PM2.5ทำ‘เชียงราย’อ่วม

เชียงรายผงะ! ฝุ่นพิษสูงกว่าค่ามาตรฐานของประเทศ 9 เท่า และสูงกว่าคำแนะนำ WHO 32 เท่า เผยภาคเหนือ-อีสานยังอ่วม คาด 27 มี.ค.-2 เม.ย.ยังไม่มีแนวโน้มคลี่คลาย ส่วน กทม.-ปริมณฑลยิ้มได้

เมื่อวันอาทิตย์ที่ 26 มี.ค. นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า จากการเฝ้าระวังสถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็ก ในวันที่ 26 มี.ค. เวลา 11.00 น. พบค่าฝุ่น PM 2.5 สูงถึง 480 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร ในพื้นที่ ต.เวียงพางคำ อ.แม่สาย จ.เชียงราย ซึ่งสูงกว่าค่ามาตรฐานเฉลี่ย 24 ชั่วโมงของประเทศไทย 9 เท่า และสูงกว่าคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก 32 เท่า นอกจากนี้ยังพบอีก 11 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย, น่าน, พะเยา, แพร่, เชียงใหม่, ลำพูน, ลำปาง, แม่ฮ่องสอน, บึงกาฬ, หนองคาย และนครพนม ยังมีค่าฝุ่นอยู่ในระดับที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ โดยมากกว่า 91 มคก./ลบ.ม. ซึ่งสัปดาห์นี้ พื้นที่ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยเฉพาะจังหวัดที่ติดกับประเทศเพื่อนบ้านยังคงมีแนวโน้มการสะสมฝุ่น PM 2.5 เนื่องจากลมนิ่ง รวมทั้งการเผาทั้งในประเทศและจากประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งพบจุดความร้อนสะสมในเดือน มี.ค.สูงถึง 25,209 จุด ส่งผลให้ฝุ่น PM 2.5 อยู่ในระดับที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ

นพ.สุวรรณชัยกล่าวว่า ค่าฝุ่นละอองนอกจากจะส่งผลให้มีอาการต่างๆ เช่น แสบตา คันตา ตาแดง ระคายเคืองผิวหนัง ไอ หายใจลำบาก และแน่นหน้าอกแล้ว ผู้ที่มีโรคหัวใจและระบบทางเดินหายใจ จะมีอาการที่รุนแรงมากขึ้น และหากได้รับในปริมาณมากในระยะยาว ฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 จะทำให้เกิดการอักเสบภายในร่างกาย เข้าไปทำลายระบบต่างๆ ในเซลล์ของปอด ทำให้เกิดโรคทั้งระบบหัวใจและหลอดเลือด และมะเร็งในระยะยาว

 “มี.ค.2566 พบประชาชนมีอาการที่เกี่ยวข้องกับการรับสัมผัสฝุ่นถึง 73.2% ซึ่งเพิ่มขึ้นมากกว่าเดือน ม.ค.-ก.พ. โดยเฉพาะในกลุ่มอายุ 5-14 ปี และผู้สูงอายุ กรมอนามัยจึงขอให้ประชาชนเฝ้าระวังและดูแลสุขภาพตนเอง โดยลดเวลาหรืองดการออกนอกอาคารโดยไม่จำเป็น หากออกนอกบ้านให้สวมหน้ากากป้องกันฝุ่น งดออกกำลังกายกลางแจ้ง โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง รวมทั้งดูแลสุขภาพหากมีอาการรุนแรง เช่น แน่นหน้าอก หายใจไม่ออก ให้รีบไปพบแพทย์” นพ.สุวรรณชัยระบุ

ขณะที่ศูนย์แก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) รายงานสถานการณ์คุณภาพอากาศพื้นที่ทั่วประเทศ ว่าค่าฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน หรือ PM 2.5 เฉลี่ย 24 ชั่วโมง พบค่าฝุ่นระหว่าง 10- 590 มคก./ลบ.ม. ซึ่งค่ามาตรฐานไม่เกิน 50 มคก./ลบ.ม. โดยภาพรวม PM 2.5 ในประเทศพบเกินค่ามาตรฐานใน 21 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย, เชียงใหม่, น่าน, แม่ฮ่องสอน, พะเยา, ลำพูน, ลำปาง, แพร่, อุตรดิตถ์, สุโขทัย, พิษณุโลก, ตาก, กำแพงเพชร, พิจิตร, เพชรบูรณ์, บึงกาฬ, หนองคาย, เลย, นครพนม, มุกดาหาร และอุบลราชธานี

โดยหากแยกเป็นรายภาค พบว่าภาคภาคเหนือ เกินค่ามาตรฐานเป็นส่วนใหญ่ ตรวจวัดได้ 50 - 590 มคก./ลบ.ม. เกินมาตรฐาน 28 พื้นที่ สูงสุดที่ ต.เวียงพางคำ อ.แม่สาย จ.เชียงราย 590 มคก./ลบ.ม., ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เกินค่ามาตรฐาน 6 พื้นที่ ตรวจวัดได้ 33-277 มคก./ลบ.ม. สูงสุดที่ ต.บึงกาฬ อ.บึงกาฬ จ.บึงกาฬ 277 มคก./ลบ.ม., ภาคกลางและตะวันตก ภาพรวมอยู่ในเกณฑ์ดี ตรวจวัดได้ 18- 59 มคก./ลบ.ม., ภาคตะวันออก ภาพรวมอยู่ในเกณฑ์ดีมาก ตรวจวัดได้ 10 -30 มคก./ลบ.ม., ภาคใต้ ภาพรวมอยู่ในเกณฑ์ดีมาก ตรวจวัดได้ 13-21 มคก./ลบ.ม. ส่วน กทม.และปริมณฑล โดยสถานีตรวจวัดของ คพ.ร่วมกับ กทม. ภาพรวมอยู่ในเกณฑ์ดีมาก ตรวจวัดได้ 16-76 มคก./ลบ.ม.

“สถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็กในพื้นที่ กทม.และปริมณฑล ระหว่างวันที่ 27 มี.ค.-2 เม.ย.นั้น ตั้งแต่ 27 มี.ค.เป็นต้นไป สถานการณ์ในพื้นที่ กทม.และปริมณฑลมีแนวโน้มที่ดีขึ้นเป็นลำดับ เนื่องจากสภาพอากาศที่เปิดมากขึ้น เพดานการลอยตัวอากาศที่สูงขึ้น ประกอบกับลมทางใต้ที่กำลังแรงช่วยพัดพาฝุ่นละอองออกจากพื้นที่ ส่วนพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือมีแนวโน้มที่ควรเฝ้าระวังในพื้นที่ภาคเหนือตอนบนโดยเฉพาะพื้นที่จังหวัดที่ติดกับประเทศเพื่อนบ้านในวันที่ 27 มี.ค.-2 เม.ย.”

ด้านนายรังสรรค์ บุศย์เมือง ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคเหนือตอนบน จังหวัดเชียงใหม่เผยว่า ได้ประชุมร่วมเจ้าหน้าที่หน่วยปฏิบัติการฝนหลวง จ.เชียงใหม่ เพื่อขึ้นบินปฏิบัติการทำฝนเทียมบรรเทาปัญหาหมอกควันและไฟป่า PM2.5 และช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรที่ต้องการน้ำ โดยใช้เครื่องบินเกษตร ชนิด CASA จำนวน 2 ลำ ขึ้นปฏิบัติการ ตั้งแต่ 10.15 น. ทำฝนหลวงในบริเวณพื้นที่เป้าหมาย จำนวน 26 พื้นที่ เพื่อช่วยบรรเทาปัญหาหมอกควันและไฟป่า ยังเน้นไปยังพื้นที่ป่าไม้ตอนเหนือของ จ.เชียงใหม่ อ.พร้าว จ.เชียงใหม่ ต่อไปยังพื้นที่ป่าไม้ อ.เมืองเชียงราย และพื้นที่การเกษตร อ.แม่สาย จ.เชียงราย แล้วบินกลับมาทำฝนหลวงทางตอนใต้ของพื้นที่ป่าไม้ อ.ลี้ จ.ลำพูน รอยต่อพื้นที่ป่าไม้ อ.แม่ทา จ.ลำพูน และ อ.แม่ออน จ.เชียงใหม่ ก่อนจะลงไปทำฝนหลวงต่อยังพื้นที่การเกษตร อ.วังเหนือ จ.ลำปาง เนื่องจากในพื้นที่ดังกล่าวมีปัญหาด้านมลพิษทางอากาศ ทำให้ต้องเร่งทำให้เกิดฝนตกลงมาเพื่อชะล้างฝุ่นควัน ลดปริมาณฝุ่นควันให้ลดลง พร้อมกับทำความชุ่มชื่นในพื้นที่ป่า เพื่อไม่ให้เกิดไฟป่าเกิดขึ้นของพื้นที่ดังกล่าว.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง