ชาวปราจีนจี้รบ. ผุดกก.ระดับชาติ แก้‘ซีเซียม-137’

"ภาคประชาสังคมปราจีนฯ" บุกทำเนียบฯ ขีดเส้น 1 สัปดาห์ ตั้ง คกก.ระดับชาติแก้ปัญหา  "ซีเซียม-137" ชี้ภัยพิบัติใหญ่สุดของจังหวัด หวังนายกฯ ทำเป็นผลงานชิ้นสุดท้ายให้ ปชช.จดจำ พร้อมร้อง ตลท. ฟันบริษัทต้นเหตุ

ที่ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์รัฐบาล  สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 23 มีนาคม เวลา 10.00 น. ภาคประชาสังคมชาวปราจีนบุรีประมาณกว่า 10 คน เดินทางมายื่นหนังสือร้องเรียนต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม เพื่อขอให้รัฐบาลตั้งคณะกรรมการระดับชาติ มาดูแลแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน กรณีสารกัมมันตรังสีซีเซียม-137 หลังจากตรวจพบว่าวัสดุดังกล่าวที่หายจากโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนถูกนำมาหลอมในพื้นที่ ซึ่งเกรงว่าอาจจะส่งผลต่อชีวิตและสิ่งแวดล้อมในระยะยาว โดยมีนายสมพาศ นิลพันธ์ ที่ปรึกษาสำนักงานปลัดสำนักนายกฯ เป็นผู้รับเรื่อง

นายวิโรจน์ น้อยสำเนียง ตัวแทนกลุ่มฯ กล่าวว่า เหตุการณ์ดังกล่าวเปรียบเสมือนไฟไหม้จังหวัดปราจีนบุรี ซึ่งหนักกว่าน้ำท่วมปี 56 เพราะผลกระทบครั้งนี้เกิดเป็นวงกว้างมหาศาล อาทิ กระทบเรื่องงาน การท่องเที่ยว กระทบพืชผลการเกษตรในพื้นที่ที่ถูกยกเลิก ฉะนั้นอยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องออกมาให้ข้อมูลชัดๆ ว่าสาเหตุที่เกิดขึ้นมาจากอะไร และขณะนี้ดำเนินการแก้ไขปัญหาถึงไหนแล้ว ไม่ใช่แก้ไขเฉพาะหน้าเท่านั้น เพราะต้องดำเนินการแก้ไขและทำให้ชัดอย่างรวดเร็ว ไม่เช่นนั้นผลกระทบจะเกิดกับชาวปราจีนบุรีโดยไม่สิ้นสุดง่ายๆ

"เพราะฉะนั้นภาคประชาสังคมจังหวัดปราจีนบุรี จึงขอเรียกร้องให้นายกฯ ตั้งกรรมการระดับชาติเพื่อเข้ามาแก้ปัญหานี้ภายใน 1 สัปดาห์ โดยมีภาคประชาสังคมร่วมเป็นกรรมการด้วย เพื่อติดตามแก้ไขปัญหาในระยะสั้นและระยะยาว นอกจากนี้ ต้องระดมเครื่องมือและผู้เชี่ยวชาญจากหน่วยงานต่างๆ เร่งตรวจสอบการปนเปื้อนและสรุปผลให้เร็วที่สุด รวมทั้งต้องมีการติดตามผลกระทบทางด้านสุขภาพ สิ่งแวดล้อมและทางเศรษฐกิจในระยะยาวไปพร้อมกับมีมาตรการเยียวยาฟื้นฟู และต้องมีมาตรการชดเชยความเสียหายที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว เช่น การยกเลิกการรับซื้อสินค้าทางการเกษตร ชดเชยรายได้ที่หายไปจากภาคบริการและท่องเที่ยว โดยผู้ก่อปัญหาต้องรับผิดชอบความเสียหายนี้ทั้งทางแพ่งและทางอาญา" นายวิโรจน์ระบุ

ทั้งนี้ หนังสือร้องเรียนดังกล่าวระบุด้วยว่า เหตุการณ์ครั้งนี้เป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบที่รุนแรงที่สุดต่อชีวิต ภาพลักษณ์ ชื่อเสียงของคนปราจีนบุรี ที่มุ่งเน้นการผลิตแบบเกษตรอินทรีย์ การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนมาโดยตลอด  และยังอาจส่งผลกระทบความเชื่อมั่นในมาตรการการจัดการกับวัสดุกัมมันตรังสีของประเทศไทยด้วย ภาคประชาสังคมจังหวัดปราจีนบุรีหวังเป็นอย่างยิ่งในการแก้ปัญหาในครั้งนี้ของท่านนายกรัฐมนตรีโดยเร็วที่สุด เพื่อลดผลกระทบที่เกิดขึ้น เพื่อให้เป็นผลงานชิ้นสุดท้ายเพื่อการจดจำของประชาชน

จากนั้น เวลา 13.30 น. กลุ่มดังกล่าวเดินทางไปยื่นหนังสือที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เพื่อขอให้ตรวจสอบเรื่องธรรมาภิบาลและจริยธรรมของบริษัท เนชั่นแนล เพาเวอร์ แพลนท์ 5 เอ จำกัด ในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม 304 อำเภอศรีมหาโพธิ จังหวัดปราจีนบุรี ต้นทางของสารกัมมันตรังสี “ซีเซียม-137” ที่สูญหายไปจากโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับประชาสังคม จ.ปราจีนบุรี ประกอบด้วย สมัชชาสุขภาพ จังหวัดปราจีนบุรี,สหกรณ์เกษตรอินทรีย์ปราจีนบุรี จำกัด, สมาคมพลเมืองอาสาพัฒนาปราจีนบุรี, เครือข่ายสภาองค์กรชุมชน, อาสาสมัครพิทักษ์ทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อมหมู่บ้าน, สมาคมจิตอาสาพัฒนาปราจีนบุรี, เครือข่ายรักษ์ลุ่มน้ำพระปรง และเครือข่ายอนุรักษ์ยางนา

ด้าน ดร.ภญ.สุภาภรณ์ ปิติพร เลขาธิการมูลนิธิโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร กล่าวว่า จากเหตุการณ์การรั่วไหลของสารซีเซียม ทำให้หลายฝ่ายกังวลเรื่องการเดินทางมา รพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศร ขอเรียนว่า เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นที่ อ.กบินทร์บุรี ซึ่งห่างจาก รพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศรประมาณ 50 กิโลเมตร จากการตรวจวัดล่าสุดของสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ ยังไม่พบการปนเปื้อนนอกโรงงานที่เกิดปัญหาและไม่พบการปนเปื้อนในชุมชน อ.กบินทร์บุรี และจากการตรวจวัดรังสีที่ รพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศรโดยใช้เครื่องวัดของ รพ. จนถึงปัจจุบันก็ยังไม่พบค่ารังสี จึงขอให้มั่นใจว่าการเดินทางเข้ามาเยี่ยมชมโรงพยาบาลและมูลนิธิฯ สามารถทำได้เป็นปกติ เรามีการเฝ้าระวังเรื่องนี้อย่างเต็มที่เช่นกัน เพื่อทำให้เกิดความปลอดภัยต่อประชาชนผู้ใช้บริการและผู้บริโภค

ส่วนแปลงปลูกสมุนไพรของมูลนิธินั้น มีอยู่ที่เชียงใหม่ ยโสธร ชัยภูมิ กาญจนบุรี ปราจีนบุรี (อ.เมืองฯ) และ สระแก้ว แต่ไม่มีแปลงปลูกที่ อ.กบินทร์บุรี ปกติเรามีการตรวจสอบแปลงปลูกแบบเกษตรอินทรีย์อย่างสม่ำเสมอ และตรวจสอบสินค้าทุกล็อตตามมาตรฐาน รวมทั้งการปนเปื้อนโลหะหนัก จุลินทรีย์อย่างเข้มข้นอยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม จะเพิ่มมาตรการเฝ้าระวังให้เข้มข้นขึ้น และมีการเพิ่มตรวจวัดรังสีทุกวัตถุดิบและผลิตภัณฑ์ จึงขอให้ประชาชนทุกคนมั่นใจในความปลอดภัยของสินค้ามูลนิธิ

 “เรายืนยันจะดูแลเกษตรกรของเรา โดยจะมอบเครื่องตรวจรังสีเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับกลุ่มเกษตรกรเครือข่าย ตอนนี้สิ่งที่เกิดขึ้นกับคนปราจีนบุรี ถือเป็นมหันตภัยครั้งใหญ่หลวง ประชาชนเสียขวัญกันมาก จึงอยากให้ผู้รับผิดชอบเร่งฟื้นฟูความเชื่อมั่นและชดเชยความเสียหายที่เกิดขึ้นอย่างเร่งด่วน  เพื่อสร้างขวัญกำลังใจและความเชื่อมั่นให้กลับมาสู่จังหวัดปราจีนบุรีอีกครั้ง” ดร.ภญ.สุภาภรณ์ระบุ

ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร อธิบดีกรมการแพทย์  เปิดเผยว่า สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ปราจีนบุรี และสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.) ได้ลงพื้นที่ตรวจสุขภาพคนงานทุกคน รวมถึงครอบครัว เพื่อเป็นข้อมูลด้านสุขภาพในระยะยาว เช่น การเปลี่ยนแปลงของเซลล์เม็ดเลือดขาว ส่วนที่มีการพูดถึงยาต้านพิษพรัสเซียนบลู ที่ใช้ต้านพิษซีเซียมเข้าสู่ร่างกายนั้น ประเทศไทยเคยมีสำรองไว้ที่โรงพยาบาล (รพ.) รามาธิบดี แต่เราไม่เคยใช้ เพราะไม่ใช่โรคที่พบบ่อย ทำให้ยาหมดอายุ จึงไม่มีการสั่งเข้ามาสำรองไว้เพิ่ม ซึ่งจะเหมือนโรคอื่นๆ ที่ถ้ามีความจำเป็นต้องใช้น้อย จะไม่มีการสำรองไว้

อธิบดีกรมการแพทย์กล่าวว่า รพ.นพรัตนราชธานีได้ร่วมกับ ปส. ประเมินสถานการณ์และความจำเป็นของการนำเข้ายา สรุปว่ายังไม่มีความจำเป็น เนื่องจากยังไม่พบผู้ที่มีอาการป่วย แต่สำคัญคือ ปส.มีความร่วมมือกับนานาชาติในการช่วยเหลือเรื่องนี้ หากมีความจำเป็นสามารถประสานหายาได้ ขณะเดียวกัน รพ.นพรัตนฯ ก็ได้วางระบบการนำเข้ากับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ไว้แล้ว

นพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการ อย. กล่าวว่า อย.ได้หารือกับกรมการแพทย์ในเรื่องการนำเข้ายาพรัสเซียนบลูแล้ว ซึ่งจะมีข้อมูลการอนุญาตเดิมที่เคยนำเข้ามาแล้ว หากครั้งนี้มีความจำเป็น อย. สามารถพิจารณาเรื่องการอนุญาตได้ทันที โดยใช้เวลาไม่นาน.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง