ถก3สมาคมอปท. ดันเลือกตั้งผู้ว่าฯ ผ่าน‘ประชามติ’

"พิธา" เดินสายหารือ 3   สมาคม อปท. เปิดโรดแมปกระจายอำนาจ ยันไม่ทำสุดโต่ง ลั่น 100 วันแรกรัฐบาลรื้อระเบียบปลดล็อกท้องถิ่น  ดันเลือกตั้งผู้ว่าฯ ภายใน 4 ปี จ่อจัดเวิร์กช็อป 15-16 มิ.ย.

ที่สมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน เวลา 13.30 น. นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล และแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี พร้อมแกนนำพรรคก้าวไกล  นายชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรค และคณะทำงานด้านนโยบายกระจายอำนาจ อาทิ นายไกลก้อง ไวทยากร,  นายปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล, นายวรภพ วิริยะโรจน์, นายสิริน สงวนสิน,  นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ, นายถวิล ไพรสณฑ์ และ น.ส.ณธีภัสร์ กุลเศรษฐสิทธิ์ รวมถึงนายชำนาญ จันทร์เรือง จากคณะก้าวหน้า ได้หารือนอกรอบกับ 3 นายกสมาคมองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ประกอบด้วย องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.), เทศบาล และองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) โดยมี พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง นายก อบจ.ปทุมธานี และนายปรเมศวร์ งามพิเชษฐ์ นายกเทศมนตรีเมืองพัทยา เข้าร่วมหารือด้วย

นายพิธาให้สัมภาษณ์ก่อนเข้าประชุมว่า เป้าหมายสำคัญที่สุดคือการกระจายความเจริญ ดังนั้นการกระจายอำนาจคือกระบวนการไปสู่การพัฒนาความเจริญ ประเทศเราเมื่อรวมศูนย์ จะมีแต่กรุงเทพฯ อย่างแรก คือการกระจายความเจริญ และที่ตามมาคือการกระจายอำนาจและบุคลากร พร้อมยืนยันไม่ได้ทำสิ่งที่สุดโต่ง ต้องมีระยะเวลาและแผนแม่บท อีกทั้งต้องเปิดให้ประชาชนมีส่วนร่วม

จากนั้นเวลา 15.45 น. นายพิธาเปิดเผยภายหลังการหารือว่า ได้หารือในการอำนวยความสะดวกกับผู้บริหารท้องถิ่น เพื่อแก้ไขปัญหาให้กับประชาชน เป็นการกระจายความเจริญไปสู่แต่ละท้องที่ภายในประเทศไทย โดยมีการพูดคุยเรื่องแผนงานในช่วงเปลี่ยนผ่านรัฐบาลว่า ภายใน 100 วันแรกหลังมีรัฐบาลใหม่จะทำอย่างไร ทั้งคำสั่งที่ไม่เอื้ออำนวย ซึ่งผู้บริหารท้องถิ่นทำตามศักยภาพและนำปัญหาของประชาชนมาเป็นที่ตั้ง และมีสิ่งใดที่พรรคก้าวไกลจะสามารถช่วยปลดล็อกการทำงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้

นอกจากนี้ยังมีการพูดคุยกันว่า ในช่วง 1 ปี และ 4 ปี จะมีเรื่องใดที่สามารถร่วมกันทำได้ รวมไปถึงการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดผ่านประชามติของประชาชน หลังจากนี้จะมีการประชุมร่วมกันและทำเวิร์กช็อปในวันที่ 15-16 มิ.ย. โดยสมาคมจะเป็นเจ้าภาพพูดคุยเรื่องรายละเอียดกฎหมายที่ไม่เอื้ออำนวยในการบริหารจัดการในช่วงที่ผ่านมา

เมื่อถามว่า มีข้อเสนอใดที่สมาคมเสนอมาไม่สามารถทำได้ใน 1 ปีแรก  นายพิธากล่าวว่า ไม่มีอะไรท้าทายเกินความต้องการของประชาชนที่ต้องได้รับการแก้ไข ซึ่งอะไรที่ต้องทำอย่างรวดเร็วและรอบคอบ ประชาชนต้องมีส่วนร่วม หากแบ่งได้แบบนั้นจะทำให้รู้ว่าอะไรที่สามารถทำได้ตามระเบียบของกระทรวงมหาดไทย และเรื่องใดต้องทำประชามติก่อนหรือต้องแก้รัฐธรรมนูญก่อน หากแบ่งเป็นระยะๆ แบบนี้ใครที่กังวลว่าการกระจายอำนาจการเลือกตั้งผู้ว่าฯ เป็นเรื่องที่สุดโต่ง จะได้เข้าใจและสบายใจว่าการทำทั้งหมดนี้เป็นการกระจายความเจริญไปสู่ประชาชนได้เร็วที่สุด

ผู้สื่อข่าวถามว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ทางพรรคก้าวไกลจะดำเนินการอย่างไร นายพิธากล่าวว่า เป็นส่วนหนึ่งของการทำรัฐธรรมนูญใหม่ผ่านสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ซึ่งหากฟังความเห็นจากทุกภาคส่วนเรื่องการจัดสรรงบประมาณการจัดการในแต่ละพื้นที่ คงเป็นไปในแนวทางเดียวกัน

ส่วนการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะวางกรอบให้ท้องถิ่นเป็นอิสระจากส่วนกลางหรือไม่นั้น หัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าวว่า การกระจายอำนาจต้องมีงบประมาณ มีภารกิจ การกระจายบุคลากร ดังนั้นต้องรอบคอบ ยกตัวอย่างโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลที่มีการกระจายภารกิจกับบุคลากร แต่ทรัพยากรกับงบประมาณไม่ได้ตามลงมาด้วย ซึ่งทำให้ผลลัพธ์ที่ออกมาไม่ดีเท่าที่ควร แต่ทั้งนี้การบริหารจัดการเรื่องการกระจายอำนาจต้องมีอิสระในการทำงานมากขึ้น มีอิสระในการบริหารการเงินมากขึ้น ถึงจะทำให้การบริการประชาชนดีมากขึ้น

เมื่อถามย้ำว่า หากพรรคก้าวไกลไม่ได้คุมกระทรวงมหาดไทย การกระจายอำนาจจะไม่มีปัญหาใช่หรือไม่ นายพิธา กล่าวว่า การกระจายอำนาจเป็นเรื่องที่พรรคก้าวไกลผลักดันมาโดยตลอด และจะทำให้เกิดขึ้นจนสำเร็จ พร้อมคิดว่าการทำงานร่วมกับ 3 สมาคม จะทำให้เป้าหมายและการวางตัวบุคคลสำเร็จ.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ศาลอาญาคดีทุจริตฯ นัดฟังคำสั่ง 'ก้าวไกล' ฟ้อง 'กกต.' 2 มาตรฐาน ปมยุบพรรค

ศาลอาญาคดีทุจริตเเละประพฤติมิชอบกลาง อ่านคำสั่งในคดีที่ เรือเอก ย. เป็นโจทก์ยื่นฟ้องคณกรรมการการเลือกตั้งทั้ง6 เเละเลขาฯกกต.กับพวกรวม 7 คน คดีอาญาหมายเลขดำที่ อท 58/2567 ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157ประกอบมาตรา83