สธ.แจงงบไม่พอ รับหมองานหนัก เร่งแก้ระบบใหม่

นายกฯ เผย รบ.รับเรื่องแก้ปมแพทย์ขาดแคลนแล้ว เหตุงบบรรจุข้าราชการไม่เพียงพอ สธ.ยันดูแลดีที่สุด สางปมปัญหา รพ.ศูนย์-รพ.ทั่วไปงานโหลด เร่งปรับระบบแก้ไข รับพบ 9 โรงพยาบาลหมอทำงานหนัก 64 ชม./สัปดาห์ พร้อมโต้มีแพทย์ลาออกเฉลี่ยปีละ 455 คน ยังไม่ถึง 900 คน

เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา  นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) กรณีแพทย์จบใหม่ลาออก ส่งผลให้เกิดปัญหาขาดแคลนแพทย์ในระบบสาธารณสุขว่า  นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว. สาธารณสุข ได้รายงานเรื่องดังกล่าวแล้ว และได้มีการติดต่อสอบถามไปยังกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งมีปัญหาเรื่องงบประมาณที่จำกัดในการบรรจุข้าราชการ ทั้งนี้ รัฐบาลได้ให้งบประมาณบรรจุไปแล้วประมาณ 40,000 คน แต่ยังไม่เพียงพอ เพราะมีข้าราชการหลายระดับ ไม่ใช่เฉพาะแพทย์ ซึ่งต้องติดตามดู โดยทางกระทรวงสาธารณสุขรับเรื่องไปแล้ว

ขณะที่ นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า รัฐบาลต้องยอมรับว่าความต้องการรับบริการของประชาชนมีสูง โดยเฉพาะช่วงหลังจากสถานการณ์โควิด-19 ที่พยายามจะยกระดับทำงาน แต่มีข้อจำกัดเรื่องบุคลากร ขอบคุณนายกรัฐมนตรีที่อนุมัติบุคลากรทางการแพทย์หลังโควิด 45,000 อัตรา ทำให้ความกดดันเรื่องของบุคลากรลดลง แต่ยังไม่หมด เนื่องจากความต้องการรับบริการของประชาชนมีมาก นอกจากนั้นมีปัญหาเรื่องงบประมาณ ที่ได้รับจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ที่เหมาจ่ายรายหัว ซึ่งเราหวังว่าจะได้รับงบประมาณเพิ่มขึ้นให้เท่ากับที่ต้องบริการประชาชน

เมื่อถามว่า เรื่องงบประมาณเป็นปัญหาหลักที่ทำให้บุคลากรลาออกหรือไม่ ปลัด สธ.กล่าวว่า เป็นส่วนหนึ่ง มีทั้งเรื่องบุคลากร และหากสังเกตทุกอย่างอยู่นอกการควบคุมของกระทรวง สธ. และเราใช้ทรัพยากรทั้งคนและเงินที่มีอยู่อย่างจำกัดมาบริการประชาชนให้ได้มากที่สุดเท่าที่ทำได้เพื่อไม่ให้เดือดร้อน

 “ต้องขอบคุณหมอ พยาบาล และบุคลากรทุกคน ที่เสียสละ ทุ่มเททำงานให้ประเทศและกระทรวง เพื่อให้ประชาชนได้รับบริการอย่างดีที่สุด เราจะดูแลจัดการเรื่องนี้ให้มีประสิทธิภาพ ได้กำชับเรื่องสวัสดิการและภาระงานไม่ให้เกินไป ที่ดูจากตัวเลขภาระงานค่อยๆลดลง และดีขึ้น แต่ไม่ได้แปลว่าหมดไป  ส่วนที่มีบางจุดที่เป็นปัญหา ก็ค่อยๆ แก้เป็นจุดๆ ไป และในสังคมปัจจุบัน ประชาชนที่อยู่ในชนบทตอนนี้มาอยู่ในเมืองเยอะกว่า ทำให้ภาระงานในโรงพยาบาลศูนย์และโรงพยาบาลทั่วไปมีมากกว่าโรงพยาบาลอำเภอ โดยกระทรวงพยายามปรับเปลี่ยน

เมื่อถามว่า จะทำให้เกิดการสมองไหลในวงการแพทย์หรือไม่ นพ.โอภาส กล่าวว่า เราต้องใช้มาตรการหลายส่วน   และการที่บุคลากรจะอยู่ได้ หนึ่งคือเรื่องค่าตอบแทนที่ต้องเปรียบเทียบกับภาคเอกชนที่เป็นการดึงดูดใจ และเรื่องสวัสดิการที่กระทรวงเพิ่มค่าตอบแทนและโอทีเพิ่มเข้าไป และดูแลเรื่องบ้านพัก กำชับให้สร้างบ้านพักสำหรับหมอ พยาบาลให้เพียงพอ และความก้าวหน้าในวิชาชีพ ซึ่งตอนนี้หมอได้ซี 9 ทุกคน  ส่วนพยาบาลราชการและได้รับราชการ   พยายามที่จะให้ซี 8 ซี 9 ทุกคน ถ้าทำได้โดยต้องดูระเบียบของ ก.พ. เรื่องของภาระงานยอมรับว่าเป็นเรื่องที่แก้ยาก เนื่องจากความต้องการของประชาชนมีเยอะ แต่ถ้ามีบุคลากรและงบประมาณเพิ่มขึ้น ก็จะจัดการได้ดีขึ้น

ผู้สื่อข่าวถามว่า เบื้องต้นจะแก้ปัญหาบุคลากรลาออกได้อย่างไร นพ.โอภาสกล่าวว่า ภาพรวมของบุคลากรที่รับเหมาต่อปีประมาณ 2,000 คน ที่ลา จะออกส่วนหนึ่งคือแพทย์เพิ่มพูนทักษะ เมื่อจบแล้วบางคนอยากไปเรียนต่อสามารถเกิดได้เป็นปกติ ปีละประมาณ 10% และที่กลับเข้ามาใหม่ในระบบตัวเลขถือว่าเป็นบวก ดังนั้นจำนวนบุคลากรที่ขาดแคลนยังมีอยู่ แต่ไม่ถึงกับกดดันมากนัก และอาจมีบางจุดที่เป็นปัญหาเหมือนโรงพยาบาลศูนย์ และโรงพยาบาลทั่วไปกำลังจะมีการปรับเปลี่ยนระบบไม่ให้ภาระงานเยอะจนเกินไป

ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข และ พญ.พิมพ์เพชร สุขุมาลไพบูลย์ ผอ.สำนักงานบริหารโครงการส่วนผลิตแพทย์เพิ่มเพื่อชาวชนบท แถลงปัญหาขาดแคลนแพทย์ในระบบสาธารณสุข ยอมรับว่า ปัจจุบันแพทย์ในระบบของกระทรวงสาธารณสุข อยู่ในภาวะขาดแคลนจริง แม้ช่วงหลายปีที่ผ่านมามีความพยายามผลิตแพทย์เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งแผนผลิตระหว่างกระทรวงการอุดมศึกษาฯ จำนวนกว่า 3,000 คน/ปี และกระทรวงสาธารณสุข ผลิตเองอีกกว่า 1,000 คน/ปี

 แต่แพทย์ในระบบ สธ.ก็ยังมีจำนวนไม่เพียงพอ เนื่องจากแพทย์เมื่อสำเร็จการศึกษาจะต้องเข้าสู่ระบบการจัดสรรเพื่อไปยังหน่วยงานต่างๆ เช่น กระทรวงกลาโหม หรือกรุงเทพมหานคร ทำให้มีแพทย์เหลือเข้าสู่ระบบของกระทรวงสาธารณสุขปีละแค่กว่า 2,000 คน แต่มีบางปีก็เหลือไม่ถึง เช่นปี 2565 เหลือแพทย์เข้าสู่ระบบของกระทรวงสาธารณสุขจริงๆ เพียง 1,850 คนเท่านั้น สวนทางกับภาระงานของแพทย์ที่มีเพิ่มขึ้น  โดยเฉพาะในช่วงสถานการณ์โควิด

ทั้งนี้ ปัจจุบันมีแพทย์ใน สธ. 24,649 คน มีอัตราการรักษาผู้ป่วยแพทย์ 1 คนต่อคนไข้ 2,000 คน หากเปรียบเทียบกับอังกฤษ ซึ่งมีระบบสาธารณสุขคล้ายกับไทย และมีประชากรใกล้เคียงกัน อัตราแพทย์ของอังกฤษอยู่ที่แพทย์ 3 คนต่อคนไข้ 1,000 คนเท่านั้น

ส่วนแผนการแก้ปัญหาแพทย์ขาดแคลนนั้น สธ.มีแผนผลิตแพทย์ให้เพียงพอ โดยในระยะเวลา 10 ปี ตั้งเป้าผลิตแพทย์ให้ได้ปีละ 3,300 คน และหารือสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน หรือ ก.พ. ขอขยายอัตราการบรรจุแพทย์ ซึ่งที่ผ่านมา ก.พ.ไม่ใช่อุปสรรคปัญหาของการขยายอัตราแพทย์ นอกจากนี้ใช้มาตรการเพิ่มค่าตอบแทน มาตรการด้านสวัสดิการ  มาตรการความก้าวหน้าในอาชีพ และมาตรการลดภาระงานของแพทย์ เพื่อเป็นแรงจูงใจให้แพทย์จบใหม่ยอมอยู่ในระบบกระทรวงสาธารณสุขเพิ่มขึ้น รวมถึงอาจแก้ปัญหาโดยเปิดรับแพทย์จบเอกชน หรือแพทย์จบจากต่างประเทศเข้ามาเป็นลูกจ้างของกระทรวง และบรรจุเป็นราชการในภายหลัง

รองปลัด สธ.ยังยืนยันว่า ปี 2565 มีแพทย์ลาออกไม่ถึง 900 คน ตามที่มีแพทย์บางรายออกมาให้ข้อมูล โดยชี้แจงข้อมูลแพทย์ลาออกย้อนหลัง 10 ปี คือตั้งแต่ปี 2556-2565 มีแพทย์ลาออกเฉลี่ยเพียงปีละ 455 คน ไม่นับรวมกับแพทย์เกษียณ ซึ่งมีจำนวนปีละ 150-200 คน และยอมรับว่ามีโรงพยาบาลในสังกัด 9 แห่งอยู่ในภาวะ “Work Load” ซึ่งแพทย์ต้องทำงาน 64 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ถือว่าเป็นปริมาณงานที่หนักเมื่อเทียบกับชั่วโมงงานของแพทย์ในโลก นับว่าทะลุเกินมาตรฐานที่กำหนดไว้ไม่เกิน 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์เท่านั้น

ด้าน นพ.เกรียงศักดิ์ วัชรนุกูลเกียรติ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลขอนแก่น  กล่าวว่า ตอนนี้ที่โรงพยาบาลบุคลากรการแพทย์ไม่เพียงพอ ซึ่งภาครัฐต้องมีแรงจูงใจที่จะให้ตำแหน่งข้าราชการมาบรรจุให้กับแพทย์หรือบุคลากรทางการแพทย์ เพราะว่าการบรรจุเข้ารับราชการจะได้เงินเดือนในระบบรัฐ แต่เมื่อเทียบกับภาคเอกชนจะต่ำไม่น้อยกว่า 6-7 เท่า ดังนั้นรัฐจึงจำเป็นต้องเอาตำแหน่งข้าราชการมาเป็นเรื่องจูงใจ เพราะทุกคนต้องการความมั่นคงและความเติบโตในหน้าที่การงาน เพราะเมื่อไม่ชัดเจนการลาออกและไปเอกชนได้เงินเดือนเพิ่มขึ้น 7-8 เท่า จึงเป็นทางเลือกในการตัดสินใจ.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'หมอชัย' โนคอมเมนต์ นายกฯ ทาบ 'จักรพล' นั่งโฆษกรัฐบาล

นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกระแสข่าวที่นายกรัฐมนตรีทาบทามนายจักรพล ตั้งสุทธิธรรม รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง