8พรรค313เสียง พิธาดี๊ด๊าจัดรัฐบาลชื่นมื่น เปิดโรดแมปบริหารปท.

"พิธา" นำทีมก้าวไกลร่วมโต๊ะแกนนำ 5 พรรคพันธมิตรดินเนอร์ทอล์กจัดตั้งรัฐบาล พร้อมโชว์สื่อคล้องแขนถ่ายภาพชื่นมื่น บอกวงเจรจาพอใจ มั่นใจไม่มีอุบัติเหตุทางการเมืองแน่ ปัดแย้มการทำ MOU รอฟังแถลงข่าว 10 โมง 18 พ.ค.นี้ เผยมีเพิ่มอีก 2 พรรคจับมือรวมเป็น 8 พรรค 313 เสียง "โรม" ลั่นปิดสวิตช์ ม.272 ได้ประเทศเดินหน้า เชื่อแก้ ม.112 ไม่เป็นอุปสรรคพรรคร่วม ยันจุดยืนเดิมนำเข้าถกในสภา "ชลน่าน" จี้ "ส.ว." ฟังเสียง ปชช. "บิ๊กตู่" ระบุยังไม่ใช่เวลาฝากอะไรถึงรัฐบาลใหม่ "ภท." แถลงไม่หนุนนายกฯ แก้ ม.112 "อลงกรณ์" เตรียมชงบอร์ด ปชป.โหวตเลือก "ทิม" นายกฯ

ความคืบหน้าการจัดตั้งรัฐบาลของพรรคก้าวไกล (ก.ก.) ภายใต้การนำของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรค ที่มีนัดพรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตย 5   พรรค ได้แก่ พรรคเพื่อไทย, พรรคไทยสร้างไทย, พรรคเสรีรวมไทย, พรรคประชาชาติ และพรรคเป็นธรรม ดินเนอร์ทอล์กเพื่อเตรียมการจัดตั้งรัฐบาลครั้งแรก ที่ร้าน Chez Miline ย่านถนนสุโขทัย เขตดุสิต กรุงเทพฯ ตามกำหนดนัดวันที่ 17 พ.ค. เวลา 16.00 น.นั้น

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เวลา 14.50 น. แกนนำพรรคก้าวไกล นำโดยนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรรค, นายชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรค, น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล และนายพิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์ รองหัวหน้าพรรค เดินทางออกจากที่ทำการพรรคไปยังร้าน Chez Miline ย่านถนนสุโขทัย เขตดุสิต ตามที่มีการนัดหมายทั้ง 5 พรรคพันธมิตรเอาไว้

นายพิธากล่าวก่อนออกเดินทางว่า  สบายดี ไม่มีอะไร อย่างที่ทุกท่านทราบกันดีว่าจะมีการประชุมภายในกับหัวหน้าพรรคที่ได้ประกาศไปแล้วว่า ความชัดเจนและความเป็นเอกภาพในการทำงานของพวกเราต่อจากนี้จะเป็นอย่างไร   เพื่อไม่ให้เกิดสุญญากาศมาก

 “จะมีการพูดคุยกัน รวมถึงพูดคุยเรื่องความคืบหน้าของสถานการณ์ทางการเมือง รวมถึงเฉลิมฉลองผลการเลือกตั้ง และจะมีแถลงข่าววันพรุ่งนี้ (18 พ.ค.) ขอให้รอฟังการแถลงข่าว ขอย้ำว่าเรามั่นใจสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้” นายพิธากล่าว

ต่อมาเวลา 15.15 น. นายพิธา พร้อมแกนนำพรรคที่เดินทางมาจากที่ทำการพรรค เดินทางมาถึงร้านอาหาร Chez Miline ถนนสุโขทัย รวมทั้งมี น.ส.พรรณิการ์ วานิช ผู้ช่วยหาเสียงพรรคก้าวไกล และ พล.ต.ต.สุพิศาล ภักดีนฤนาถ รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล เข้าร่วมด้วย

ในส่วน 5 พรรคการเมืองที่เดินทางมา ได้แก่ นายปิติพงศ์ เต็มเจริญ หัวหน้าพรรคเป็นธรรม, นายกัณวีร์ สืบแสง ว่าที่ ส.ส.พรรคเป็นธรรม, พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย, คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ หัวหน้าพรรคไทยสร้างไทย, นายสุพันธุ์ มงคลสุธี รองหัวหน้าพรรคไทยสร้างไทย, น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ รองหัวหน้าพรรคไทยสร้างไทย, นายโภคิน พลกุล ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรคไทยสร้างไทย, นายชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย, นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ แกนนำพรรคเพื่อไทย, นายประเสริฐ จันทรรวงทอง เลขาธิการพรรคเพื่อไทย,  นายภูมิธรรม เวชยชัย รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย, นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา หัวหน้าพรรคประชาชาติ และ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการพรรคประชาชาติ

พิธามั่นใจตั้ง รบ.ราบรื่น

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การพูดคุยเริ่มต้นเวลา 16.00 น. ใช้เวลา 2 ชั่วโมง กระทั่งเวลา 18.00 น.ได้เสร็จสิ้น แต่ทางแกนนำพรรคการเมืองที่เข้าร่วมหารือไม่ได้แถลงข่าวข้อสรุปการพูดเคย เพียงแต่ลงมาให้สื่อมวลชนเก็บภาพ ทั้งการคล้องแขนถ่ายภาพร่วมกัน การยืนเรียงแถวโบกมือถ่ายภาพ โดยไม่ให้สัมภาษณ์แต่อย่างใด

นายพิธากล่าวเพียงสั้นๆ ว่า  “ทุกอย่างเป็นไปได้ด้วยดี จะนัดแถลงข่าวอย่างเป็นการอีกครั้งในวันที่ 18 พ.ค. เวลา 10.00 น. แต่ยังไม่กำหนดสถานที่" 

จากนั้นเวลา 18.10 น. นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะคณะก้าวหน้า และนายปิยบุตร แสงกนกกุล  เลขาธิการคณะก้าวหน้า ได้เดินทางมาถึงสถานที่พูดคุย โดยผู้สื่อข่าวพยายามสอบถามว่าการที่เดินทางมาวงพูดคุยจัดตั้งรัฐบาลวันนี้ จะมีประเด็นหรือเนื้อหาอะไรมาพูดคุยเพิ่มเติมหรือไม่

นายปิยบุตรกล่าวว่า ไม่เกี่ยวกับตน ตนเป็นเพียงผู้ช่วยหาเสียง วันนี้พวกเขามาฉลองชัย เขาจึงชวนพวกตนมาทานข้าวด้วยเท่านั้น 

กระทั่งเวลา 20.00 น. นายพิธาและแกนนำพรรค ก.ก. ได้เดินทางออกจากร้าน โดยนายพิธากล่าวว่า ขอให้รอฟังแถลงวันที่ 18 พ.ค. ที่โรงแรมโอกุระ เพรสทีจ ซึ่งก็มีความชัดเจนในระดับหนึ่งที่พอจะแถลงข่าวได้

เมื่อถามว่า การพูดคุยในวันนี้ถือเป็นที่พอใจหรือไม่ นายพิธายิ้มและกล่าวว่า เป็นที่พอใจและชื่นมื่นพอที่จะจัดตั้งรัฐบาลได้ อย่างที่บอกว่าอยากให้มีส่วนร่วมทั้งความชัดเจนและมีเสถียรภาพในการจัดตั้งรัฐบาล ส่วนจะมีการทำ MOU กันเลยหรือไม่นั้น ขอชี้แจงในวันพรุ่งนี้ว่ามีโรดแมปอย่างไร

ถามว่า ประชาชนค่อนข้างเป็นห่วงเรื่องการโหวตนายกรัฐมนตรี นายพิธา กล่าวว่า ขอให้มั่นใจในเอกภาพ และความชัดเจนของพรรคที่ร่วมจัดตั้งรัฐบาล ยืนยันว่าสบายใจได้ ไม่มีความไม่แน่นอนอะไรที่น่าวิตกกังวล จะพยายามให้มีเสถียรภาพในการบริหารประเทศให้มากที่สุด และเร็วที่สุด ขอย้ำว่าไม่มีอุบัติเหตุทางการเมืองแน่นอน

เวลา 20.10 น. นพ.ชลน่านเดินทางกลับพร้อมให้สัมภาษณ์ว่า ขณะนี้ทราบว่ามีอีกสองพรรคจะเข้าร่วมคือพรรคพลังสังคมใหม่ 1 ที่นั่ง และเพื่อไทยรวมพลัง 2 ที่นั่ง โดยประสานตรงไปยังนายพิธาเพื่อขอเข้าพรรคร่วมรัฐบาล 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ทำให้ขณะนี้มีพรรคร่วมกันจัดตั้งรัฐบาลเป็น 8 พรรค รวม 313 ที่นั่ง 

ก่อนหน้านี้ ในช่วงเช้า นายชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล ซึ่งเดินทางไปร่วมงานรำลึก 31 ปี เหตุการณ์พฤษภาประชาธรรม ที่สวนสันติพร อนุสรณ์สถานพฤษภาประชาธรรม ให้สัมภาษณ์ถึงการนัดแกนนำพรรคที่จะร่วมจัดตั้งรัฐบาลมาพูดคุยว่า การพูดคุยครั้งนี้เป็นการพูดคุยเบื้องต้น ยังไม่ได้ลงรายละเอียด MOU เนื่องจากต้องใช้เวลาเป็นกระบวนการหลังจากนี้

ถามว่า การพูดคุยจะหารือขอให้ฝ่ายค้านสนับสนุนนายพิธาโดยไม่ร่วมรัฐบาลหรือไม่ นายชัยธวัชกล่าวว่า คงไม่ใช่บทบาทของพรรคก้าวไกล ไม่สามารถที่จะก้าวก่ายแทรกแซงการตัดสินใจของแต่ละพรรคการเมืองได้ วันนี้จะเน้นพูดคุยภายในพรรคร่วมรัฐบาลชุดใหม่เป็นหลัก

"หากมีโอกาสจะประสานงานพูดคุยกับ ส.ว.ให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ เพื่อทำความเข้าใจ และคลายความกังวลในส่วนที่มีมายาคติต่อพรรคก้าวไกล ทั้งนี้ไม่ได้กังวลที่จะไปพูดคุยกับ ส.ว. เนื่องจากการพูดคุย เปิดใจคุยกันน่าจะเป็นสิ่งที่ดีที่สุด เชื่อว่า ส.ว.หลายท่านมีวุฒิภาวะ คงไม่อยากเห็นทางตันทางการเมือง" เลขาธิการพรรคก้าวไกลระบุ

ชี้แก้ 112 ไม่เป็นอุปสรรค

นายรังสิมันต์ โรม โฆษกพรรคก้าวไกล กล่าวว่า การตั้งรัฐบาลขณะนี้เรากำลังพยายามทำอยู่ ซึ่งกระบวนการที่ทำอยู่ขณะนี้คือการปิดสวิตช์มาตรา 272 ที่เปิดให้การจัดตั้งรัฐบาลเป็นไปตามกลไกปกติ การมีเสียงเกิน 250 เสียงในสภาถือว่าเพียงพอแล้ว เมื่อพรรคก้าวไกลรวมเสียงจากพรรคต่างๆ ได้ 310 เสียง ก็จะเป็นรัฐบาลที่แข็งแรงมาก และสามารถผลักดันนโยบายต่างๆได้ การจัดตั้งรัฐบาลในรอบนี้เป็นหน้าที่ที่ทุกฝ่ายต้องช่วยกัน

"ส.ว.เป็นหนึ่งในนั้นในการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี รวมถึงบางพรรคที่จะเป็นฝ่ายค้านด้วย ถ้ามีการผลักดันให้มีการปิดสวิตช์มาตรา 272 ได้จริง ประเทศจะเดินหน้าได้ และไม่เกิดความขัดแย้ง โดยผลการเลือกตั้งวันที่ 14 พ.ค.ที่ผ่านมา สะท้อนชัดแล้วว่าพรรคใดได้อันดับหนึ่งหรืออันดับสอง ถ้าเคารพกติกา ซึ่งสอดคล้องกับเจตจำนงของประชาชน ทุกอย่างก็จบ" นายรังสิมันต์กล่าว

ถามว่า ส.ว.ระบุให้พรรคก้าวไกลรวมเสียงให้เกิน 376 เสียง นายรังสิมันต์ กล่าวว่า การปิดสวิตช์มาตรา 272 คือความพยายามตั้งแต่ช่วงการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เป็นการปิดสวิตช์ ส.ว.โหวตเลือกนายกฯ แต่ในความเป็นจริงต่อให้มาตรา 272 ไม่ถูกปิด อีกไม่นานก็จะถูกปิด พรรคก้าวไกลที่เป็นพรรคอันดับหนึ่งต้องเป็นฝ่ายจัดตั้งรัฐบาล ทุกฝ่ายมีหน้าที่ต้องผลักดันให้เกิดกระบวนการเช่นนั้น การที่ ส.ว.บอกว่าให้ไปรวมเสียงเกินกึ่งหนึ่งของทั้งสองสภา อาจจะสร้างความรู้สึกว่าคือการไม่เคารพเสียงประชาชนที่ออกมาใช้สิทธิเลือก การโหวตเลือกนายพิธาเป็นนายกฯ ตนเข้าใจว่ามีความไม่ชอบกันอยู่ แต่นี่คือการปลดล็อกกฎหมายที่เป็นความต้องการของประชาชน จึงอย่าสร้างเงื่อนไขที่ทำให้เกิดการไม่ฟังเสียงของประชาชน

เมื่อถามว่า การโน้มน้าวพรรคอื่นให้โหวตนายพิธาเป็นนายกฯ ถือว่าใกล้ความจริงแล้วหรือไม่ นายรังสิมันต์ กล่าวว่า เราต้องคุยทุกฝ่าย เพราะที่ผ่านมามี ส.ส.จำนวนหนึ่งที่โหวตปิดสวิตช์มาตรา 272 และเราอยากให้ทุกคนมาช่วยการคืนความปกติในครั้งนี้ด้วย เพราะการจัดตั้งรัฐบาลกับการเลือกนายกฯ ตามมาตรา 272 เป็นคนละส่วนกัน

ซักว่า นายเสรี สุวรรณภานนท์  ประธาน กมธ.การพัฒนาการเมืองฯ วุฒิสภา ตั้งคณะทำงานเพื่อตรวจสอบนายพิธาและพรรคก้าวไกลหลายประเด็น เช่น การถือหุ้นสื่อ และนโยบายแก้ไขมาตรา 112 นายรังสิมันต์กล่าวว่า พรรคก้าวไกลยินดีที่จะถูกตรวจสอบ แต่เราไม่อยากให้การตรวจสอบมีจุดมุ่งหมายที่ต้องการทำลายกันทางการเมืองมาเป็นธงนำ แต่ควรนำหลักฐานและข้อเท็จจริงมาเป็นธงนำ ทั้งนี้ หากใช้ กมธ.ก็ต้องระมัดระวังเรื่องการใช้เบี้ยประชุม และทรัพยากรของรัฐที่อาจจะถูกมองว่าใช้กลไกสภามาสกัดพรรคก้าวไกลเป็นรัฐบาล ถ้าทำแบบนี้ ส.ว.จะถูกวิพากษ์วิจารณ์ และจะเกิดแรงเสียดทาน

"เรื่องการตรวจสอบการแก้ไขการมาตรา 112 นั้น ควรจะเสนอให้ตรวจสอบตั้งนานแล้ว เพราะเราเสนอมาเป็นปี ดังนั้นการเสนอให้มาตรวจสอบจึงถูกมองเป็นเรื่องการเมือง ส่วนการถือหุ้นสื่อก็เป็นไปตามกระบวนการ และเมื่อเราเปิดทีวีวันนี้ เราไม่เจอช่องไอทีวี เราจึงไม่กังวล เพราะเคยมีคำพิพากษาศาลฎีกามาแล้ว ก็เป็นบรรทัดฐานแล้วว่า การมีหุ้นของนายพิธาจะทำให้เกิดการครอบงำได้" นายรังสิมันต์กล่าว

โฆษกพรรคก้าวไกลกล่าวว่า พรรคอยากตั้งรัฐบาลที่ตั้งจากพรรคการเมืองที่เคยทำงานร่วมกันมา และการเริ่มเจรจาตั้งรัฐบาลไม่ได้คุยเรื่องการแบ่งกระทรวง แต่เราจะมาคุยกันว่าอยากจะทำให้ประเทศไปในทิศทางใด และจะทำนโยบายใดบ้าง เมื่อดูท่าทีจากพรรคต่างๆ พบว่าบรรยากาศดี และไม่มีข้อขัดแย้งที่จะทำให้ตั้งรัฐบาลไม่ได้

"การแก้ไขมาตรา 112 พบว่ามีบางมุมที่มองไม่ตรงกันบ้าง แต่ไม่ใช่ว่าคุยกันไม่ได้ จึงมองอย่างมีความหวังว่าจะนำไปสู่การแก้ปัญหา ดังนั้นมั่นใจว่าการเสนอแก้ไขมาตรา 112 ไม่น่าเป็นอุปสรรคในการจัดตั้งรัฐบาล และเรายังยืนยันในจุดยืนเดิมว่าต้องมาพูดคุยกันโดยใช้กลไกสภา แต่อย่าทำให้แท้งตั้งแต่แรก" โฆษกพรรคก้าวไกลกล่าว     

จี้ ส.ว.ฟังเสียงประชาชน

ขณะที่ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย (พท.) ให้สัมภาษณ์ช่วงเช้าว่า การตั้งรัฐบาลเราให้สิทธิ์และให้เกียรติกับพรรคก้าวไกลในฐานะแกนนำจัดตั้งรัฐบาลเป็นผู้กำหนด ฉะนั้นประเด็นที่จะพูดคุยกันทางพรรคก้าวไกลจะเป็นผู้กำหนดว่าเขาต้องการอะไร หรือลงลึกขนาดไหน เพราะถือว่าเป็นการประชุมอย่างเป็นทางการในระดับพรรคเป็นครั้งแรก

"การตั้งเงื่อนไขของผมประกาศไปอย่างชัดเจนในการกำหนดแนวทาง แต่ประเด็นข้อหารือหรือเงื่อนไขต่างๆ เราถือว่าเป็นหน้าที่หลักของพรรคแกนนำจัดตั้ง ฉะนั้นจะเป็นหน้าที่หลักของเขาในการเป็นผู้เสนอ เราไม่มีเงื่อนไขเก็บไว้เพื่อที่จะไปต่อรอง เราจะรู้ข้อเสนอในสิ่งที่พรรคแกนนำจัดทำมาว่าเขาทำมาอย่างไร เอาตรงนั้นเป็นตัวตั้ง ส่วนรายละเอียดที่เราจะรับได้หรือไม่นั้น เป็นรายละเอียดเชิงลึกที่ต้องพูดคุยกัน" นพ.ชลน่านกล่าว

หัวหน้าพรรค พท.กล่าวว่า นายพิธาได้แถลงไปแล้วว่าการเลือกตั้งครั้งนี้เป็นฉันทามติ และอาณัติจากพี่น้องประชาชนที่มอบหมายให้ฝ่ายประชาธิปไตยจำนวนกว่า 300 เสียง ซึ่งขณะนี้ 310 เสียงก็ถือว่าเป็นเสียงข้างมาก ฉะนั้นก็ควรเป็นไปตามหลักการ นั่นหมายความว่า ส.ว.เห็นควรจะต้องยอมรับเสียงข้างมากของประชาชน

ถามว่า หากพรรคก้าวไกลรวบรวมเสียงไม่ได้ พรรคเพื่อไทยจะช่วยพรรคก้าวไกลในการเดินขอคะแนนเสียงหรือไม่ นพ.ชลน่านกล่าวว่า ถือเป็นตัวเลือกในอีกแนวทางหากได้เสียง ส.ว.ไม่พอ  แต่ข้อเท็จจริงจะเกิดขึ้นอย่างนั้นหรือไม่คงต้องรอดู เพราะมีเสียงข้างมาก เสียงข้างน้อย ทั้งนี้ หากเราตัดสินใจเข้าร่วมแล้วก็ต้องช่วยกัน ทำให้งานแต่งในครั้งนี้สัมฤทธิผล ไม่ว่าจะเป็นการพูดคุยเจรจากับ ส.ว.หรือ ส.ส.ที่เขามาโหวต โดยฟากฝั่งของ ส.ส.นั้น หลักการโดยทั่วไปคือ ไม่มีของฟรีในโลก โดยเฉพาะระบบการเมือง ถ้าเขาจะโหวตให้ เขาก็ต้องมีเงื่อนไขที่เขาจะได้ประโยชน์จากตรงนี้ คือการร่วมรัฐบาลไปผลักดันนโยบาย

ซักว่า 310 เสียงก็พอต่อการตั้งรัฐบาลแล้วใช่หรือไม่ หัวหน้าพรรค พท.กล่าวว่า เป็นรัฐบาลที่เข้มแข็ง และเหมาะสมที่สุด โดยมองว่าหากมากไปกว่านี้จะซ้ำรอยรัฐบาล 377 เสียงในสมัยพรรคไทยรักไทย จนทำให้อีกฝั่งใช้วาทกรรมเผด็จการรัฐสภาในการนำมาเป็นต่อรองเชิงอำนาจ

ถามว่า ได้มีการวิเคราะห์ทฤษฎีในการจัดตั้งรัฐบาลขั้วต่างๆ ว่าหากเพื่อไทยไม่ได้จับมือกับก้าวไกล มีแนวโน้มอาจไปจับกับขั้วอื่นๆ ในฝ่ายรัฐบาลปัจจุบันหรือไม่ นพ.ชลน่านยืนยันว่า ไม่มีโอกาสที่จะเป็นไปได้ หากพรรคเพื่อไทยไม่จับกับก้าวไกล พรรคก้าวไกลก็จะขยับไม่ได้เลย แต่เรายอมรับฉันทามติของพี่น้องประชาชน เราไม่มีเงื่อนไขใดๆ

 “แม้เราจะเป็นเจ้าสาวสวยๆ แต่เราไม่เคยกำหนดว่าจะต้องเอาสินสอดทองหมั้น จะเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ เราไม่เคยเสนอก่อน เราเพียงแค่บอกว่าคุณก็เสนอมาสิ เราจะดูว่าเหมาะสมกับเราหรือไม่  เท่านั้นเอง” นพ.ชลน่านกล่าว

เมื่อถามว่า งานแต่งครั้งนี้จะสำเร็จภายในระยะเวลา 3 เดือนหรือไม่ นพ.ชลน่านกล่าวว่า ดูจากความจำเป็นแล้วก็ควรสำเร็จเพื่อประเทศชาติและประชาชน หากช้าไปอีกก็จะมีแต่ความเสียหาย ทุกฝ่ายต้องการความสงบ ซึ่งความสงบต้องช่วยกันสร้าง ยกเว้นแต่อีกฝ่ายหนึ่งต้องการที่จะให้เกิดความไม่สงบ เพื่อใช้เป็นร่องรอยของการใช้อำนาจ ซึ่งเราต้องระมัดระวังไม่ให้ตกเป็นเครื่องมือของเขา

ย้ำว่าจะเกิดสถานการณ์จนทำให้เกิดสุญญากาศในการจัดตั้งรัฐบาลหรือไม่ แม้จะได้เสียงมาท่วมท้น นพ.ชลน่าน กล่าวว่า คงไม่ถึงขั้นนั้น เพราะทุกอย่างมีทางออก หากอ้างจากคำให้สัมภาษณ์ของนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ที่ระบุว่าทุกอย่างมีทางออก ขอเพียงทุกคนร่วมแรงร่วมใจกัน ซึ่งเราก็ชัดเจน และพร้อมว่าจะช่วยกันประคับประคองอุ้มชู เราพร้อมจะเป็นผนังทองแดงกำแพงเหล็กให้

หัวหน้าพรรค พท.ปฏิเสธแสดงความเห็นกรณีนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี จะกลับบ้านภายหลังการเลือกตั้ง โดยระบุว่า ไม่มีความเห็น เพราะสิ่งที่นายทักษิณพูดก็ชัดอยู่แล้ว ไม่ได้เกี่ยวกับพรรคเพื่อไทยจะเป็นหรือไม่เป็นรัฐบาล ซึ่งขณะนี้เป็นรัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งรักษาการอยู่

ไม่ถึงเวลาฝาก รบ.ใหม่

วันเดียวกัน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม กล่าวถึงคลิปขอบคุณประชาชนที่มาใช้สิทธิเลือกตั้งว่า เป็นเรื่องที่ต้องขอบคุณประชาชนใช่ไหมล่ะ เมื่อถามว่าจะฝากอะไรถึงรัฐบาลชุดใหม่ที่กำลังฟอร์มทีมอยู่ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ยังไม่ใช่เวลา และเรื่องนี้ยังมีกระบวนการอยู่  เมื่อถามย้ำว่า วันนี้อดีตพรรคร่วมฝ่ายค้านจะมีการพูดคุยเรื่องการจัดตั้งรัฐบาลกัน พล.อ.ประยุทธ์ไม่ตอบคำถาม พร้อมยกมือปฏิเสธตอบคำถาม

ถามถึงกรณีเกิดกระแสสังคมกดดันส.ว.ให้เลือกนายพิธาเป็นนายกรัฐมนตรี  ได้พูดคุยกับ ส.ว.บ้างหรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า เป็นไปตามกฎหมายและเป็นไปตามรัฐธรรมนูญนะ

นายสุชาติ​ ชมกลิ่น​ รมว.แรงงาน​ ในฐานะรองหัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) กล่าวถึงจุดยืนของพรรค  พปชร. หลังนายพิธ​าเรียกร้องให้ทุกพรรคการเมืองโหวตให้เป็นนายกรัฐมนตรีเพื่อผ่าทางตันปิดสวิตช์ ส.ว.ว่า  เป็นเรื่องของพวกเขาต้องไปคุยกันเอง ขอใจเย็นๆ เพราะขณะนี้ยังไม่รู้ว่าเมื่อรับรอง ส.ส.แล้วจะได้จำนวนเท่าใด ตนไม่ใช่กรรมการบริหารพรรคจึงตอบแทนไม่ได้ แต่ส่วนตัวไม่ได้มีนโยบายหรือความคิดตรงกับพรรคก้าวไกล ตนจะไปอยู่กับเขาได้อย่างไร เขาได้คะแนน 30% ของผู้มาใช้สิทธิ์ทั้งหมด 14 ล้านเสียง ได้ไม่ถึงครึ่ง

"ต้องเป็นกระจกเงาสะท้อนกลับไปบ้าง เหมือนเด็กงอแงกินขนม เรียกกินอมยิ้มอย่างเดียวมันต้องดูเหตุและผล ผู้ใหญ่หลายพรรคก็ให้สัมภาษณ์ไปแล้ว แต่ละพรรคมีจุดยืนมีนโยบายพรรคของตนเอง เขาจะไปแหกข้อบังคับพรรคเขาอย่างไร แต่ละพรรคมีนโยบายและจุดยืนเป็นของตัวเองที่ไปหาเสียง แม้ประชาชนจะเลือกเขามา 1-2 ล้านเสียง ก็มาเพราะนโยบายนี้ ถ้าไปช่วยคนที่นโยบายไม่เหมือนกันแล้วจะอยู่กันอย่างไร" นายสุชาติกล่าว

ย้ำว่า การที่ ส.ส.จะไม่โหวตให้ไม่ใช่การไม่เคารพเสียงจากประชาชนใช่หรือไม่ นายสุชาติกล่าวว่า เขามีแค่ 14 ล้านเสียง จาก 40​ ล้านเสียง แล้วถ้าคนที่เขาเลือกตนมา 4 ล้านเสียง เพราะเขาไม่เอานโยบายพรรคของนายพิธา​ ถ้าตนโหวตให้นายพิธา แล้วตนจะกลับบ้านได้อย่างไร​

ด้านพรรคภูมิใจไทย ออกแถลงการณ์ไม่สนับสนุนนายกรัฐมนตรีที่มีนโยบายแก้ไขหรือยกเลิกประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ตอนหนึ่งระบุว่า การเรียกร้อง ข่มขู่ กดดัน ต่อพรรคภูมิใจไทย ให้สนับสนุนแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคการเมืองที่มีนโยบายแก้ไขหรือยกเลิกประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 จะไม่มีผลให้พรรคภูมิใจไทย และสมาชิกพรรคภูมิใจไทยเปลี่ยนแปลงอุดมการณ์ และจุดยืนได้
"หากการจัดตั้งรัฐบาลที่มีนโยบายแก้ไขหรือยกเลิกประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ประสบผลสำเร็จ พรรคภูมิใจไทยพร้อมที่จะเป็นฝ่ายค้านตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล เพื่อประโยชน์ของประชาชน และปกป้องสถาบันสำคัญของชาติอย่างสุดความสามารถ" แถลงการณ์ตอนหนึ่งระบุ

ส่วนนายอลงกรณ์ พลบุตร รักษาการรองหัวหน้าพรรค ปชป. โพสต์เฟซบุ๊กในหัวข้อ “การเปลี่ยนผ่านรัฐบาลต้องราบรื่นและรวดเร็ว” ระบุว่า พรรคประชาธิปัตย์ประกาศชัดเจนในระหว่างการหาเสียงเลือกตั้งครั้งนี้ว่า จะฟังเสียงของประชาชนในการเลือกตั้ง เพื่อกำหนดจุดยืนของพรรคหลังทราบผลการเลือกตั้ง เมื่อประชาชนกว่า 14 ล้านคนเลือกพรรคก้าวไกลเป็นอันดับ 1 ของประเทศ ทั้ง ส.ส.แบบเขตเลือกตั้งและ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ ดังนั้นพรรค ปชป.ต้องเคารพเสียงของประชาชนด้วยการลงมติสนับสนุนนายพิธาเป็นนายกรัฐมนตรีโดยไม่มีเงื่อนไขร่วมรัฐบาล​  หากพรรคก้าวไกลสามารถรวมเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรได้สำเร็จ

"โดยผมจะเสนอแนวทางนี้ต่อที่ประชุมคณะกรรมการบริหารพรรคชุดรักษาการ ซึ่งจะมีการประชุมในสัปดาห์หน้า รวมทั้งแกนนำและสมาชิกพรรคทั่วทั้งประเทศ" นายอลงกรณ์กล่าว.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง