พท.เล่นยี่เกปธ.สภา ‘อ้วน’พลิกเป็นโควตาพรรคอันดับ1‘อดิศร’ซัดหัวใจสีส้ม!

"เพื่อไทย" พลิกเกม  "ภูมิธรรม-ประเสริฐ” เผย พท.หนุนพรรคอันดับ 1 นั่ง ปธ.สภาฯ ส่วนรอง ปธ.ทั้ง 2 คนเป็นของพรรคอันดับ 2 รอ กกต.ประกาศผลคะแนนอย่างเป็นทางการก่อน แต่ "อดิศร" ย้อนถาม "ภูมิธรรม" เป็น "ก้าวไกล" ไปแล้วหรือ ย้ำต้องเป็นของ พท. หรือใช้มติที่ประชุมสภาตัดสิน  จ่อฉะในที่ประชุม ส.ส. 21 มิ.ย.นี้ "ชลน่าน" แย้มสัปดาห์นี้เก้าอี้ "ปธ.สภาฯ-รมต." ต้องเริ่มชัด "ก้าวไกล" จ่อเปิดชื่อ ปธ.สภาฯ 22 มิ.ย.นี้ หลังหารือลงตัว แนวโน้มดีขึ้น "เรืองไกร" ไล่ขยี้ "พิธา" ต่อ ร้อง กกต.สอบบัญชีทรัพย์สินที่ดินทำไมระบุได้จากการรับมรดกต่างจากหุ้นไอทีวี

เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวถึงความคืบหน้าการประชุมหัวหน้า 8 พรรคร่วมรัฐบาลว่า เนื่องจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จะประกาศรับรอง ส.ส. 95% ในวันที่ 21 มิถุนายนนี้ ทางแกนนำทั้ง 8 พรรคจึงเห็นตรงกันว่าควรประชุมกันหลัง กกต.รับรอง ส.ส.แล้ว โดยเลื่อนการประชุมหัวหน้าพรรคไปเป็นวันที่ 22 มิถุนายนแทน ซึ่งวาระการพูดคุยคงจะต้องขยับการหารือเพื่อเดินหน้าจัดตั้งรัฐบาล ในส่วนของตำแหน่งรัฐมนตรีและตำแหน่งประธานสภาฯ นั้น คงจะไม่ได้นำมาหารือกันในวงประชุมของหัวหน้าพรรค  แต่ควรไปหารือกันผ่านคณะเจรจาระหว่างพรรค โดยพรรคก้าวไกล (ก.ก.) จะเป็นแกนหลักในการพูดคุยร่วมในแต่ละพรรคการเมืองเพื่อหาข้อตกลง

"เมื่อทราบผลการรับรอง ส.ส.จาก กกต.แล้ว ส่วนตัวมองว่าการหารือกันในสัปดาห์นี้ต้องเริ่มมีความชัดเจนทั้งในส่วนของตำแหน่งรัฐมนตรี โดยเฉพาะตำแหน่งประธานสภาฯ ด้วย เพราะเมื่อ กกต.ประกาศรับรอง ส.ส.ครบ 95% และ ส.ส.ทยอยรายงานตัวที่สภาแล้ว ทางพรรคร่วมก็ต้องมีแนวทางและทิศทางในการโหวตตำแหน่งประธานสภาฯ  หลังเปิดการประชุม"

นพ.ชลน่านกล่าวอีกว่า ในส่วนของตำแหน่งประธานสภาฯ นั้น ทราบจากทีมเจรจาของ พท.ว่าขณะนี้ยังไม่มีความคืบหน้าใดๆ หลังจากที่ได้คุยไว้กับพรรค ก.ก.ไปก่อนหน้านี้ ส่วนที่นายรังสิมันต์ โรม โฆษกพรรค ก.ก. ระบุว่าตำแหน่งประธานสภาฯ ควรเป็นของพรรค ก.ก. เพื่อขับเคลื่อนงานในสภานั้น  ความเห็นของบุคคลที่ไม่ใช่คณะเจรจา ก็ถือเป็นความประสงค์ของบุคคลนั้นๆ  เชื่อว่าเรื่องตำแหน่งประธานสภาฯ จะไม่ใช่ชนวนขัดแย้งที่จะสร้างปัญหาหรือเป็นประเด็นในการทำร่วมกันระหว่างสองพรรค เพราะทุกอย่างต้องพูดคุยกันด้วยเหตุและผล

ส่วนกรณีนายจตุพร พรหมพันธุ์ อดีตประธานกลุ่ม นปช.และคณะหลอมรวมประชาชน ระบุว่าตำแหน่งประธานสภาฯ จะเป็นของพรรคเพื่อไทย โดยนายสุชาติ ตันเจริญ จะเป็นคนนั่งเก้าอี้ประธานสภาฯ นั้น นพ.ชลน่านปฏิเสธที่จะให้ความเห็น โดยบอกว่าไม่อยากให้ค่านายจตุพร จึงไม่ขอแสดงความเห็นเรื่องนี้

ขณะที่ นายภูมิธรรม เวชยชัย รองหัวหน้าพรรค พท. ให้สัมภาษณ์ถึงตำแหน่งประธานสภาฯ ที่ทั้งพรรค พท.และพรรคก.ก. มีความประสงค์ในตำแหน่งดังกล่าวว่า ที่ผ่านมาพรรค พท.ยืนยันหลักการเดิมมาโดยตลอดว่าเมื่อพรรค ก.ก.ได้ประมุขฝ่ายบริหารแล้ว พรรค พท.ควรได้ประมุขฝ่ายนิติบัญญัติ แต่เพื่อให้ได้ข้อยุติและไม่เกิดปัญหากับทั้งสองพรรค พรรค พท.จึงมีจุดยืนและข้อสรุปของพรรคต่อกรณีประธานสภาฯ ดังนี้

1.เราเห็นชอบในหลักการว่าพรรคอันดับ 1 จะทำหน้าที่ประธานสภาฯ 2.เนื่องจากพรรคอันดับ 1 และ 2 มีจำนวนใกล้เคียงกันมาก ดังนั้นตำแหน่งรองประธานสภาฯ ทั้ง 2 คนจึงควรเป็นคนของพรรคลำดับ 2 และ 3.รายละเอียดการประสานงานต่างๆ จะเป็นวาระของคณะทำงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการต่อไป โดยตัวแทนของ 2 พรรคควรหารือกัน

อย่างไรก็ตาม นายภูมิธรรมกล่าวว่า  ต้องรอคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ประกาศผลการเลือกตั้งและการประกาศรับรอง ส.ส.อย่างเป็นทางการก่อน ตัวแทนของ 2 พรรคการเมืองจะหารือกันเพื่อสรุปให้เกิดความชัดเจนต่อไป

นายประเสริฐ จันทรรวงทอง เลขาธิการพรรค พท. กล่าวเช่นกันว่า จุดยืนของ พท.คือการให้พรรคที่มีเสียง ส.ส.อันดับ 1 เป็นผู้จัดตั้งรัฐบาล ส่วนตำแหน่งรองประธานสภาฯ อีก 2 คน ให้เป็นของพรรคที่ได้คะแนนเป็นอันดับ 2 อยากให้ยึดหลักการจุดนี้ไว้ มิเช่นนั้นกองเชียร์ 2 ฝ่ายจะถกเถียงกันไม่หยุด ดังนั้นเรื่องตำแหน่งประธานสภาฯ จะเป็นการประสานงานพูดคุยเฉพาะพรรคอันดับ 1 และพรรคอันดับ 2 คือพรรค ก.ก.กับพรรค พท. ที่จะมาพูดคุยหาข้อสรุปกันอีกครั้ง ภายหลังจากที่ กกต.ให้การรับรอง ส.ส.เกิน 95% ถ้ายึดตามหลักการร่วมกันที่ว่านี้ จะตกลงคุยกันได้ง่ายขึ้น โอกาสผิดใจกันจะลดลง ไม่ต้องมาเถียงกันเรื่องความสามารถ ที่ต่างมองว่าคนของตัวเองมีความสามารถ

'อดิศร' ย้ำ ปธ.สภาต้อง พท.

เมื่อถามว่า แสดงว่าแนวโน้มพรรค  พท.ยอมให้ตำแหน่งประธานสภาฯ แก่พรรค ก.ก.ในฐานะพรรคอันดับ 1 นายประเสริฐกล่าวว่า ยังตอบไม่ได้ ต้องรอดูการรับรอง ส.ส.จาก กกต.ก่อนใครจะเป็นพรรคอันดับ 1 เพราะพรรคอันดับ 1 กับอันดับ 2 มีคะแนนใกล้เคียงกัน ห่างกันแค่ 10 ที่นั่งเท่านั้น แต่เรามีหลักการร่วมกันให้พรรคอันดับ 1 เป็นประธานสภาฯ จะได้ตกลงกันง่ายขึ้น ส่วนการประชุมระดับหัวหน้าพรรค 8 พรรคในวันที่ 20 มิ.ย. จะเลื่อนออกไปก่อน จะมีการประชุมแค่ระดับคณะกรรมการเปลี่ยนผ่านรัฐบาลของ 8 พรรคเท่านั้น เพื่อรอดูการประกาศรับรอง ส.ส.ของ กกต. ที่มีข่าวจะประกาศรับรอง ส.ส.ให้ครบ 95%วันที่ 21 มิ.ย.นี้ จากนั้นหัวหน้าพรรค 8 พรรคจะนัดประชุมอีกครั้งในวันที่ 22 มิ.ย.

ขณะที่ นายอดิศร เพียงเกษ ว่าที่ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีแกนนำพรรค พท.แสดงจุดยืนให้พรรคที่มี ส.ส.อันดับ 1 ได้ตำแหน่งประธานสภาฯ ว่า ยังยืนยันความเห็นเดิม เมื่อพรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทยไม่ได้มีใครได้เสียงข้างมากเด็ดขาดไปกว่ากัน ก็สมควรไปโหวตในสภา ใครจะได้ตำแหน่งประธานสภาฯ เรื่องนี้ควรเป็นทฤษฎีกินแบ่ง ไม่ใช่กินรวบ ถ้าอยากจะกินรวบต้องได้เสียงขาดลอย 376 เสียง

"แต่ถ้าสูงแค่ 151 แล้วจะเป็นทั้งประมุขฝ่ายบริหารและประมุขฝ่ายนิติบัญญัติถือว่าเพ้อฝัน ได้เท่านี้แต่จะเอาทั้งหมดไม่ได้ ยืนยันตำแหน่งประธานสภาฯ ควรเป็นของพรรคเพื่อไทย หรืออย่างน้อยต้องใช้มติที่ประชุมสภาตัดสิน สภาเป็นของทุกคน ไม่ใช่ของพรรคก้าวไกล"

ผู้สื่อข่าวถามว่า กรณีนี้แกนนำพรรคเพื่อไทยแสดงจุดยืนพรรคชัดเจนให้พรรคอันดับ 1 เป็นประธานสภาฯ จะคัดค้านอย่างไร นายอดิศรกล่าวว่า เรื่องนี้ผู้ใหญ่ในพรรคไม่เคยแจ้งให้ทราบมาก่อน ตนไม่เห็นด้วย และเชื่อว่ามีคนในพรรคไม่เห็นด้วยหลายคนเช่นกัน จะไปตัดสินใจโดยความเห็นของแกนนำเพียง 1-2 คนไม่ได้ ตนเป็นผู้ใหญ่ในพรรค แต่ไม่รู้เรื่องนี้ ควรนำเรื่องเข้าที่ประชุมพรรคสอบถามความเห็นสมาชิกพรรคก่อน ตนจะนำเรื่องนี้ไปสู้ในที่ประชุมพรรคอย่างถึงที่สุดแน่นอน ในการประชุม ส.ส.พรรคเพื่อไทย วันที่ 21 มิ.ย.ที่โรงแรมเอสซีปาร์ค จะนำเรื่องนี้ไปสอบถามต่อที่ประชุมว่าเหตุใดไม่แจ้งให้สมาชิกทราบ ไม่ใช่ไปตัดสินใจกันเอง

"นายภูมิธรรม เวชยชัย รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย เป็นก้าวไกลไปแล้วหรือ  พรรคเพื่อไทยเคยพลาดตอนไปช่วยโหวตให้นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ชิงตำแหน่งนายกฯ ตอนปี 2562 มาแล้ว ทั้งที่พรรคก็มีชื่อแคนดิเดตนายกฯ ของตัวเองอยู่ จะไปกลัวเขาตลอดไม่ได้ เหล็กอยู่เฉยๆ จะอ่อนได้ยังไง จะต้องมีอะไรเกิดขึ้น" นายอดิศรกล่าว

ก.ก.จ่อเปิดชื่อ ปธ.สภา

นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ว่าที่ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กล่าวถึงการเคลียร์ตำแหน่งประธานสภาฯ หลังนายจตุพร พรหมพันธุ์  วิเคราะห์ว่าประธานสภาฯ ต้องเป็นของพรรค พท.ว่า ไม่ทราบ ถือเป็นความเห็นของนายจตุพร แต่ก็เป็นเรื่องปกติที่บุคคลสามารถวิพากษ์วิจารณ์ทางการเมืองได้ แต่ข้อเท็จจริงต้องรอการพูดคุยกันของคณะทำงาน มั่นใจว่าทุกอย่างมีความเป็นธรรม เป็นไปตามครรลอง​ประชาธิปไตย

เมื่อถามว่า กังวลหรือไม่ว่าการแสดงความคิดเห็นของนายจตุพรจะเป็นการชี้นำสังคม นายวิโรจน์มองว่า เราห้ามการแสดงความคิดเห็นของประชาชนไม่ได้ แต่คณะทำงานก็ทำงานอยู่ และทำงานตามกรอบภายใต้การให้เกียรติซึ่งกันและกัน จึงขอให้รอผลลัพธ์ ตนคาดว่ามีข่าวดี จึงต้องรออย่างเป็นทางการดีกว่า โดยเชื่อว่าทุกอย่างเป็นไปตามกติกาบนพื้นฐานประโยชน์ของประชาชน

ส่วนกรณี กกต.รับรองว่าที่ ส.ส.ในสัปดาห์นี้ จะทำให้โรดแมปการจัดตั้งรัฐบาลเร็วขึ้นนั้น นายวิโรจน์กล่าวว่า เป็นเรื่องที่ดีที่จะทำให้ได้รัฐบาลใหม่เร็วขึ้น ตนจะได้เร่งจัดการกับปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันอย่างจริงจัง

มีรายงานว่า ตำแหน่งประธานสภาฯ  ระหว่างพรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกล หารือลงตัวและพร้อมแถลงในวันที่ 22 มิ.ย.นี้ ซึ่งเป็นวันที่ 8 พรรคร่วมรัฐบาลนัดประชุมที่พรรคก้าวไกล โดยทาง กกต.จะประกาศรับรอง ส.ส.ในวันที่ 21 มิ.ย. ทำให้จำเป็นต้องหาข้อยุติเรื่องนี้ให้เสร็จสิ้น เพื่อที่จะดำเนินการในขั้นตอนต่อไป คือการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี

แหล่งข่าวภายในพรรคก้าวไกลเปิดเผยว่า การพูดคุยของทางแกนนำทั้งพรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกลมีแนวโน้มดีขึ้น มั่นใจว่าจะไม่มีความขัดแย้งเกิดขึ้น โดยมีสัญญาณว่าคณะเจรจายังไม่มีการกลับมาถกอะไรเพิ่มเติม ซึ่งตอนนี้กำลังเดินหน้าตามไปตามขั้นตอนอย่างต่อเนื่อง แต่หากเกิดความขัดแย้งขึ้น ก็ยังมั่นใจว่าจะสามารถหาข้อยุติในวงถกได้ และไม่กระทบกับตำแหน่งประธานสภาฯ

"เหตุผลที่พรรคก้าวไกลจำเป็นต้องนั่งเก้าอี้ประธานสภาฯ ยังคงยืนยันว่าเพื่อผลักดันวาระทั้ง 3 ข้อตามนโยบายของพรรค และไม่มีเหตุผลอื่น โดยสาเหตุที่ยังไม่เปิดเผยชื่อตอนนี้ เนื่องจากให้เกียรติพรรคเพื่อไทยและพรรคร่วมรัฐบาลในการแถลงข่าวพร้อมกันครั้งเดียวแบบเป็นทางการ ส่วนรายชื่อประธานสภาฯ คาดว่าเป็นไปตามโผของสื่อหลายสำนักได้คาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้" แหล่งข่าวระบุ

ยื่นสอบบัญชีที่ดิน 'พิธา'

ด้านนายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ผู้ร้องเรื่องการถือหุ้นไอทีวีของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล เปิดเผยว่า พบข้อสังเกตที่ควรขอให้ กกต.ตรวจสอบบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินของนายพิธา ที่ยื่นต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ว่ารายการที่ดินทำไมหมายเหตุว่า เป็นทรัพย์ที่ได้มาจากการรับมรดก ซึ่งแตกต่างจากบัญชีหุ้น บมจ.ไอทีวี ที่มีข่าวว่ายื่นเพิ่มเติม แต่ทำไมแจ้งไม่เหมือนกัน กรณีจึงควรขอให้ กกต.เรียกพยานหลักฐานจากสำนักงาน ป.ป.ช.และกรมที่ดิน หรือสำนักงานที่ดินมาประกอบการตรวจสอบ ดังนี้

ข้อ 1 ตามบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินของนายพิธาที่ยื่นต่อ ป.ป.ช. กรณีเข้ารับตำแหน่ง ส.ส. เมื่อวันที่ 25 พ.ค.2562 มีการแสดงรายการที่ดินไว้ 2 รายการ โดยรายการที่ 2 คือโฉนดที่ดิน หมายเลข 13543 ต.วังก์พง อ.ปราณบุรี จ.ประจวบฯ ไม่ระบุวันเดือนปีที่ได้มา เนื้อที่ 14 ไร่ 0 งาน 62.7 ตารางวา มูลค่าปัจจุบัน (ประมาณ) 18,000,000 บาท, ข้อ 2 ที่ดินแปลงดังกล่าวมีหมายเหตุระบุว่า “ลำดับที่ 2 เป็นทรัพย์ที่ได้รับจากการรับมรดก”, ข้อ 3 คำว่า “เป็นทรัพย์ที่ได้รับจากการรับมรดก” จึงอาจไม่สอดรับกับข้อมูลที่มีการยื่นเพิ่มเติมกรณีแจ้งการถือครองหุ้นไอทีวี ที่กล่าวอ้างตามปรากฏในสื่อต่างๆ ว่า ยื่นในฐานะเป็นผู้จัดการมรดก

ข้อ 4 กรณีที่ระบุรายการที่ 2 คือ โฉนดที่ดินหมายเลข 13543 ต.วังก์พง อ.ปราณบุรี จ.ประจวบฯ ไม่ระบุวันเดือนปีที่ได้มา เนื้อที่ 14 ไร่ 0 งาน 62.7 ตารางวา มูลค่าปัจจุบัน (ประมาณ) 18,000,000 บาท โดยมีหมายเหตุว่า “ลำดับที่ 2 เป็นทรัพย์ที่ได้รับจากการรับมรดก”

ข้อ 5 ขอให้ตรวจสอบด้วยว่า การยื่นบัญชีที่ดินเหตุใดจึงหมายเหตุว่า เป็นทรัพย์ที่ได้จากการรับมรดก และมีความแตกต่างจากการยื่นบัญชี (เพิ่มเติม) กรณีหุ้น บมจ.ไอทีวี จำนวน 42,000 หุ้น อย่างไร หรือไม่

นายเรืองไกรเปิดเผยด้วยว่า ในวันนี้ ตนได้ส่งหนังสือถึง กกต.แล้วทางไปรษณีย์ EMS

สำนักงาน กกต.ได้เผยแพร่อินโฟกราฟิกความรู้เกี่ยวกับการเลือกตั้ง เป็นข้อกฎหมายมาตรา 143 พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.2561 กรณีทำให้ผู้อื่นเข้าใจผิดผู้สมัคร ส.ส. ฝ่าฝืนกฎหมายเลือกตั้ง จะมีผลอย่างไร โดยระบุว่า ผู้ใดกระทำการอันเป็นเท็จเพื่อให้ผู้อื่นเข้าใจผิดว่า ผู้สมัครผู้ใดกระทำการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.2561 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้นั้นมีกำหนด 5 ปี 

การชี้แจงข้อกฎหมายดังกล่าวสอดรับกับที่ขณะนี้มีผู้ยื่นร้องต่อ กกต. ขอให้ตรวจสอบคุณสมบัติการเป็น ส.ส.ของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แคนดิเดตนายกฯ ว่าที่ ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล กรณีถือหุ้นบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) และมีผู้เห็นต่างมองว่าการยื่นตรวจสอบนายพิธาในกรณีดังกล่าว เป็นการนำข้อมูลเท็จมายื่นร้องเพื่อกลั่นแกล้งนายพิธา โดยมีการไปแจ้งความดำเนินคดีเอาผิดผู้ที่ยื่นร้องนายพิธาต่อพนักงานสอบสวนแล้ว

นิด้าโพลเผยคนเบื่อม็อบ

ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจของประชาชนเรื่อง “การชุมนุมหลังจัดตั้งรัฐบาล” ระหว่างวันที่ 14-16 มิถุนายน 2566 จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป กระจายทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา  อาชีพและรายได้ทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้นจำนวน 1,310 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับการชุมนุมหลังจัดตั้งรัฐบาล พบว่า ตัวอย่างร้อยละ 26.72 ระบุว่าจะมีการชุมนุมต่อต้าน แต่ไม่มีความรุนแรงเกิดขึ้น รองลงมา ร้อยละ 25.42 ระบุว่าจะไม่มีการชุมนุมต่อต้านใดๆ ทั้งสิ้น, ร้อยละ 25.19 ระบุว่าไม่มั่นใจ, ร้อยละ 22.44 ระบุว่าจะมีการชุมนุมต่อต้าน และมีความรุนแรงเกิดขึ้น

ด้านสิ่งที่จะทำหากรัฐบาลใหม่ นายกรัฐมนตรีไม่ได้มาจากพรรคการเมืองที่เลือก พบว่า ร้อยละ 38.63 ระบุว่ายอมรับในรัฐบาลใหม่อย่างเต็มใจ, ร้อยละ 22.52 ระบุว่าไม่ยอมรับ แต่จะไม่เข้าร่วมชุมนุมต่อต้านรัฐบาลใหม่, ร้อยละ 16.87 ระบุว่าจำใจต้องยอมรับในรัฐบาลใหม่, ร้อยละ 14.43 ระบุว่าเฉยๆ ไม่สนใจว่าใครจะเป็นนายกรัฐมนตรีหรือรัฐบาล, ร้อยละ 7.02 ระบุว่าไม่ยอมรับ และจะเข้าร่วมชุมนุมต่อต้านรัฐบาลใหม่แน่นอน

สำหรับความกังวลของประชาชนหากเกิดการชุมนุมทางการเมืองเพื่อต่อต้านรัฐบาลใหม่ พบว่า ร้อยละ 56.87  ระบุว่าภาวะเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ลง รองลงมา ร้อยละ 37.18 ระบุว่าการเกิดความรุนแรงจากการชุมนุม (เช่น การทำลายทรัพย์สิน การทำร้ายซึ่งกันและกัน), ร้อยละ 32.98 ระบุว่าการเกิดความขัดแย้งของคนในชาติ, ร้อยละ 29.16 ระบุว่าการก่อรัฐประหาร, ร้อยละ 21.45 ระบุว่าการกระทำที่ไม่เคารพกฎหมาย และ/หรือละเมิดสิทธิผู้อื่น, ร้อยละ 18.63 ระบุว่าสภาพการจราจรที่ติดขัดจากการชุมนุม, ร้อยละ 12.21 ระบุว่าการแทรกแซงจากต่างชาติ, ร้อยละ 3.82 ระบุว่าไม่มีความกังวล และร้อยละ 1.98 ระบุว่าไม่ตอบ/ไม่ทราบ/ไม่สนใจ

ท้ายที่สุดเมื่อถามถึงความเบื่อหน่ายกับเหตุการณ์การชุมนุมทางการเมืองเพื่อต่อต้านรัฐบาล พบว่า ตัวอย่างร้อยละ 57.71 ระบุว่าเบื่อมาก รองลงมา ร้อยละ 20.46 ระบุว่าค่อนข้างเบื่อ, ร้อยละ 12.75 ระบุว่าไม่เบื่อเลย และร้อยละ 8.09 ระบุว่าไม่ค่อยเบื่อ.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เศรษฐา โปรยยาหอมชาวอีสาน ไตรมาส 4 รับเงินหมื่นแน่

นายกฯ ขึ้นเวทีมหาสารคาม “อุ๊งอิ๊ง” สส.เพื่อไทย พรึบ ชู 3 ปัญหาวาระแห่งชาติ ‘หนี้นอกระบบ-ยาเสพติด-ภัยแล้ง’ ย้ำคำมั่นเงินหมื่นดิจิทัลได้แน่ไตรมาส 4 ด้านปชช.คึกคักบอก ‘รักเศรษฐา’