นายกฯเชื่อหุ้นผันผวนระยะสั้น

ตลาดหุ้นไทยปิดบวก 14.35 จุด นักลงทุนกลับเข้าซื้อหลังดัชนีหลุด 1,500 จุด นายกฯ เชื่อตลาดเงิน ตลาดทุนผันผวนระยะสั้น แต่เศรษฐกิจจริงการท่องเที่ยวฟื้นตัวแรง เอกชนเดินหน้าลงทุนต่อไม่ต้องรอรัฐบาลชุดไหน ด้านโฆษกรัฐบาลเผยเศรษฐกิจไทยไตรมาส 1/66 ปรับดีขึ้น อานิสงส์จากภาคการท่องเที่ยวไทยและนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง คาดเข้าสู่ระดับก่อนโควิด-19 ได้ในปี 68

เมื่อวันจันทร์ บรรยากาศหุ้นไทยวันที่ 22 พ.ค.66 เคลื่อนไหวในแดนบวกและลบ โดยช่วงเช้าปรับตัวลดลงจนดัชนีหลุด 1,500 จุด นักลงทุนรอความแน่นอนในการจัดตั้งรัฐบาล และกังวลเกี่ยวกับการเจรจาขยายเพดานหนี้ของสหรัฐอเมริกา แต่ในช่วงท้ายตลาดภาคเช้านักลงทุนกลับเข้าซื้ออีกครั้ง ส่งผลให้ ณ เวลา 17.02 น. ดัชนีปิดที่ 1,529.24 จุด เพิ่มขึ้น 14.35 จุด หรือ 0.95% ด้วยมูลค่าซื้อขาย 55,532.65 ล้านบาท ส่วนตลาดเอ็มเอไอ ปิดที่ 476.83 จุด ลดลง 3.93 จุด หรือ 0.82% ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 2,017.01 ล้านบาท

รายงานข่าวจาก บล.กสิกรไทย กล่าวว่า สัปดาห์นี้คาดว่าดัชนีหุ้นไทยมีแนวรับที่ 1,475-1,500 จุด ขณะที่แนวต้านอยู่ที่ 1,535-1,555 จุด โดยปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ตัวเลขส่งออกเดือน เม.ย.ของไทย ทิศทางเงินทุนต่างชาติ ปัญหาเพดานหนี้สหรัฐฯ และสถานการณ์การเมืองในประเทศ ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐ ฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ยอดขายบ้านใหม่, รายได้และรายจ่ายส่วนบุคคล, ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนเดือน เม.ย., บันทึกการประชุมเฟด และตัวเลขจีดีพีไตรมาส 1 ขณะที่ปัจจัยต่างประเทศอื่นๆ ได้แก่ การกำหนดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ เดือน พ.ค.ของจีน เป็นต้น

น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ได้รับทราบรายงานเกี่ยวกับสถานการณ์ตลาดเงิน ตลาดทุนในประเทศในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ที่มีความผันผวนจากผลกระทบของภาวะตลาดต่างประเทศ ประกอบกับในประเทศก็อยู่ในช่วงการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ นายกรัฐมนตรีมองว่าความผันผวนในตลาดเงิน ตลาดทุนในระยะนี้จะเป็นภาวะที่เกิดขึ้นเพียงระยะสั้น อยากให้นักลงทุนมองประเทศไทยจากศักยภาพที่แท้จริง ซึ่งปัจจุบันพื้นฐานเศรษฐกิจไทยมีความแข็งแกร่ง มีภูมิประเทศที่เอื้อต่อการลงทุนเพื่อผลิตสินค้าส่งออกไปยังประเทศในอาเซียนและทั่วโลก ขณะที่สำนักงานบีโอไอ สำนักงานอีอีซี ก็มีมาตรการส่งเสริมและดึงดูดการลงทุนที่จูงใจอย่างมาก

 “แม้ระยะสั้นตลาดเงิน ตลาดทุนจะเกิดความผันผวนบ้าง แต่นายกรัฐมนตรียังมั่นใจในพื้นฐานเศรษฐกิจไทยที่แข็งแกร่ง ขณะที่ภาคเศรษฐกิจจริงอย่างการท่องเที่ยวตอนนี้ก็ฟื้นตัวดีมาก การลงทุนเอกชนเองมาตรการส่งเสริมต่างๆ จากทั้งบีโอไอและอีอีซีก็พร้อม เดินหน้าลงทุนได้ทันทีไม่ต้องรอว่าจะเป็นรัฐบาลไหน ซึ่งความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างประเทศกำลังบีบให้นักลงทุนหาพื้นที่ลงทุนใหม่ๆ และไทยก็เป็นหนึ่งในประเทศจุดหมายปลายทางที่นักลงทุนจากทั่วโลกให้ความสนใจเลือกลงทุน” น.ส.ไตรศุลีกล่าว

น.ส.ไตรศุลีกล่าวว่า  นายกรัฐมนตรีเน้นย้ำว่ารัฐบาลรักษาการชุดปัจจุบันจะปฏิบัติหน้าที่ภายใต้กรอบของกฎหมายให้ดีที่สุด โดยเฉพาะการดำเนินการเพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นของทั้งประชาชนและนักลงทุน โดยนายกรัฐมนตรีได้กำชับส่วนราชการ หน่วยรับงบประมาณทุกแห่งให้เร่งรัดเบิกจ่ายงบประมาณประจำปี 2566 ที่ได้รับอนุมัติไปแล้ว ให้เป็นไปตามเป้าหมายที่เฉลี่ยร้อยละ 93  โดยสำนักงบประมาณและกรมบัญชีกลางก็ได้มีการติดตามการเบิกจ่ายอย่างใกล้ชิด ให้หน่วยงานดำเนินการตามมาตรการเร่งรัดที่เคยผ่านการเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี (ครม.) อย่างเคร่งครัด

รายงานของกรมบัญชีกลางระบุว่า ณ วันที่ 12 พ.ค. 66 งบประมาณรายจ่ายประจำปี 66 วงเงิน 3.18 ล้านล้านบาท ส่วนราชการและหน่วยงานที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณ ได้เบิกจ่ายรวมแล้ว 1.96 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 61.62 และเมื่อรวมกับเงินกันไว้เหลื่อมปีด้วย การเบิกจ่ายโดยรวมอยู่ที่ 2.08 ล้านล้านบาท หรือร้อยละ 61.63 ของวงเงินทั้งหมด 3.37 ล้านล้านบาท (เงินกันไว้เหลื่อมปีสำหรับเบิกจ่ายในปีงบประมาณ 66 มีทั้งสิ้น 1.9 แสนล้านบาท)

นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ย้ำถึงการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยตามนโยบายรัฐบาล ที่ให้ความสำคัญกับการดูแลประชาชนทุกภาคส่วน ผ่านการขับเคลื่อนโครงการและมาตรการต่างๆ รวมถึงภาคการท่องเที่ยวที่ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง ล่าสุดข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ระบุในไตรมาสที่ 1 ปี 2566 ว่าเศรษฐกิจไทยปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาสก่อน โดยจำนวนนักท่องเที่ยวไทยและต่างชาติที่เพิ่มขึ้นเป็นแรงส่งสำคัญ ทำให้ภาคบริการและเครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนปรับเพิ่มขึ้น ด้านมูลค่าการส่งออกสินค้าปรับเพิ่มขึ้น สอดคล้องกับการผลิตภาคอุตสาหกรรมและเครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชน สำหรับการใช้จ่ายภาครัฐขยายตัวจากรายจ่ายประจำและรายจ่ายลงทุนของรัฐบาลกลาง ขณะที่การลงทุนของรัฐวิสาหกิจหดตัวจากช่วงเดียวกันปีก่อน ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปและอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานลดลงจากผลของฐานสูงในปีก่อนเป็นสำคัญ ด้านตลาดแรงงานปรับดีขึ้นต่อเนื่องตามภาวะเศรษฐกิจ สำหรับดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลเพิ่มขึ้น ตามรายรับภาคการท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น ขณะที่ดุลการค้าเกินดุลใกล้เคียงไตรมาสก่อน

นายอนุชากล่าวว่า ภาคการท่องเที่ยวกลับมาเป็นเครื่องยนต์สำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย เห็นได้จากข้อมูลของ ธปท.ที่ระบุว่า ตั้งแต่ช่วงครึ่งหลังของปี 2565 ที่การระบาดของ COVID-19 คลี่คลาย และนานาประเทศรวมถึงไทยเริ่มทยอยปลดล็อกมาตรการจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศตามนโยบายรัฐบาล ทำให้เส้นทางสู่เป้าหมายที่ไทยจะกลับมามีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติแตะระดับก่อน COVID-19 ที่ราว 40 ล้านคน และมีรายได้เข้าประเทศกว่า 1.9 ล้านล้านบาท (ร้อยละ 11 ต่อ GDP) เริ่มมีความชัดเจนขึ้น สะท้อนจากเครื่องชี้ด้านอุปสงค์ เช่น จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเดือนมีนาคม 2566 ที่ 7.1 หมื่นคนต่อวัน (ร้อยละ 63 เทียบกับปี 2562) และเครื่องชี้ด้านอุปทาน เช่น จำนวน seat capacity ของเที่ยวบินนานาชาติเข้าไทย และอัตราการจองห้องพักโรงแรมที่มีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง ทั้งนี้คาดว่าความต้องการท่องเที่ยวของโลกที่เพิ่มขึ้น จะสนับสนุนให้จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าไทยเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง และเข้าสู่ระดับก่อน COVID-19 ได้ในปี 2568.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง