย. 2566 ส่วนการตรวจหาซีเซียมในปัสสาวะโดยสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ ยังต้องรอผลในอีก 2 สัปดาห์

ขณะที่ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย กล่าวว่า จะให้กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) แจ้งเตือนประชาชน รวมถึงให้ความช่วยเหลือและแนวทางการเยียวยา ซึ่งต้องพิจารณาว่ามีอะไรบ้าง โดยจะนำเรื่องดังกล่าวไปหารือกับกระทรวงการคลังเรื่องระเบียบการจ่ายเงินเยียวยาว่าจะใช้หลักเกณฑ์อย่างไร เพราะไม่เคยมีกรณีดังกล่าว แต่เรื่องงบประมาณไม่มีปัญหา ส่วนที่นักวิชาการระบุว่าต้องเฝ้าระวังถึง 2-5 ปีนั้น ก็เป็นประเด็นที่ต้องไปหารือว่าจะดำเนินการในเรื่องดังกล่าวอย่างไร

นายธนกร วังบุญคงชนะ รมต.ประจำสำนักนายกฯ ในฐานะรักษาการ รมว.อุตสาหกรรม กล่าวว่า เศษเหล็กในเมืองไทยที่ใช้กว่า 5 ล้านตันนำเข้ามา 1.5 ล้านตัน และมีประมาณ 3.5 ล้านตันในประเทศ ซึ่งอธิบดีกรมโรงงานฯ ได้ทำหนังสือแจ้งไปยังกรมศุลกากรแล้วให้เข้มงวดในการนำเศษเหล็ก 1.5 ล้านตันเข้ามา เพราะในพื้นที่ อ.แหลมฉบัง มีเครื่องวัดรังสีอยู่ ฉะนั้นหากเราเข้มงวดตรงนั้นในด่านแรก เชื่อว่าปัญหาแบบนี้คงไม่เกิดขึ้น แต่ในส่วนซีเซียม-137 ที่มีปัญหาขณะนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เข้าไปควบคุมพื้นที่แล้ว และดูแลประชาชน ไม่ต้องห่วงรัฐบาลพยายามทำทุกอย่างให้สถานการณ์คลี่คลาย และควบคุมสถานการณ์ได้อยู่

ด้าน พล.ต.ต.อาชยน ไกรทอง โฆษก ตร. กล่าวว่า เมื่อวัน 7 มี.ค.2566 บริษัท เนชั่นแนล เพาเวอร์ แพลนท์ 5 เอ ตรวจพบว่าสารซีเซียม-137 สูญหายไป และ 10 มี.ค.ได้มาแจ้งความที่ สภ.ศรีมหาโพธิ ต่อมา 19 มี.ค. สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติได้ตรวจพบรังสีจากการหลอมของโรงงานที่กบินทร์บุรี พื้นที่ สภ.ศรีมหาโพธิ โดยพนักงานสอบสวนได้รับคำร้องทุกข์ไว้ คดีอาญาที่ 363/2566 ในความผิดตาม พ.ร.บ.พลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติฯ  มาตรา 100, 126 และ 143  คดีอยู่ระหว่างสอบสวนและร่วมประชุมกับคณะกรรมการจังหวัดเพื่อเรียกบริษัทมาแจ้งข้อกล่าวหาตามกฎหมายต่อไป

 “พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผบ.ตร. ได้สั่งให้สืบสวนสอบสวนทุกมิติทั้งประเด็นการสูญหายได้อย่างไร มีใครลักลอบเอาออกไป รวมทั้งแหล่งรับซื้อ การส่งผลกระทบต่อประชาชน สิ่งแวดล้อม มีใครต้องร่วมรับผิด รวมทั้งประเด็นอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยมอบหมายให้ชุดเฉพาะกิจ มี พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล รอง ผบ.ตร. ในฐานะ ผอ.ศปทส.ตร. รับผิดชอบ เพื่อดำเนินคดีเอาผิดกับบุคคลที่กระทำผิดในกรณีนี้ให้ครบทุกมิติ” พล.ต.ต.อาชยนกล่าว

สำหรับบรรยากาศที่ จ.ปราจีนบุรีนั้น นายรณรงค์ นครจินดา ผู้ว่าราชการจังหวัดปราจีนบุรี พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ ปภ.จังหวัด และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้เดินทางไปยังโรงงานหลอมเหล็กที่พบสารกัมมันตรังสีซีเซียม-137 เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับประชาชน เพราะเราก็ถือว่าความปลอดภัยของประชาชนสูงสุด ไม่ให้มีผลกระทบออกมาภายนอก

ด้านนายกิตติ์กวิน อรามรุญ หัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินทางนิวเคลียร์และรังสี (ศปร.) กล่าวว่า อว.ได้ประชุมด่วนสั่งให้สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติตั้งศูนย์ปฏิบัติการในกรณีของการปนเปื้อนซีเซียม-137 ในโรงงานที่เกิดเหตุ โดยจะส่งทีมที่จะตรวจเช็กอุปกรณ์ในโรงงาน อุปกรณ์ที่จะตอบสนองต่างๆ ตรวจดูฝุ่นต่างๆ ที่จะผ่านกระบวนการหลอมไปบ้างแล้วมาจัดเก็บในอาคารจัดเก็บ รวมทั้งจะมีทีมตรวจวัดปริมาณรังสีโดยรอบ ซึ่งชุมชนร่วมกับทางฝ่ายปกครอง ทั้ง อ.กบินทร์บุรีและศรีมหาโพธิ เพื่อให้เกิดความแน่ใจและคลายความกังวล

“ส่วนที่ระยอง เรายืนยันว่าฝุ่นกัมมันตรังสีที่ออกไปในล็อตวันที่ 2 มี.ค.จากโรงงานที่เกิดเหตุระดับรังสีอยู่ในระดับเทียบเท่ากับระดับรังสีในธรรมชาติหรือระดับปกติ ฉะนั้นฝุ่นกัมมันตรังสีที่ปนเปื้อนไม่ออกไปแม้แต่ถุงเดียว ฝุ่นที่ปนเปื้อนอยู่ในพื้นที่จำกัดและควบคุมดูแลอยู่ในโรงงานทั้งหมด” นายกิตติ์กวินระบุ.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง