ไม่จำเป็นล็อกดาวน์ สั่งสธ.ลงลึก‘โอมิครอน’ ถกศบค.ประเมิน13ธ.ค.

"บิ๊กตู่" สั่ง สธ.ศึกษาข้อมูลเชื้อกลายพันธุ์ "โอมิครอน" ยันยังไม่ยกระดับมาตรการป้องกัน แค่ขอ ปชช.ร่วมมือดูแลตัวเองเข้มข้น "ศบค.ชุดใหญ่" เตรียมนัดหารือ 13 ธ.ค.นี้ "อนุทิน" ย้ำไม่จำเป็นต้องล็อกดาวน์ มั่นใจระบบสาธารณสุขและวัคซีนรับมือได้ โล่งอก! สธ.แถลงยังไม่พบผู้ติดเชื้อโอมิครอนรายสอง หลังผลตรวจเชื้อซ้ำกลุ่มสัมผัสเสี่ยงนักธุรกิจมะกัน 17 คนเป็นลบทั้งหมด “หมอยง” ชี้อนาคตสายพันธุ์โอมิครอนจะเข้าแทนที่เดลตา เหตุแพร่กระจายได้ง่ายกว่า 2 เท่าขึ้นไป

ที่ทำเนียบรัฐบาล วันที่ 7 ธ.ค. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ประจำสัปดาห์ ซึ่งใช้เวลาประชุมไม่นาน เนื่องจากรัฐมนตรีหลายคนติดภารกิจ อาทิ นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) และนายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน เดินทางไปร่วมงานเวิลด์เอ็กซ์โป 2020 ดูไบ ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE)

มีรายงานว่า ในที่ประชุม ครม.ได้หารือถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อกลายพันธุ์โอมิครอน โดยกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) รายงานว่า จากข้อมูลปัจจุบันพบเชื้อกลายพันธุ์ดังกล่าว สามารถแพร่ได้เร็วกว่าสายพันธุ์เดลตา แต่อาการไม่รุนแรง โดย พล.อ.ประยุทธ์ได้สั่งการให้นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ไปตรวจสอบข้อมูลโอมิครอนดูว่าเชื้อชนิดนี้แพร่เชื้ออย่างไร และทำให้เกิดความรุนแรงระดับใด รวมทั้งให้เข้มงวดเรื่องมาตรการการคัดกรองการเดินทางเข้าประเทศ

"นายกฯ ได้ให้ สธ.ขอความร่วมมือให้ประชาชนปฏิบัติตามมาตรการปลอดภัยสำหรับองค์กร (COVID-Free Setting) ในช่วงการเฉลิมฉลองเทศกาลปีใหม่ รวมทั้งยืนยันจะยังไม่มีการยกระดับมาตรการ เนื่องจากมาตรการปัจจุบันยังสามารถรับมือได้อยู่ เพียงแต่ขอให้ประชาชนรวมถึงผู้ประกอบการให้ความร่วมมือและปฏิบัติตามมาตรการที่ออกมาอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะผู้ประกอบการที่ต้องมีมาตรการปลอดภัยสำหรับองค์กร" แหล่งข่าวระบุ

รายงานข่าวแจ้งว่า ในการประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.ชุดใหญ่) ในวันจันทร์ที่ 13 ธ.ค.นี้ จะมีการนำเรื่องการแพร่ระบาดของโอมิครอนเข้าหารือด้วย

จากนั้น พล.อ.ประยุทธ์แถลงถึงการรับมือสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนว่า สั่งไปตั้งแต่วันแรกแล้ว ซึ่ง สธ.ยืนยันว่าพร้อมรับมือ วัคซีนที่มีอยู่ในปัจจุบันสามารถป้องกันได้ เพราะยังไม่มีการผลิตวัคซีนป้องกันโอมิครอนมาเลย วันนี้มีโควิดหลายสายพันธุ์และสายพันธุ์โอมิครอนก็กระทบกับคนทั้งโลก โดยคนที่เดินทางเข้ามาประเทศไทยแล้วก็ตามตัวมาก็ขอให้ฟังการชี้แจงจาก สธ.อีกครั้ง

ถามว่าจะมีการยกระดับมาตรการการเดินทางเข้าประเทศหรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ยังคงเดิมอยู่ จากเดิมจากที่จะมีการตรวจแบบ ATK ก็ปรับให้เป็นการตรวจแบบ RT-PCR ทั้งหมด และกักตัวจนกว่าจะทราบผลประมาณ 1 วัน ถึงจะเดินทางต่อไปได้

"สิ่งที่เราอยากจะเตือนสถานบริการขอให้ความสำคัญกับมาตรการสาธารณสุข เจ้าหน้าที่จะต้องได้รับการฉีดวัคซีนครบ 2 เข็ม ต้องจัดสถานที่แบบเว้นระยะห่าง มีการวัดอุณหภูมิ ถ้าท่านไม่ทำแล้วเกิดอะไรขึ้นมาอีกก็โทษรัฐบาลไม่ได้ ซึ่งได้สั่งให้ตรวจสอบทุกสถานที่ที่เป็นร้านอาหาร โดยเฉพาะในห้างสรรพสินค้า ที่พบว่ามีบางพื้นที่ยังไม่ปฏิบัติตามมาตรการ ก็ขอให้ผู้บริโภคหากพบร้านไหนไม่ปฏิบัติตามมาตรการ Covid Free Setting ขออย่าไปใช้บริการ ซึ่งหวังว่าปีใหม่ปีนี้จะมีความสุข เพราะเราไม่ได้มีความสุขมา 2 ปีแล้ว เนื่องด้วยสถานการณ์โควิด-19 แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับมาตรการ Covid Free Setting และมาตรการอื่นๆ ที่ต้องร่วมมือกัน ถ้าไม่แพร่ระบาดใครอยากจะปิดอยากจะล็อกดาว์น ไม่มีใครอยากทำหรอกไปกันให้ได้แล้วกันช่วยกัน" นายกฯ กล่าว

ไม่ถึงขั้นต้องล็อกดาวน์

ส่วนนายอนุทินกล่าวว่า การป้องกันโควิดสายพันธุ์โอมิครอนถ้ามีการฉีดวัคซีนครบถ้วนและใช้มาตรการป้องกันตนเองสูงสุดตลอดเวลา เช่น ใส่หน้ากาก เว้นระยะห่าง ล้างมือ ก็จะลดความเสี่ยงการติดเชื้อได้ทุกสายพันธุ์ รวมทั้งสายพันธุ์โอมิครอน รวมทั้งไทยยังมีระบบคัดกรองผู้เดินทางเข้าประเทศอย่างเข้มข้น ทำให้สามารถตรวจพบผู้ติดเชื้อโอมิครอนรายแรก เป็นชายอเมริกันเดินทางมาจากสเปนนำเข้าสู่ระบบการรักษา และติดตามสอบสวนโรคผู้สัมผัสเพื่อแยกตัวเฝ้าระวังตามระบบการควบคุมโรคแล้ว

"ขอให้ประชาชนสบายใจและอย่าตระหนก โดยส่วนตัวเห็นว่ายังไม่ควรต้องล็อกดาวน์ เนื่องจากไทยเพิ่งเริ่มกลับมาเปิดประเทศธุรกิจต่างๆ เพิ่งเริ่มกลับมาฟื้นตัว อีกทั้งระบบสาธารณสุขก็ยังรองรับได้ และวัคซีนชนิดต่างๆ ที่มีก็ยังสามารถป้องกันโควิดได้ทุกสายพันธุ์ช่วยให้ผู้ป่วยอาการไม่รุนแรงหรือเสียชีวิต นอกเหนือจากมีโรคแทรกซ้อน” รองนายกฯ และ รมว.สธ.กล่าว

ด้านนายสาธิต​ ปิตุเตชะ รมช.สาธารณสุข กล่าวถึงการตรวจเชื้อโอมิครอนในนักท่องเที่ยวชาวสหรัฐอเมริกา​ 1​ ราย​ และมีผู้เสี่ยงสูง 17 รายว่า ข้อมูลเดิมคือพบผู้ติดเชื้อเพียง 1 ราย​ ต้องติดตามสถานการณ์ต่อเนื่อง โดยจากการสอบสวนโรคมีผู้เสี่ยงสูงทั้งหมด 17 ราย และจากการตรวจหาเชื้อโควิด-19​ มีผลเป็นลบ 16 ราย และมีผลเป็นบวก 1 ราย ซึ่ง​ 1​ รายที่มีผลเป็นบวก​เป็นเจ้าหน้าที่โรงแรม ที่เป็นผู้ส่งอาหารให้นักท่องเที่ยวชาวสหรัฐคนดังกล่าวโดยได้ดำเนินการสอบสวนโรคกับเจ้าหน้าที่โรงแรมรายนี้แล้ว​

ต่อมา​ นพ.จักร​รัฐ​ พิทยา​วงศ์​อานนท์​ ผู้​อำนวยการ​กองระบาดวิทยา ​กรมควบคุม​โรค แถลงถึงอาการของชายชาวอเมริกัน อายุ 35 ปี เดินทางมาจากประเทศสเปน และพบติดเชื้อโควิดสายพันธุ์โอมิครอนรายแรกในไทยว่า ขณะนี้ยังไม่มีอาการป่วยจะกักตัวจนครบ 14 วัน พร้อมตรวจหาเชื้อซ้ำ

นพ.จักรรัฐกล่าวว่า ในส่วนผู้สัมสัมผัสเสี่ยงต่ำ พนักงานในสนามบิน 2 คน ผลตรวจเป็นลบ พนักงานในโรงแรม 17 คน ผลตรวจเป็นลบ 16 คน อีก 1 คน เป็นพนักงานเสิร์ฟเพศชาย อายุ 44 ปี สัญชาติไทย ทำหน้าที่เสิร์ฟอาหาร นำเอกสารไปให้ผู้วยป่วยเซ็น ได้รับวัคซีนแอสตราเซนเนกาครบ 2 เข็ม ตามมาตรฐาน SHA+ โดยวันที่ 1 ธ.ค.64 เวลา 12.00 น. เดินทางไปทำงานที่โรงแรม เวลา 21.30 น. เสิร์ฟอาหารให้กับผู้เดินทางชาวอเมริกัน และนำเอกสารให้เซ็น โดยใส่หน้ากากอนามัยทั้งคู่ หลังออกจากห้องกัก ได้ทำความสะอาดอุปกรณ์ วันที่ 2 ธ.ค.64 ปฏิบัติงานในโรงแรม

ต่อมาวันที่ 3 ธ.ค.64 เดินทางกลับบ้าน จ.อุบลราชธานี พร้อมครอบครัว 4 คนเดินทางด้วยรถยนต์ส่วนตัว และแวะรับญาติที่ จ.นครราชสีมา​อีก 1 คน มีแวะตลาดแถวบ้านโดยใส่หน้าอนามัยตลอดเวลา วันที่ 4 ธ.ค.64 ได้รับแจ้งเป็นผู้สัมผัสผู้ป่วยโควิด วันที่ 5 ธ.ค. เข้ารับการตรวจเก็บตัวอย่างที่ รพ.พิบูลมังสาหาร ส่งตรวจที่สถาบันบำราศนราดูร และเดินทางกลับ กทม. วันที่ 6 ธ.ค.64 ทราบผลตรวจสงสัยเป็นบวก เนื่องจากค่า CT เกิน 36 เข้ารับการกักตัวที่สถาบันบำราศนราดูร

ยังไม่พบโอมิครอนรายสอง

"เมื่อตรวจซ้ำช่ว​งครบ 7 วัน ผลออกเวลา 12.00 น. วันนี้ (7 ธ.ค.64) ไม่พบเชื้อ หลังจากนี้จะตรวจซ้ำครั้งที่ 3 ในช่วง 14 และกักตัวที่สถาบัน​บำราศนราดูร 14 วัน ส่วนผู้สัมผัสใกล้ชิดในครอบครัวผลตรวจไม่พบเชื้อ" ผอ.​กองระบาดวิทยาฯกล่าว

ด้าน นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า สธ.เตรียมระบบต่างๆ ในการรับมือสถานการณ์โควิด รวมทั้งสายพันธุ์โอมิครอนที่เพิ่งพบผู้ติดเชื้อรายแรกในไทย ทั้งเรื่องของยาแพกซ์โลวิดของไฟเซอร์ ขณะนี้ยังอยู่ในขั้นตอนแก้ไขสัญญาร่วมกัน ส่วนยาโมลนูพิราเวียร์ คาดว่าจะเข้ามาในไทย ม.ค.ปี 65 ตามแผน รวมถึงประสานกับโรงพยาบาลเครือข่ายในทุกภาคอยู่ตลอด มีพร้อมทั้งสถานที่และจำนวนเตียง อย่างในพื้นที่ กทม.ก็มีเพียงพอตอนนี้ใช้อยู่น้อยมาก

"รูปแบบการรักษาโควิดสายพันธุ์โอมิครอนจะยังคงใช้หลักการการรักษาในรูปแบบเดียวกัน คือถ้าไม่มีอาการ หรือมีอาการน้อยจะให้เข้าระบบการรักษาตัวแบบ Home isolation (การแยกกักตัวที่บ้าน) และ Community Isolation หรือการดูแลผู้ป่วยโควิด-19 ในระบบชุมชน ซึ่งในเมืองไทยเราทำได้อย่างมีมาตรฐานอยู่แล้ว มีระบบการส่งยา ส่งอาการ และแพทย์ช่วยติดตามอาการอย่างใกล้ชิด" อธิบดีกรมการแพทย์กล่าว

วันเดียวกัน ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊ก Yong Poovorawan เรื่อง โควิด-19 โอมิครอน คำถามที่ต้องการคำตอบว่า ทั่วโลกให้ความสนใจกับ covid-19 สายพันธุ์โอมิครอน เป็นสายพันธุ์ที่พบใหม่ มีการกลายพันธุ์เป็นจำนวนมาก สิ่งที่ต้องการคำตอบ เร่งด่วนคือ 1.โอมิครอนติดต่อง่ายจริงหรือไม่

"ขณะนี้หลังจากพบสายพันธุ์โอมิครอน ที่แอฟริกาตอนใต้ ไวรัสนี้ได้แพร่กระจาย พบในประเทศต่างๆ นอกทวีปแอฟริการวมแล้วเกือบ 50 ประเทศ รวมทั้งประเทศไทย แสดงให้เห็นว่าสายพันธุ์นี้แพร่กระจายได้ง่ายกว่าสายพันธุ์เดลตาอย่างแน่นอน โดยมีอำนาจการแพร่กระจายโรคมากกว่าสายพันธุ์เดลตาอย่างน้อย 2 เท่าขึ้นไป และในอนาคตสายพันธุ์นี้จะเข้ามาแทนที่สายพันธุ์เดลตา"

ศ.นพ.ยงกล่าวว่า 2.โอมิครอนหลบหลีกภูมิต้านทานจากการติดเชื้อเดิมหรือวัคซีนได้หรือไม่ ผู้ป่วยติดเชื้อที่พบขณะนี้มีจำนวนหนึ่งฉีดวัคซีนครบแล้ว 2 เข็ม และอีกจำนวนหนึ่งถึงแม้ว่าจะเคยเป็นโรค covid-19 มาก่อน ก็สามารถติดเชื้อได้ แสดงว่าภูมิต้านทานที่เกิดขึ้นป้องกันได้แบบไม่สมบูรณ์ จึงเกิดการติดเชื้อได้ แต่เกือบทั้งหมดมีอาการลดลงหรือไม่มีอาการเลยวัคซีนยังสามารถป้องกันความรุนแรงของโรคได้

นอกจากนี้ 3.โอมิครอนความรุนแรงของโรคเป็นอย่างไร ในผู้ป่วยที่พบนอกทวีปแอฟริกาจำนวนมากกว่าพันราย ส่วนใหญ่มีอาการน้อยหรือไม่มีอาการในทวีปแอฟริกาเอง มีการรายงานเบื้องต้นในถิ่นระบาดของโรค พบว่าส่วนใหญ่เกือบครึ่งหนึ่งไม่มีอาการ และที่เหลือส่วนใหญ่มีอาการน้อย อย่างไรก็ตาม คงต้องรอเพราะในระยะเริ่มต้นการติดเชื้ออาจจะยังมีอาการน้อย การเกิดปอดบวมหรือต้องเข้าโรงพยาบาลจะต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง คำถามข้อนี้จึงยังไม่สามารถสรุปได้ว่ามีความรุนแรงอย่างไรคงต้องรอคำตอบอีกประมาณ 2 สัปดาห์ก็น่าจะรู้เรื่องแต่แนวโน้มความรุนแรงลดลง

"ความสำคัญของโอมิครอนอยู่ที่ ความรุนแรงของโรคว่าเชื้อนี้จะลดความรุนแรงลงหรือไม่ ถึงแม้ว่าโรคนี้จะแพร่กระจายได้เป็นจำนวนมาก และหลบหลีกภูมิต้านทานได้เป็นบางส่วน ผู้ที่ฉีดวัคซีนแล้วหรือผู้ที่เคยป่วยมาก่อนมีอาการน้อยมากหรือไม่มีอาการ เมื่อติดเชื้อแล้วไม่มีอาการหรือมีอาการน้อยก็จะช่วยกระตุ้นภูมิต้านทาน เหมือนกับโรคทางเดินหายใจที่พบอยู่ขณะนี้ และในอนาคตความจำเป็นในการต้องตรวจกรองผู้สัมผัสทั้งหมดก็ไม่มีความจำเป็นจะเป็นโรคทางเดินหายใจที่มักจะเป็นในเด็กที่ไม่มีภูมิต้านทาน หรือเคยติดเชื้อมาก่อน และเมื่อติดเชื้อแล้วก็จะมีภูมิต้านทานเกิดขึ้น การติดเชื้อครั้งต่อไปก็จะไม่มีอาการ เป็นเพียงเสริมภูมิต้านทานให้แข็งแรงยิ่งขึ้น และเมื่อโตเป็นผู้ใหญ่ ส่วนใหญ่จะมีภูมิต้านทาน โรคไวรัสทางเดินหายใจในผู้ที่แข็งแรงที่พบส่วนใหญ่ในขณะนี้จึงไม่ได้เป็นปัญหาสำคัญ จะเป็นปัญหาในกลุ่มเสี่ยงหรือร่างกายไม่แข็งแรง ในระยะเวลาอีกไม่นานก็คงรู้คำตอบจากการศึกษาทางวิทยาศาสตร์ทั้งหมดที่ขณะนี้ทุกคนตั้งใจรอ" นพ.ยงกล่าว

ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดในประเทศไทยว่า พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 3,525 ราย เป็นการติดเชื้อในประเทศ 3,503 ราย จากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 3,448 ราย ค้นหาเชิงรุก 55 ราย เรือนจำ 12 ราย เป็นผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ 10 ​ราย ทำให้มียอดผู้ติดเชื้อสะสม 2,148,766 ราย หายป่วยเพิ่มขึ้น 6,109 ราย ทำให้มียอดหายป่วยสะสม​ 2,061,374 ราย อยู่ระหว่างรักษา 66,395 ราย อาการหนัก 1,253 ราย ใส่ท่อช่วยหายใจ 328 ราย เสียชีวิตเพิ่มขึ้น 31 ราย เป็นชาย 20 ราย หญิง 11 ราย เป็นผู้เสียชีวิตที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป 22 ราย มีโรคเรื้อรัง​ 8 ราย พบผู้เสียชีวิตมากสุดอยู่ใน จ.เชียงใหม่ 4 ราย ทำให้มียอดผู้เสียชีวิตสะสม 20,997 ราย ฉีดวัคซีนเพิ่มเติมเมื่อวันที่​ 6​ ธ.ค.​ โดส​ ยอดฉีดวัคซีนสะสมตั้งแต่วันที่​ 28​ ก.พ. 95,616,058 โดส​ ขณะที่สถานการณ์โลก มียอดผู้ติดเชื้อสะสม 266,692,781 ราย เสียชีวิตสะสม 5,277,595 ราย

สำหรับ 10 จังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อสูงสุดวันที่ 7 ธ.ค. ได้แก่ กทม. 810 ราย, นครศรีธรรมราช 271 ราย, ชลบุรี 162 ราย, สงขลา 159 ราย, สุราษฎร์ธานี 153 ราย, ปัตตานี 110 ราย, เชียงใหม่ 95 ราย, นครสวรรค์ 95 ราย, สมุทรปราการ 93 ราย, ตรัง 80 ราย

พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการป้องกันการลักลอบเข้าเมืองตามช่องทางธรรมชาติป้องกันเชื้อโอมิครอนว่า เราก็กำชับป้องกันอยู่แล้ว โดยเฉพาะ ศบค.เตรียมการอยู่แล้ว ซึ่งในส่วนของแรงงานผิดกฎหมายเราจับได้จำนวนมาก ยืนยันว่าไม่จำเป็นต้องเพิ่มกำลังเจ้าหน้าที่ในการดูแลพื้นที่เพราะเจ้าหน้าที่ที่มีอยู่เราสั่งการให้ทำงานเข้มข้นขึ้น.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

‘เศรษฐา’ ลุยสวน ชิมทุเรียน 3 สายพันธุ์

เมื่อเวลา 10.00 น. นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง เดินทางด้วยรถยนต์อัลพาร์ด สีดำ ทะเบียน 8 กผ 1127 กรุงเทพมหานคร ถึงสวนนวลทองจันทร์ ตำบลมาบไพ อำเภอขลุง จังหวัดจันทบุรี เพื่อตรวจติดตามการผลิตทุเรียนคุณภาพปลอดภัยมูลค่าสูง และรับฟังปัญหาจากเกษตรกร