กทม.ดัน‘พิธา’นั่งนายกฯ พลังเงียบเชียร์ภูมิใจไทย

นิด้าโพลเผยคนกรุงหนุน "พิธา" เป็นนายกฯ ตามด้วย "อุ๊งอิ๊ง"   และ "บิ๊กตู่" แต่เลือกเพื่อไทยเป็น ส.ส.เขต-บัญชีรายชื่อ ตามด้วยก้าวไกล-รวมไทยสร้างชาติ "สวนดุสิตโพล" ระบุเพื่อไทยได้รับความนิยมอันดับหนึ่ง ตามด้วยก้าวไกล-ภูมิใจไทย สะท้อนแคมเปญ “แลนด์สไลด์" กำลังเห็นผล ขณะที่ซูเปอร์โพลเผย ปชช.ยังเลือกพรรคร่วมรัฐบาล 51% มากกว่าฝ่ายค้านที่ได้ 43% เชื่อมั่นศรัทธา "อนุทิน" มากที่สุด 

เมื่อวันอาทิตย์ ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจของประชาชนเรื่อง “คน กทม. เลือกพรรคไหน” ระหว่างวันที่ 15-21 มีนาคม 2566 จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป และมีสิทธิเลือกตั้งในกรุงเทพมหานคร (กทม.) ครอบคลุมพื้นที่ทั้ง 50 เขต กระจายทุกระดับการศึกษา อาชีพ และรายได้ จำนวน 2,500 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับคนกรุงเทพฯ เลือกพรรคไหน   เมื่อถามถึงบุคคลที่คนกรุงเทพฯ จะสนับสนุนให้เป็นนายกรัฐมนตรีในการเลือกตั้งครั้งนี้ พบว่า อันดับ 1 ร้อยละ 25.08  ระบุว่าเป็นนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ (พรรคก้าวไกล), อันดับ 2 ร้อยละ 24.20 ระบุว่าเป็น น.ส.แพทองธาร (อุ๊งอิ๊ง) ชินวัตร (พรรคเพื่อไทย), อันดับ 3 ร้อยละ 18.24 ระบุว่าเป็น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา (พรรครวมไทยสร้างชาติ), อันดับ 4 ร้อยละ 5.96 ระบุว่าเป็นคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ (พรรคไทยสร้างไทย),  อันดับ 5 ร้อยละ 5.68 ระบุว่าเป็น พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส (พรรคเสรีรวมไทย)

อันดับ 6 ร้อยละ 5.20 ระบุว่ายังหาคนที่เหมาะสมไม่ได้, อันดับ 7 ร้อยละ 4.84 ระบุว่าเป็นนายกรณ์ จาติกวณิช (พรรคชาติพัฒนากล้า), อันดับ 8 ร้อยละ 2.40 ระบุว่าเป็นนายเศรษฐา ทวีสิน (พรรคเพื่อไทย), อันดับ 9 ร้อยละ 2.00 ระบุว่าเป็น นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว (พรรคเพื่อไทย), อันดับ 10 ร้อยละ 1.64 ระบุว่าเป็นนายอนุทิน ชาญวีรกูล (พรรคภูมิใจไทย)  

อันดับ 11 ร้อยละ 1.56 ระบุว่าเป็น นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ (พรรคประชาธิปัตย์) และร้อยละ 3.20 ระบุอื่นๆ ได้แก่  พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ  (พรรคพลังประชารัฐ), น.ส.กัญจนา ศิลปอาชา (พรรคชาติไทยพัฒนา), นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม (พรรคไทยภักดี), นายมงคลกิตติ์ สุขสินธารานนท์ (พรรคไทยศรีวิไลย์), นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค (พรรครวมไทยสร้างชาติ), นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา (พรรคประชาชาติ), นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (พรรคประชาธิปัตย์), ดร.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์, ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์, นายเทวัญ ลิปตพัลลภ (พรรคชาติพัฒนากล้า), นายชวน หลีกภัย (พรรคประชาธิปัตย์), นายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์ (พรรคพลังประชารัฐ), นายรังสิมันต์ โรม (พรรคก้าวไกล), นายวิกรม กรมดิษฐ์ และนายสกลธี ภัททิยกุล (พรรคพลังประชารัฐ)

สำหรับพรรคการเมืองที่คนกรุงเทพฯ จะเลือกให้เป็น ส.ส.แบบแบ่งเขต พบว่า อันดับ 1 ร้อยละ 34.92 ระบุว่าเป็น พรรคเพื่อไทย, อันดับ 2 ร้อยละ 27.72 ระบุว่าเป็นพรรคก้าวไกล, อันดับ 3 ร้อยละ 14.32 ระบุว่าเป็นพรรครวมไทยสร้างชาติ, อันดับ 4 ร้อยละ 6.76 ระบุว่าเป็นพรรคประชาธิปัตย์, อันดับ 5 ร้อยละ 3.32 ระบุว่าเป็นพรรคชาติพัฒนากล้า, อันดับ 6 ร้อยละ 2.96 ระบุว่าเป็น พรรคไทยสร้างไทย, อันดับ 7 ร้อยละ 2.48 ระบุว่าเป็นพรรคเสรีรวมไทย,  อันดับ 8 ร้อยละ 2.16 ระบุว่าเป็นพรรคพลังประชารัฐ, อันดับ 9 ร้อยละ 1.68 ระบุว่ายังไม่ตัดสินใจ, อันดับ 10 ร้อยละ 1.48 ระบุว่าเป็นพรรคภูมิใจไทย และร้อยละ 2.20 ระบุอื่นๆ

ด้านพรรคการเมืองที่คนกรุงเทพฯ  จะเลือกให้เป็น ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พบว่า อันดับ 1 ร้อยละ 34.40 ระบุว่าเป็นพรรคเพื่อไทย, อันดับ 2 ร้อยละ 28.76 ระบุว่าเป็นพรรคก้าวไกล, อันดับ 3 ร้อยละ 14.68 ระบุว่าเป็นพรรครวมไทยสร้างชาติ, อันดับ 4 ร้อยละ 6.08 ระบุว่าเป็นพรรคประชาธิปัตย์, อันดับ 5 ร้อยละ 3.48 ระบุว่าเป็นพรรคชาติพัฒนากล้า, อันดับ 6 ร้อยละ 3.04 ระบุว่าเป็นพรรคเสรีรวมไทย, อันดับ 7 ร้อยละ 2.60 ระบุว่าเป็นพรรคไทยสร้างไทย,  อันดับ 8 ร้อยละ 2.08 ระบุว่าเป็นพรรคพลังประชารัฐ, อันดับ 9 ร้อยละ 1.44 ระบุว่าเป็นพรรคภูมิใจไทย, อันดับ 10  ร้อยละ 1.28 ระบุว่ายังไม่ตัดสินใจ และร้อยละ 2.16 ระบุอื่นๆ

'แลนด์สไลด์'กำลังเห็นผล

 “สวนดุสิตโพล” มหาวิทยาลัยสวนดุสิต สำรวจความคิดเห็นของประชาชนเฉพาะผู้ที่มีสิทธิเลือกตั้งทั่วประเทศ กรณี “คนไทยนิยมพรรคการเมืองใด” จำนวน 10,614 คน (สำรวจทางภาคสนาม) ระหว่างวันที่ 1-17 มีนาคม 2566 ก่อนที่จะประกาศยุบสภา สรุปผลได้ ดังนี้ อันดับ 1 เพื่อไทย 46.16%, อันดับ 2 ก้าวไกล 15.43%, อันดับ 3ภูมิใจไทย 11.12%, อันดับ 4 รวมไทยสร้างชาติ 8.73%, อันดับ 5                  ประชาธิปัตย์ 7.71%, อันดับ 6 พลังประชารัฐ 7.11%, อันดับ 7 ไทยสร้างไทย 1.43%, อันดับ 8 ชาติพัฒนากล้า 0.53%, อันดับ 9 เสรีรวมไทย 0.41%, พรรคอื่นๆ 1.37%

น.ส.พรพรรณ บัวทอง นักวิจัยสวนดุสิตโพล เปิดเผยว่า เมื่อจำแนกตามอายุ พบว่า กลุ่มอายุ 18-30 ปี นิยมพรรคก้าวไกลมากที่สุด ร้อยละ 37.85 ส่วนกลุ่มอายุอื่นๆ นิยมพรรคเพื่อไทยมากที่สุด เมื่อจำแนกตามภูมิภาค พบว่า กรุงเทพฯ ภาคกลาง ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ นิยมพรรคเพื่อไทยมากที่สุด ส่วนภาคใต้ นิยมพรรคประชาธิปัตย์มากที่สุด ร้อยละ 24.71 ตามมาด้วยพรรคเพื่อไทย ร้อยละ 21.72 

"คะแนนความนิยมของพรรคเพื่อไทยยังคงพุ่งแรงและได้รับการตอบรับอย่างดีจากแทบทุกกลุ่มอายุ แม้กลุ่มอายุ               18-30 ปี จะนิยมพรรคก้าวไกลมากที่สุด แต่รองลงมาก็เป็นพรรคเพื่อไทย สะท้อนให้เห็นว่าแคมเปญ “แลนด์สไลด์” หรือ “เลือกตั้งแบบมียุทธศาสตร์” อาจจะกำลังเห็นผลจากการที่คนต้องการเปลี่ยนแปลงและวิธีการที่จะมีเสียงข้างมากในสภา ก็คือต้องรวมกันให้ได้มากกว่าเสียง ส.ว." น.ส.พรพรรณระบุ

สำนักวิจัยซูเปอร์โพลเสนอผลสำรวจ เรื่องโพลเลือกตั้ง ส.ส. ครั้งที่ 1 กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศอายุ 18 ปีขึ้นไป จำนวน 53,094,778 คน จำนวน 1,257 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 20-25 มีนาคม 2566 ที่น่าสนใจคือ ความตั้งใจของประชาชนจะเลือกพรรคการเมือง  แบ่งออกระหว่างกลุ่มพรรคร่วมฝ่ายรัฐบาลและกลุ่มพรรคร่วมฝ่ายค้าน พบว่า ในกลุ่มพรรคร่วมฝ่ายรัฐบาลรวมกันได้ร้อยละ 51.6 ในขณะที่พรรคร่วมฝ่ายค้านตอนนี้รวมกันได้ร้อยละ 43.3   

โดยในกลุ่มพรรคร่วมฝ่ายรัฐบาล อันดับหนึ่งได้แก่ พรรคภูมิใจไทย ได้ร้อยละ 19.1 เพราะเชื่อมั่นศรัทธานายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรค ต้องการเปลี่ยนแปลงผู้นำประเทศ ต้องการคนมีความรู้ความสามารถ มีประสบการณ์การเมือง มีผลงานเป็นที่ยอมรับนานาชาติช่วงวิกฤตโควิด ไม่ต้องการความขัดแย้ง ชอบนโยบายสุขภาพ และ อสม.  เป็นต้น, อันดับที่สองได้แก่พรรคประชาธิปัตย์ ร้อยละ 13.4 เพราะเชื่อมั่นศรัทธานายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ นายชวน หลีกภัย และอดีตผู้นำพรรค เชื่อมั่นในความซื่อสัตย์สุจริต มีประสบการณ์ทางการเมือง ความเป็นสุภาพบุรุษ ความเป็นสถาบันพรรคการเมือง มีหลักการ อุดมการณ์การเมือง ไม่ใช่พรรคเฉพาะกิจ มีผลงานประกันรายได้เกษตรกร การค้าระหว่างประเทศ เป็นต้น

นอกจากนี้ อันดับที่สาม ได้แก่ พลังประชารัฐ ร้อยละ 10.1 เพราะเชื่อมั่นใน พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ มีผลงานแก้ปัญหาหนี้นอกระบบ ที่ทำกิน บริหารจัดการน้ำ ความสงบความมั่นคงของบ้านเมือง เป็นต้น และพรรครวมไทยสร้างชาติ ร้อยละ 7.3 เพราะเชื่อมั่นศรัทธาใน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ความซื่อสัตย์สุจริต มีผลงานแก้วิกฤตชาติ ความวุ่นวายของบ้านเมือง จริงจัง จริงใจ อดทน ชอบโครงการคนละครึ่ง เป๋าตัง ที่เหลือเป็นพรรคชาติพัฒนา กล้า ร้อยละ 0.9 และพรรคชาติไทยพัฒนา ร้อยละ 0.8 ตามลำดับ

พลังเงียบเลือกภูมิใจไทย

ขณะที่ความตั้งใจจะเลือก ส.ส.ในกลุ่มพรรคร่วมฝ่ายค้าน พบว่า อันดับแรก พรรคเพื่อไทย ร้อยละ 36.9 เพราะ ชอบอดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร ต้องการคนรุ่นใหม่ ต้องการเปลี่ยนแปลงผู้นำประเทศ เข้าถึงชาวบ้านและประชาชน ชอบนโยบาย ไม่ต้องการเห็นการสืบทอดอำนาจ เป็นต้น รองลงมาคือ พรรคก้าวไกล ร้อยละ 5.9 เพราะชอบหัวหน้าพรรค นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ต้องการเปลี่ยนแปลงผู้นำประเทศ ต้องการคนรุ่นใหม่ เป็นต้น

ที่น่าพิจารณาคือ ความตั้งใจของประชาชนจะเลือกพรรคร่วมฝ่ายรัฐบาล กับพรรคร่วมฝ่ายค้าน แบ่งตามกลุ่มจุดยืนการเมือง พบว่า กลุ่มพลังเงียบส่วนใหญ่หรือร้อยละ 56.8 กลุ่มผู้สนับสนุนรัฐบาลส่วนใหญ่หรือร้อยละ 78.3 และแม้แต่กลุ่มผู้ไม่สนับสนุนรัฐบาลร้อยละ 15.6 ตั้งใจจะเลือกพรรคร่วมฝ่ายรัฐบาล ได้แก่ ภูมิใจไทย ประชาธิปัตย์ พลังประชารัฐ รวมไทยสร้างชาติ ชาติไทยพัฒนา เป็นต้น ในขณะที่กลุ่มไม่สนับสนุนรัฐบาล ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 81.7 กลุ่มพลังเงียบร้อยละ 34.6 และแม้แต่กลุ่มสนับสนุนรัฐบาลร้อยละ 21.4 ตั้งใจจะเลือกพรรคร่วมฝ่ายค้าน ได้แก่ เพื่อไทย ก้าวไกล เสรีรวมไทย เป็นต้น ตามลำดับ

นอกจากนี้ที่น่าสนใจคือ คนที่อยากได้เป็นนายกฯ คนต่อไปในกลุ่มแฟนคลับของพรรคร่วมรัฐบาล จำแนกตามกลุ่มอาชีพ พบว่า นายอนุทิน ชาญวีรกูล เป็นขวัญใจมากสุดใน 4 กลุ่มอาชีพได้แก่ ข้าราชการและเจ้าหน้าที่รัฐ ร้อยละ 20, พนักงานเอกชน ร้อยละ 18.4,  อาชีพอิสระค้าขาย ร้อยละ 19.8 และนักศึกษา ร้อยละ 23.2

ในขณะที่นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ เป็นขวัญใจมากสุดใน 2 กลุ่มอาชีพ ได้แก่ ข้าราชการและเจ้าหน้าที่รัฐ ร้อยละ 20.0 เท่ากับนายอนุทิน ชาญวีรกูล และในกลุ่มอาชีพเกษตรกร ร้อยละ 22.5

สำหรับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นขวัญใจมากที่สุดในกลุ่มพ่อบ้านแม่บ้านเกษียณอายุ ร้อยละ 33.3 รองลงมาคือกลุ่มข้าราชการและเจ้าหน้าที่รัฐ ร้อยละ 16.7, อาชีพอิสระและค้าขายส่วนตัว  ร้อยละ 12.5 ในขณะที่ได้เพียงร้อยละ 1.8 ในกลุ่มนักเรียนนักศึกษา

ที่น่าพิจารณาคือ ในกลุ่มแฟนคลับพรรคร่วมฝ่ายค้าน พบว่า น.ส.แพทองธาร ชินวัตร เป็นขวัญใจมากที่สุดในกลุ่มอาชีพเกษตรกร ร้อยละ 46.0 รองลงมาคือกลุ่มอาชีพอิสระและค้าขาย  ร้อยละ 38.7, กลุ่มอาชีพพนักงานเอกชน ร้อยละ 37.7 และกลุ่มอาชีพข้าราชการและเจ้าหน้าที่รัฐ ร้อยละ 36.7  ในขณะที่นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นขวัญใจมากที่สุดในกลุ่มนักเรียนนักศึกษา ร้อยละ 32.1     

น.ส.ทิพานัน ศิริชนะ สมาชิกพรรครวมไทยสร้างชาติ เปิดเผยว่า ขอบคุณพี่น้องชาวกรุงเทพฯ จากผลสำรวจนิด้าโพล ซึ่งถือว่าให้ความไว้วางใจพรรคการเมืองน้องใหม่ ที่ พล.อ.ประยุทธ์ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรค เปรียบผู้สมัคร ส.ส.ของพรรคว่าเป็นส่วนผสมที่ลงตัวในแต่ละช่วงวัยหลากหลาย ทั้งรุ่นใหม่รุ่นเก่า เป็นทั้งรถสันดาปใช้น้ำมัน รถไฮบริดและรถไฟฟ้า ถือเป็นเสียงสะท้อนของคนแต่ละรุ่น เพื่อขับเคลื่อนร่วมกันให้คนทุกวัยในประเทศเดินทางไปข้างหน้าสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน เพราะทุกคนคือหุ้นส่วนของประเทศไทย ทำให้พรรครวมไทยสร้างชาติเป็นพรรคทางเลือกหลัก ไม่ใช่ทางผ่านหรือถนนสายรอง

นายเศรษฐา ทวีสิน ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย กล่าวว่า สำหรับผลโพลที่ระบุว่าในพื้นที่กรุงเทพฯ พรรค พท.นำมาตลอดนั้น เชื่อว่าในอดีตตั้งแต่พรรคไทยรักไทย เราก็ใช้นโยบายนำโดยตลอด บุคคลมีคุณภาพในพรรคเราก็มีเยอะมาก มาเป็นแผง เชื่อว่าพรรคมีความสามารถ ฉะนั้นจึงไม่แปลกใจ และจะเดินหน้าต่อไปเพื่อเผยแพร่นโยบายที่ดี

นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าวว่า ความไว้วางใจของพี่น้องชาวกรุงเทพฯ มอบให้ตามผลสำรวจของนิด้าโพล สอดคล้องกับโพลภายในของพรรคเองที่มีการสำรวจมา ซึ่งตนต้องขอขอบคุณทุกความไว้วางใจที่ได้มอบให้แก่ตน และทุกการสนับสนุนจะเป็นพลังที่ร่วมผลักดันการทำงานของตนและพรรคก้าวไกลในการเปลี่ยนแปลงต่อไป

คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ หัวหน้าพรรคไทยสร้างไทย กล่าวถึงผลนิด้าโพล เปิดเผยผลคน กทม.โหวตเลือกคุณหญิงสุดารัตน์เป็นอันดับ 4 ว่า เรายังต้องทำงานแข่งกับตัวเองต่อ ทุกโพลอาจสะท้อนเหมือนหรือแตกต่างกันบ้าง เรารับฟัง และต้องเรียนว่า วันนี้หากใครเห็นด้วยกับพรรคไทยสร้างไทย ที่ถึงแม้จะเป็นพรรคใหม่ หากเลือกอย่างถล่มทลายประชาชนจะไม่แพ้ในแบบ 17 ปีที่ผ่านมาอย่างแน่นอน.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง