ส.ว.สอน‘พิธา’ปรับท่าที-ปราม‘ด้อมส้ม’

ส.ว.สอน "พิธา-ก้าวไกล"  ปรับท่าที มีสปิริตผู้ชนะ ประนีประนอมสร้างพันธมิตร ปรามด้อมส้มเลิกไล่บี้ ล่าแม่มด "บุญส่ง" ยัง Wait and see ลั่นเลิก 112 ไม่โหวตให้แน่ "ศิริกัญญา" มั่นใจกล่อมสภาสูงหนุนตั้งนายกฯ สำเร็จ

เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม นพ.พลเดช ปิ่นประทีป สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) กล่าวถึงเรื่องการโหวตนายกรัฐมนตรี ซึ่ง ส.ว.หลายคนระบุจะไม่ลงมติสนับสนุนนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล  เนื่องจากพรรคก้าวไกลมีนโยบายจะเสนอแก้มาตรา 112 ว่า ในตอนหาเสียง ที่เรียกว่าเป็นยกที่ 1 เป็นกลยุทธ์ของเขาที่ต้องเสนอ คืออารมณ์ของคนในสังคมที่ต้องการเปลี่ยน ซึ่งการที่จะทำให้ประชาชนเชื่อว่าคุณต้องการเปลี่ยน ต้องเสนอนโยบายที่ชัดเจนและแตกต่าง  ที่จะทำให้เห็นว่าคุณจะเปลี่ยนจริง  เพราะฉะนั้นนโยบายที่เสนอมาจึงสุดขั้ว เป็นเรื่องปกติ คือเป็นแท็กติกในการต่อสู้รณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง แต่เมื่อผ่านยกที่หนึ่งมาแล้ว เข้าสู่ยกที่สอง ในการตั้งรัฐบาล เมื่อไม่สามารถตั้งได้พรรคเดียว ต้องหาเพื่อน ทำให้ต้องเริ่มปรับจากสุดขั้ว ต้องประนีประนอม อำนาจและผลประโยชน์จะเอาตัวเองคนเดียวไม่ได้  เพราะจะเป็นเผด็จการความคิดทางนโยบายและอะไรต่างๆ

นพ.พลเดชกล่าวว่า เพราะฉะนั้นเขาต้องปรับตัว ต้องเรียนรู้ เพราะการจะทำงานที่ยาก งานใหญ่ๆ ทำคนเดียวไม่ได้ เหมือนที่เขาว่า "นกไม่มีขน คนไม่มีเพื่อน” นกบินไม่ได้ คนก็ทำงานไม่สำเร็จ ในยกที่สอง อยากเห็นการปรับของเขา หลายเรื่องที่เขาพูดเป็นเรื่องดี ไม่ได้หมายถึง 112 แต่เรื่องอื่น เช่น กระจายอำนาจ เลือกตั้งผู้ว่าฯ เรื่องสุราพื้นบ้าน พวกนี้ลดความเหลื่อมล้ำ นอกจากนี้ปรับเรื่องของท่าทีการพูด การปฏิบัติ ให้เป็นผู้ใหญ่มากขึ้น มีความเป็นสุภาพชนมากขึ้นจะดี เมื่อเข้าไปอยู่ในสภา หากปรับได้ จะสามารถสร้างพันธมิตรในสภาล่างที่มี 500 เสียงในการทำงานเรื่องใหญ่ๆ ได้ รวมถึง ส.ว.ก็จะสนับสนุน

 “เรื่องพฤติกรรมของคนที่เป็นสาวก คนที่เป็นกองกำลัง ในช่วงของการสู้รบเพื่อเอาชนะกัน ตอนนี้มันผ่านไปแล้ว แต่วันนี้ถ้าคุณยังไม่เข้าใจตรงนี้ คุณยังไปไล่บี้ ไปล่าแม่มด ทำนั่นทำนี่ สุดท้าย บัลลังก์แชมป์ของคุณจะถูกทำลายด้วยกระบวนการพวกนี้ จะเป็นเรดการ์ดไปแล้ว อันนี้พูดด้วยเมตตาธรรม ต้องปรับ เพราะหากปรับ จะทำประโยชน์ให้กับประเทศได้มากกว่านี้อีก ก็ห่วงพวกนี้จะทำพัง ดังนั้นจึงต้องเตือนไปยังผู้นำเขาว่าคุณชนะแล้ว หากไม่ระวังให้ดีชัยชนะจะเป็นจุดเริ่มของความพ่ายแพ้ ซึ่งตัวคุณพิธาและ ส.ส.ก้าวไกล รวม 151 คน ที่จะทำงานในสภา ต้องทบทวนและปรับบุคลิกภาพบางอย่างให้สมกับเป็นผู้ชนะ มีสปิริตของผู้ชนะ ไม่เหยียบย่ำคนแพ้ ไม่เย่อหยิ่งทะนงตน แล้วน้อมตัวลงไป แม้จะมีจุดยืนของตัวเอง แต่ก็ต้องเคารพจุดยืนของคนอื่น หลักคิดของคนอื่น แล้วประนีประนอมเข้าหากัน แล้วจะ วิน-วิน ที่จะทำให้สังคมและประเทศชาติ ก็จะวิน-วินไปด้วย" นพ.พลเดชระบุ

นพ.พลเดชยังกล่าวถึงนโยบายหาเสียงของพรรคก้าวไกลเช่นเรื่องปฏิรูปกองทัพว่า หากเข้าไปเป็นรัฐบาลจริง ไปถึงขั้นของการปฏิบัติ ตรงนั้นคือยกที่สาม จะยาวไปถึงยกที่สี่ ยกที่ห้า คือเป็นรัฐบาลปีที่หนึ่ง ปีที่สอง ปีที่สาม ปีที่สี่ ซึ่งยกสาม-สี่-ห้า คราวนี้ต้องเอาสิ่งที่ขายนโยบายไว้ตอนหาเสียง ก็ต้องมาจัดลำดับความสำคัญ หรือถ้าจะแก้ 112 จะต้องทำอย่างไร ซึ่งมีความซับซ้อนในยกสาม ยกสี่ ยกห้า ปีศาจอยู่ในรายละเอียด ทั้งความชั่วร้าย ปัญหาอุปสรรคอะไรต่างๆ ไม่ง่ายเหมือนกับเราฝันอะไรสักอย่าง

นายบุญส่ง ไข่เกษ ส.ว. กล่าวว่า  เมื่อผลการเลือกตั้งที่ออกมา พรรคการเมืองที่ได้ ส.ส.มากที่สุดต้องได้ตั้งรัฐบาลก่อน เว้นแต่ตั้งรัฐบาลไม่ได้ พรรคการเมืองที่มีเสียงมาเป็นอันดับสองควรมีสิทธิ์ได้โอกาสดังกล่าว โดยการโหวตนายกฯ สำหรับตนตอนนี้อยู่ในช่วงที่เรียกว่า wait and see คือต้องขอดูก่อนว่าฝ่ายพรรคการเมืองจะเสนอแคนดิเดตนายกฯ เป็นใครกันบ้าง และอีกหนึ่งชื่อที่จะเสนอมาให้โหวตด้วย นอกจากฝ่ายที่รวมเสียงข้างมากได้คือใคร

ทั้งนี้ ยังเชื่อว่าคงไม่มีส่งชื่อมาแค่คนเดียวให้สมาชิกรัฐสภาโหวต คงจะมีสองชื่อเหมือนคราวที่แล้ว ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แข่งกับนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ แต่คราวนี้ต้องดูว่าคู่แข่งอีกคนที่จะแข่งกับนายพิธา มาจากพรรคฝ่ายอนุรักษนิยมจะเป็นใคร แต่หากไม่เสนอมา มีชื่อให้เลือกคนเดียว ตนมีสิทธิ์ที่จะตัดสินใจได้ เช่น ถ้าไม่ชอบ อาจไม่หรืองดออกเสียง หรือถ้าเห็นชอบด้วย ตนอาจจะโหวตเห็นชอบให้เขาก็ได้

"ตอนนี้ผมยังตัดสินใจอะไรไม่ได้ หลายคนก็โทรศัพท์มาหาผม คนตราดก็โทร.มาหาผม เพื่อนก็โทร.มาด่า บอกไอ้ ส.ว.สวะ ผมก็สะดุ้งโหยงเลย ผมก็ถามคนที่โทร.มาด่าผม เขาก็บอกว่ากระแสว่ามาแบบนี้ ผมก็เลยบอกเขาว่ามันยังไม่แน่นอน อาจจะมี ส.ว.โหวตให้พิธา ระดับ 60-70 เสียง จนเสียงโหวตไปถึง 376 เสียงหรือเกินกว่านี้ก็ได้ อาจจะไปถึง 380 เสียงเลยก็ได้ เพราะรับประกันได้พันเปอร์เซ็นต์ ส.ว.เขาไม่ได้จะอยู่ข้าง พล.อ.ประยุทธ์หรือ พล.อ.ประวิตร ตอนนี้อยากบอกว่าขอให้รอไปก่อน รอให้ กกต.รับรองผลการเลือกตั้งให้เสร็จสิ้นก่อน” นายบุญส่งระบุ

นายบุญส่งกล่าวว่า การโหวตก็ต้องพิจารณาจากหลักความเหมาะสม แต่ต้องขอพูดว่าสถาบันพระมหากษัตริย์ ทำไมเอามาเกี่ยวข้อง ตนเป็นคนจังหวัดตราด ถามว่าที่รอดจากฝรั่งเศสได้ เพราะรัชกาลที่ 5 ใช่หรือไม่ ตนยืนยันว่าไม่ใช่คนเนรคุณ ใครที่ช่วยเรามา เราก็ต้องระลึกถึงด้วยความดี จึงไม่เห็นด้วยที่จะมาแก้ไขมายกเลิก 112 เพราะหากทำให้สถาบันตกอยู่ในสถานะฝ่ายที่เสียเปรียบตลอด แต่แค่จะปรับปรุงแก้ไขให้คนที่ติดคุกหรือไปก้าวล่วงรับโทษน้อยลง แบบนี้อาจโอเค ดังนั้นตอนนี้ขอฟังก่อน

ด้าน พล.ต.โอสถ ภาวิไล ส.ว. เปิดเผยว่า พรรคก้าวไกล โดยนายพิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์ รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล ได้มาสอบถามตนเป็นการส่วนตัวว่าจะให้การสนับสนุนนายพิธาหรือไม่ โดยตนได้บอกไปว่าขอดูพรรครัฐบาลแถลงนโยบายก่อนได้หรือไม่ว่าจะมีการทำเรื่องมาตรา 112 อยู่หรือไม่ เพราะถ้าทำเราก็ลำบากใจ เพราะเรารักชาติ ศาสนา เทิดทูนสถาบันอยู่แล้ว โดยนายพิจารณ์ได้ตอบตนว่าพรรคร่วมรัฐบาลไม่ทำ แต่พรรคก้าวไกลจะทำ จะเสนอในนามของพรรค ไม่ได้เสนอในนามของรัฐบาล

 “ผมคิดว่าสุดท้ายเขาก็ทำอยู่ดี ส.ว.ทุกคนได้ยินอย่างนี้เขาก็ต้องตัดสินใจเอง แต่เขาบอกว่าเดี๋ยวจะมีรายละเอียดในตอนแถลงนโยบายอีกครั้งหนึ่งก่อนโหวตนายกฯ ต้องมีการอภิปรายกันก่อน ซึ่งผมจะรอฟังตรงนั้นก่อนเช่นกัน ถ้าเป็นไปได้ผมก็ไม่ได้มีปัญหาอะไรที่จะโหวต แต่ถ้าดูกันแล้วจะเกิดผลกระทบกระเทือนกันมากก็ลำบาก ส.ว.ต่างมีความเห็น และไม่ได้มีการกำชับว่าจะต้องโหวตไปทางเดียวกัน ถึงตอนนี้ยังไม่มีใครมาพูดว่าขอให้ไปทางนั้นไปทางนี้ ไม่มีใครมายุ่ง ไม่มีกลุ่มไหนมาพูดอะไร ให้อยู่ที่ดุลพินิจของแต่ละบุคคลไป” พล.ต.โอสถระบุ

ที่พรรคก้าวไกล น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าวถึงการรวบรวมเสียงของ ส.ว. ในการที่จะโหวตเลือกนายพิธาเป็นนายกฯ ว่า ในกระบวนการเจรจา มีทั้งการสื่อสารผ่านสื่อสาธารณะ และมีการพูดคุยเป็นรายบุคคล ต้องยอมรับว่ามี ส.ว.บางส่วนที่ออกมาเปิดเผยว่าจะโหวตอย่างไร ผ่านทางสื่อต่างๆ โดยหากยึดตามที่ประกาศตัวแล้วมีประมาณ 19 คน ขณะเดียวกันหากคำนึงถึง ส.ว.บางคนที่ยังมีเงื่อนไขอยู่ จะอยู่ที่ประมาณ 16-20 คน เรามั่นใจกับตัวเลขที่ได้รวบรวม การพูดคุย และสัญญาณต่างๆ ที่ได้รับเป็นไปในทางบวก และน่าจะได้รับเสียงที่ครบถ้วนเพียงพอที่จะจัดตั้งรัฐบาลได้

เมื่อถามถึงการเคลื่อนไหวของผู้ชุมนุมที่ออกมากดดัน ส.ว. น.ส.ศิริกัญญากล่าวว่า อยากสื่อสารผ่านสาธารณะไปยังผู้ชุมนุม อย่างไรก็ตามการที่ประชาชนร่วมชุมนุมก็เป็นเสรีภาพอยู่แล้ว เราคงไม่มีการไปยับยั้งอะไร การทำงานของเรา 4 ปีที่ผ่านมา ยืนยันว่าเวลาพรรคก้าวไกลอภิปรายถึง ส.ว.​เป็นการอภิปรายในเชิงหลักการ ไม่ใช่การโจมตีในเชิงบุคคล

ที่สำนักงาน​คณะกรรมการ​การ​เลือกตั้ง​ (กกต.)​ นายสมหวัง จำปาหอม ทนายความจากจังหวัดยโสธร ได้เดินทางมายื่นคำร้องให้ กกต. เร่งพิจารณาคำร้องการถือหุ้นบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) ของนายพิธา ภายในวันที่ 30 มิ.ย.นี้ ให้เสร็จสิ้นก่อนการประกาศรับรองผลการเลือกตั้ง หากไม่ดำเนินการจะแจ้งความดำเนินคดีกับ กกต.ฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ตามมาตรา 157.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง