8พรรคต้านรัฐบาลแห่งชาติ

ว่าที่พรรคร่วมรัฐบาลประสานเสียงไม่เอารัฐบาลแห่งชาติ "พิธา" จะเอารัฐบาลแห่งประชาชน เตือนถ้าไม่เคารพเสียงประชาชนคือจุดเริ่มต้นความขัดแย้ง ลั่น! พร้อมเป็นนายกฯ  ของทุกคน เชื่อ ส.ว.โหวตให้ไม่มีปัญหา  "โรม" รู้แล้ว ส.ว.ติดเรื่องเดียวคือ ม.112

เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2566 นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล และแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรค ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนถึงกรณีถึงข้อกังวลของนายจเด็จ อินสว่าง สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) เสนอให้ตั้งรัฐบาลแห่งชาติว่า คำถามสำคัญในตอนนี้คือ การที่เราจะออกจากความขัดแย้ง คือเราต้องการรัฐบาลแห่งชาติ หรือรัฐบาลแห่งประชาชน 

"8 พรรคที่ตั้งร่วมในขณะนี้ก็มาจากเสียงของประชาชนจำนวนมาก เกินครึ่งอย่างแน่นอน เพราะฉะนั้นถ้าเราเคารพในเสียงประชาชน และช่วยกันเตือนว่า ทุกครั้งที่มีการไม่เคารพมติของประชาชน และเลือกระบบที่ไม่ตรงกับเจตจำนงของพวกเขามาโดยตลอด อันนั้นคือจุดเริ่มต้นของความขัดแย้ง"

นายพิธาบอกว่า เข้าใจ ส.ว.จเด็จที่แสดงความกังวลในเรื่องดังกล่าว เพราะไม่มีใครอยากจะมีความขัดแย้งต่อไป  แต่เรารักษาระบบมิใช่หรือ เรารักษามติของประชาชนไม่ใช่หรือ ที่จะออกจากความขัดแย้งได้ เพราะหากเราทำตรงกันข้ามเมื่อไหร่ นั่นคือสิ่งที่ประวัติศาสตร์สอนเรามา 20 ปีเป็นอย่างน้อย เรื่องดังกล่าวคือต้นเหตุคือความขัดแย้ง

"จึงอยากยืนยันว่า ผมพร้อมที่จะเป็นนายกรัฐมนตรีของคนทุกคน พร้อมที่จะเป็นรัฐบาลแห่งประชาชน ไม่ได้เป็นแค่รัฐบาลแห่งชาติเพียงอย่างเดียว"

ส่วนกรณีที่ ส.ว.จเด็จได้แสดงความคิดเห็นเพิ่มเติม โดยมีชื่อของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เข้ามาในเงื่อนไขรัฐบาลแห่งชาติด้วย มองว่าความคิดเห็นดังกล่าวเป็นการเปิดทางให้ทั้งสองท่านกลับมามีอำนาจอีกหรือไม่ นายพิธามองว่า ถ้าหากสวนมติของประชาชนไม่ได้ขึ้นอยู่กับตัวบุคคล ไม่เพียงแต่ชื่อของ พล.อ.ประยุทธ์หรือ พล.อ.

ประวิตร และไม่ใช่ชื่อที่ประชาชนจำนวนมากแสดงเจตจำนง น่าจะเป็นต้นเหตุของความขัดแย้ง

นายพิธายังแย้งกรณีที่นายกิตติศักดิ์ รัตนวราหะ สมาชิกวุฒิสภา ออกมาระบุว่าหากนายพิธาเป็นนายกฯ บ้านเมืองจะลุกเป็นไฟ และขณะนี้กระแสจงรักภักดีสถาบันพร้อมมากที่จะเข้ากรุง และจะนำไปสู่การนองเลือดของคนไทยด้วยกัน คือไทยฆ่าไทย ว่าไม่เป็นความจริง ถ้าเราเคารพมติ เคารพประชาชน และมีทางออกร่วมกัน ก็น่าจะทำให้ประเทศไทยเจริญรุ่งเรืองมากกว่า มีแต่สิ่งดีๆ  เกิดขึ้น และเราควรร่วมกันทำงาน ท่ามกลางความท้าทายของโลกในขณะนี้ ไม่ใช่เพื่อพิธา แต่เพื่อเป็นการรักษาระบบให้กับประเทศไทย

'พิธา' เชื่อ ส.ว.โหวตให้

เมื่อถามว่า เริ่มมีสมาชิกวุฒิสภาออกมาแสดงความคิดเห็นเชิงลบ กังวลเรื่องการโหวตเลือกนายกฯ หรือไม่ นายพิธาระบุว่า เท่าที่พูดคุยกับคณะเจรจา ทุกอย่างยังเป็นไปได้ด้วยดี และคิดว่าเมื่อถึงวันที่โหวต ไม่น่ามีปัญหา

ส่วนกระแสโจมตีที่ว่าสหรัฐ​อเมริกาอยู่เบื้องหลังพรรคก้าวไกล นายพิธาชี้ว่าไม่เป็นความจริง คิดว่าคนที่อยู่เบื้องหลังคือประชาชนคนไทย เพียงแต่ว่าในเรื่องของต่างประเทศจำเป็นที่จะต้องหาสมดุลระหว่างมหาประเทศ ระหว่างความเชี่ยวกราก และเอาผลประโยชน์ของคนไทยเป็นที่ตั้ง และประชาชนในประเทศเขา ซึ่งถ้าจะวินวินทั้งสองประเทศก็ถือเป็นประโยชน์ ดังนั้นถ้าเราอิงกับชาติใดชาติหนึ่ง หรือไม่คิดถึงนโยบายการต่างประเทศ ปัญหาจะตกกับพี่น้องประชาชน ทั้งหมดต้องวางบริบทของประเทศที่อยู่ในพื้นที่ ตามกฎกติกาของโลก และยึดผลประโยชน์ของชาติประชาชนของทั้ง 2 ฝ่าย

ส่วนกระแสข่าวที่ว่าผู้จงรักภักดี เตรียมที่จะเดินทางเข้ากรุง นายพิธายืนยันว่า ยังไม่เคยได้ยินข่าวนี้ เป็นสิทธิของทุกท่านที่จะเดินทาง ซึ่งตนเคารพและไม่เป็นปัญหา

ด้านนายชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล กล่าวถึงความคืบหน้าการเจรจากับ ส.ว. ในเรื่องการโหวตนายพิธาเป็นนายกฯ ว่า ส่วนตัวหลังจากเข้าพบกับ ส.ว. เป็นไปในทิศทาง​ที่ดี ซึ่งหลังจากพูดคุยกันจริงๆ ก็ได้ลดกำแพงลง เนื่องจากตนได้ตอบคำถามในหลาย​เรื่อง​ที่ ส.ว.บาง​คนกังวลใจ และเข้าใจในอีกแบบ​หนึ่ง​ หลังจากที่รับข้อมูลข่าวสารที่ไม่ตรงกัน ยืนยันว่าเป็นไปในทิศทาง​ที่ดี​ขึ้น

ส่วนข้อเสนอรัฐบาล​แห่งชาตินั้น มองว่าเป็นสิทธิ​ในการแสดง​ความเห็น​ส่วน​บุคคล ​แต่ในนามพรรคก้าวไกลมองว่าไม่ใช่ทางออกที่ดี ย้ำว่ารัฐบาล​ที่ดีไม่ว่าจะเป็นแกนนำจากพรรคการเมืองใด ก็ควรจะมีฝ่ายค้านไว้คอยตรวจสอบ​ถ่วงดุล​ หากรัฐบาล​ที่ไม่มีฝ่ายค้านเลย ก็จะสุ่มเสี่ยงในการใช้อำนาจโดยมิชอบ ย้ำว่ารัฐบาลแห่งชาติไม่น่าจะเป็นทางเลือกในทางการเมืองหลังจากนี้

ส.ว.ติดแค่เรื่อง ม.112

นายรังสิมันต์ โรม ว่าที่ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กล่าวว่า คาดว่า ส.ว.น่าจะติดปัญหาอยู่เรื่องเดียวคือเรื่อง ม.112 ซึ่งตนต้องเรียนตามตรงว่า จะตั้งรัฐบาลแห่งชาติไปทำไม หากเชื่อตามนั้นต้องไปยกเว้นรัฐธรรมนูญบางมาตรา ซึ่งประเทศไทยไม่ได้อยู่ในสภาพที่ต้องใช้เงื่อนไขนั้น ตนยังเชื่อว่ายังสามารถเดินหน้าตั้งรัฐบาลได้ วันนี้ประเทศไม่ได้เจอวิกฤตที่ทำให้ไม่สามารถตั้งรัฐบาลได้ ยอมรับว่าเงื่อนไขรัฐธรรมนูญบางมาตรายังเป็นอุปสรรค แต่สิ่งที่ต้องทำคือจัดตั้งรัฐบาลตามมติมหาชน เมื่อตั้งได้ค่อยถอดสลักอุปสรรคต่างๆ 

เมื่อถามว่า มองว่าเป็นการส่งสัญญาณเพื่อบีบพรรคก้าวไกลหรือไม่  นายรังสิมันต์กล่าวว่า ที่จริงก็มีความพยายามแบบนั้น แต่นายจเด็จไม่ใช่ตัวแทนของ ส.ว.ทุกคน ยังเห็น ส.ว.หลายคนที่ออกมาสนับสนุนพรรคก้าวไกล วันนี้อุปสรรคของเรามีแค่การปิดสวิตช์มาตรา 272 ให้อำนาจ ส.ว.เลือกนายก ซึ่งถ้าไม่มีส่วนนี้ การเดินหน้าตั้งรัฐบาลก้าวไกลจะไม่มีปัญหาอะไรเลย

ขณะที่นายภูมิธรรม เวชยชัย รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ให้สัมภาษณ์ว่า ถือเป็นเพียงความคิดเห็นที่แตกต่าง ซึ่งเราก็รับฟัง แต่ตนคิดว่าปกติการเสนอรัฐบาลแห่งชาติไม่ค่อยเกิดขึ้นบ่อยในประเทศต่างๆ และรัฐบาลแห่งชาติต้องเกิดวิกฤตที่รุนแรงภายในประเทศ เช่น เป็นภาวะสงครามที่ประเทศต้องการความเป็นเอกภาพร่วมกันในการแก้ไขวิกฤตรุนแรงนั้นๆ แต่วันนี้ประเทศไทยยังไม่ได้เกิดวิกฤติขั้นนั้น ระบอบประชาธิปไตยยังมีช่องทางเดินต่อไปได้ตามรัฐธรรมนูญ การเลือกตั้งครั้งนี้ฝ่ายประชาธิปไตยได้เสียงเกินกว่า 300 เสียง ซึ่งเราต้องคำนึงถึงเจตจำนงและความคาดหวังของประชาชนด้วย

ฝันกลางแดด

"วันนี้คุณพิธายังอยู่ในเส้นทาง ก็ต้องว่ากันไป วันนี้ประเทศไทยเพิ่งผ่านการเลือกตั้งมา ประชาชนแสดงเจตจำนงชัดเจน ก็ต้องทำให้เจตจำนงนั้นประสบความสำเร็จให้ได้ หากมีข้อจำกัดก็ต้องหาทางออกตามรัฐธรรมนูญ ให้ทุกฝ่ายยอมรับในเจตจำนงของประชาชน ผมเชื่อว่าฝ่ายประชาธิปไตยสามารถจัดตั้งรัฐบาลของประชาชนได้สำเร็จ" รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทยกล่าว
นายชูศักดิ์ ศิรินิล รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ระบุว่า เป็นไปไม่ได้ ฝันกลางแดดจะยกเว้นรัฐธรรมนูญ ถามว่าเอาอำนาจอะไรไปยกเว้น คนยกเว้นจะเจอข้อหาจงใจไม่ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ คนเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีจะกล้าลงนามรับสนองหรือไม่ อย่าไปคิดให้เปลืองสมองเลย

ด้านนายธนกร​ วังบุญคงชนะ ​ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะรองหัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) กล่าวว่า​ รัฐบาลแห่งชาติเป็นเรื่องที่ไกลมาก​ แต่ก็เข้าใจได้ว่าท่านก็ผู้ใหญ่ของบ้านเมือง​ ซึ่งท่านอาจจะมองว่าไม่ใช่อยู่ๆ จะเป็นรัฐบาลแห่งชาติ ท่านอาจจะมองว่าหากประเทศติดหล่ม​ หรือมีปัญหาขัดแย้งกันรุนแรงมาก ก็เคยเสนอแนวทางนี้ แต่โดยส่วนตัวมองว่าควรปล่อยให้เป็นรัฐบาลปกติตามระบอบประชาธิปไตย เพราะเพิ่งเลือกตั้งมา เราต้องให้เกียรติพรรคลำดับหนึ่งจัดตั้งรัฐบาล ซึ่งตนคิดว่าเขาคงจะตั้งรัฐบาลได้ ถ้าเขาจะตั้งไม่ได้ก็เป็นพรรคในลำดับที่ 2 จัดตั้งไป ซึ่งถือว่าเหมาะสมกว่า

"ปกติท่านจเด็จจะพูดอะไรก็มีเหตุผลทุกครั้ง และจากการฟังการอภิปรายของท่านในสภา เป็นคนที่พูดตรงไปตรงมา แต่ทุกๆ ท่านก็หวังดีกับประเทศ ท่านอาจจะมองว่าเป็นเรื่องของอนาคต เพราะไม่ใช่เรื่องใหม่ เป็นการจุดพลุจุดประเด็นมาหลายครั้งแล้ว"

'ธนกร' พร้อมเป็นฝ่ายค้าน

เมื่อถามว่า ทางพรรครวมไทยสร้างชาติมีการมองหรือไม่ว่าการจับขั้วรัฐบาลจะเปลี่ยนขั้วมาอีกฝั่งรัฐบาลเดิมแล้ว​ นายธนกรกล่าวว่า​ เราไม่คาดหวังอะไรอยู่แล้ว​ พรรครวมไทยสร้างชาติมี 36 เสียง และพร้อมจะทำหน้าที่ฝ่ายค้านอยู่แล้ว แต่สิ่งหนึ่งที่ตนอยากจะฝากไว้ในข้อมูลของสื่อมวลชนและแพลตฟอร์มต่างๆ ที่มีการระบุว่า พล.อ.ประยุทธ์มั่นใจว่ารวมไทยสร้างชาติจะเป็นรัฐบาลแน่ ตรงนั้นขอยืนยันว่าไม่เป็นความจริง พล.อ.ประยุทธ์ไม่เคยพูดเรื่องนี้เลย และ พล.อ.ประยุทธ์ก็เป็นสุภาพบุรุษทางการเมือง ท่านก็บอกเสมอให้ยึดกลไกตามระบอบประชาธิปไตย ให้พรรคลำดับหนึ่งจัดตั้งไป

นายเสรี สุวรรณภานนท์ สมาชิกวุฒิสภา กล่าวว่า เป็นความหวังดีของนายจเด็จที่จะแก้ปัญหาเรื่องความแยกแตกเพื่อก่อให้เกิดความปรองดอง แต่เชื่อว่ารัฐบาลแห่งชาติเกิดขึ้นได้ยาก  เพราะผลการเลือกตั้งออกมาแล้วว่าพรรคไหนได้คะแนนเท่าไหร่ที่จะจัดตั้งรัฐบาลได้ เพราะฉะนั้นคนกลุ่มนี้จะไม่ยอม และข้อสำคัญใครจะยอมให้ใครเป็นนายกฯ ให้ใครเป็นประธานสภาฯ   และต้องไปแยกกระทรวงทบวงกรมอีก ว่ามาจากพรรคไหน จากใคร ซึ่งในภาวะปัจจุบัน แต่ละพรรคก็มีเป้าหมายของตัวเองที่จะมีอำนาจฝ่ายบริหาร

 “ความหวังดีนี้มันก็ดีในมุมหนึ่ง แต่เกิดขึ้นยากในสภาพปัจจุบัน ถ้าเกิดได้ก็ดี แต่ดูองค์ประกอบเงื่อนไขแล้วเป็นไปได้ยาก”

นายเสรีชี้ว่า แต่ละฝ่ายก็ยืนในจุดของตัวเองไว้หมดแล้ว บางพรรคก็สุดโต่ง ไปซ้ายไปขวา ดังนั้นรัฐบาลแห่งชาติเกิดได้ยากในสถานการณ์ปัจจุบัน เพราะรัฐบาลแห่งชาติเกิดได้ต้องอยู่ในสถานการณ์ที่แตกแยกรุนแรงหนัก เพื่อป้องกันความรุนแรงที่จะเกิด ก็อาจจะตั้งเป็นรัฐบาลร่วมกัน เช่นในสมัย พล.อ.สุจินดา คราประยูร กับ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง แต่ก็ไม่ใช่รัฐบาลแห่งชาติ แต่ก็สามารถแก้เรื่องความขัดแย้งได้.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง