นายกฯแย้มข่าวดี เคาต์ดาวน์ปีใหม่!

“นายกฯ” สั่ง ศบค.คุยผู้ประกอบการจัดเคาต์ดาวน์ปีใหม่ แย้มอาจไฟเขียวงานกลางแจ้งก่อน ยอดผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่ม 4,912 ราย เสียชีวิต 33 ราย “สธ.” ติดตามนักท่องเที่ยวจาก 8 ประเทศกลุ่มเสี่ยงแล้ว 44 รายจาก 167 ราย ตรวจ RT-PCR ยังไม่มีใครติดโควิด "ที่ปรึกษากรมควบคุมโรค-หมอยง" ชี้ไทยหนีไม่พ้นโอไมครอน บอกมาตรการป้องกันตอนนี้แค่ชะลอโรค

เมื่อวันที่ 3 ธ.ค. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม กล่าวถึงการจัดงานเฉลิมฉลองในช่วงเทศกาลปีใหม่ว่า ได้สั่งการไปที่ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค.แล้ว ให้เร่งพิจารณาโดยการให้ผู้ประกอบการที่มีความประสงค์ได้มาพูดคุย หารือกันภายในสัปดาห์แรกของเดือนธ.ค. เพื่อให้มีเวลาในการเตรียมการ ซึ่งหลักๆ คงเป็นเรื่องของการจัดงานกลางแจ้ง เพราะช่วงนี้เป็นช่วงที่ต้องระมัดระวังในเรื่องของการระบาดอีกระลอกหนึ่ง

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ประเทศไทยยังโชคดีที่ยังตรวจไม่พบเชื้อไวรัสโควิดกลายพันธุ์โอไมครอน แต่ก็มีคนที่เคยเดินทางล่วงหน้าไปก่อน แล้วตอนนี้ก็ให้ติดตามมาทั้งหมด อยู่ที่ไหน อย่างไร เข้ามาแล้วและยังไม่ได้ออกไป ต้องตามตัวมาให้ครบ โดยให้ในพื้นที่ช่วยตรวจสอบมีการติดเชื้อหรือไม่ อย่างไร เพื่อเข้าสู่มาตรการของ ศบค.และสาธารณสุข แต่คิดว่าเจ้าตัวเองก็ต้องระมัดระวังตัวอยู่แล้ว

“ขณะนี้เป็นเรื่องที่น่ายินดี เพราะวันนี้สถิติการติดเชื้อ การรักษาหาย การเสียชีวิตลดลงมาตามลำดับ หลายสัปดาห์ที่ผ่านมาถือว่าสถานการณ์ค่อนข้างจะดีขึ้น กิจการหลายๆ อย่างก็ทยอยเปิดได้ ซึ่งเรื่องนี้ทาง ศบค.จะเร่งรัดพิจารณาภายในสัปดาห์หน้า เพื่อจะได้มีเวลาเตรียมการ”นายกฯ กล่าว

ขณะที่ พญ.สุมนี วัชรสินธุ์ ผู้อำนวยการสำนักสื่อสารความเสี่ยงและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ กรมควบคุมโรค ในฐานะผู้ช่วยรองโฆษก ศบค. แถลงสถานการณ์การแพร่ระบาดในประเทศไทยว่า พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 4,912 ราย เป็นการติดเชื้อในประเทศ 4,742 ราย มาจากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 4,606 ราย ค้นหาเชิงรุก 136 ราย เรือนจำ 157 ราย เดินทางมาจากต่างประเทศ 13 ราย ทำให้มียอดผู้ติดเชื้อสะสม 2,130,641 ราย หายป่วยเพิ่ม 5,844 ราย ทำให้มียอดหายป่วยสะสม 2,037,000 ราย อยู่ระหว่างรักษา 72,761 ราย อาการหนัก 1,315 ราย ใส่ท่อช่วยหายใจ 338 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 33 ราย เป็นชาย 16 ราย หญิง 17 ราย เป็นผู้เสียชีวิตที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป 24 ราย มีโรคเรื้อรัง 7 ราย พบผู้เสียชีวิตมากสุดอยู่ใน กทม. 4 ราย ทำให้มียอดผู้เสียชีวิตสะสม 20,880 ราย ขณะที่สถานการณ์โลกมียอดผู้ติดเชื้อสะสม 264,439,993 ราย เสียชีวิตสะสม 5,249,487 ราย

ส่วน 10 จังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อสูงสุดวันที่ 3 ธ.ค. ได้แก่ กทม. 685 ราย, นครศรีธรรมราช 414 ราย, สงขลา 312 ราย, ปัตตานี 209 ราย, สุราษฎร์ธานี 181 ราย, เชียงใหม่ 179 ราย, ชลบุรี 177 ราย, สมุทรปราการ 116 ราย, ขอนแก่น 103 ราย, ยะลา 103 ราย โดยมี 2 จังหวัดที่ไม่พบผู้ติดเชื้อรายใหม่คือ จ.นครพนม และมุกดาหาร ซึ่ง จ.นครพนมไม่พบผู้ติดเชื้อต่อเนื่องมาแล้ว 3 วัน อย่างไรก็ตาม พบคลัสเตอร์ใหม่หลายแห่ง ทั้งคลัสเตอร์โรงงาน ตลาด แคมป์คนงาน งานศพ โรงเรียน ค่ายทหาร ร้านอาหารและสถานบันเทิง

“สำหรับสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อกลายพันธุ์โอไมครอนขณะนี้กระจายไป 39 ประเทศทั่วโลก ประเทศที่พบผู้ติดเชื้อรายใหม่วันเดียวกันนี้คือ กานา นอร์เวย์ ฟินแลนด์ ไอร์แลนด์ ฝรั่งเศส สหรัฐอเมริกา สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) ซาอุดีอาระเบีย อินเดีย ทั้งหมดเป็นการพบเป็นเชื้อนำเข้าจากต่างประเทศ และทุกประเทศยังไม่พบเชื้อไม่ถึง 1% ของผู้ติดเชื้อในประเทศ จึงยังไม่มีการแพร่ระบาดในประเทศเหล่านั้น ในส่วนของประเทศไทยไม่รับนักท่องเที่ยวจากประเทศกลุ่มเสี่ยงสูง 8 ประเทศแอฟริกาตอนใต้” พญ.สุมนีกล่าว

ผู้ช่วยรองโฆษก ศบค.กล่าวว่า ตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค.ที่ผ่านมา ระหว่างวันที่ 15-27 พ.ย. มีคนจากประเทศกลุ่มเสี่ยงสูงเดินทางเข้ามาในประเทศจำนวน 333 ราย ออกจากประเทศไปแล้ว 61 ราย ทำการกักตัวครบ 14 วันแล้ว 105 ราย ยังไม่ครบ 14 วัน 167 ราย จึงต้องตามบุคคลเหล่านี้มาทำการตรวจ RT-PCR ซ้ำ จากข้อมูลสามารถติดตามตัวและนำตรวจได้แล้ว 44 ราย ระหว่างแถลงอยู่นี้มีตัวเลขเพิ่มเติมขึ้นไปที่ 50 ราย ส่วนคนที่เหลือจะมีการติดตามอย่าง

“บุคคลเหล่านี้เมื่อเข้าตรวจ RT-PCR จะไม่เสียค่าใช้จ่าย ในส่วนผู้เดินทางมาจากประเทศในทวีปแอฟริกาประเทศอื่นๆ ถือเป็นกลุ่มต่ำมีทั้งสิ้น 453 ราย บุคคลเหล่านี้ไม่ตรวจ RT-PCR ซ้ำ จึงขอให้เฝ้าสังเกตอาการตัวเองหลังจากออกจากสถานที่กักตัวไปเป็นเวลา 14 วัน ถ้ามีอาการค่อยไปตรวจซ้ำ” ผู้ช่วยรองโฆษก ศบค.กล่าว

พญ.สุมนีกล่าวว่า สำหรับยอดผู้ได้รับวัคซีนของประเทศไทยเมื่อวันที่ 2 ธ.ค. มีการฉีดวัคซีนเพิ่มเติม 527,092 โดส รวมยอดฉีดวัคซีนสะสมตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ.ทั้งสิ้น 94,280,248 โดส ขณะนี้ถือว่าเรามีวัคซีนเพียงพอ ขอให้ประชาชนเดินทางเข้าไปฉีดวัคซีน

“ช่วงเดือน ธ.ค.เป็นช่วงที่เริ่มเข้าสู่เทศกาลและฤดูกาลท่องเที่ยวในทุกภาค สธ. และ ศบค.ชุดเล็ก ขอความร่วมมือทุกภาคส่วน ตั้งแต่เจ้าของกิจการ ผู้ประกอบการทุกประเภทให้เปิดกิจการภายใต้มาตรฐานความปลอดภัยทางสาธารณสุข ไม่ว่าจะเป็น SHA, SHA พลัส, ไทยสต็อปโควิด, ไทยสต็อปโควิด 2 พลัส, โควิดฟรีเซตติง ขอความร่วมมือประชาชนยังคงต้องเคร่งครัดมาตรการป้องกันตัวอย่างสูงสุด” พญ.สุมนีกล่าว

ชี้ไทยหนีโอไมครอนไม่พ้น

ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัด สธ. กล่าวว่า ข้อมูลนักท่องเที่ยวจาก 8 ประเทศที่พบสายพันธุ์โอไมครอน ตั้งแต่วันที่ 15-27 พ.ย.2564 เข้ามา 333 คน พบว่าเดินทางออกจากประเทศไทยไปแล้ว 61 คน อยู่ประเทศไทยจนครบ 14 วันแล้ว 105 คน เหลือที่ต้องติดตามอีก 167 คน ขณะนี้ได้รับรายงานเบื้องต้นว่าติดตามได้แล้วจำนวน 44 คน คิดเป็น 26% เบื้องต้นผลการตรวจ RT-PCR ยังไม่พบเชื้อโควิด-19 และสายพันธุ์โอไมครอน ถือว่ามีความปลอดภัย ได้เร่งติดตามผู้เดินทางจำนวนที่เหลือให้มารับการตรวจ รักษาและคุมไว้สังเกตต่อไป

“สธ.เสนอให้งดลงทะเบียนขอเข้าประเทศสำหรับผู้ที่จะเดินทางมาจาก 8 ประเทศดังกล่าว ตั้งแต่วันที่ 27 พ.ย. 2564 ส่วนที่ได้รับอนุญาตแล้วสามารถเดินทางเข้ามาได้ถึงวันที่ 30 พ.ย. และให้เข้าสู่ระบบการกักตัว 14 วันทั้งหมดเพื่อตรวจหาเชื้อเป็นระยะ ขณะนี้ยังตรวจไม่พบเชื้อ และตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค.ที่ผ่านมาห้ามไม่ให้เดินทางเข้าประเทศ ยกเว้นคนไทยที่ต้องการเดินทางกลับประเทศ” ปลัด สธ.กล่าว

อย่างไรก็ตาม นพ.ทวี โชติพิทยสุนนท์ ที่ปรึกษากรมควบคุมโรค และกรมการแพทย์ สธ. กล่าวว่า ไวรัสโอไมครอนสิ่งที่ทุกคนกังวลคือการแพร่ระบาดอย่างรวดเร็ว ซึ่งเท่าที่ทราบข้อมูลจากการรายงานในต่างประเทศถึงวันที่ 2 ธ.ค. โอไมครอนมีการเปลี่ยนแปลงเร็วกว่าเดลตาแน่นอน แต่ต้องดูว่าก่อความรุนแรงมากน้อยแค่ไหน เบื้องต้นอาการน้อยกว่า โดยคาดว่าการตรวจเจอเชื้อโอไมครอนนี้พบมาแล้วประมาณ 1-2 เดือน แต่จังหวะการระบาดของโรคที่เริ่มพบมากขึ้น และเริ่มพบในต่างประเทศนั้นไม่นาน ส่วนของไทยก็ต้องทำใจว่าไม่สามารถกันโรคนี้ได้

“มาตรการที่ไทยใช้อยู่ตอนนี้เป็นเพียงการชะลอโรค ทั้งการห้ามคนจากแอฟริกาเดินทางเข้าไทย การรับมือมาตรการอื่นๆยังทำเหมือนเดิม จากข้อมูลพบว่าวัคซีนยังเอาอยู่จะเห็นว่าพัฒนาการของเชื้อไวรัส ทั้งที่ผ่านมาอู่ฮั่นเปลี่ยนมาเป็นแอลฟา วัคซีนยังเอาอยู่ จนมาเดลตาวัคซีนก็ยังพอช่วยได้ ทำให้อัตราการป่วยติดเชื้อเบาลง ดังนั้นประเทศไทยต้องเร่งฉีดวัคซีนในกลุ่มคนที่เหลืออีก 10 ล้านคน เพื่อให้สถานการณ์หรือความรุนแรงของโรคที่อาจเกิดขึ้นเบาลง เพราะแม้ว่าเชื้อหรืออาการไม่ได้รุนแรงกว่าเดิม แต่หากคนไม่ฉีดวัคซีนอาการจะรุนแรง ส่วนเรื่องของการใช้ยารับมือโอไมครอนก็ยังใช้ได้อยู่เหมือนเดิม” ปรึกษากรมควบคุมโรคกล่าว

ด้าน ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊ก Yong Poovorawan เรื่องโควิด 19 โอไมครอน การเตรียมพร้อมรับมือ ตอนหนึ่งระบุว่า โอไมครอนถ้าการระบาดได้เร็วกว่าสายพันธุ์เดลตา โอไมครอนจะเข้ามาแทนที่เดลตาที่ระบาดไปทั่วโลก

“โดยทั่วไปการแพร่กระจายสายพันธุ์ต่างๆ ในอดีต มาสู่ประเทศไทยสามารถมาได้โดยบินมา เดินมา หรือว่ายน้ำมา บทเรียนในอดีต สายพันธุ์ต่างๆ ที่บินมาก็จะถูกกักกันไว้ได้หมด สายพันธุ์ที่เข้าสู่ประเทศไทยแต่ละครั้งมักจะเดินมา เพราะเรามีพรมแดนธรรมชาติอันยาวไกล การป้องกันที่สำคัญจะอยู่ที่การเดินมามากกว่าที่บินมา ถ้ามีการแพร่กระจายของสายพันธุ์โอไมครอนได้เร็วก็จะมีโอกาสที่แพร่กระจายไปทั่วโลก และในที่สุดประเทศไทยก็จะหนีไม่พ้นอย่างในอดีต เพียงแต่ยืดเวลาให้ช้าที่สุด เพื่อความเตรียมพร้อมหรือมีองค์ความรู้เกิดขึ้น พร้อมที่จะดูแล รักษา ป้องกัน” นพ.ยงกล่าว.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'หมอชัย' โนคอมเมนต์ นายกฯ ทาบ 'จักรพล' นั่งโฆษกรัฐบาล

นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกระแสข่าวที่นายกรัฐมนตรีทาบทามนายจักรพล ตั้งสุทธิธรรม รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง