ขึ้นค่าแรงได้เป็นรายวัน! พท.พลิ้วแค่พักเงินดิจิทัล

“พิธา” ยันเอาแน่ 100 วันขึ้นค่าแรง 450 บาท แต่เปิดช่องรอเจรจาไตรภาคี ที่สำคัญบอกอาจได้แค่ 10-20 วัน “เพื่อไทย” อ้างให้เกียรติพรรคร่วม ต้องชะลอแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท ฝันอนาคตอาจปลุกผี

เมื่อวันศุกร์ที่ 2 มิ.ย.2566 นายพิธา  ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าและแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี พรรคก้าวไกล (ก.ก.) ให้สัมภาษณ์ถึงข้อกังวลของประธานสภาแรงงานในเรื่องการขึ้นค่าแรง 450 บาทต่อวัน ว่าหากรัฐบาลพรรคก้าวไกลไม่สามารถทำได้ใน 100 วันแรก อาจจะมีกลุ่มแรงงานไปยื่นร้องคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ว่าสัญญาว่าจะให้ แต่ทำไม่ได้ ดังนั้นในช่วง 100 วันแรกตามกฎหมาย ต้องให้ไตรภาคีคือลูกจ้าง 5 คน นายจ้าง 5 คน และฝ่ายของรัฐ 5 คนพูดคุยกัน หากลูกจ้างเห็นว่าค่าแรง 450 บาทเป็นจำนวนที่เหมาะสม หากได้ 10 วันต่อเดือนหรือ 20 วันต่อเดือน ก็ขึ้นอยู่กับเวลาทำงานของแต่ละคน ก็ยังไม่ถึง 10,000 บาท และขณะนี้ค่าครองชีพสูงมากในการใช้ชีวิต จึงเชื่อว่าจะเป็นไปได้ใน 100 วันแรก จะมีการเจรจากันเกิดขึ้น ขณะเดียวกันก็ต้องพูดคุยกับนายจ้างและผู้ประกอบการ ที่จะได้รับผลกระทบจากการขึ้นค่าแรง และเพิ่มประสิทธิภาพของแรงงาน

ขณะที่ นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย (พท.) ในฐานะกรรมการเลขานุการและโฆษกคณะกรรมการด้านเศรษฐกิจ แถลงเพิ่มเติมกรณีนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ว่า การแถลงเมื่อวันที่ 1 มิ.ย. ไม่ได้ใช้คำว่ายุติ แต่ใช้คำว่าชะลอ เพื่อเจรจาอย่างมีวุฒิภาวะ และเป็นการให้เกียรติพรรคแกนนำจัดตั้งรัฐบาล ซึ่งนโยบายดิจิทัลวอลเล็ตมีความจริง 2 ข้อที่ต้องทำให้ชัดเจนและเข้าใจตรงกัน คือ 1.ดิจิทัลวอลเล็ตใช้งบประมาณ 5.6 แสนล้านบาท ขณะที่นโยบายด้านสวัสดิการของพรรค ก.ก.ใช้งบ 6.5 แสนล้านบาท โดยเงินสองก้อนนี้ทั้ง 2 พรรคพูดชัดว่าไม่ได้เกิดจากการกู้เงิน แต่เป็นงบที่อยู่ในระบบงบประมาณ  เราต้องใช้เงินก้อนเดียวกัน ซึ่งการจะทำสองนโยบายนี้พร้อมกันในภาวะการคลังแบบนี้ทำไม่ได้ เราต้องเลือกระหว่างนโยบายด้านสวัสดิการกับดิจิทัลวอลเล็ต  ซึ่งสะท้อนความจริงอีกข้อว่าผลการเลือกตั้งออกมาแล้ว เราไม่ใช่แกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล ซึ่งความสำคัญในการเจรจาในการหาข้อตกลงเชิงนโยบายที่เราต้องให้เกียรติพรรคแกนนำ

นายเผ่าภูมิกล่าวต่อว่า ประเด็นที่ 2 ในการเจรจา พรรค พท.มีหน้าที่ต้องไปชี้แจง ให้ความเห็นและแลกเปลี่ยนกันในมุมมองเชิงนโยบายว่าอะไรเป็นประโยชน์กับประเทศชาติและประชาชน เชื่อว่านโยบายดิจิทัลวอลเล็ตเป็นนโยบายที่สำคัญและตอบโจทย์ ซึ่งดิจิทัลวอลเล็ตมีประโยชน์ 2 มิติ คือ 1.การกระตุ้นเศรษฐกิจ และ 2.เราจำเป็นต้องวางโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลให้ประเทศ ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องนำเข้าสู่วงเจรจา 

“ขณะนี้มีการหารืออย่างไม่เป็นทางการ แต่ในอนาคตจะหารืออย่างเป็นทางการ ซึ่งไม่ขอกล่าวถึงการหารืออย่างไม่เป็นทางการ และไม่อยากให้ตัดประเด็นว่าเราจะไม่ทำดิจิทัลวอลเล็ต เพราะอยู่ในช่วงเจรจา ฉะนั้นเราไม่ได้ปิดโอกาสที่จะไม่มีนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต แต่เราจะให้พรรคร่วมตัดสินใจเรื่องต่างๆ เหล่านี้บนพื้นฐานการเจรจา ส่วนในอนาคตจะเป็นไปได้หรือไม่ที่จะมีนโยบาย เราก็หวังว่าหากมีงบประมาณเพียงพอ เราก็จะมาเริ่มสร้างสิ่งนี้ขึ้นด้วยกัน”

ส่วนนายชนินทร์ รุ่งธนเกียรติ รองโฆษกพรรค พท. กล่าวโต้นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ระบุว่าหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีสูงเกินกว่า 80% มาตั้งแต่สมัยรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ ว่าเป็นการให้ข้อมูลที่คลาดเคลื่อน เนื่องจากการบริหารราชการในสมัยนั้นต้องมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจภายหลังสถานการณ์น้ำท่วมใหญ่ แต่ยังยึดมั่นในการควบคุมสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีให้ไม่เกิน 80% แต่สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีสูงกว่า 80% ครั้งแรก เกิดขึ้นในปี 2558 ภายหลังมีการทำรัฐประหาร และส่งผลต่อการส่งออกที่หดตัวลง และหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีกลับเพิ่มขึ้นสูงสุดเป็นประวัติการณ์ถึง 90.1% ในปี 2564 และยังไม่สามารถแก้หนี้ให้ประชาชนได้จนปัจจุบัน โดยในปี 2565 หนี้ครัวเรือนต่อจีดีพียังอยู่ที่ 86.8% ซึ่งเป็นระดับที่ยังต้องเฝ้าระวัง.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง