ปชช.เอือมก้าวไกลตั้งรัฐบาลไม่ตรงปก

โพลชี้ประชาชนผิดหวัง   "ก้าวไกล" ไม่ทำตามที่หาเสียงไว้ เบื่อเล่นเกมจัดตั้งรัฐบาล มัวชิงผลประโยชน์เมินปัญหาเดือดร้อนชาวบ้าน กังวลรัฐบาลใหม่ไม่ราบรื่นโหวตนายกฯ สะดุด

เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม สำนักวิจัยซูเปอร์โพล (SUPER POLL) เสนอผลสำรวจศึกษาต่อเนื่องเรื่อง ก้าวไกลกับ ราษฎร กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศ   ดำเนินโครงการทั้งการวิจัยเชิงปริมาณ และการวิจัยเชิงคุณภาพ รวมจำนวนตัวอย่างในการวิเคราะห์ทางสถิติทั้งสิ้น  1,035 ตัวอย่าง ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 25-28 พ.ค.2566 พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 85.2 เบื่อหน่ายการเมือง จัดตั้งรัฐบาลหลังเลือกตั้ง เพราะมีแต่แย่งชิงตำแหน่ง อำนาจ ผลประโยชน์ ละเลยความเดือดร้อนของราษฎร การแพร่ระบาดของโควิด และปัญหาปากท้อง เป็นต้น ในขณะที่ร้อยละ 14.8 ไม่เบื่อ เพราะน่าสนใจติดตาม ใครจะได้เป็นนายกรัฐมนตรี พรรคอะไรจะได้เป็นรัฐบาลบ้าง นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล จะได้เป็นนายกรัฐมนตรีหรือไม่ เป็นเรื่องธรรมดาของการเมือง เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 70.5 รู้สึกผิดหวังต่อจุดยืนของพรรคก้าวไกลที่เคยหาเสียงไว้ เช่น พอได้เป็นแล้วเปลี่ยนไปเปลี่ยนมา ค่าแรง 450 บาท ไม่ชัดเจน กฎหมาย 112 การปฏิรูปเปลี่ยนแปลงต่างๆ และอื่นๆ เป็นต้น ในขณะที่ ร้อยละ 29.5 ไม่ผิดหวัง เพราะเพิ่งรวมตัวกัน ต้องให้เวลาก่อน ค่อยเป็นค่อยไป  หนักแน่นในก้าวไกล เป็นต้น

ที่น่าสนใจคือ เมื่อถามถึงความเห็นต่อการถอนตัวของพรรคเพื่อไทย จากความขัดแย้งต่างๆ ในการเป็นพรรคร่วมรัฐบาลที่กำลังพยายามจัดตั้งโดยพรรคก้าวไกล  พบว่า จำนวนมากหรือร้อยละ 44.9 ระบุแล้วแต่เลย ถอนก็ได้ ไม่ถอนก็ได้ ในขณะที่ร้อยละ 32.8 ระบุควรอยู่ต่อ และร้อยละ 22.3 ระบุควรถอนตัว ตามลำดับ

ซูเปอร์โพลระบุด้วยว่า ผลการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงคุณภาพ พบด้วยว่า ความรู้สึกของราษฎรเริ่มเบื่อหน่ายต่อการเมืองจัดตั้งรัฐบาล ที่มองข้ามปัญหาเดือดร้อนของประชาชนผู้เป็นราษฎรประสบปัญหามากมายในเวลานี้ ทั้งปัญหาการกลับมาแพร่ระบาดของโควิด ปัญหาปากท้อง ปัญหาความเหลื่อมล้ำ ความขัดแย้งของคนในชาติที่เริ่มก่อตัวปะทุขึ้นอีก อย่างไรก็ตาม ประชาชนจำนวนไม่น้อยต้องการให้เวลาพรรคก้าวไกลอีกระยะหนึ่งในความพยายามจัดตั้งรัฐบาลให้สำเร็จ แต่หากมีความขัดแย้งระหว่างพรรคร่วมรัฐบาล ประชาชนจำนวนมากระบุแล้วแต่เลยว่าพรรคเพื่อไทยจะถอนตัวหรือไม่ถอนตัวก็ได้ และยังให้ความเห็นว่าอย่าลืมความคาดหวังของประชาชน บ้างก็ว่า อยู่ได้ก็อยู่ อยู่ไม่ได้ก็ไป บ้างก็สรุปความเห็นให้ทุกฝ่ายเร่งแก้ปัญหาเดือดร้อนเพื่อความสุขของประชาชน

 “สวนดุสิตโพล” มหาวิทยาลัยสวนดุสิต สำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วประเทศ กรณี "คนไทยกับการจัดตั้งรัฐบาลใหม่" จำนวนทั้งสิ้น 1,352 คน (สำรวจทางออนไลน์) ระหว่างวันที่ 24-26 พฤษภาคม 2566 สรุปผลได้ ดังนี้ 1.จากการเลือกตั้งใหญ่ 14 พ.ค.2566 ที่ผ่านมา ทำให้ประชาชนสนใจติดตามข่าวการเมืองมากขึ้นหรือไม่ อันดับ 1 ติดตามมากขึ้น ร้อยละ 72.63, อันดับ 2 ติดตามเท่าเดิม ร้อยละ 21.30, อันดับ 3 ติดตามน้อยลง ร้อยละ 6.07

2.ณ วันนี้ ประชาชนรู้สึกเครียดกับเรื่องใดมากที่สุด อันดับ 1 ปากท้อง/ค่าใช้จ่าย ร้อยละ 52.14, อันดับ 2 การจัดตั้งรัฐบาล ร้อยละ 51.90, อันดับ 3 ค่าน้ำมัน/ค่าไฟ ร้อยละ48.31, อันดับ 4 เศรษฐกิจของประเทศ ร้อยละ 44.35,  อันดับ 5 การเลือกนายกรัฐมนตรี ร้อยละ 43.14

3.เมื่อมีความรู้สึกเครียดมากขึ้น ประชาชนแก้ปัญหาอย่างไร อันดับ 1 คุยกับเพื่อน/คนรัก/คนที่ไว้ใจได้ ร้อยละ 46.38, อันดับ 2 พักผ่อนให้มากขึ้น ร้อยละ 42.88, อันดับ 3 คุยกับคนในครอบครัว ร้อยละ 34.04, อันดับ 4 ดูหนัง/ซีรีส์/ฟังเพลง ร้อยละ 32.22, อันดับ 5 ออกกำลังกาย ร้อยละ 28.87

 4.ประชาชนมีความกังวลกับการจัดตั้งรัฐบาลใหม่หรือไม่ อันดับ 1 กังวล ร้อยละ 67.83 เพราะกลัวว่าการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีจะไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของประชาชน, พรรคที่ได้เสียงข้างมากอาจไม่ได้จัดตั้งรัฐบาล, พรรคร่วมรัฐบาลมีความคิดเห็นไม่ตรงกัน, เล่นเกมการเมืองมากเกินไป, กังวลการโหวตของ ส.ส.และ ส.ว. ฯลฯ, อันดับ 2 ไม่กังวล ร้อยละ 32.17 เพราะให้เป็นไปตามขั้นตอนทางกฎหมาย เชื่อมั่นว่าพรรคก้าวไกลจะสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้, น่าจะตกลงร่วมกันได้ลงตัว, การจัดตั้งรัฐบาลต้องเป็นไปตามระบอบประชาธิปไตย เคารพสิทธิซึ่งกันและกัน ฯลฯ

5.ประชาชนมีความเชื่อมั่นว่าการจัดตั้งรัฐบาลใหม่จะเป็นไปด้วยความราบรื่นหรือไม่ อันดับ 1 ไม่เชื่อมั่น ร้อยละ 58.33,  อันดับ 2 เชื่อมั่น 41.67

"จากผลการสำรวจสะท้อนให้เห็นว่าการเลือกตั้งใหญ่ที่ผ่านมาทำให้คนไทยติดตามข่าวการเมืองมากขึ้น แต่ก็ยังมีความกังวลกับการจัดตั้งรัฐบาลของพรรคที่ชนะการเลือกตั้ง รวมไปถึงกังวลกับการเลือกนายกรัฐมนตรีว่าอาจจะไม่ได้ตามที่ต้องการ เพราะกลไกของการเลือกนายกรัฐมนตรีนั้นมีเงื่อนไขของการโหวตจาก ส.ว.ร่วมด้วย กอปรกับภาพความขัดแย้งของพรรคฝั่งประชาธิปไตยที่มีข่าวให้เห็นรายวัน จึงทำให้ประชาชนยังไม่แน่ใจว่าการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ครั้งนี้จะเป็นไปด้วยความราบรื่น" น.ส.พรพรรณ บัวทอง นักวิจัยสวนดุสิตโพลระบุ

ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจของประชาชน เรื่อง  “ข่าวลือหรือข่าวจริง ช่วงเลือกตั้ง 2566” ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 18-22 พ.ค. 2566 จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป กระจายทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา อาชีพและรายได้ทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้น จำนวน 1,310 หน่วยตัวอย่าง โดยเมื่อถามถึงความเชื่อของประชาชนต่อข่าวพรรคการเมืองมีการใช้ปฏิบัติการสร้างข่าว ปั่นกระแสผ่านสื่อสังคมออนไลน์ เพื่อโจมตีพรรคการเมืองคู่แข่ง พบว่า ร้อยละ 31.22 ระบุว่าค่อนข้างเชื่อ รองลงมา ร้อยละ 25.27 ระบุว่าเชื่อมาก, ร้อยละ 23.59 ระบุว่าไม่เชื่อเลย, ร้อยละ 19.31 ระบุว่า ไม่ค่อยเชื่อ และร้อยละ 0.61 ระบุว่าไม่ตอบ/ไม่สนใจ

ด้านความเชื่อของประชาชนต่อข่าวพรรคการเมืองมีการใช้ปฏิบัติการสร้างข่าว ปั่นกระแสผ่านสื่อสังคมออนไลน์ เพื่อเพิ่มคะแนนนิยมให้กับพรรคตนเอง พบว่า ตัวอย่างร้อยละ 30.08 ระบุว่าค่อนข้างเชื่อ รองลงมา ร้อยละ 27.40 ระบุว่าเชื่อมาก, ร้อยละ 22.06 ระบุว่าไม่เชื่อเลย,  ร้อยละ 19.54 ระบุว่าไม่ค่อยเชื่อ และร้อยละ 0.92 ระบุว่าไม่ตอบ/ไม่สนใจ 

สำหรับความเชื่อของประชาชนต่อข่าวการเลือกตั้งครั้งนี้ มีการแทรกแซงจากต่างชาติ พบว่า ตัวอย่างร้อยละ 56.56 ระบุว่าไม่เชื่อเลย รองลงมา ร้อยละ 22.21 ระบุว่าไม่ค่อยเชื่อ, ร้อยละ 11.76 ระบุว่า ค่อนข้างเชื่อ, ร้อยละ 8.17 ระบุว่าเชื่อมาก และร้อยละ 1.30 ระบุว่าไม่ตอบ/ไม่สนใจ

ท้ายที่สุดเมื่อถามถึงการได้ยินข่าวลือเกี่ยวกับการเลือกตั้งของประชาชน ในช่วง 6 สัปดาห์ของการหาเสียง พบว่า ร้อยละ 30.92 ระบุว่าจำนวนมากกว่า 20 ข่าว รองลงมา ร้อยละ 22.29 ระบุว่าจำนวน 1-5 ข่าว, ร้อยละ 16.26 ระบุว่าจำนวน 6-10 ข่าว, ร้อยละ 13.66 ระบุว่าไม่เคยได้ยินเลย, ร้อยละ 10.15 ระบุว่าจำนวน 11-15 ข่าว และร้อยละ 6.72 ระบุว่า จำนวน 16-20 ข่าว.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง