ด้อมส้มร่ำไห้ทิมกินแห้ว ‘โรม’นำทีมปลุกอย่าท้อ

จัดพื้นที่รับม็อบเชียร์ “พิธา” เต็มพิกัด "ด้อมส้ม" ร่ำไห้หลังโหวตนายกฯ ก้าวไกลไม่ผ่าน “โรม” นำทีมพบมวลชนหน้าสภาฯ พร้อมให้กำลังใจทุกคนให้สู้ต่อไป

วันที่ 13 ก.ค.2566 บรรยากาศบริเวณข้างรัฐสภา ในวันที่สมาชิกรัฐสภาอภิปรายและโหวตเลือกนายกรัฐมตรี เจ้าหน้าที่ทำการปิดการจราจรบริเวณถนนสามเสนตั้งแต่แยกเกียกกายจนถึงแยกบางกระบือ ตั้งแต่เวลา 06.00 น. โดยบริเวณข้างรัฐสภาฝั่งวัดแก้วฟ้าจุฬามณี มีการนำตู้คอนเทนเนอร์ปิดเป็นแนวยาวและนำผ้าใบมาคลุมไว้ พร้อมปิดประกาศว่า “พื้นที่จะชุมนุมไม่ได้” ตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 มาตรา 7 วรรคท้าย บริเวณสะพานลอยมีการนำลวดหีบเพลงและสังกะสีปิดไว้ รวมถึงมีรถจีโน่ 2 คัน รถขยายเสียง 1 คัน รวมไปถึงรถฉีดน้ำ 2 คัน จอดบริเวณอาคารรัฐสภา

ขณะที่ฝั่งศูนย์ราชการกรุงเทพมหานคร (เกียกกาย) กทม. จัดสถานที่สำหรับให้กลุ่มผู้ชุมนุมจัดกิจกรรม โดยนำเต็นท์เพื่ออำนวยความสะดวก และทางสภาฯ ได้นำเครื่องขยายเสียงมาติดตั้ง เพื่อให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมรับฟังการโหวตนายกฯ ในห้องประชุมรัฐสภาในวันนี้ด้วย

พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผบ.ตร. กล่าวว่า การชุมนุมในพื้นที่กรุงเทพมหานครและรอบรัฐสภา ได้มอบหมายให้ ผบช.น.เป็นผู้ควบคุมและดูแล โดยกำชับให้เจ้าหน้าที่ปฏิบัติตามกรอบกฎหมาย ไม่ทำให้เกิดความเป็นคู่ขัดแย้งเพิ่มเติม คอยป้องกันเหตุแทรกซ้อนต่างๆ รวมถึงเน้นการประชาสัมพันธ์ข้อกฎหมายและแนวทางการปฏิบัติผ่านทางเครื่องขยายเสียงให้ผู้ชุมนุมและประชาชนในพื้นที่ได้รับทราบถึงสิทธิการชุมนุมตามขอบเขตของกฎหมาย ซึ่งประชาชนมีสิทธิ์สามารถชุมนุมได้ สำหรับพื้นที่ต่างจังหวัดได้กำชับให้ ผบช.หรือ ผบก.ในพื้นที่ดูแลสถานการณ์อย่างใกล้ชิด

จนกระทั่งเวลา 13.20 น. กลุ่มผู้ชุมนุมยังคงอยู่ระหว่างจัดตั้งเวทีปราศรัยใหญ่ภายในศูนย์ราชการกรุงเทพมหานคร (เกียกกาย) ซึ่งจากการพูดคุยระหว่างตัวแทนกลุ่มผู้ชุมนุมกับผู้อำนวยการเขตดุสิต ระบุว่า ตามที่ได้มีการขอใช้สถานที่ในการชุมนุมทางการเมืองนั้น ทางผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครได้อนุญาตให้ทางกลุ่มผู้ชุมนุมทำกิจกรรมได้เฉพาะบนพื้นถนนเท่านั้น แต่ในพื้นที่สวนของศูนย์ราชการเป็นเขตนอกเหนือพื้นที่ในการขออนุญาต โดยผลการเจรจา ทางกลุ่มผู้ชุมนุมยังยืนยันจะตั้งเวทีอยู่บริเวณเดิม และจะไม่ย้ายตามคำแนะนำของผู้อำนวยการเขต ซึ่งมวลชนยังอยู่ระหว่างพักผ่อน และจับกลุ่มพูดคุยในประเด็นทางการเมือง รวมถึงการติดตามการอภิปรายในสภา

จากนั้น น.ส.อมรัตน์ โชคปมิตต์กุล อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล เดินทางมาในพื้นที่ศูนย์ราชการกรุงเทพมหานคร (เกียกกาย) กล่าวว่า ตนเดินทางมาประสานงานในฐานะทีมงานการเมืองของรองประธานสภาคนที่ 1 และรองประธานสภาคนที่ 2 ที่ได้รับมอบหมายดูแลเรื่องความปลอดภัย และเป็นผู้ที่ขอใช้สถานที่นี้ เมื่อสักครู่มีความเข้าใจผิดกันเล็กน้อย ทางผู้อำนวยการเขตดุสิตได้ให้ใช้พื้นที่การชุมนุมเฉพาะบนถนนภายในศูนย์ราชการกรุงเทพมหานคร (เกียกกาย) เท่านั้น แต่ตอนที่เราได้ขออนุญาตใช้พื้นที่ทั้งหมด ซึ่งสามารถจุคนได้ 4,000 คน ส่วนตนเดินทางมาประสานเป็นที่เรียบร้อย และสามารถใช้พื้นที่ได้ทั้งหมด รวมถึงสนามที่ใช้จะเป็นเวทีใหญ่ด้วย บริเวณด้านหน้าก็มีพ่อค้าแม่ขายมาจอดรถขายของเป็นจำนวนมาก ตนก็จะออกไปเจรจาเพื่อที่จะให้นำรถพยาบาล 2 คัน มาสแตนด์บายไว้ในพื้นที่ด้วย

เมื่อถามว่า กังวลในเรื่องความปลอดภัยของผู้ชุมนุมหรือไม่ น.ส.อมรัตน์กล่าวว่า ขณะนี้ได้มีการเลือกตั้งเสร็จสิ้นเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ตนก็หวังว่า ส.ว.ทั้งหลายจะเคารพการตัดสินใจของประชาชน เท่าที่ตนฟังอารมณ์ของมวลชนก็ระอุ นิด้าโพลที่มีผลโพลออกมาแล้วว่า มวลชนที่เลือกพรรคก้าวไกลจะออกมาชุมนุมทันทีถ้าไม่เคารพเจตนารมณ์ของประชาชนมีอยู่จำนวน 7% ซึ่งจากการคำนวณแล้วเฉพาะในเขตกรุงเทพมหานคร 7% ก็อยู่ประมาณ 100,000 กว่าคน แต่ก็ไม่อยากให้เกิดเหตุการณ์นั้นเกิดขึ้น ตนไม่ใช่เป็นคนจัดมวลชน แต่เป็นเพียงคนประสานงาน

ทางด้าน นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า ได้รับแจ้งจาก พล.ต.อ.อดิศร์ งามจิตสุขศรี ที่ปรึกษาผู้ว่าฯ กทม. ซึ่งอยู่ในพื้นที่ศูนย์ราชการกรุงเทพมหานคร เกียกกาย ว่าขณะนี้มีการขยายพื้นที่รองรับการชุมนุมในบริเวณดังกล่าวออกไปทางฝั่งขวาประมาณ 4,000 ตารางเมตร โดยมีการผนวกพื้นที่ที่เป็นลานกีฬาเข้ามาร่วมด้วย จะได้มีการลงนามรับรองคำสั่งโดยปลัดกรุงเทพมหานคร และผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ซึ่งการขยายพื้นที่จะส่งผลดีต่อการรองรับจำนวนผู้ชุมนุมที่เพิ่มมากขึ้น และในกรณีที่มีผู้ชุมนุมหลายฝ่าย โดยเฉพาะฝ่ายที่มีความเห็นทางการเมืองขัดแย้งกัน การขยายพื้นที่ชุมนุมจะช่วยกระจายตัวผู้ชุมนุมและลดการปะทะ รวมถึงความรุนแรงที่อาจเกิดขึ้นได้

ทั้งนี้ ในเวลาประมาณ 18.00 น. เริ่มมีฝนโปรยปรายลงมาในบริเวณพื้นที่ชุมนุม จนมวลชนต้องลุกเดินหนีเพื่อหลบฝน บ้างก็นำร่ม เสื้อกันฝน มาสวมใส่ โดยบรรดาผู้สนับสนุนพรรคก้าวไกลที่มารวมตัวกันลุ้นผลโหวตอยู่ในศูนย์ราชการกรุงเทพฯ ต่างพร้อมใจกันแสดงออกถึงความผิดหวัง และตามมาด้วยความโกรธเกรี้ยว มีทั้งการตะโกนโห่ร้อง ต่อว่าคนที่ไม่ออกเสียงให้นายพิธา 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากนายพิธาแถลงหลังการประชุมรัฐสภา ส.ส.ของพรรคก้าวไกลได้เดินมาตั้งแถวรอที่บริเวณหน้าประตูเพื่อรอนายพิธามาสมทบ เพื่อลงไปพบมวลชนด้านนอก แต่ปรากฏว่าได้มีการแจ้งให้ทุกคนเข้าไปประชุม ส.ส.ของพรรคที่รออยู่จึงได้เดินกลับเข้ามา และเข้าไปประชุมด้านใน จากนั้นประมาณ 20 นาที นายรังสิมันต์ โรม และนางสาวเบญจา แสงจันทร์ ได้เป็นตัวแทนของพรรคก้าวไกลลงไปพบมวลชนแทน ท่ามกลางเสียงตะโกนให้กำลังใจ โดยมีมวลชนหลายคนแสดงความเสียใจและร้องไห้ออกมา โดยนายโรมบอกกับมวลชนว่า แม้วันนี้แพ้ แต่ขอให้ทุกคนมีกำลังใจในการต่อสู้ต่อไป อย่าได้ท้อ

ขณะที่ สน.ปทุมวัน นายสนธิญา สวัสดี อดีตที่ปรึกษาประธานคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร เดินทางเข้ายื่นหนังสือถึง พ.ต.อ.นพดล เทียมเมธา ผกก.สน.ปทุมวัน ร้องขอให้ตรวจสอบ กรณีที่นายอานนท์ นำภา ทนายความด้านสิทธิมนุษยชน และแกนนำม็อบ 3 นิ้ว ผู้ต้องหาคดี 112 โพสต์นัดชุมนุมที่หน้าหอศิลป์ สี่แยกปทุมวัน เมื่อ 12 ก.ค.ที่ผ่านมา เป็นไปตามกฎหมายและความสงบเรียบร้อยและการไม่จาบจ้วงสถาบันพระมหากษัตริย์ในการปราศรัย จึงมาเรียกร้องให้ สน.ปทุมวัน ดำเนินการตรวจสอบ 1.สถานะของนายอานนท์ นำภา ว่าทำผิดต่อข้อตกลงศาลอาญาในการประกันตัวหรือไม่ 2.การชุมนุมมีการขออนุญาตการชุมนุมสาธารณะ และสถานที่ชุมนุมใกล้พระราชวังหรือไม่ 3.มีการปราศรัยพาดพิงถึงสถาบันพระมหากษัตริย์หรือไม่

ที่​สำนักงาน​คณะกรรมการ​การ​เลือกตั้ง​ (กกต.)​ นายศรีสุวรรณ จรรยา ผู้นำองค์กรรักชาติ รักแผ่นดิน ยื่นหนังสือถึง กกต.ให้ตรวจสอบการกระทำของพรรคก้าวไกล เนื่องจากเพจของพรรคก้าวไกลได้โพสต์ข้อความเชิญชวนประชาชนมาชุมนุม ซึ่งอาจจะเข้าข่ายเป็นการฝ่าฝืน พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง มาตรา 45 ซึ่งห้ามไม่ให้พรรคการเมืองดำเนินการในลักษณะที่ก่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีในสังคม ซึ่งเป็นเรื่องที่พรรคการเมืองที่เป็นฝ่ายนิติบัญญัติไม่ควรดำเนินการยั่วยุ หรือเชื้อเชิญให้ประชาชนออกมาจัดการชุมนุม ซึ่งอาจจะนำไปสู่การทำผิดกฎหมายอาญามากมาย ไม่ว่าจะเป็นมาตรา 116 ยุยงปลุกปั่น มาตรา 115 และมาตรา 113 และอาจจะมีการก้าวล่วงกระทบกระเทียบไปถึงสถาบัน ซึ่งเคยปรากฏมาก่อนหน้านี้ในทุกการชุมนุม.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง