"บิ๊กตู่" เผยฝ่ายความมั่นคงจับตาพวกจ้องตั้งรัฐปาตานีเป็นเอกราช หวั่นสถานการณ์กลับไปรุนแรงเหมือนเดิม ยันกระบวนการพูดคุยสันติสุขไม่ใช่เจรจาสันติภาพเพราะไม่ได้รบกัน "มทภ.4" กำชับดำเนินคดีตามกฎหมายกับผู้ทำผิดยึดหลักยุติธรรม คาด 2 สัปดาห์เชื่อมโยงผู้เกี่ยวข้องได้ ครม.ขยายระยะเวลาฉุกเฉินอีก 3 เดือน
ที่ทำเนียบรัฐบาล วันที่ 13 มิถุนายน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีแนวคิดนักศึกษาที่ทำประชามติเพื่อขอแยกให้จังหวัดปัตตานีเป็นรัฐเอกราชว่า เป็นเรื่องของฝ่ายกฎหมายดำเนินการ เขาตรวจสอบอยู่แล้ว พร้อมกับย้อนถามสื่อว่า "ในความคิดของเรามันถูกไหมล่ะ มันทำได้ไหม"
ผู้สื่อข่าวจึงตอบว่า ผิดรัฐธรรมนูญ มาตรา 1 ที่ระบุว่า ประเทศไทยเป็นราชอาณาจักรเป็นอันหนึ่งอันเดียวจะแบ่งแยกมิได้ และจะตัดไฟต้นลมได้อย่างไร เพราะมีนักการเมืองเข้าไปเกี่ยวข้อง นายกฯ กล่าวว่า เดี๋ยวกฎหมายดำเนินการเอง กระบวนการเขามีอยู่ ฝ่ายความมั่นคงเขาดำเนินการอยู่แล้ว ฝ่ายความมั่นคงติดตามเรื่องนี้อยู่แล้ว สิ่งสำคัญที่สุดไม่อยากให้สถานการณ์กลับไปที่เดิม คือความรุนแรงเกิดขึ้นในพื้นที่ ความมุ่งหมายของเราคือต้องรักษาสถานการณ์ไว้ไห้ได้ เช่น การพูดคุยสันติสุขเราก็มีคณะพูดคุยอยู่แล้วภายใต้กรอบประเทศเราและประเทศเพื่อนบ้าน ตอนนี้ที่มีปัญหาคือการจัดตั้งรัฐบาลให้สมบูรณ์แล้ว สุดแล้วแต่ว่าใครจะเป็น
"ที่เราทำมาหลายปีก็ทำให้ทุกอย่างไปสู่ความสงบเรียบร้อยมากยิ่งขึ้น ทั้งเรื่องการพัฒนาและรักษาความปลอดในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนเป็นหลัก ฉะนั้นการพูดคุยเป็นการพูดคุยสันติสุข ไม่ใช่การเจรจาสันติภาพ เพราะเราไม่ได้รบกัน ใช้คำให้มันถูกต้อง" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว
ด้านนายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ครม.มีมติรับทราบตามมติของคณะกรรมการบริหารสถานการณ์ฉุกเฉินครั้งที่ 2/2566 เห็นชอบแผนปฏิบัติการปรับลดพื้นที่การประกาศใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ห้วงปี 2566-2570 (ฉบับแก้ไข) ของ กอ.รมน. และให้ความเห็นชอบการขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ (ยกเว้นอำเภอศรีสาคร อำเภอสุไหงโก-ลก อำเภอแว้ง อำเภอสุคิริน จังหวัดนราธิวาส อำเภอยะหริ่ง อำเภอมายอ อำเภอไม้แก่น และอำเภอแม่ลาน จังหวัดปัตตานี และอำเภอเบตง อำเภอกาบัง จังหวัดยะลา) ออกไปอีก 3 เดือน ตั้งแต่วันที่ 20 มิถุนายน 2566 และสิ้นสุดในวันที่ 19 กันยายน 2566 เป็นครั้งที่ 72 เพื่อให้เกิดความต่อเนื่องในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ เป็นการป้องกัน ระงับ ยับยั้งเหตุการณ์ในพื้นที่ได้อย่างทันท่วงที รวมทั้งจะเป็นประโยชน์ต่อการดูแลรักษาความสงบ และความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของพี่น้องประชาชนในพื้นที่ต่อไปด้วย
ที่ห้องประชุม 1 กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (ผอ.รมน.ภาค 4 สน.) ค่ายสิรินธร ตำบลเขาตูม อำเภอยะรัง จังหวัดปัตตานี พล.ท.ศานติ ศกุนตนาค แม่ทัพภาคที่ 4/ผอ.รมน.ภาค 4 เป็นประธานการประชุมพิจารณาดำเนินคดีต่อการจัดกิจกรรมเปิดตัวขบวนนักศึกษาแห่งชาติ ครั้งที่ 2 พร้อมด้วย พล.ต.ไพศาล หนูสังข์ รองแม่ทัพภาคที่ 4/รอง ผอ.รมน.ภาค 4 สน., พล.ต.ปราโมทย์ พรหมอินทร์ รองแม่ทัพภาคที่ 4/รอง ผอ.รมน.ภาค 4 สน., พล.ต.ฐาปนันท์ อรุณโชติ ที่ปรึกษาแม่ทัพภาคที่ 4, รองเลขาธิการกอ.รมน.ภาค 4 สน., อัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 4 ภาค 9, ผู้แทนกองกำลังตำรวจ จังหวัดชายแดนภาคใต้
ภายหลังการประชุม พล.ท.ศานติ เปิดเผยว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้ตรวจสอบทั้งหมดตั้งแต่เริ่มเปิดประชุมสัมมนาฯ และเชื่อมโยงถึงใครแบบค่อยเป็นค่อยไป รวมทั้งสอบถามเจ้าหน้าที่ทางกฎหมายทุกส่วนเรียบร้อยแล้ว ซึ่งในวันนี้มีความคิดเห็นตรงกันว่ามีแนวโน้มจะหมิ่นเหม่ต่อการกระทำผิดกฎหมาย พร้อมกำชับและมอบหมายให้ส่วนที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการหาพยานหลักฐานที่ชัดเจน เพื่อดำเนินคดีต่อผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมดอย่างรัดกุม รอบคอบ และตรงไปตรงมา
"กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า พร้อมให้ความเป็นธรรมภายใต้หลักของความยุติธรรม ขอให้พี่น้องประชาชนในพื้นที่และในประเทศไทยได้รับทราบว่าส่วนที่เกี่ยวข้องไม่ได้นิ่งนอนใจ พร้อมยึดกฎกติกาของบ้านเมืองเป็นสำคัญ ยืนยัน พร้อมดำเนินการตามกฎหมายอย่างรัดกุมที่สุด" พล.ท.ศานติกล่าว
ด้าน พล.ต.ปราโมทย์ กล่าวเพิ่มเติมถึงการจัดตั้งคณะทำงานในการสืบสวนสอบสวน หาหลักฐานเพิ่มเติม รวบรวมจากทั้งเหตุการณ์ในวันที่จัดกิจกรรมเมื่อวันพุธที่ 7 มิ.ย. และจากเหตุการณ์อื่นๆ ที่อาจมีส่วนสัมพันธ์เกี่ยวข้องกัน โดยเห็นว่าการจัดกิจกรรมในครั้งนี้น่าจะมีส่วนอื่นเข้ามาเกี่ยวข้อง พร้อมชี้แจงข้อเรียกร้องในเรื่องสิทธิการกำหนดชะตากรรมตนเอง หรือ RIGHT TO SELF DETERMINATION เป็นตามข้อมติสหประชาชาติที่ 1514 ออกในปี ค.ศ.1960 ไม่ใช่เรื่องการเรียกร้องเอกราชอย่างที่มีการเคลื่อนไหว ซึ่งพยานหลักฐานที่จะมีการหาเพิ่มเติมจะเป็นส่วนประกอบเสริมเติมให้เห็นว่ามีการเคลื่อนไหวที่เป็นกระบวนการไปสู่เป้าหมายสุดท้ายในเรื่องเอกราชปัตตานี
"ยังไม่มีข้อสรุปถึงตัวบุคคลที่จะมีการดำเนินคดีตามกฎหมาย ขึ้นกับพยานหลักฐานที่จะได้เพิ่มเติมจากการสืบสวนสอบสวนของคณะทำงานที่ตั้งขึ้น โดยมีกรอบเวลาทำงาน 2 สัปดาห์ คาดรายชื่อของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องที่จะถูกดำเนินคดีส่วนใหญ่จะเป็นผู้ร่วมกิจกรรมที่จัดโดยกลุ่ม นศ.มุสลิม จชต. และอาจโยงถึงอาจารย์ใน ม.อ.ปัตตานี ที่ให้ใช้สถานที่จัดงาน ในส่วนของพรรคการเมืองจะเกี่ยวข้องด้วยหรือไม่ จะมีการหาหลักฐานประกอบเพิ่มเติมในช่วงที่มีการหาเสียงของนักกฎหมายช่วงเลือกตั้งที่ผ่านมา ที่ต้องมาใช้ประกอบในคำร้องเพื่อให้เห็นถึงการเคลื่อนไหวที่เป็นกระบวนการเรียกร้องสิทธิในการกำหนดชะตากรรมตนเอง ที่มีเป้าหมายสุดท้ายในเรื่องของการแบ่งแยกดินแดน" พล.ต.ปราโมทย์กล่าว.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
พปชร.ขับก๊วนธรรมนัส ตัดจบที่ดิน‘หวานใจลุง’
"บิ๊กป้อม" ไฟเขียว พปชร.มีมติขับ 20 สส.ก๊วนธรรมนัสพ้นพรรค "ไพบูลย์" เผยเหตุอุดมการณ์ไม่ตรงกัน
พ่อนายกฯเคลียร์MOUสยบม็อบ
อิ๊งค์พร้อม! จัดชุดใหญ่แถลงผลงานรัฐบาล ลั่นรอจังหวะไปตอบกระทู้
รบ.อิ๊งค์ไม่มีปฏิวัติ! ทักษิณชิ่งสั่งยึดกองทัพ เหน็บอนุทินชิงหล่อเกิน
"ทักษิณ" โบ้ยไม่รู้ "หัวเขียง" ชงแก้ร่าง กม.จัดระเบียบกลาโหม
ศาลรับคำร้อง ให้สว.สมชาย หยุดทำหน้าที่
ศาลรัฐธรรมนูญสั่ง “สมชาย เล่งหลัก” หยุดปฏิบัติหน้าที่ สว.
คิกออฟแพ็กเกจแก้หนี้ ลุ้นบอร์ดขึ้นค่าแรง400
นายกฯ เผยข่าวดี ครม.คลอดชุดใหญ่แก้หนี้ครัวเรือน "คลัง-แบงก์ชาติ"
นายกฯ อิ๊งค์บอกข่าวดี! เมียนมาจะปล่อย 4 คนไทยหลังปีใหม่
นายกฯ เผยข่าวดีปม 4 คนไทยเรียบร้อยหลังปีใหม่ ส่วนเรื่องคดีความต้องคุยกันต่อ