สธ.บอกสงกรานต์เลือด ยอด‘เจ็บ-ตาย’เพิ่ม91%

อุบัติเหตุช่วงสงกรานต์  เสียชีวิต 197 ราย เจ็บ 1,738 คน สธ.เผยสถิติรุนแรงขึ้น 91% เหตุไม่คาดเข็มขัดนิรภัย พบ 5 วันดำเนินคดีกว่า 6พันราย ส่วนใหญ่เมาแล้วขับ ด้าน มท.-ตร.-ปภ. รับมือประชาชาชนเดินทางกลับเข้ากรุง ทั้งทางถนน ทางราง และทางอากาศ รวม 5.3 ล้านคน

วันที่ 16 เม.ย.2566 ที่กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ.2566 สรุปสถิติอุบัติเหตุทางถนนประจำวันที่ 15 เม.ย.2566 เกิดอุบัติเหตุ 311 ครั้ง ผู้เสียชีวิต 31 ราย บาดเจ็บ 304 คน สถิติอุบัติเหตุสะสม 5 วัน (11-15 เม.ย.2566) เกิดอุบัติเหตุรวม 1,744 ครั้ง ผู้เสียชีวิต 197 ราย ผู้บาดเจ็บ 1,738 คน สาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ขับรถเร็วเกินกำหนด ร้อยละ 35.37 ดื่มแล้วขับ ร้อยละ 25.72 ยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ รถจักรยานยนต์ ร้อยละ 78.93 ส่วนใหญ่เกิดบนถนนกรมทางหลวง ร้อยละ 42.77 ถนนใน อบต./หมู่บ้าน ร้อยละ 34.41 บริเวณจุดเกิดเหตุเป็นทางตรงร้อยละ 79.74 ช่วงเวลาที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ 15.01-16.00 น. และช่วงเวลา 18.01-19.00 น. ร้อยละ 8.36 ผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตอยู่ในช่วงอายุ 20-29 ปี ร้อยละ 21.19

 โดยจังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ น่านและประจวบคีรีขันธ์ (จังหวัดละ 14 ครั้ง) จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสูงสุด ได้แก่ น่าน (14 คน) จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสูงสุด ได้แก่ กระบี่ ขอนแก่น เลย และสระแก้ว (จังหวัดละ 2 ราย) ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ได้จัดตั้งจุดตรวจหลัก 1,873 จุด เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน 54,495 คน เรียกตรวจยานพาหนะ 345,368 คัน มีผู้ถูกดำเนินคดี รวม 51,180 ราย มีความผิดฐานไม่มีใบขับขี่ 14,774 ราย ไม่สวมหมวกนิรภัย 14,593 ราย

นายบุญธรรม เลิศสุขีเกษม อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย   เลขานุการศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน (ศปถ.) กล่าวว่า ได้ประสานจังหวัดจัดเจ้าหน้าที่อำนวยความสะดวกในเส้นทางที่มีการจราจรหนาแน่น พร้อมดูแลเส้นทางสายรอง ทางเลี่ยง ทางลัดที่เป็นถนนทางตรง วิ่งสวนเลน และไม่มีเกาะกลาง ซึ่งผู้ขับขี่จะใช้ความเร็วสูง ทำให้เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ รวมถึงกวดขันการจอดรถริมทางซื้อของฝาก และร้านค้าที่วางสิ่งของล้ำช่องทาง เพื่ออำนวยการจราจรให้คล่องตัวและป้องกันอุบัติเหตุจากการแซงริมไหล่ทาง ตลอดจนขอให้ประชาชนวางแผนการเดินทาง เพื่อกระจายการเดินทางและเหลื่อมเวลาการเดินทาง นอกจากนี้ วันนี้บางพื้นที่จะเกิดฝนฟ้าคะนอง ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุทางถนนจากสภาพถนนเปียกลื่นและทัศนวิสัยในการมองเห็นเส้นทางจำกัด จึงขอให้ประชาชนเพิ่มความระมัดระวังการใช้รถใช้ถนนเป็นพิเศษ

นายวีระกิตติ์ หาญปริพรรณ์ อธิบดีกรมคุมประพฤติ เปิดเผยถึงสถิติคดีที่ศาลสั่งคุมความประพฤติวันที่ 5 ของ 7 วันอันตราย (15 เมษายน 2566) ว่ามีคดีทั้งสิ้น 2,435 คดี เป็นคดีขับรถขณะเมาสุรา 2,407 คดี คดีขับเสพ 28 คดี โดยสถิติคดีเมาขับยอดสะสม 5 วัน ได้แก่ อันดับหนึ่ง กรุงเทพมหานคร 384 คดี รองลงมาจังหวัดนนทบุรี 333 คดี และอันดับสามจังหวัดร้อยเอ็ด 331 คดี เมื่อเปรียบเทียบสถิติคดีในวันที่ 5 ของ 7 วันอันตรายปี 2565 พบว่า คดีขับรถขณะเมาสุรา จำนวน 1,948 คดี และปี 2566 จำนวน 2,407 คดี เพิ่มขึ้นจำนวน 459 คดี คิดเป็นร้อยละ 23.56

สำหรับยอดสะสม 5 วันของ 7 วันอันตราย (11-15 เมษายน 2566) จำนวน 6,116 คดี จำแนกเป็น คดีขับรถขณะเมาสุรา 5,869 คดี คิดเป็นร้อยละ 95.96, คดีขับรถประมาท 23 คดี คิดเป็นร้อยละ 0.38, คดีขับซิ่ง 1 คดี คิดเป็นร้อยละ 0.02, คดีขับเสพ 223 คดี คิดเป็นร้อยละ 3.64

นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่า ศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข สธ. ได้รวบรวมข้อมูลผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ตั้งแต่วันที่ 11-16 เมษายน 2566 ช่วงเวลา 08.00 น. พบว่ามีผู้บาดเจ็บสะสม 17,775 ราย เพิ่มขึ้นจากปี 2565 คิดเป็น ร้อยละ 19.26 มีผู้เสียชีวิตสะสม 232 ราย ลดลงจากปีก่อน ร้อยละ 26.81 ต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลสะสม 3,814 ราย เพิ่มขึ้นร้อยละ 81.84 โดยจังหวัดที่เสียชีวิตสูงสุด 3 อันดับ ได้แก่ นครราชสีมา 12 ราย, เชียงราย 9 ราย, ปทุมธานีและเชียงราย จังหวัดละ 8 ราย ส่วนจังหวัดที่บาดเจ็บสูงสุด 3 อันดับ ได้แก่ เชียงใหม่ 811 ราย, นครราชสีมา 782 ราย และขอนแก่น 665 ราย

"ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุจนได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต ยังคงเป็นการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

ไม่คาดเข็มขัดนิรภัย และไม่สวมหมวกนิรภัย ซึ่งพบว่าเพิ่มขึ้นจากปี 2565 คิดเป็นร้อยละ 10.77, ร้อยละ 91.95 และ ร้อยละ 31.51 ตามลำดับ ซึ่งการดื่มแล้วขับทำให้ขาดสติ ความสามารถในการขับขี่ลดลง จึงเน้นย้ำเรื่องขับไม่ดื่ม ดื่มไม่ขับ ส่วนการไม่คาดเข็มขัดนิรภัยและไม่สวมหมวกนิรภัย ยิ่งส่งผลให้การบาดเจ็บมีความรุนแรงเพิ่มขึ้น" นพ.โอภาสกล่าว

พล.ต.ท.ประจวบ วงศ์สุข ผู้ช่วย ผบ.ตร. ในฐานะรอง ผอ.ศูนย์ฯ ประชุมศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ.2566 กล่าวว่า ขอชมเชยการปฏิบัติงานของทุกหน่วยในการป้องกันและลดอุบัติเหตุในห้วง 5 วันของช่วง 7 วัน ควบคุมเข้มข้น โดยสถิติในภาพรวมของ ตร. เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ย 3 ปีย้อนหลัง ยังอยู่ในเป้าหมายที่วางไว้ มีเพียงบางจังหวัดที่มีจำนวนสถิติของการเกิดอุบัติเหตุ ผู้บาดเจ็บ และผู้เสียชีวิตเกินเป้าในภาพรวมที่ตั้งไว้แล้ว ให้ปรับแผนการปฏิบัติให้เข้มข้นขึ้นในช่วง 2 วันที่เหลือ และขอชมเชยสำหรับจังหวัดที่ยังไม่มีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุ ขอให้รักษามาตรฐานไว้จนเสร็จสิ้นเทศกาลสงกรานต์

นายสัญลักข์ ปัญวัฒนลิขิต กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) เปิดเผยถึงการเตรียมความพร้อมอำนวยความสะดวกประชาขนเดินทางกลับเข้ากรุงเทพฯ ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ปี 2566 ว่า บขส.ได้คาดการณ์ว่าประชาชนจะทยอยเดินทางตั้งแต่ช่วงเย็นวันที่ 16-18 เมษายน 2566 เฉลี่ยวันละ 58,000 คน ใช้รถโดยสารประมาณวันละ 3,800 เที่ยว พร้อมทั้งได้กำชับไปยังนายสถานีเดินรถทั่วประเทศ และเจ้าหน้าที่ บขส.ที่เกี่ยวข้อง จัดเตรียมความพร้อมของพนักงานประจำรถ สถานีขนส่ง และรถโดยสารให้เพียงพออำนวยความสะดวกประชาชนในการเดินทางกลับเข้ากรุงเทพมหานคร รวมทั้งกำชับให้ บขส. และรถร่วมฯ ปฏิบัติตามมาตรการความปลอดภัยของกระทรวงคมนาคม ในการดูแลประชาชนให้ได้รับความสะดวกตลอดเทศกาล

สำหรับบรรยากาศที่สถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพฯ (หมอชิต 2) มีประชาชนทยอยเดินทางกลับจากภูมิลำเนาในช่วงเทศกาลตั้งแต่เช้ามืด โดยเป็นเส้นทางรถสายยาวจากภาคเหนือ-อีสาน ที่รถจะมาถึงสถานีในช่วงเช้า ส่วนใหญ่ต่างหอบหิ้วข้าวสาร ของกินของใช้กลับจากภูมิลำเนาติดมือมาด้วย ทำให้บริเวณสถานีขนส่งค่อนข้างคึกคัก ขณะที่รถแท็กซี่ขาดช่วงเป็นระยะ เนื่องจากผู้โดยสารมีจำนวนมาก

ด้านกระทรวงคมนาคม เปิดเผยถึงการดำเนินงานตามแผนอำนวยความสะดวกและปลอดภัยรองรับการเดินทางของประชาชน ระหว่างวันที่ 11-17 เม.ย.2566 ซึ่งมุ่งให้ประชาชน “เดินทางสะดวก ปลอดภัย ห่างไกล COVID-19” พร้อมการรณรงค์มาตรการ “คนบ้านใกล้ ออกทีหลัง-กลับไว บ้านไกล ออกไว-กลับทีหลัง” ส่งผลให้มีบริการขนส่งสาธารณะที่เพียงพอกับความต้องการเดินทาง ลดความหนาแน่นของการจราจร ประชาชนเดินทางได้สะดวก ซึ่งในระหว่างวันที่ 11-12 เม.ย.2566 ที่ผ่านมา มีการเดินทางของประชาชนมากกว่า 5.1 ล้านคน-เที่ยว และมีปริมาณการเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะ จำนวนกว่า 8.6 แสนคน-เที่ยว กระทรวงคมนาคมได้เตรียมการระบบขนส่งสาธารณะทั้งทางบก ทางน้ำ และทางอากาศไว้รองรับอย่างเพียงพอ จำนวนกว่า 9.5 แสนคน-เที่ยว ทำให้ไม่มีผู้โดยสารตกค้าง และมีปริมาณการจราจรเข้า-ออกกรุงเทพฯ กว่า 2.1 ล้านคัน กระทรวงคมนาคมได้เตรียมความพร้อมโครงสร้างพื้นฐาน เช่น การแก้ไขจุดเสี่ยงจุดอันตรายบนทางหลวง และทางหลวงชนบท การตรวจสอบพนักงานผู้ควบคุมระบบขนส่งสาธารณะในทุกประเภท ส่งผลให้การเดินทางของประชาชนเกิดความปลอดภัย จำนวนผู้บาดเจ็บและจำนวนผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนลดลงจากช่วงเวลาเดียวกันในปี พ.ศ.2562 (ช่วงก่อนสถานการณ์โควิด-19) ร้อยละ 24 และ ร้อยละ 50 ตามลำดับ สำหรับทางราง ทางน้ำ และทางอากาศ ไม่มีการเกิดอุบัติเหตุ

สำหรับการเตรียมความพร้อมรองรับการเดินทางกลับเข้ากรุงเทพฯ ระหว่างวันที่ 16-17 เม.ย.2566 กระทรวงคมนาคมคาดการณ์ว่าจะมีการเดินทางทั้งทางถนน ทางราง และทางอากาศ รวม 5.3 ล้านคน-เที่ยว ซึ่งจะสูงกว่าการเดินทางขากลับในปี พ.ศ.2562 (ช่วงก่อนสถานการณ์โควิด-19) กว่าร้อยละ 20 กระทรวงได้เตรียมความพร้อมระบบขนส่งสาธารณะทั้งรถโดยสาร รถไฟ เรือ เครื่องบิน รวมกว่า 21,000 เที่ยว รองรับการเดินทางของประชาชนจำนวน 9.8 แสนคน ประกอบด้วย รถโดยสาร 17,093 เที่ยว รถไฟ 477 ขบวน เครื่องบินภายในประเทศ 1,226 เที่ยวบิน และเที่ยวบินระหว่างประเทศ 2,189 เที่ยวบิน และยังคงเน้นย้ำมาตรการด้านความปลอดภัยอย่างเข้มข้น

นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ติดตามการเดินทางของประชาชนช่วงเทศกาลสงกรานต์ พร้อมรับทราบการรายงานของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) พร้อมแสดงความห่วงใยต่อการเดินทางสัญจรของประชาชนช่วงเทศกาลสงกรานต์ ซึ่งในวันที่ 16-17 เม.ย. เป็นวันที่ประชาชนส่วนใหญ่เดินทางกลับจากภูมิลำเนาและท่องเที่ยว ทำให้ถนนสายหลักและสายรองมีปริมาณการจราจรหนาแน่น รวมทั้งจะมีปริมาณการเดินทางสูงในเส้นทางขาเข้ากรุงเทพฯ นายกรัฐมนตรีจึงได้กำชับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จังหวัด และส่วนท้องถิ่น ดูแลอำนวยความสะดวกประชาชนในการเดินทางกลับ เน้นดูแลเส้นทางขาเข้ากรุงเทพฯ-ขาออกจากจังหวัด.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง