เพ้อเจ้อลากถึงก.ย.‘ก้าวไกล’วางไทม์ไลน์เลือกนายกฯหลังปิดสวิตช์ส.ว.

กรุงเทพฯ ๐ "พิธา" ปลุกระดมหนัก   เปิด 2 สมรภูมิรบ 19 ก.ค. สู้อีกรอบ  พร้อมขับเคลื่อนแก้ รธน.มาตรา 272     มั่วนิ่ม ไม่ใช่การต่อสู้ของ 8 พรรค แต่เป็นการต่อสู้ของคนไทยทั้งประเทศ    หากตั้งรัฐบาลไม่ได้จริงๆ พร้อมหลีกทางให้เพื่อไทย ขณะที่เพจก้าวไกลไปกันใหญ่ ตั้งไทม์ไลน์โหวตนายกฯ รอบ 3   เดือนกันยายน หลังปิดสวิตช์ ส.ว.สำเร็จ

      เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2566 นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกลและแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี โพสต์คลิปผ่านโซเชียลมีเดีย เปิดใจหลังแพ้โหวตนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2566 ที่ผ่านมา ยืนหยัดจะสู้ต่อไป แต่หากสมรภูมิที่ 2 ชัดเจนแล้วว่าพรรคก้าวไกลจัดตั้งรัฐบาลไม่สำเร็จ ก็พร้อมเปิดทางให้กับพรรคอันดับสองคือพรรคเพื่อไทย 

     นายพิธากล่าวว่า "ก่อนอื่นผมขอขอบคุณสมาชิกรัฐสภา 324 เสียง โดยเฉพาะ ส.ว. 13 ท่าน ที่โหวตเห็นชอบให้ผม พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นนายกรัฐมนตรี ผมทราบดีว่า ส.ว.หลายท่านเผชิญแรงกดดันมากมาย ที่รุนแรงหนักหนาจากการตัดสินใจครั้งนี้

     ที่สำคัญที่สุด ผมขอขอบคุณทุกแรงใจ แรงสนับสนุนจากประชาชนทุกคน แต่ต้องขออภัยทุกท่านที่เรายังทำไม่สำเร็จ

     อย่างไรก็ตาม ในฐานะพรรคการเมืองที่ได้รับเสียงอันดับหนึ่งในการเลือกตั้ง พรรคก้าวไกลมีภารกิจที่ต้องรับผิดชอบต่อประชาชน คือจัดตั้งรัฐบาลให้ได้  วันนี้เราพยายามทำทุกวิถีทางตามครรลองประชาธิปไตย เพื่อให้เสียงของประชาชนได้รับการตอบสนอง เจตนารมณ์ของประชาชนได้รับการเคารพ

     นี่คือการต่อสู้ร่วมกัน ไม่ใช่แค่ของพรรคก้าวไกลและ 14 ล้านเสียงที่เลือกพรรคก้าวไกล ไม่ใช่แค่การต่อสู้ของ 8 พรรค ตัวแทน 27 ล้านเสียง แต่คือการต่อสู้ของคนไทยทั้งประเทศ เพื่อยืนยันว่าเสียงของประชาชนต้องเป็นเสียงที่กำหนดอนาคตของประเทศนี้

     ขอให้เราเดินด้วยกันต่อไป ตั้งรัฐบาลของประชาชนให้ได้ แต่เวลาของเราเหลือไม่มาก เพราะผมทราบดีว่าประเทศไทยเดินต่อไปโดยไม่มีรัฐบาลของประชาชนแบบนี้ได้อีกไม่นาน ภายใต้เวลาอันจำกัดนี้ เราเหลือโอกาสอีกไม่กี่ครั้ง ที่ต้องสู้ร่วมกันใน 2 สมรภูมิ เพื่อนำไปสู่การจัดตั้งรัฐบาลตามมติมหาชนได้สำเร็จ

     สมรภูมิที่หนึ่ง ที่จะเกิดขึ้นในอีก 4 วันข้างหน้า คือการโหวตนายกรัฐมนตรีในวันที่ 19 กรกฎาคม

     และสมรภูมิที่สอง ก็คือการยื่นเสนอแก้รัฐธรรมนูญมาตรา 272 เพื่อตัดอำนาจ ส.ว.ในการเลือกนายกฯ ถาวรตลอดกาล

     ทั้งสองสมรภูมิจะไม่มีวันชนะได้ หากเราไม่สามารถเปลี่ยนใจ ส.ว.ให้อยู่ข้างประชาชน

     ผมจึงขอให้ประชาชนทุกคน ร่วมทำภารกิจกับผมในสองสมรภูมินี้ โดยการ ส่งสารถึง ส.ว. ในทุกวิถีทาง ทุกวิธีการที่ท่านนึกออก ย้ำ ขอเป็นวิธีการสร้างสรรค์ ช่วยกันเชิญชวนให้ ส.ว.โหวตนายกฯ ตามมติประชาชน หรือโหวตยกเลิกมาตรา 272 เพื่อคืนอำนาจให้ประชาชน

     หากพวกเราทำเต็มที่ใน 2 สมรภูมินี้แล้วเป็นที่ชัดเจนว่าพรรคก้าวไกลไม่มีโอกาสเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลได้จริงๆ  ผมพร้อมเปิดโอกาสให้ประเทศไทย โดยเปิดทางให้พรรคอันดับสองคือพรรคเพื่อไทย เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลของพรรคร่วมรัฐบาล 8 พรรค ภายใต้ MOU ที่ทำร่วมกันไว้ และผู้แทนราษฎรพรรคก้าวไกลทุกคนพร้อมสนับสนุนแคนดิเดตนายกฯ ของพรรคเพื่อไทย

     แต่กว่าจะถึงวันนั้น เราไม่ยอมแพ้แน่นอน และขอทุกคนมาร่วมกันต่อสู้เพื่อให้ได้จนถึงที่สุด ผมคนเดียวหรือพรรคก้าวไกลเพียงพรรคเดียวไม่อาจเปลี่ยนใจ ส.ว. และนำไปสู่การจัดตั้งรัฐบาลของประชาชนได้จริง จึงต้องขอแรงพลังจากทุกท่านร่วมทำภารกิจเพื่อให้เราสามารถจัดตั้งรัฐบาลของประชาชนให้สำเร็จ

     อนาคตของพรรคก้าวไกลในการจัดตั้งรัฐบาลอยู่ในมือของพวกท่านทุกคนแล้ว มาช่วยกันส่งสารเพื่อเปลี่ยนใจ  ส.ว."

เปิดแคมเปญใน 2 สมรภูมิ

     ขณะที่เพจพรรคก้าวไกล - Move Forward Party ได้เปิดโรดแมปก้าวไกล แคมเปญใน 2 สมรภูมิเพื่อตั้งรัฐบาลของประชาชน โดยระบุว่า หลังจากการโหวตนายกรัฐมนตรีครั้งแรก เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2566 พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคก้าวไกล ได้รับคะแนน 324 เสียงจากสมาชิกรัฐสภา ยังไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลตามความคาดหวังของประชาชน

     พรรคก้าวไกลถือว่าภารกิจนี้ยังไม่จบ เราจะพยายามอย่างถึงที่สุดเพื่อจัดตั้งรัฐบาลให้ได้ โดยจะมีการขับเคลื่อนใน 2 สมรภูมิ ดังนี้

     1.การโหวตนายกรัฐมนตรี ซึ่งจะมีขึ้นอีกครั้งในวันที่ 19 กรกฎาคมนี้

     2.การยื่นแก้ไขรัฐธรรมนูญ ยกเลิกมาตรา 272 ตัดอำนาจโหวตนายกฯ ของ ส.ว. ถาวรตลอดไป

     ในสมรภูมิแรก เราจำเป็นต้องได้เสียงสนับสนุนจากสมาชิกรัฐสภาเพิ่มเติมจาก 8 พรรคเดิมไม่น้อยกว่า 65 เสียง ในขณะที่ในสมรภูมิที่ 2 เราต้องการเสียง ส.ว. 84 เสียง เพื่อแก้รัฐธรรมนูญได้สำเร็จ

     แม้ทั้งสองหนทางจะเป็นไปได้ยาก  แต่เราเชื่อว่าหากประชาชนทุกคนร่วมกันปฏิบัติภารกิจ “ชวน ส.ว. ยืนข้างประชาชน” การเปลี่ยนใจ ส.ว. ก็ไม่ใช่ว่าจะเป็นไปไม่ได้

     การเปลี่ยนใจ ส.ว. มี 2 รูปแบบคือ

     1.การชวนให้ ส.ว.มาโหวตนายกฯ  ตามเสียงข้างมากของสภาผู้แทนราษฎร รักษาหลักการประชาธิปไตย ที่ต้องรับฟังเสียงที่ประชาชนแสดงออกผ่านการเลือกตั้ง

     แต่แน่นอนว่า ส.ว.จำนวนมากไม่สบายใจที่จะโหวตให้กับพรรคก้าวไกล เพราะฉะนั้น มีอีกทางเลือกที่ยังรักษาหลักการที่ว่า ส.ว. ซึ่งมาจากการแต่งตั้ง ไม่ควรมีสิทธิ์โหวตนายกรัฐมนตรี คือ

     2.การเชิญชวนให้ ส.ว.โหวตยกเลิกมาตรา 272 ปิดสวิตช์ตัวเองในการใช้อำนาจเลือกนายกรัฐมนตรีอย่างถาวร ซึ่งในช่วงไม่กี่วันมานี้ ก็มี ส.ว.จำนวนไม่น้อย เช่น เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์, พญ.คุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์ และวัลลภ ตังคณานุรักษ์ ที่ระบุว่าตนเองงดออกเสียงเพราะต้องการยึดหลักการ ส.ว. ไม่มีสิทธิ์โหวตนายกฯ และก่อนหน้านี้ ก็มี ส.ว.ที่เคยโหวตเห็นด้วยกับการยกเลิกมาตรา 272 มากถึง 63 คน

เลือกนายกฯ รอบ 3 เดือน ก.ย.

     การต่อสู้ในทั้ง 2 สมรภูมินี้ เราต้องการความร่วมมือร่วมใจจากพี่น้องประชาชนทุกคน แม้ว่าท่านจะเคยโหวตให้เราหรือไม่ เพราะนี่ไม่ใช่การต่อสู้เพื่อให้พิธาเป็นนายกฯ หรือให้ก้าวไกลได้เป็นรัฐบาล แต่คือการต่อสู้เพื่อยืนยันว่าการเลือกตั้งต้องมีความหมาย เสียงของประชาชนต้องเป็นเสียงที่กำหนดอนาคตของประเทศ

     เพจพรรคก้าวไกลยังเขียนไทม์ไลน์ การเลือกนายกฯ และการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 272 โดยระบุว่า หากสามารถแก้รัฐธรรมนูญได้สำเร็จ จะโหวตนายกฯ รอบ 3 ในเดือนกันยายนนี้

     นายชัยธวัช ตุลาธน ส.ส.บัญชีรายชื่อ และเลขาธิการพรรคก้าวไกล เปิดเผยว่า วันนี้มีการประชุม ส.ส.ผ่านระบบออนไลน์ เป็นการหารือในหลายเรื่องที่ได้พูดคุยกับพรรคเพื่อไทย และแนวทางในการผลักดันเสนอชื่อนายพิธา รวมถึงพูดคุยถึงสถานการณ์การเมืองปัจจุบัน

     เมื่อถามว่า พรรค พท.เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 272 ด้วยหรือไม่ นายชัยธวัชตอบว่า พรรค พท.ไม่ได้ขัดข้อง เพราะเราเคยผลักดันเรื่องนี้กันมาหลายครั้งในสภา

     ซักว่า กระบวนการจะทันภายใน 1 เดือนหรือไม่ เพราะมีการมองว่าอาจใช้เวลาถึง 4 เดือน เลขาธิการพรรคก้าวไกลเผยว่า ไม่ขนาดนั้น ต้องเข้าใจว่าเป็นข้อเสนอทางเลือกที่คู่ขนานกันไปกับกระบวนการเลือกนายกฯ เพราะเราไม่รู้ว่าต้องเลือกนายกฯ อีกกี่ครั้ง หาก ส.ว.ไม่ประสงค์ใช้สิทธิ์ งดออกเสียง หรือไม่เข้าร่วมประชุม แบบนี้จะนำมาสู่ทางตันทางการเมือง ดังนั้น เราจึงเสนอทางออกให้ด้วยการปิดสวิตช์ ส.ว.ไปเลย เพื่อคืนอำนาจในการเลือกนายกฯ ให้กับประชาชน เพราะจะไม่นำมาสู่ทางตัน ยืนยันว่าเรื่องนี้ทำคู่ขนานกันได้ หากสามารถนัดประชุมสภาได้เร็ว ซึ่งเป็นอำนาจของประธานสภาฯ ผ่านวาระ 1 แล้วรีบดำเนินการ ก็ใช้เวลาเพียง 3-4 สัปดาห์ก็เสร็จ

     นายพริษฐ์ วัชรสินธุ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล โพสต์เฟซบุ๊กว่า ยอมรับ แต่ไม่ยอมแพ้ : เดินหน้าจัดตั้งรัฐบาลที่ชอบธรรมตามหลักการประชาธิปไตยในระบบรัฐสภา 

     ตามกลไกรัฐสภาและครรลองประชาธิปไตยปกติ มันคงเป็นบทสรุปที่ชัดเจนแล้วครับ ว่าใครควรได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรี แต่กติกาการเมืองวันนี้ ยังไม่ได้อยู่ในสถานะที่ปกติ เนื่องจากมาตรา 272 ของรัฐธรรมนูญ ที่ไปมอบอำนาจให้ ส.ว. ที่มาจากการแต่งตั้ง 250 คน มาร่วมเลือกนายกรัฐมนตรี และเปิดช่องให้เกิดการแทรกแซงกระบวนการจัดตั้งรัฐบาล ให้ไม่เป็นไปตามครรลองของระบอบประชาธิปไตย

     โจทย์สำคัญสำหรับการลงมติของสมาชิกรัฐสภาเมื่อวาน จึงเป็นโจทย์ว่าเราจะร่วมกันกำจัดความผิดปกติที่สืบทอดมาจากอดีต เพื่อคืนความปกติให้ประเทศเดินไปสู่อนาคตได้อย่างไร

     สำหรับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในซีกที่ไม่สนับสนุนคุณพิธา (หรือซีกที่จะเป็นฝ่ายค้าน หากคุณพิธาเป็นนายกฯ) ผมได้พยายามสื่อสารว่าผมเคารพความเห็นต่างของเขา และผู้สนับสนุนของพวกเขาที่คงไม่ได้ไว้วางใจคุณพิธาหรือรัฐบาลที่นำโดยพรรคก้าวไกล และผมพร้อมจะปกป้องสิทธิของเขาในฐานะฝ่ายค้านที่จะทำหน้าที่อันสำคัญในการตรวจสอบการทำงานของพวกเราได้อย่างเต็มที่ตลอด 4 ปีข้างหน้า แต่ผมอยากให้เขาตระหนักด้วยเช่นกัน ว่าระบอบการปกครองเดียวที่อนุญาตให้มีฝ่ายค้าน คือระบอบประชาธิปไตย

'พิธา' แปลว่าคืนความปกติ

     ดังนั้น แม้ผมทราบดีว่าในกติกาประชาธิปไตยที่เป็นปกติ เราอาจไม่คาดหวังให้เขาต้องลงมติเห็นชอบให้กับนายกฯ ที่ถูกเสนอชื่อโดยผู้แทนราษฎรจากอีกซีกหนึ่ง แต่ภายใต้สภาวะการเมืองไทยที่ยังไม่เป็นปกติ การลงมติให้กับคุณพิธาจึงเป็นโอกาสของพวกเขา ที่จะแสดงให้สังคมเห็นว่าเหนือความเห็นต่างทางการเมืองระหว่างเรา คือจุดมุ่งหมายที่เรามีร่วมกันในการคืนความปกติให้กับการเมืองไทย และปกป้องระบอบประชาธิปไตยที่เคารพผลของการเลือกตั้งที่ทำให้ผู้แทนราษฎรทุกคนจากทุกพรรค ได้มีสิทธิมาพูดและทำหน้าที่ในสภาผู้แทนราษฎรตั้งแต่ต้น

     สำหรับสมาชิกวุฒิสภา ที่หลายคนมีความเคลือบแคลงใจกับพรรคก้าวไกล  ผมได้พยายามสื่อสารกับพวกเขา ว่าการดำรงความเป็นกลางทางการเมืองและการเคารพเสียงของประชาชนทุกฝ่ายนั้น ต้องไม่ใช่การงดออกเสียงหรือการไม่เข้าประชุม แต่คือการโหวตให้กับนายกฯ ที่ได้รับความไว้วางใจจากเสียงข้างมากของ ส.ส. ซึ่งมีชื่อว่า “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์”

     เพราะคำว่า “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์”  ณ เวลานี้ ไม่ได้หมายความถึงบุคคลใดบุคคลหนึ่ง หรือพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่ง

     แต่คำว่า “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” ณ เวลานี้ หมายถึงการ “คืนความปกติ” ให้กับการเมืองไทย การให้โอกาสประชาธิปไตยได้ไปต่อ และการเคารพเสียงของประชาชนผ่านการเลือกตั้ง อันเป็นหลักการขั้นพื้นฐานของระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ที่ผมเห็นสมาชิกรัฐสภาทุกท่านกล่าวไว้ว่าทุกท่านยึดถือและหวงแหน

     นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ สมาชิกพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กว่า สมาชิกวุฒิสภามีไว้ทำไม? พูดกันเยอะ ว่า ส.ว.มีไว้ทำไม ถ้าจะตอบตามทฤษฎีระบบการเมืองที่มี 2 สภา ต้องตอบกันยาว เอาง่ายๆ ก็แล้วกัน ถ้า ส.ว.มีความเห็นเหมือน ส.ส.ทุกอย่าง เขาจะมี ส.ว.ไว้ทำไม? มีสภาเดียวดีกว่า ไม่เปลืองงบประมาณ ส.ว. เขาเอาไว้คาน-ตรวจสอบ กลั่นกรองการทำหน้าที่ของ ส.ส.

     ทำไมต้องกลั่นกรอง? เพราะบางเรื่อง ส.ส.ลงมติ ตามความต้องการของประชาชนที่เลือกตัวเองเข้ามา ซึ่งอาจไม่ตรงกับผลประโยชน์โดยรวมของชาติ เช่น ส.ส.บางท่านมีความเห็นให้เปลี่ยนวันชาติ หรือ ส.ส.บางท่านมีความเห็นให้ท้องถิ่นปกครองตนเองด้วยการแยกเป็นรัฐอิสระ เรื่องเหล่านี้ ส.ว.ไม่จำเป็นต้องเห็นด้วย หากเห็นว่ากระทบความมั่นคงของชาติ

     ส.ว.จึงไม่จำต้องเห็นตรงกับ ส.ส. ไม่จำต้อง "กั๊ก" เหมือน ส.ส. ไม่จำต้องพูดว่า ส.ส.คิดอย่างไร ท่านเอาอย่างนั้น  ส.ว. ท่านทำเพื่อผลประโยชน์ของชาติเถอะ ผมยินดีจ่ายเงินเดือนให้ท่าน

'อนุทิน' ย้ำไม่สุดโต่ง

     นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย กล่าวกับกลุ่มนักธุรกิจชาวไทยและต่างชาติในงานเลี้ยงของสโมสรโรตารี่ กรุงเทพใต้ ที่โรงแรมคราวน์พลาซ่า ลุมพินี โดยฉายภาพการเมืองไทยในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อว่า รัฐสภากำลังหาจุดลงตัว เนื่องจากพรรคที่ได้คะแนนมาเป็นอันดับหนึ่งซึ่งมีที่นั่งในสภาไม่ถึงครึ่งนั้น เป็นพรรคที่มีนโยบายซึ่งเป็นข้อถกเถียงและเป็นพรรคเดียวที่นำเสนอนโยบายดังกล่าว จึงทำให้ยากจะได้รับการสนับสนุนจากวุฒิสมาชิก แต่ตนเชื่อว่าในที่สุดประเทศไทยจะมีนายกรัฐมนตรีซึ่งเป็นที่ยอมรับด้วยเสียงเกินกึ่งหนึ่งของรัฐสภา และมีรัฐบาลเสียงข้างมากที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน ซึ่งในส่วนของพรรคภูมิใจไทยนั้น ตนได้แสดงจุดยืนชัดเจนไปแล้วว่าจะไม่สนับสนุนให้เกิดรัฐบาลเสียงอย่างน้อยอย่างเด็ดขาด

     “ในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา พรรคภูมิใจไทยประสบความสำเร็จในการได้ที่นั่งเพิ่มขึ้นจากเดิมถึง 40% และเกือบทั้งหมดเป็น ส.ส.เดิมของพรรคเรา อย่างไรก็ดี เราตระหนักจากเสียงของประชาชนในการเลือกตั้งครั้งนี้ว่า พวกเขาต้องการความเปลี่ยนแปลง บริบทการเมืองไทยในวันนี้มีความขัดแย้งใหม่ๆ เกิดขึ้น จากความขัดแย้งสีเสื้อ พัฒนาเป็นความขัดแย้งระหว่างประชาชนกับเผด็จการทหาร   ต่อด้วยการแบ่งขั้วเสรีนิยมและอนุรักษนิยม และล่าสุดมีการนำแนวทางใหม่ๆ มาใช้ในการหาเสียง สร้างสิ่งที่เรียกว่าการเมืองอัตลักษณ์ แบ่งคนเป็นกลุ่มๆ แล้วไฮไลต์ความต้องการและความขัดแย้งเฉพาะกลุ่มขึ้นมา โดยเฉพาะการเน้นความแตกต่างระหว่างคนรุ่นเก่า รุ่นใหม่ ทำให้เกิดความแตกแยกมากมาย จนถึงระดับครู นักเรียนในโรงเรียน และเกิดเป็นความขัดแย้งภายในครอบครัวในระดับที่ไม่เคยมีมาก่อน”

     นายอนุทินย้ำว่า ไม่ว่าจะสุดโต่งไปทางไหนก็ไม่ดีทั้งสิ้น ประเทศต้องการจุดสมดุล

     “ไทยเรามีหลายอย่างที่น่าภาคภูมิใจและควรอนุรักษ์ไว้ ในขณะที่เดินหน้าพัฒนาบ้านเมืองสู่ความทันสมัย เราไม่สามารถจะรับความคิดใหม่ๆ เข้ามาโดยไม่ปรับให้เข้ากันกับคุณค่าที่มีอยู่เดิมในประเทศ”

     หัวหน้าพรรคภูมิใจไทยเชื่อว่าในที่สุดสังคมไทยจะเดินไปสู่ความสมดุลทางการเมือง.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง