‘โอไมครอน’ อาจเป็นพระเอก!

ศบค.รายงานผู้ติดเชื้อใหม่ 5,896 ราย พบในเรือนจำ 1,127 ราย เสียชีวิต 37 คน ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี เผยข่าวดีจาก “โอไมครอน” ที่อาจเกิดขึ้นในอีก 2 สัปดาห์ข้างหน้า จาก “วายร้าย” อาจพลิกกลับมาเป็น “พระเอก”

เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2564 ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดในประเทศไทยว่า พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 5,896 ราย เป็นการติดเชื้อในประเทศ 4,757 ราย มาจากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 4,609 ราย,  มาจากการค้นหาเชิงรุก 148 ราย, มาจากเรือนจำ 1,127 ราย, เป็นผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ 12 ราย หายป่วยเพิ่มขึ้น 5,666 ราย อยู่ระหว่างรักษา 72,954 ราย อาการหนัก 1,299 ราย ใส่เครื่องช่วยหายใจ 330 ราย

เสียชีวิตเพิ่มขึ้น 37 ราย เป็นชาย 21 ราย หญิง 16 ราย เป็นผู้เสียชีวิตที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป 29 ราย มีโรคเรื้อรัง 6 ราย พบผู้เสียชีวิตมากสุดอยู่ใน กทม. 6 ราย มียอดผู้ติดเชื้อสะสมยืนยันตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 2,136,537 ราย มียอดหายป่วยสะสมตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 2,042,666 ราย มียอดผู้เสียชีวิตสะสมตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 20,917 ราย

ส่วนยอดผู้ได้รับวัคซีนของประเทศไทยเมื่อวันที่ 3 ธ.ค. เพิ่มเติม 250,909 โดส รวมยอดฉีดวัคซีนสะสมตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ.ทั้งสิ้น 94,531,157 โดส ขณะที่สถานการณ์โลกมียอดผู้ติดเชื้อสะสม 265,161,442 ราย เสียชีวิตสะสม 5,257,758 ราย  

สำหรับ 10 อันดับจังหวัดผู้ติดเชื้อสะสมมากที่สุด ได้แก่ กทม. 892 ราย, นครศรีธรรมราช 396 ราย, สงขลา 325 ราย, สุราษฎร์ธานี 169 ราย, ชลบุรี 168 ราย, ปัตตานี 159 ราย, เชียงใหม่ 150 ราย, ยะลา 120 ราย, สมุทรปราการ 116 ราย และปราจีนบุรี 94 ราย

นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม สั่งติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 โอไมครอน อย่างใกล้ชิด หลังมาเลเซียพบผู้ติดเชื้อเป็นรายแรกแล้ว โดยเป็นนักศึกษาหญิงวัย 19 ปี จากแอฟริกาใต้ ซึ่งได้เดินทางมาจากประเทศแอฟริกาใต้ผ่านสิงคโปร์ ซึ่งจากการสอบสวนโรคพบว่า นักศึกษาหญิงจากแอฟริกาใต้ได้เดินทางจากสิงคโปร์มาถึงมาเลเซียเมื่อวันที่ 19 พ.ย. ที่ผ่านมา

โฆษกรัฐบาลกล่าวว่า นายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงมหาดไทย และฝ่ายความมั่นคง เข้มงวดหน่วยงานคัดกรองที่จุดต่างๆ ท่าอากาศยาน สนามบิน โดยเฉพาะด่านพรมแดนทางบก ที่เปิดให้คนไทยเดินทางกลับเข้าประเทศ ซึ่งต้องเน้นย้ำผู้เดินทางทุกคนได้รับการตรวจคัดกรองโควิด-19 และกักกันตัวในสถานที่ที่รัฐจัดให้ หากรายใดมีอาการผิดปกติจะถูกส่งตัวไปรักษายังโรงพยาบาลทันทีและทำการตรวจหาเชื้อ และหากพบข้อมูลต้องสงสัย ให้รีบรายงานตรงต่อนายกรัฐมนตรีทันทีที่มีความคืบหน้า ขณะเดียวกันพร้อมปรับมาตรการต่างๆ อย่างเข้มงวด ทุกแนวชายแดน เพื่อสกัดการลักลอบเข้าออกที่ผิดกฎหมาย ผ่านช่องทางธรรมชาติด้วย

ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี (Center for Medical Genomics) ได้โพสต์ข้อความเกี่ยวกับโควิดสายพันธุ์ใหม่โอไมครอนว่า ข่าวดีจากโควิด-19 “โอไมครอน” ที่อาจเกิดขึ้นในอีก 2 อาทิตย์ข้างหน้า จาก “วายร้าย” อาจพลิกกลับมาเป็น “พระเอก” เปลี่ยนจาก “ตระหนก” มาเป็น “ตระหนัก”

เราได้รับข่าวสารอันเป็นการคาดการณ์สถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุด (Worst case scenario) ของ “โอไมครอน” กันมามากพอสมควร ดังนั้น post นี้ขอนำเสนอ การคาดการณ์สถานการณ์ที่ดีที่สุด โชคดีที่สุดที่ควรเป็นไปได้ (Best case scenario) ของ “โอไมครอน” บ้าง ซึ่งเราน่าจะได้คำตอบภายใน 2-3 อาทิตย์ว่าบทสรุปแนวทางไหน (Worst or Best case scenario) จะถูกต้อง

Dr.John L. Campbell เป็นผู้มีอิทธิพลในโซเชียลมีเดียของอังกฤษได้รับความสนใจในช่วงเริ่มต้นของการระบาดใหญ่ของ COVID-19 สำหรับวิดีโออธิบายและข้อมูลอัปเดตเกี่ยวกับไวรัส ดร.แคมเบล สรุปประเด็นของโรคโควิด-19 ได้ดีมาก โดยมีผู้ติดตามถึง 1.6 ล้านคนผ่านช่องทาง “Youtube” เนื่องจากการบรรยายของท่านจะอ้างอิงจากข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ที่เชื่อถือได้เป็นหลัก

โดยท่านได้สรุปประเด็นของ “โอไมครอน” ไว้อย่างน่าสนใจ ซึ่งตรงกันหลายประเด็นที่ทางศูนย์จีโนมทางการแพทย์ รพ.รามาธิบดี ได้นำเสนอไปก่อนหน้านี้คือ

วัคซีนเชื้อตายอาจช่วยปกป้องการติดเชื้อ “โอไมครอน” ได้ดีหรือไม่? เพราะวัคซีนเชื้อตายเป็นการใช้เชื้อไวรัสทั้งตัวเข้ากระตุ้นภูมิคุ้มกัน ซึ่งแม้จะกระตุ้นภูมิได้ไม่สูงเมื่อเทียบกับวัคซีนประเภทอื่น แต่จะกระตุ้นให้เกิด “แอนติบอดี” มากมายกว่า 20 ชนิด ต่างจากการใช้วัคซีนที่มีไวรัสเป็นพาหะ หรือวัคซีน mRNA ซึ่งภูมิจะขึ้นสูงกว่าแต่จะจำเพาะเจาะจงเฉพาะส่วน “หนาม” เพราะใช้เพียงส่วนหนามเข้ากระตุ้นภูมิเท่านั้น ดังนั้นหากติดเชื้อ “โอไมครอน” ที่ส่วนหนามเปลี่ยนไป อาจทำให้แอนติบอดีในร่างกายเราที่สร้างจากการกระตุ้นเพียงส่วนหนาม (จากวัคซีนไวรัสพาหะ และวัคซีน mRNA) ลดประสิทธิภาพในการป้องกัน “โอไมครอน” ลงได้ ซึ่งทางผู้ผลิตวัคซีน mRNA ทั้งสองบริษัทใหญ่ก็ออกมายอมรับว่าอาจเป็นไปได้ว่าประสิทธิภาพของวัตซีนต่อ “โอไมครอน” อาจลดลงบ้าง

และกรณีไวรัสกลายพันธุ์จนสามารถแพร่ติดต่อได้อย่างรวดเร็ว (high transmissibility) ก็มักจะทำให้ผู้ติดเชื้อมีอาการป่วยที่ไม่รุนแรง (mild symptom) โดยไวรัสเองจะหลบเลี่ยงภูมิคุ้มกันจากวัคซีน (immune escape) ได้ลดลงเช่นกัน เหตุการณ์ลักษณะเดียวกันนี้เกิดขึ้นมาแล้วกับสายพันธุ์ “เบตา” ซึ่งเป็นไวรัสโคโรนา 2019 ที่หลบเลี่ยงภูมิคุ้มกันได้ดี (immune escape) แต่แพร่ติดต่อได้ไม่ดี จนถูก สายพันธุ์ “เดลตา” ซึ่งแพร่ติดต่อได้รวดเร็วกว่า (more transmissibility) เข้ามาแทนที่ โดย “เดลตา” เองแม้จะแพร่ติดต่อได้ดีแต่หลบเลี่ยงภูมิคุ้มกันได้ไม่ดีนัก

หากคาดการณ์สถานการณ์ที่เป็นไปอย่างดีที่สุด โชคดีที่สุดที่ควรเป็นไปได้ (Best case scenario) “โอไมครอน” ซึ่งมีการกลายพันธุ์ไปมาก และจากข้อมูลล่าสุดพบว่า สามารถแพร่ติดต่อระหว่างคนสู่คนได้รวดเร็วกว่า “เดลตา” จะมีความเป็นไปได้สูงที่จะเข้ามาแทนที่เดลตาในที่สุด โดยผู้ติดเชื้อจะไม่มีอาการรุนแรง (mild symptom) ทำให้ผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่เกิดภูมิคุ้มกันโดยไม่ล้มเจ็บต้องเข้า รพ.หรือเสียชีวิต

“โอไมครอน” หากเข้ามาแทน “เดลตา” ได้สำเร็จ อาจช่วยลดระดับความรุนแรงของการระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 ซึ่งแพร่ระบาดไปทั่วโลก (Pandemic) กลายเป็นโรคประจำถิ่น (Endemic) ที่มีอาการลดลงในที่สุด

เสมือนกับการให้วัคซีนชนิดเชื้อเป็น แต่อ่อนฤทธิ์ (live-attenuated vaccine) แก่คนทั่วโลก (โดยธรรมชาติจัดให้) ซึ่งเราน่าจะได้คำตอบภายใน 2-3 อาทิตย์ว่าบทสรุปแนวทางนี้ถูกต้องหรือไม่.

 

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง