กต.ฟอกขาวกกต.ไปนอก ปชป.โวยปมถือหุ้นมือถือ

“บัวแก้ว” แจงยิบ "กกต." เดินสายต่างแดนเพื่อวางระบบป้องกันปัญหาเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร “ก้าวไกล” จี้เปิดงบดูงาน ขณะที่ “เพื่อไทย” ปูดขบวนการทุจริตกว้านซื้อบัตรประชาชนขอใช้สิทธิกาบัตรล่วงหน้า

เมื่อวันที่ 14 เม.ย. นางกาญจนา ภัทรโชค อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ เปิดเผยความคืบหน้าในการเตรียมการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรว่า กระทรวงการต่างประเทศและสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ทำงานร่วมกันมาอย่างต่อเนื่องในการเตรียมการ โดยได้ประสานงานกันอย่างใกล้ชิดตั้งแต่ช่วงเดือน ต.ค.2565

นางกาญจนากล่าวอีกว่า ในการเตรียมพร้อม มีทั้งการเปิดให้ประชาชนลงทะเบียนขอใช้สิทธิเลือกตั้ง การจัดคูหาเลือกตั้ง การเตรียมการจัดส่งบัตรเลือกตั้ง  การประสานงานกับไปรษณีย์และสายการบิน ตลอดจนสนามบิน รวมทั้งการเดินทางของกรรมการ กกต. เพื่อไปตรวจเตรียมความพร้อมของพื้นที่ในต่างประเทศ เพื่อให้มั่นใจว่าการเลือกตั้งจะเป็นไปโดยราบรื่น มีประสิทธิภาพ โดยพิจารณาจากสภาพและข้อจำกัดในแต่ละภูมิภาค อาทิ กรณีที่คณะ กกต.ไปออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ เพื่อตรวจสอบระบบและขั้นตอนในการขนส่งบัตรเลือกตั้งกลับไทย ไม่ให้เกิดปัญหาการขนส่งบัตรเลือกตั้งกลับมายังไทยเหมือนการเลือกตั้งเมื่อปี 2562 ส่วนการที่คณะไปแอฟริกาใต้ เคนยา และโมร็อกโก เพื่อตรวจเยี่ยม หารือ และติดตามการเตรียมการจัดการเลือกตั้งฯ เพราะแอฟริกาเป็นภูมิภาคที่มีขนาดใหญ่ และการคมนาคมขนส่งค่อนข้างยากลำบาก รวมทั้งได้หารือเพื่อแก้ไขข้อจำกัดของการไม่มีเที่ยวบินตรงจากแอฟริกาไปไทย

โฆษก กต.กล่าวว่า ส่วนการที่คณะ กกต.ไปภูมิภาคยุโรปและอเมริกา เป็นการตรวจเยี่ยมความพร้อมในการจัดการลงคะแนน และพบปะชุมชนคนไทย พร้อมทั้งรับฟังปัญหาและอุปสรรค เพื่อหาวิธีแก้ไข เพราะมีชุมชนคนไทยขนาดใหญ่และมีคนไทยอาศัยอยู่จำนวนมาก อีกทั้งบางพื้นที่ไม่มีเที่ยวบินของสายการบินไทย และมีเที่ยวบินตรงจำกัด จึงต้องมีการหารือเพื่อวางแนวทางการส่งถุงเมล์บัตรเลือกตั้งที่ลงคะแนนแล้วกลับประเทศไทยที่เหมาะสม

นางกาญจนากล่าวอีกว่า สำหรับการส่งและรับบัตรเลือกตั้งในการจัดการเลือกตั้ง กระทรวงการต่างประเทศจะให้เจ้าหน้าที่ของสถานเอกอัครราชทูตไทย สถานกงสุลใหญ่ไทยในประเทศที่การขนส่งและระบบไปรษณีย์มีปัญหาและไม่สะดวกเดินทางถือบัตรเลือกตั้งที่ลงคะแนนแล้วมาส่งที่ประเทศไทยด้วยตัวเอง นอกจากนี้ ได้นำระบบติดตามการจัดการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร (โอวีเอ็มเอส) มาใช้ในติดตามการจัดการเลือกตั้งของสถานเอกอัครราชทูตไทย/สถานกงสุลใหญ่ไทยทุกแห่ง โดยระบบสามารถประมวลผลความคืบหน้าได้แบบเรียลไทม์ สามารถสนับสนุนการบริหารจัดการการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อยตามกรอบระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด

นางกาญจนากล่าวว่า ส่วนการเลือกตั้งในอนาคต กต.เตรียมหารือกับ กกต.ให้พิจารณาถึงวิธีเลือกตั้งโดยลงคะแนนแบบไอโหวต (i-Vote) ซึ่งสอดคล้องกับการก้าวไปสู่การเป็นรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ หรือ e-Government ของรัฐบาล โดยไอโหวตสามารถใช้ระบบบล็อกเชนมาช่วยบันทึกขั้นตอนการลงทะเบียนและการออกเสียงลงคะแนนตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทาง ประกอบกับไอโหวตจะเป็นเครื่องมือที่ส่งเสริมให้คนไทยทั้งในและต่างประเทศลงทะเบียนและใช้สิทธิออกเสียงเลือกตั้งได้อย่างกว้างขวางและสะดวก รวมถึงประหยัดเวลาและค่าใช้จ่าย โดยหวังว่า กกต.จะสามารถพัฒนาไอโหวตได้ทันสำหรับการเลือกตั้งในครั้งต่อไป

จี้ กกต.เปิดงบดูงาน

นายณัฐวุฒิ บัวประทุม รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล (ก.ก.) กล่าวว่า คำชี้แจงของ กกต.เป็นเหตุผลที่ฟังไม่ขึ้น เพราะ กกต.มีเวลาเตรียมตัวจัดเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรอย่างน้อย 4 ปีเต็ม และไม่ทราบว่า กกต.สรุปบทเรียนการเลือกตั้งครั้งที่แล้วอย่างไรบ้าง ยกตัวอย่างการส่งบัตรเลือกตั้งมาจากนิวซีแลนด์ ที่ถูกชี้มูลความผิดในระดับของรองเลขาธิการสำนักงาน กกต. แต่ไม่ปรากฏว่า กกต.ชุดนี้ได้สรุปบทเรียนที่ผ่านมาอย่างไร ส่วนการประกาศผลทางอิเล็กทรอนิกส์ การประกาศคะแนนแบบเรียลไทม์ การทำให้เขตเลือกตั้งถูกต้องชอบธรรม ไม่คิดว่าจะมีเรื่องให้ต้องศึกษาดูงานไปมากกว่านี้  แม้ กกต.จะไม่ได้ทำความผิด ทุจริต หรือคดโกง แต่อยากทราบว่างบประมาณในการดูงานต่างประเทศครั้งนี้ใช้ไปเท่าไหร่ และเกิน 20 ล้านบาทตามงบประมาณที่ กกต.อ้างว่าขาดงบในการประกาศผลคะแนนทางระบบอิเล็กทรอนิกส์หรือไม่

นายธีรัจชัย พันธุมาศ ผู้สมัคร ส.ส.กทม.เขต 18 พรรคก้าวไกล (ก.ก.) กล่าวว่า โดยความรู้สึกของคนทั่วไป หน้าที่ของ กกต.คือการดูแลจัดการเลือกตั้งอย่างสุจริต เที่ยงธรรม ช่วงเวลานี้อยู่ระหว่างการจัดการเลือกตั้ง หน้าที่ของ กกต.คงต้องโฟกัสอยู่ที่นี่ ที่สำคัญ สิ่งที่เที่ยงธรรมคือต้องไม่ให้มีใครเอาเปรียบกันในการทุจริตการเลือกตั้ง เชื่อว่าพลังทุกอย่างของ กกต.ควรอยู่จุดนี้มากกว่าเรื่องความเหมาะสมด้านเวลาในการไปศึกษาดูงานที่ต่างประเทศ ตอนนี้อาจยังไม่เหมาะสม งบประมาณที่ใช้ในการดูงานครั้งนี้เป็นเงินที่เยอะพอสมควร นำเงินก้อนนั้นมาจัดการเลือกตั้งให้ยุติธรรม

นายเมธา มาสขาว เลขาธิการคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยกับการที่ กกต.จะเดินทางไปดูงานต่างประเทศในช่วงนี้ เพราะจะกระทบแผนจัดการเลือกตั้ง 2566 อย่างแน่นอน ถ้าเป็นการดูงานก่อนหน้าที่กำหนดการเลือกตั้งและหลังการเลือกตั้งแล้วเสร็จจะไม่มีใครว่าเลย แต่ไปช่วงนี้จะนำมาซึ่งปัญหามากมาย เพราะการบริหารงบกว่า 6,000 ล้านบาท กินเงินเดือนจากภาษีของประชาชน แต่จะทำงานขาดประสิทธิภาพแบบนี้ไม่ได้ แม้แต่ระบบลงทะเบียนล่วงหน้ายังล่ม แล้วจะจัดการเลือกตั้งให้บริสุทธิ์ยุติธรรมได้อย่างไร จะต้องทำงานให้ประชาชนไว้วางใจต่อ กกต.มากขึ้น และการเดินทางไปดูงานตั้งแต่ 4-24 เม.ย.2566 เป็นเวลาที่นานเกินไป ให้ระวังว่ามีกลุ่มคนที่อยากขยายเวลาการเลือกตั้งออกไป หรือไม่ให้มีการเลือกตั้ง และระวังว่าจะมีการสร้างเหตุไม่ให้กลับมาจัดการเลือกตั้งได้ทันด้วย เพราะการเมืองไทยเปราะบางมากสำหรับผู้ต้องการยึดอำนาจสืบต่อไป

ขณะที่สำนักงาน กกต. แจ้งเปิดช่องทางการรับแจ้งเบาะแสทุจริตการเลือกตั้ง เช่น การแจกเงิน สิ่งของ สามารถผ่านช่องทางต่างๆ ได้แก่ 1.แอปพลิเคชันตาสับปะรด โดยการดาวน์โหลดผ่านเว็บไซต์สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ App Store และ Google Play รองรับโทรศัพท์มือถือระบบปฏิบัติการ Android เวอร์ชัน 8 ขึ้นไป และ iOS เวอร์ชัน 11 ขึ้นไป ทั้งนี้ แอปพลิเคชันตาสับปะรด สามารถรายงานสถานการณ์ ได้ทั้งข้อความ ภาพ เสียง หรือวิดีโอ 2.ศูนย์รับแจ้งเบาะแสทุจริตการเลือกตั้ง หมายเลขโทรศัพท์ 0-2141-8860, 0-2141-8579 และ 0-2141-8858 3.สำนักงาน กกต.เลือกตั้งประจำจังหวัดและกรุงเทพฯ 4.บริการสายด่วน กกต. 1444 โดยผู้ที่แจ้งเบาะแสทุจริตมีรางวัลสนับสนุนแก่ผู้แจ้งข้อมูลเบาะแสที่เป็นประโยชน์ต่อการสืบสวน ไต่สวนคดี โดยมีเงินรางวัลตั้งแต่ 100,000-1,000,000 บาท แต่การแจ้งเบาะแสทุจริต ไม่ถือว่าเป็นการยื่นคำร้องคัดค้านการเลือกตั้งตามระเบียบ กกต.ว่าด้วยการสืบสวน การไต่สวน และการวินิจฉัยชี้ขาด พ.ศ.2561 และที่แก้ไขเพิ่มเติมถึง (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2566 และต้องไม่มีเจตนาหรือจงใจกลั่นแกล้งเพื่อทำให้บุคคลอื่นได้รับความเสื่อมเสียหรือเสียหาย รวมทั้งต้องไม่แจ้งด้วยข้อความอันเป็นเท็จ

ชาญชัยข้องใจถูกตัดสิทธิ์

นายสุทิน คลังแสง ผู้สมัครแบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวว่า สัปดาห์ที่ผ่านมา มีประชาชนหลายพื้นที่ในภาคอีสาน รวมทั้งมหาสารคามเขต 6 ซึ่งเป็นภูมิลำเนาของตนเอง มาหารือร้องทุกข์ว่าถูกแกนนำบางพรรคในหมู่บ้านมาขอยืมบัตรประชาชน โดยอ้างว่าจะนำไปตรวจสอบผู้มีสิทธิเลือกตั้งให้ แต่มาทราบภายหลังว่ากลุ่มคนเหล่านี้นำไปขอใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้า เมื่อเจ้าตัวทักท้วงกลุ่มคนเหล่านั้นก็เสนอเงินตอบแทนให้ 500-1,000 บาท เพื่อแลกเปลี่ยนให้ไปใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้า และเลือกผู้สมัครพรรคตนเอง ประชาชนเหล่านั้นไม่ยอม ด้วยเห็นว่าเป็นการหลอกลวงและชักชวนให้กระทำการผิดกฎหมาย จึงเข้าแจ้งความเพื่อดำเนินคดีกับกลุ่มบุคคลดังกล่าวแล้ว จากที่ตรวจสอบคร่าวๆ พบว่ามีเหตุการณ์แบบนี้ในหลายพื้นที่ โดยผู้สมัครพรรคเดียวกันนี้กระทำเป็นกระบวนการ

"อยากฝากไปยัง กกต. อย่านิ่งเฉยในเรื่องนี้ รีบสอบสวน ยับยั้งและเอาผิดกับคนกลุ่มนี้ และตั้งข้อสังเกตว่า การจุดประเด็นจะขอขยายเวลายื่นใช้สิทธิล่วงหน้าของ กกต.จะเข้าทางพรรคนี้หรือไม่ ในส่วนประชาชนผู้ถูกกระทำอย่างนี้ ขอให้แจ้งความดำเนินคดีโดยแจ้งมายังผม   จะจัดนักกฎหมายช่วยดำเนินการให้"

นายชาญชัย อิสระเสนารักษ์ ผู้สมัคร ส.ส.จังหวัดนครนายก หมายเลข 2 พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณี ผอ.การเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้งที่ 2 จังหวัดนครนายก แจ้งการขาดคุณสมบัติในการลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. เนื่องจากเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) ว่า เป็นเรื่องที่ไม่เคยปรากฏในการพิจารณามาก่อน และถือเป็นเรื่องใหม่ เพราะเป็นเพียงนักลงทุนรายย่อยที่ทำการซื้อขายผ่านตลาดหลักทรัพย์เท่านั้น แต่เมื่อ กกต.ชี้มาในลักษณะเช่นนี้ ก็เท่ากับว่าทุกบริษัท ไม่ว่าจะเป็นทรู ดีแทค และอื่นๆ ที่ได้รับสัมปทานใบอนุญาตการสื่อสาร และมีนักการเมืองหรือผู้สมัครที่เข้าไปซื้อหุ้นลงทุนในบริษัทดังกล่าว ก็ถือว่าเข้าข่ายมีลักษณะต้องห้ามเช่นกัน โดยจะได้ยื่นคำร้องเพื่อเสนอต่อศาลฎีกาให้พิจารณาในเรื่องดังกล่าวต่อไป.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง