คนใช้ดีเซลเตรียมกระอัก 21ก.ค.เลิกอุ้มลิตรละ5บ.

ประชาชนจ่อกระอัก “ขุนคลัง” ออกกฎกระทรวงเลิกอุ้มดีเซลลิตรละ 5 บาทที่จะสิ้นสุด 21 ก.ค.แล้ว เหตุให้เกียรติรัฐบาลใหม่ตัดสินใจ เพราะต้องใช้งบประมาณและกระทบจัดเก็บรายได้ สกนช.เชื่อไม่ปรับรวดเดียว “นักวิชาการ” แนะขยับขึ้นแค่ครั้งละ 1 บาท

เมื่อวันอาทิตย์ที่ 28 พฤษภาคม 2566  มีความเคลื่อนไหวในเรื่องเศรษฐกิจที่น่าสนใจ เมื่อนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ   รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้ลงนามในกฎกระทรวงกำหนดพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต (ฉบับที่ 34) พ.ศ.2566 ตั้งแต่วันที่ 12 พ.ค.2566 และลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 140 ตอนที่ 31 ก เมื่อวันที่ 19 พ.ค.2566 และมีผลบังคับใช้แล้วตั้งแต่วันที่ 21 พ.ค.

สำหรับสาระสำคัญของกฎกระทรวงดังกล่าวคือ การยกเลิกประกาศการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล ตั้งแต่ 21 ก.ค.2566 เป็นต้นไป หรือไม่มีการขยายมาตรการลดภาษีน้ำมันดีเซล 5 บาทต่อลิตร ที่จะสิ้นสุดวันที่ 20 ก.ค. ตามที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) ของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม อนุมัติ ก่อนจะยุบสภาผู้แทนราษฎร

ทำให้ตั้งแต่วันที่ 21 ก.ค. กรมสรรพสามิตจะจัดเก็บภาษีน้ำมันตามอัตราปกติ  โดยน้ำมันดีเซลที่มีปริมาณกำมะถันเกิน 0.005% โดยน้ำหนัก ที่เคยจัดเก็บ 1.44 บาทต่อลิตร จะกลับมาเก็บ 6.44 บาทต่อลิตร น้ำมันดีเซลที่มีปริมาณกำมะถันไม่เกิน 0.005% โดยน้ำหนัก ที่จัดเก็บ 1.44 บาทต่อลิตร จะกลับมาเก็บ 6.44 บาทต่อลิตร ขณะที่น้ำมันดีเซลที่มีไบโอดีเซลประเภทเมทิลเอสเตอร์ของกรดไขมันผสมไม่เกิน 4% ที่จัดเก็บ 1.44 บาทต่อลิตร จะมาอยู่ที่ 6.44 บาทต่อลิตร น้ำมันดีเซลที่มีไบโอดีเซลประเภทเมทิลเอสเตอร์ของกรดไขมันผสม เกิน 4% แต่ไม่เกิน 7% หรือดีเซลบี 7 ที่เก็บ 1.34 บาทต่อลิตร มาเก็บ 5.99 บาทต่อลิตร น้ำมันดีเซลที่มีไบโอดีเซลประเภทเมทิลเอสเตอร์ของกรดไขมันผสมเกิน 7% แต่ไม่เกิน 9% ที่เคยเก็บ 1.33 บาทต่อลิตร ภาษีเดิม 5.93 บาทต่อลิตร เป็นต้น

รายงานข่าวจากกระทรวงการคลังแจ้งว่า สาเหตุที่นายอาคมได้ลงนามประกาศกฎกระทรวงดังกล่าวที่ไม่ต่อมาตรการลดภาษีสรรพสามิตดีเซล 5 บาทต่อลิตรออกไปนั้น เนื่องจากจะรอรัฐบาลใหม่มาพิจารณา เพราะเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับงบประมาณ หากมีการดำเนินการจะต้องเสนอให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ตัดสินเหมือนกับกรณีการอุ้มค่าไฟฟ้า  และยังกระทบต่อการจัดเก็บภาษีของกรมสรรพสามิตที่หายไปด้วย

สำหรับมาตรการการลดภาษีดีเซลที่ผ่านมาของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ได้ดำเนินการรวม 7 ครั้ง กระทบรายได้รัฐ 158,000 ล้านบาท ประกอบด้วย วันที่ 18 ก.พ.-20 พ.ค.2565 (3 เดือน) ลดภาษีลิตรละ 3 บาท สูญรายได้ 18,000 ล้านบาท, วันที่ 21 พ.ค.-20 ก.ค.2565 ลดภาษีลิตรละ 5 บาท สูญรายได้ 20,000 ล้านบาท, วันที่ 21 ก.ค.-20 ก.ย.2565 ลดภาษีลิตรละ 5 บาท สูญรายได้ 20,000 ล้านบาท, วันที่ 21 ก.ย.-20 พ.ย.2565 ลดภาษีลิตรละ 5 บาท สูญรายได้ 20,000 ล้านบาท, วันที่ 21 พ.ย.2565-20 ม.ค.2566 ลดภาษีลิตรละ 5 บาท สูญรายได้ 20,000 ล้านบาท, วันที่ 21 ม.ค.-20 พ.ค.2566 ลดภาษีลิตรละ 5 บาท สูญรายได้ 40,000 ล้านบาท และวันที่ 21 พ.ค.-20 ก.ค.2566 ลดภาษีลิตรละ 5 บาท สูญรายได้ 40,000 ล้านบาท

แหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงานแจ้งว่า ได้รับทราบถึงประกาศกฎกระทรวงกำหนดพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิตดีเซลแล้ว ซึ่งคงหารือกับกระทรวงการคลังอีกครั้ง เพราะหากขึ้นทันที 5 บาท/ลิตร จะกระทบต่อประชาชน ที่สำคัญช่วงสิ้นสุดของมาตรการลดภาษีดีเซล 21 ก.ค.2566 น่าจะยังไม่ได้รัฐบาลใหม่ ทำให้กระทรวงพลังงานคงต้องหารือกับกระทรวงการคลัง และสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.) ที่จะทำแผนรับมือเอาไว้ และคงจะต้องหารือกับรัฐบาลรักษาการว่าจะดำเนินการอย่างไร เพื่อให้กระทบต่อประชาชนน้อยที่สุด หากในช่วงเวลาดังกล่าวราคาดีเซลตลาดโลกไปในทิศทางขาขึ้น และกองทุนไม่อาจจัดเก็บรายได้จากดีเซลเข้าสะสมมากพอ

 “2 กระทรวงต้องตัดสินใจอีกเรื่องคือ การคาดการณ์นโยบายล่วงหน้าของรัฐบาลชุดใหม่หลังเลือกตั้งว่าจะจัดตั้งรัฐบาลได้หรือไม่อย่างไร และใครจะมาบริหารราคาพลังงาน เพราะอีกไม่นานนายกุกิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน จะเกษียณอายุราชการในปี 2566 นี้ ซึ่งการสานต่อนโยบายรัฐบาล ก็จะต้องดูว่าใครจะมาบริหารงานในตำแหน่ง รมว.พลังงานคนใหม่ และจะใช้กลไกกองทุนน้ำมันฯ บริหารจัดการราคาน้ำมันอีกหรือไม่ อย่างไร” แหล่งข่าวระบุ

ขณะที่นายวิศักดิ์ วัฒนศัพท์ ผู้อำนวยการ สกนช. กล่าวว่า สกนช.คงต้องหารือกับทุกฝ่าย เพื่อที่จะวางแนวทางในการรับมือ แต่ขณะนี้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงสามารถจัดเก็บเงินจากดีเซลเข้าสะสมในกองทุนน้ำมันฯ เฉลี่ยราว 5 บาท/ลิตร ดังนั้นคงต้องติดตามราคาน้ำมันตลาดโลกเป็นสำคัญ และยังพอมีเวลา ขอประชาชนอย่าตกใจว่าราคาจะขึ้นทันที 5 บาท/ลิตร เพราะต้องอยู่กับปัจจัยต่างๆ ณ วันนั้นด้วย ซึ่งหากราคาโลกลดลง เงินกองทุนฯ สะสมมากขึ้นเพียงพอดูแลเสถียรภาพ เร่งแก้ปัญหาหนี้เดิม สภาพคล่องเพิ่มขึ้น ราคาดีเซลอาจลดลง เมื่อขึ้นภาษีแล้ว ราคาขายปลีกก็อาจไม่เพิ่มขึ้นมาก

“เมื่อสิ้นสุดมาตรการลดภาษีดีเซล  ตอนนั้นต้องดูหลายปัจจัยสำคัญ ทั้งราคาตลาดโลก เงินกองทุนฯ ที่เก็บจากดีเซล ภาระหนี้ของกองทุนฯ ดังนั้นจึงยังพอมีเวลา อย่าตกใจว่าราคาจะขึ้นทันที 5 บาทต่อลิตร ไม่ใช่ อย่างที่บอกต้องอยู่กับปัจจัยต่างๆ ณ วันนั้นด้วย” นายวิศักดิ์กล่าว

นายพรายพล คุ้มทรัพย์ อดีตคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า รัฐบาลจะต้องนำเอาบัญชีทางการเงินของกองทุนน้ำมันฯ และบัญชีการลดภาษีดีเซลมาชั่งน้ำหนักดูให้ดี เพราะหากต่อมาตรการลดภาษีไปอีก ก็จะกระทบต่อรายได้ประเทศ ส่วนตัวมองว่าหากรัฐบาลไม่ต่อมาตรการลดภาษีการปรับขึ้นราคาน้ำมันดีเซลควรจะทยอยปรับขึ้นครั้งละ 1 บาท ไม่ควรปรับขึ้นทันที 5 บาท

สำหรับสถานะกองทุนน้ำมันฯ วันที่ 21 พ.ค.2566 ติดลบอยู่ที่ 72,731 ล้านบาท แบ่งเป็นบัญชีน้ำมันติดลบ 26,111 ล้านบาท และบัญชีก๊าซ LPG ติดลบ 46,620 ซึ่งมากกว่าบัญชีน้ำมันแล้ว เนื่องจากปัจจุบันกองทุนน้ำมันยังใช้เงินพยุงราคาก๊าซหุงต้ม LPG เฉลี่ยเดือนละประมาณ 600 ล้านบาท ตกวันละ 25 ล้านบาท และมีการกู้เงินก้อนที่เหลือจะนำมาชำระหนี้ผู้ค้ามาตรา 7 อีกราว 70,000 ล้านบาท.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง